ผักหนอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผักหนอก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: แอสเทอริด
อันดับ: อันดับผักชี
วงศ์: วงศ์เล็บครุฑ
สกุล: Hydrocotyle
สปีชีส์: Hydrocotyle siamica
ชื่อทวินาม
Hydrocotyle siamica
ชื่อพ้อง

Hydrocotyle javanica var. hookeri C.B.Clarke

ผักหนอก (จีน: 阿萨姆天胡荽)[1] ชื่อวิทยาศาสตร์: Hydrocotyle siamica เป็นพืชล้มลุกในวงศ์ Araliaceae ลำต้นทอดเลื้อยตามพื้นดิน ใบรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ดอกเป็นดอกช่อ ผลเป็นรูปไต พบในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พบครั้งแรกที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยหมอคาร์ ชาวไอริช ชื่อสปีชีส์ตั้งเป็นเกียรติแก่ประเทศไทย[2] ชื่ออื่น: ผักหนอกเขา, ผักหนอกดอย (เชียงใหม่), บัวบกเขา (นครศรีธรรมราช), ผักแว่นเขา (ตราด), ผักหนอกช้าง (ภาคเหนือ), กะเซดอมีเดาะ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), ผักหนอกป่า (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน)[3]

ลักษณะ[แก้]

เป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี มีความสูงได้ประมาณ 15–40 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำ เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย แตกไหลไปตามพื้นดิน กิ่งชูตั้งขึ้น พบได้ในเขตร้อนของเอเชีย, จีน, ญี่ปุ่น จนถึงออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ และตามชายป่า จนถึงระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ส่วนใหญ่มีด้านกว้างมากกว่าด้านยาว โคนใบเป็นรูปหัวใจตื้น ๆ ขอบใบหยักมนประมาณ 5–7 หยัก หรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย โดยมีขนาดกว้างประมาณ 3–9 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบออกจากโคน 7–9 เส้น ส่วนมากมีขนสั้นนุ่มตามเส้นแขนงของใบทั้งสองด้าน ก้านใบยาวได้ถึง 17 เซนติเมตร มีขนยาวขึ้นปกคลุม

ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ มีหลายช่อ ก้านช่อส่วนมากมีความยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร หรือยาวกว่าเล็กน้อย แต่ส่วนมากจะสั้นกว่าก้านใบ ช่อดอกเป็นแบบซี่ร่ม มีดอกจำนวนมาก ขนาดเล็ก ก้านดอกสั้นมาก ยาวได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร มีใบประดับ กลีบดอกเป็นสีขาวหรือขาวแกมเขียว หรือมีแต้มสีม่วงแดง กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายแหลม

ผลเป็นผลแห้งและแตกได้แยกเป็น 2 ซีก ผลมีขนาดเล็ก เกลี้ยง สีเขียวเข้มถึงน้ำตาลแดง ลักษณะเป็นรูปโล่หรือรูปกลมแป้น ๆ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5–1.8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1–1.3 มิลลิเมตร[4]

การใช้ทางการแพทย์พื้นบ้าน[แก้]

ทั้งต้นใช้ผสมกับเปลือกต้นมะกอก, หูเสือทั้งต้น, สะระแหน่ทั้งต้น, ฮางคาวทั้งต้น, รากหญ้าคา และตาอ้อยดำ นำมาแช่กับน้ำหรือต้มกับน้ำดื่มเป็นยาเย็น แก้ไข้ชักในเด็ก, ใช้ทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มทำให้ชุ่มคอ, ตำพอกแก้ช้ำใน[5] ใบใช้ตำประคบแก้ไข้

ตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้ทั้งต้นต้มกับไก่และเนื้อในเมล็ดท้อนึ่ง แก้อาการบวมจากโรคไต, ชาวอาข่าใช้ทั้งต้น ตำพอกหรือคั้นเอาน้ำทารักษาแผลสด แผลถลอก และใช้เป็นยาห้ามเลือด

อ้างอิง[แก้]

  1. "阿萨姆天胡荽 Hydrocotyle hookeri (C. B. Clarke) Craib". 中国植物物种信息数据库. 中国植物物种名录(CPNI). 17 มกราคม 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2022.
  2. ปิยะ เฉลิมกลิ่น; จิรพันธุ์ ศรีทองกุล & อนันต์ พิริยะภัทรกิจ (2008). วิสุทธิ์ ใบไม้ & รังสิมา ตัณฑเลขา (บ.ก.). พรรณไม้ที่พบครั้งแรกของโลกในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ. p. 56. ISBN 974-229-965-X.
  3. วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล; และคณะ, บ.ก. (1996). ผักหนอก. สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. กรุงเทพฯ: ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. p. 128. ISBN 974-588-590-8.
  4. "ผักหนอกเขา". สารานุกรมพืชในประเทศไทย. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช. 30 มกราคม 2017.
  5. "ผักหนอกเขา". ฐานข้อมูลพรรณไม้. องค์การสวนพฤกษศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2022.