ปาราปารา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปาราปารา (อังกฤษ: Parapara) คือ รูปแบบการเต้นที่กำเนิดขึ้นในญี่ปุ่นช่วงปลายศตวรรษที่ 20 โดยมีลักษณะเฉพาะคือ ใช้มือ แขน และการขยับเท้า 2 สเต็ป เป็นหลัก

ลักษณะโดยสังเขป[แก้]

ปาราปารา เป็นการเต้นที่ใช้ประกอบเพลงแนวยูโรบีทเป็นหลัก โดยมักเป็นการขยับเท้าซ้ายขวา และเคลื่อนไหวร่างกายท่อนบน ในแต่ละเพลงจะมีท่าเต้นแตกต่างกัน เริ่มมีการเต้นกันในคลับและดิสโก้มาตั้งแต่ครึ่งหลังของยุค 1980 ปัจจุบัน เพลงที่ใช้ประกอบมิได้มีเพียงแค่ยูโรบีทเท่านั้น แต่ยังมีแนวเพลงอื่น ๆ เช่น ยูโรบีท แทรนซ์ เทคโน ป็อปอีกด้วย ปาราปาราที่เต้นประกอบแนวเทคโนจะเรียก เทคปารา ปาราปาราที่เต้นประกอบแนวแทรนซ์จะเรียก ทราปารา และยังใช้ในเพลงเปิดของ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ท่าเต้นในเพลง 8

ลักษณะเฉพาะ[แก้]

เป็นการเต้นอย่างพร้อมเพรียงกันในคลับหรือดิสโก้ โดยท่าเต้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละเพลง

ท่าเต้นปาราปารา มักเกิดจากการรวมการเคลื่อนไหวร่างกายท่อนบนพื้นฐาน แบบ 2 จังหวะ และ 4 จังหวะ หลาย ๆ ท่าเข้าด้วยกัน ร่างกายท่อนล่างมักเป็นการก้าวเท้าซ้ายขวา

ท่าเต้นแต่ละท่า ปกติแล้วจะถูกสร้างขึ้นมาสำหรับ 1 ห้องเพลง 4 จังหวะ (มีหลายร้อยประเภท) แล้วนำมาเรียงต่อกัน เมื่อนับทีละ 8 ห้องเพลง 32 จังหวะ จะนับชุดท่าเต้นเป็น อินโทร, ทำนอง A, ทำนอง B, ซาบิ (ท่อนฮุค), อินโทร ตามลำดับ ท่าเต้นเหล่านั้นเน้นที่การขยับมือ มีบางเพลงที่อาจจะต้องขยับสะโพกหรือขาไปพร้อม ๆ กัน แต่ส่วนใหญ่จะแค่ก้าวเท้าซ้ายขวาเท่านั้น

ประวัติ[แก้]

ปี ค.ศ.1987-1990 – เฟื่องฟูครั้งแรก[แก้]

ครึ่งหลังของยุค 1980 (ยุคฟองสบู่) การเต้นปาราปาราได้แพร่หลายในหมู่สุภาพสตรีที่เป็นลูกค้าดิสโก้ชั้นสูงซึ่งเป็นที่สังสรรค์สำหรับผู้ใหญ่ ที่มีพนักงานร้านชายแต่งชุดดำคอยเรียกลูกค้า (สังกัดโนว่า 21) ร้านเหล่านี้ ได้แก่ "King&Queen" ที่อาโอยาม่า, มหาราชา อาซาบุจูบัง เป็นต้น

ในขณะนั้นยังไม่มีวิดีโอสอนเต้นปาราปาราที่จัดทำโดยค่ายเพลง แต่ละร้านจะมีการสอนโดยพนักงานชุดดำ ซึ่งท่าอาจจะแตกต่างกัน และเผยแพร่ด้วยการบอกต่อกันไป ในเวลานั้นจึงกล่าวได้ว่าปาราปาราเป็นการแสดงของพนักงานชุดดำ

ปี ค.ศ.1990-1992 – ซบเซาครั้งแรก/ร้านจูเลียน่าโตเกียวเปิดทำการ, RaveTechnoเฟื่องฟู[แก้]

หลังปี ค.ศ.1990 ที่ฟองสบู่แตก ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1991 บริษัทนิชโชอิวาอิ ได้นำโกดังที่ชิบะอุระเบย์ไซด์มาดัดแปลงเป็นดิสโก้ขนาดยักษ์ สามารถจุคนได้หลายพันคน ชื่อจูเลียน่าโตเกียว โดยมี จอห์น โรบินสัน เป็นทำหน้าที่ดีเจ จากนั้น ลูกค้าจำนวนมากก็หลั่งไหลมาที่นี่ นำไปสู่ยุคเฟื่องฟูของการยืนเต้นโดยใช้พัด ประกอบแนวเพลงRaveTechnoหรือเรียกว่า จูเลียน่าบูม ทำให้ความนิยมในยูโรบีททั่วประเทศจืดจางลง

ถึงกระนั้น อาโอยาม่า"King&Queen" มหาราชา อาซาบุจูบัง และแกนนำอื่น ๆ ก็ยังคงเต้นปาราปารากันต่อไป

ปี ค.ศ.1992-1994 – เฟื่องฟูครั้งที่ 2[แก้]

จากการปิดกิจการของจูเลียน่าโตเกียว ทำให้ลูกค้าของมหาราชาและร้านอื่น ๆ กลับมา นำไปสู่ยุคยูโรบีทเฟื่องฟูครั้งที่ 2 ในยุคนี้ก็ยังคงเหมือนกับยุคแรก ที่ปาราปาราเป็นเครื่องมือในการเรียกลูกค้าสุภาพสตรีของกลุ่มชุดดำ

ช่วงระยะเวลาหนึ่งเอเว็กซ์ถึงขนาดใช้การจัดอิฟเว่นท์ที่โตเกียวโดมเป็นการรวบรวมเหล่าคนที่รักปาราปารา และยังสามารถเห็นสาว ๆ สอนเต้นปาราปาราให้กันในสถานีรถไฟใต้ดินรปปงหงิ เป็นภาพที่พบเห็นได้เป็นเรื่องปกติ แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น

  1. ทั้งการที่เอเว็กซ์ วางจำหน่ายวิดีโอชุด "ปาราปาราเคียวเต็น" และการกระจายวิดีโอผลิตเองของคลับTwin Star XENON AREA ไปทั่วประเทศ ทำให้ท่าเต้นสำหรับเพลงใหม่ มีมาตรฐานเป็นหนึ่งเดียวกันและสามารถท่องจำได้ที่บ้าน การคิดท่าเต้นสามารถทำให้ซับซ้อนขึ้นได้
  2. จากการแข่งขันในการผลิตวิดีโอเพลงใหม่ ๆ เพื่อเรียกลูกค้า กลับทำให้สังกัดโนว่า 21 (มหาราชา, King&Queen, EDEN ROC) สังกัดกลุ่มคุมาไง (Twin Star) สังกัดจอยแพ็ค (XENON) สังกัดนิตตาขุ (AREA, RONDE CLUB, ARX) สังกัดยามาโต้จิทซึเงียว (RADIO CITY) มีการออกวิดีโอที่มีเพลงเหมือนกันแต่ท่าเต้นต่างกันออกมา ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นก็จะเต้นเพลงเดียวกันด้วยท่าที่แตกต่างกันออกไป
  3. มีการตีพิมพ์นิตยสารดิสโก้ ชื่อ "Heaven's Door" ซึ่งจะมีการลงรูปถ่ายและแนะนำท่าเต้นเพลงใหม่ของแต่ละร้าน
  4. แม้ว่าเหล่า GAL ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างยุคเฟื่องฟูครั้งที่ 3 และการแต่งตัวของพวกเธอ จะถือกำเนิดและแพร่หลายมาตั้งแต่ประมาณปลายยุคเฟื่องฟูครั้งที่ 2 แล้ว แต่ในสมัยนั้น หากแต่งตัวตามสบาย เช่น เสื้อยืด ถุงเท้าย่น อาจถูกปฏิเสธที่จะให้เข้าร้าน
  5. ช่วงปี ค.ศ.1994 เริ่มคลับแนวเฮ้าส์ เร้กเก้ เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน วิดีโอปาราปาราในต่างจังหวัดเริ่มมีกลุ่มแยงกี้เข้ามาร่วมด้วย ทำให้ภาพลักษณ์ของปาราปาราเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง จากการแสดงของกลุ่มชุดดำเป็นการเต้นของพวกแยงกี้

ปี ค.ศ.1994-1995 – ความนิยมหันไปสู่เฮ้าส์ เร้กเก้ และเทคโนแนวใหม่ ช่วงเฟื่องฟูครั้งที่ 2 จึงจบลงในปี 1995

ปี ค.ศ.1994-1997 – ซบเซาครั้งที่2/เทคโน เฮ้าส์ เรกเก้ได้รับความนิยม[แก้]

ในยุโรปและอเมริกา เทคโนนั้นเริ่มได้รับความนิยมมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 ส่วนในญี่ปุ่นเอง เทคโนแนวใหม่ เฮ้าส์ และในคันไซ เร้กเก้ ก็เข้ามายึดครองคลับตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 ดิสโก้ที่เป็นแนวยูโรบีททะยอยปิดกิจการไปตามลำดับ เข้าสู่ช่วงซบเซาครั้งที่2

นับจาก ค.ศ.1997 ในช่วงที่ไม่มีร้านที่มีปาราปาราอิฟเว่นท์ ปาราปาราหันไปได้รับความนิยมในปาร์ตี้คอสเพลย์แทน นอกจากนี้ปาราปาราอิฟเว่นท์ยังถูกจัดโดยเหล่านักซิ่งบริเวณท่าเรือโยะโกะฮะมะ

ปี ค.ศ.1998-2001 – เฟื่องฟูครั้งที่ 3[แก้]

ปี ค.ศ.1998 รายการที่SMAPออกมาเต้นปาราปารา มีการแพร่ภาพทางโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น รายการเหล่านี้สามารถสร้างเรตติ้งในหมู่สาว ๆ ในยุค 1980 ถึงต้น 1990 ซึ่งเป็นยุคแรกของปาราปารา ได้เป็นอย่างมาก ทำให้เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของยูโรบีทและปาราปาราขึ้นอีกครั้งในช่วงปี ค.ศ.1998-2001 โดยมีคลับอย่าง "Twin Star" แห่งคางุระซากะ "9LoveJ" (คุราบุเจ) แห่งชิบุยะ "velfarre" (เวลฟาเร) แห่งรปปงหงิ และ "VENUS TOKYO" แห่งชิบะอุระ เป็นศูนย์กลาง นอกจากนั้น ในการ์ตูนก็มีการเต้นประเภทนี้ด้วยเช่นกัน โดยในหน้าร้อนปี ค.ศ. 2000 จนถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 2001 อะนิเมะเรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน โดยขณะนั้นใช้เพลงเปิด คือ โคอิวะทริลช็อกซัสเพนส์ (ญี่ปุ่น: 恋はスリル、ショック、サスペンスโรมาจิKoi wa,Thrill Shock Suspenseทับศัพท์: โคะอิ,วะ ทริว ซ็อก สาสุเพ็น) ร้องโดย รินะ อาอิอุชิ คนวาดได้นำโคนันมาเต้นปาราปารา ตั้งแต่ต้นจนจบเพลงเปิด

ทว่า นับจาก "คดีซูเปอร์ฟรี" ที่กลุ่มซูเปอร์ฟรีดังกล่าว ได้ใช้การจัดปาราปาราอิฟเว่นท์ เป็นตัวล่อหญิงสาวมาก่อคดีข่มขืน ทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดี และนำไปสู่การสิ้นสุดยุคเฟื่องฟู

ปี ค.ศ.2001-ปัจจุบัน[แก้]

เอเว็กซ์ ตั้งใจจะจุดกระแสความนิยมครั้งที่ 4 จึงได้ดำเนินแผน ทั้งจัด กะเซนปาราปาราทัวร์ ทั่วประเทศ ผลิตศิลปินปาราปาราอย่างฮิโนอิ ทีม และออกเผยแพร่ทางโทรทัศน์ แต่ทว่าครั้งนี้ ไม่ได้มีวงSMAPที่สร้างความเฟื่องฟูในครั้งที่ 3 เข้าร่วมด้วย จากนั้นในช่วงปี ค.ศ.2004 ความนิยมเริ่มหันเหไปทางทราปาราและเทคปารา อีกทั้งยังมีการตีพิมพ์ลงหนังสือ Ranzuki ซึ่งเป็นหนังสือแกลแฟชั่นของสำนักพิมพ์บุงกะ ในฉบับเดือนมีนาคมและกันยายน 2004

ปี ค.ศ.2005 การนิยมนำเพลงดราโกสเตยาดินเต (ชื่อภาษาญี่ปุ่น "โคอิ โนะ ไมยะฮิ") ของวงโอ-โซน มาเต้นปาราปารา และการที่ดาราตลกโจชู โคริคกิ เต้นเพลง NIGHT OF FIRE ว่ากันว่าอาจเป็นสัญญาณว่า กระแสความนิยมจะเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็มิได้ส่งอิทธิพลถึงเพียงนั้น

ปี ค.ศ.2006 ไม่เพียงแต่เอเว็กซ์เท่านั้น ค่ายเพลงอื่นก็ได้ออก DVD สอนเต้นมาเป็นของแถมจาก CD จำนวนไม่น้อย แต่ภาพลักษณ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่อาจเทียบได้กับยุคเฟื่องฟูครั้งที่ 3 ปัจจุบันจึงไม่อาจถือได้ว่าเฟื่องฟู

ปาราปาราสายต่าง ๆ[แก้]

มีทั้งทราปารา เทคปารา อนิปารา

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]