ผาด อังกินันทน์
ผาด อังกินันทน์ | |
---|---|
นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2491 – พ.ศ. 2500 | |
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี | |
ดำรงตำแหน่ง 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 | |
หัวหน้ากลุ่มนายผาดอังกินันทน์ | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2491 – 14 มิถุนายน พ.ศ. 2511 | |
ก่อนหน้า | ก่อตั้งกลุ่ม |
ถัดไป | ยุทธ อังกินันทน์ (หัวหน้ากลุ่มผาด) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 13 มิถุนายน พ.ศ. 2511 (57 ปี) อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย |
สาเหตุการเสียชีวิต | โรคภัยไข้เจ็บ |
พรรคการเมือง | พรรคสหภูมิ พรรคชาติสังคม |
บุตร | ปิยะ อังกินันทน์ ยุทธ อังกินันทน์ |
อาชีพ | ทนายความ นักการเมือง |
ผาด อังกินันทน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี 1 สมัย และ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเพชรบุรี ผู้ก่อตั้ง “กลุ่มผาด”[1]
ประวัติ
[แก้]ผาด เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ณ ตำบลต้นมะม่วง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ในวัยเยาว์ ด.ช.ผาดเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนสตรีเพชรบุรีเบ็ญจมเทพอุทิศ(ปัจจุบันคือ โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี) และเข้าศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนตัวอย่างประจําจังหวัดเพชรบุรี (โรงเรียนคงคาราม) หลังจากนั้นได้ติดตาม ขุนอังกินันทนพงศ์ ซึ่งเป็นทนายความที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรีในสมัยนั้น คอยทําหน้าที่ช่วยเขียนคําฟ้องและประกันตัวจําเลยในคดีอาญา
การที่ ขุนอังกินันทนพงศ์ ให้นายผาดติดตามไปทํางานด้วย ก็เพื่อมุ่งหมายวางรากฐานให้นายผาดได้ซึมซับการเป็นนักกฎหมาย เช่นเดียวกับตนและ นายทองพูน อังกินันทน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 3 ของจังหวัดเพชรบุรี(บิดานายภิมุข อังกินันทน์ และ นายพลกูล อังกินันทน์) ซึ่งนายทองพูนเป็นพี่ชายต่างมารดาของนายผาด เดิมรับราชการเป็นจ่าศาลที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วลาออกจากราชการไปเป็นทนายความตามความต้องการของขุนอังกินันทนพงศ์
สมัยหนุ่ม ๆ นายผาดมีนิสัยชอบเที่ยวเตร่เฮฮา โปรดการเล่นพนันกีฬาไก่ชน โดยไก่ชนตัวโปรดมีอยู่ 2 ตัว ที่ซื้อมาจากเจ๊กในตลาดเมืองเพชรบุรี ตัวหนึ่งราคา 400 บาท ส่วนอีกตัวราคา 200 บาท ซึ่งไก่ชนทั้ง 2 ตัวนี้ลงสนามคราใดจะตีชนะทุกครั้ง ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้แก่เจ้าของเลย นายผาดจึงตั้งชื่อไก่ชน 2 ตัวนี้ว่า “เจ้า 400” กับ “เจ้า 200”
นอกจากการพนัน นายผาดยังมีบุคลิกเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว ชอบกีฬามวยไทย เคยขึ้นชกกับ ‘เสงี่ยม จุฑาเพชร’ นักมวยชื่อดัง และสามารถล้มเสงี่ยมมาแล้ว อีกทั้งยังเป็นนักกีฬาเทนนิส เคยเข้าแข่งขันเทนนิสได้แชมป์ของภาค 7 มาแล้วเช่นกัน
ช่วงวัยหนุ่ม นายผาดถูกตาต้องใจ “บุญยวด กําเนิดศิริ” บุตรีคหบดีตระกูลใหญ่ของเมืองเพชรที่มีฐานะมั่นคง แต่ถูกญาติฝ่ายหญิงกีดกันความรัก เนื่องจากไม่อยากให้ “บุญยวด” ชอบพอกับนักเลงหัวไม้ ทั้งยังเป็นหลักอะไรไม่ได้ เนื่องจากนายผาดขณะนั้นชอบเล่นการพนัน ทำอะไรก็ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
แต่เมื่อคู่กันแล้ว ไม่แคล้วกัน ทั้งสองมีใจต่อกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นายผาดต้องใช้วิธีนำบันไดพาดหน้าต่างบ้าน แล้วให้ “บุญยวด” ปีนลงมาและพาหนีไปอยู่ด้วยกันที่บ้าน เถ้าแก่เทียนไล้ ใหญ่กว่าวงษ์ ผู้กว้างขวางแห่งอำเภอบ้านแหลม
การเมือง
[แก้]ผาด อังกินันทน์ เป็นทนายความก่อนที่จะลงมาเล่นการเมืองและได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดเพชรบุรี[2]
ผาด เข้าสู่วงการเมืองท้องถิ่น โดยได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาเทศบาลเมืองเพชรบุรี และได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี ติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา คู่แข่งคนสําคัญคือ ร.อ. หลวงบําราบประทุษฐ (นิล จุฑานนท์) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี คนที่ 2 และเคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี (ระหว่างปี พ.ศ. 2485-พ.ศ. 2486)
ต่อมาปี พ.ศ. 2500 นายผาดได้ทิ้งสนามการเมืองท้องถิ่น ไปลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี สังกัดพรรคสหภูมิ โดยให้นายอรุณ ภิงคารวัฒน์ ลงกุมบังเหียนนั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรีแทน[3]
ก่อตั้งกลุ่มนายผาดอังกินันทน์
[แก้]กลุ่มนายผาดอังกินันทน์หรือกลุ่มผาดในปัจจุบันได้ก่อตั้งพร้อมกับวันที่ผาด อังกินันทน์เข้าสู่วงการเมืองท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2491 โดยสมาชิกสภาเทศบาลกลุ่มผาดในขณะนั้นมีนายปิยะและนายยุทธ อังกินันทน์ บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของนายผาด, นายภิมุข อังกินันทน์(บุตรนายทองพูน อังกินันทน์), นายโลบ สุภาแพ่ง (บิดา ดร.กัมพล-นายอภิชาติ สุภาแพ่ง), นายจินดา(จู) พรรณรายน์, นายเฉลิม ใหญ่กว่าวงษ์ ฯลฯ
เสียชีวิต
[แก้]นายผาด ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ที่ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ขณะมีอายุ 57 ปี ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ท่ามกลางความอาลัยรักของญาติพี่น้องและประชาชนชาวจังหวัดเพชรบุรี