ปลาดุกไฟฟ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาดุกไฟฟ้า
ปลาดุกไฟฟ้าแอฟริกา (M. electric) เป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุดและรู้จักดีที่สุด[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Siluriformes
วงศ์: Malapteruridae
สกุล: Malapterurus
Lacépède, 1803
ชนิด
ดูในเนื้อหา
ชื่อพ้อง
  • Anacanthus Minding 1832
  • Malopterurus Agassiz, 1846

ปลาดุกไฟฟ้า (อังกฤษ: Electric catfish) เป็นสกุลปลาหนังน้ำจืดในวงศ์ปลาดุกไฟฟ้า (Malapteruridae) ใช้ชื่อสกุลว่า Malapterurus (/มา-แลป-เทอ-รู-รัส/) โดยมาจากภาษากรีกคำว่า μαλακός (malakos) หมายถึง "อ่อนนุ่ม", πτερων (pteron) หมายถึง "ครีบ" และ ουρά (oura) หมายถึง "หาง" โดยมีความหมายถึง ครีบไขมันที่แลดูโดดเด่น เนื่องจากปลาในสกุลนี้ไม่มีครีบหลัง[2]

โดยรวมมีรูปร่างกลมยาวอวบอ้วนทรงกระบอกคล้ายไส้กรอก ตามีขนาดเล็ก ริมปากหนาและรูจมูกกลมและมีความห่างจากกันพอสมควร ช่องเหงือกแคบและบีบตัว มีหนวดสามคู่ ไม่มีครีบหลัง มีครีบไขมันขนาดใหญ่อยู่ค่อนไปทางส่วนท้ายของลำตัวติดกับครีบหาง ครีบทุกครีบปลายครีบมนกลม ถุงลมแบ่งเป็นสองห้องยาว

มีลำตัวทั่วไปสีน้ำตาลหรือเทา และมีลายจุดหรือกระสีคล้ำกระจายอยู่บนหลังและด้านข้างลำตัว ใต้ท้องเป็นสีขาวไม่มีลาย คอดหางมีลายแถบสีคล้ำสลับขาว และครีบหางมีลายสีขาวคล้ายรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวอยู่กลางครีบ [1][3]

เป็นปลาที่พบกระจายพันธุ์ในแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำไนล์, แม่น้ำคองโก, แม่น้ำแซมเบซี, แม่น้ำไนเจอร์ และแม่น้ำหลายสาย ในทวีปแอฟริกา รวมถึงทะเลสาบต่าง ๆ เช่น ทะเลสาบแทนกันยีกา หรือทะเลสาบชาด[1]

มีอวัยวะที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อด้านข้างลำตัว ซึ่งสามารถปล่อยได้มากถึง 350 โวลต์ ในขนาดลำตัว 50 เซนติเมตร (19 นิ้ว) โดยชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ยาวได้ถึง 122 เซนติเมตร (48 นิ้ว) และน้ำหนัก 20 กิโลกรัม (44 ปอนด์)

อาศัยอยู่ในน้ำขุ่นและมีวัสดุต่าง ๆ เช่น ตอไม้หรือโพรงหินสำหรับหลบซ่อนตัว โดยใช้ไฟฟ้าในการป้องกันตัวและช็อตเหยื่อสำหรับเป็นอาหาร เป็นปลาที่เคลื่อนไหวได้เชื่องช้า เมื่อช็อตเหยื่อจนสลบแล้วจึงค่อยกลืนกิน มีการจับคู่ผสมพันธุ์ด้วยการขุดโพรงยาวถึง 3 เมตร (10 ฟุต) ที่ริมตลิ่งในระดับความลึกประมาณ 1-3 เมตร (3.3-9.8 ฟุต)

เป็นปลาที่มนุษย์ใช้รับประทานเป็นอาหารมาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม[1]

การจำแนก[แก้]

แบ่งออกได้เป็น 18 ชนิด[3][4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Ng, Heok Hee (2000). "Malapterurus electricus". Animal Diversity Web. สืบค้นเมื่อ 2007-07-28.
  2. "Malapterurus". PlanetCatfish.com. สืบค้นเมื่อ 24 January 2016.
  3. 3.0 3.1 Nelson, Joseph S. (2006). Fishes of the World. John Wiley & Sons, Inc. ISBN 0-471-25031-7.
  4. Ferraris, Carl J., Jr. (2007). "Checklist of catfishes, recent and fossil (Osteichthyes: Siluriformes), and catalogue of siluriform primary types" (PDF). Zootaxa. 1418: 1–628.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Malapterurus ที่วิกิสปีชีส์