ข้ามไปเนื้อหา

ปลาปิรันยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปิรันย่า)
ปลาปิรันยา
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Miocene–Recent
ปลาปิรันยาแดง (Pygocentrus nattereri)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Characiformes
วงศ์: Serrasalmidae
วงศ์ย่อย: Serrasalminae
สกุล

ปลาปิรันยา (อังกฤษ: piranha) เป็นชื่อสามัญเรียกปลาน้ำจืดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่ในวงศ์Serrasalmidae โดยทั่วไป ปลาที่ได้ชื่อว่า "ปิรันยา" นั้นจะหมายถึงปลาในสกุล Pristobrycon, Pygocentrus, Pygopristis และ Serrasalmus แต่ก็อาจรวมถึงปลาในสกุล Catoprion ด้วย รวมกันแล้วประมาณ 40 ชนิด[2] ส่วนปลาในสกุลอื่นมักไม่นิยมเรียกว่าปลาปิรันยา ถึงแม้จะอยู่ในวงศ์ย่อยนี้ก็ตาม

ลักษณะ

[แก้]

ปลาปิรันยากินเนื้อเป็นอาหาร มักอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ พบในแม่น้ำแอมะซอน และแม่น้ำหลายสายในทวีปอเมริกาใต้ มีฟันที่แหลมคมรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ มีส่วนหัวขนาดใหญ่ มีกล้ามเนื้อบริเวณกระพุ้งแก้มแข็งแรง ใช้สำหรับกัดกินเนื้อของสัตว์ที่ตกลงไปอยู่ใกล้ที่อยู่เป็นอาหาร โดยเฉพาะสัตว์ที่ตื่นตระหนกตกใจ หรืออยู่ในภาวะอ่อนแอบาดเจ็บ เสียงตูมตามของน้ำที่กระเพื่อม จะดึงดูดปลาปิรันยาเข้ามาอย่างว่องไว ซึ่งปลาปิรันยาจะใช้ฟันที่แหลมคมกัดกินเนื้อของสัตว์ใหญ่จนทะลุไปถึงกระดูกสันหลังได้เพียงไม่กี่นาที ความดุร้ายของปลาปิรันยาแตกต่างกันออกไปตามแต่ชนิด[2] แต่เชื่อว่าปลาปิรันยาทุกชนิดสามารถตรวจจับกลิ่นเลือดในน้ำแม้เพียง 50 แกลลอน เหมือนกับปลาฉลาม [2]

อาหาร

[แก้]

แต่อาหารโดยปกติของปลาปิรันยาแล้ว ก็คือ ปลาที่อยู่ในแม่น้ำ โดยอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ก็เพื่อหลีกเลี่ยงสัตว์นักล่าชนิดอื่น ๆ ที่กินปลาปิรันยาเป็นอาหาร เช่น ปลาอะราไพม่า (Arapaima gigas), นากยักษ์ (Pteronura brasiliensis), โลมาแม่น้ำแอมะซอน (Inia geoffrensis) และนกกินปลาอีกหลายชนิด รวมถึงปลาปิรันยาเองก็เป็นอาหารพื้นถิ่นของชาวพื้นบ้านแอมะซอนด้วย[3]

การวางไข่

[แก้]

ปลาปิรันยา วางไข่ในช่วงต้นฤดูฝน ปลายฤดูร้อน ในแหล่งน้ำตื้น ๆ ใกล้ชายฝั่ง โดยจะวางไข่ไว้ติดกับกอของพืชน้ำ โดยมีปลาตัวผู้เป็นผู้ดูแลไข่ ซึ่งหากมีสัตว์หรือมนุษย์มาคุกคาม แม้จะโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็จะถูกปลาปิรันยาเข้าทำร้าย[3]

อุบัติเหตุเกี่ยวกับปลาปิรันยา

[แก้]

ในปลายทศวรรษที่ 70 ที่บราซิล มีอุบัติเหตุรถบัสที่วิ่งไปมาระหว่างเมือง เกิดอุบัติเหตุจมลงในแม่น้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำแอมะซอน หลายชั่วโมงผ่านไปกว่าที่หน่วยกู้ภัยจะกว้านซากรถขึ้นมาได้ มีผู้เสียชีวิตที่ติดอยู่ในรถออกมาไม่ได้ทั้งหมด 39 ราย และส่วนใหญ่ปรากฏว่าศพของผู้เสียชีวิตถูกปลาปิรันยากัดแทะจนแทบไม่เหลือสภาพดั้งเดิม หนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิง, เด็กทารก และเด็กผู้หญิง ครอบครัวเดียวกันด้วย [3] นอกจากนี้แล้วในปี ค.ศ. 2012 มีผู้ชายคนหนึ่งจมน้ำเสียชีวิตในแม่น้ำยาตา ทางตอนเหนือของโบลิเวีย แต่สภาพศพของเขา ปรากฏว่าส่วนใบหน้าถูกกัดแทะจนหายไปหมด โดยปลากัดแทะที่บริเวณใบหน้าอย่างเดียว และไม่โจมตีเข้าที่ศีรษะ เชื่อว่าเป็นการกระทำของปลาปิรันยา[2]

การห้ามเลี้ยงและครอบครองในประเทศไทย

[แก้]

ปลาปิรันยาจัดเป็นปลาที่อันตรายชนิดหนึ่งที่ทั่วโลกรู้จักดี ชนิดที่ดุร้ายมาก ได้แก่ ปลาปิรันยาแดง (Pygocentrus nattereri) บางประเทศ เช่น ประเทศไทย ห้ามนำเข้าตัวที่ยังมีชีวิต เพราะเกรงจะแพร่ลงสู่แหล่งน้ำและขยายพันธุ์ ปัจจุบันไทยได้กำหนดให้ปลาปิรันยาที่มีชีวิตในสกุล Serrasalmus, Rooseveltiella และ Pygocentrus ทุกชนิดรวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของปลาดังกล่าวเป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง[4] โดยผู้ที่ฝ่าฝืนมีความผิดตาม พระราชบัญญัติการประมงมาตรา 53 และมีโทษตามมาตรา 67 ทวิ คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 6 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ [5]

ปลาปิรันยาทอดกับมะนาว อาหารพื้นเมืองของลุ่มน้ำแอมะซอน
ฟันที่แหลมคมของปลาปิรันยา

แต่บางประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้เลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้ ส่วนประเทศไทย ถ้านำเข้ามาในรูปอาหารแช่แข็ง เช่น ปลาปิรันยาแช่แข็ง เพื่อนำมาบริโภคอย่างเช่น ร้านอาหาร หรือภัตตาคาร ก็สามารถนำเข้ามาได้ไม่ผิดกฎหมาย

ความคล้ายคลึง

[แก้]

ปลาชนิดอื่นซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับปลาปิรันยา แต่ไม่มีความดุร้ายเท่าและสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ คือ ปลาเปคู หรือ ปลาคู้ ซึ่งในประเทศไทยถือเป็นปลาเศรษฐกิจและปลาสวยงามด้วย เช่น ปลาคู้ดำ (Colossoma macropomum) และ ปลาคู้แดง (Piaractus brachypomus) เป็นต้น[2] [6]

ปลาปิรันยาในวัฒนธรรมร่วมสมัย

[แก้]

จากชื่อเสียงที่โด่งดังในเรื่องความดุร้ายและทำร้ายมนุษย์ได้ ทำให้ได้มีการอ้างอิงถึงปลาปิรันยาในวัฒนธรรมร่วมสมัยต่าง ๆ มากมาย เช่น การ์ตูนญี่ปุ่น หรือภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะของฮอลลีวู้ด เช่น เจมส์ บอนด์ ตอน You Only Live Twice ในปี ค.ศ. 1967[7] หรือ Piranha 3D ในปี ค.ศ. 2010 และPiranha 3DD ในปี ค.ศ. 2012 ที่เป็นภาพยนตร์สามมิติ เป็นต้น [8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Cione, Alberto Luis; Dahdul, Wasila M.; Lundberg, John G.; Machado-Allison, Antonio (2009). "Megapiranha paranensis, a new genus and species of Serrasalmidae (Characiformes, Teleostei) from the Upper Miocene of Argentina". Journal of Vertebrate Paleontology. 29 (2): 350. doi:10.1671/039.029.0221. Summary of the paper
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Face Ripper, "River Monsters" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 31 ธันวาคม 2556
  3. 3.0 3.1 3.2 Piranha, "River Monsters" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: พฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556
  4. "กฎกระทรวงกำหนดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. ๒๕๕๙ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ หน้า ๑๙ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
  5. ปลาตู้, "แฟนพันธุ์แท้" เกมโชว์ทางช่อง 5: ศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2545
  6. "2004 เอเลี่ยนยึดไทย". ผู้จัดการออนไลน์. 8 June 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจาก2004 แหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 31 December 2013. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  7. "My favourite Bond film: You Only Live Twice". The Guardian. 4 October 2012. สืบค้นเมื่อ 31 December 2013.
  8. "หนัง Piranha 3DD". สนุกดอตคอม. 28 May 2012. สืบค้นเมื่อ 31 December 2013.