ประวัติศาสตร์โซมาเลีย
ประเทศโซมาเลีย (โซมาลี: Soomaaliya; อาหรับ: الصومال aṣ-Ṣūmāl) หรือชื่ออย่างเป็นทางการ สหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย (โซมาลี: Jamhuuriyadda Federaalka Soomaaliya, อาหรับ: جمهورية الصومال الفدرالية Jumhūriyyat aṣ-Ṣūmāl al-Fideraaliya) มีชื่อเดิมว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาลี เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแหลมแอฟริกา
ตามประวัติศาสตร์สาธารณรัฐโซมาลี หรือ โซมาเลีย ตั้งอยู่บริเวณแหลมแอฟริกาซึ่งแต่เดิมเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของแอฟริกา[1][2] โดยเป็นจุดค้าขายสินค้าที่มีค่า ได้แก่ ยางสน ยางไม้หอม และเครื่องเทศ ประชาชนในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากชาวอาหรับมุสลิม[3][4]
ศตวรรษที่ 19
[แก้]ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวยุโรปเริ่มแผ่ขยายลัทธิล่าอาณานิคมมายังดินแดนแหลมแอฟริกา แต่ผู้ปกครองชาวเดอร์วิชในสมัยนั้น สามารถต่อสู้และขับไล่ชาติตะวันตกออกไปได้[5][6] จนกระทั่งปี 2463 สหราชอาณาจักรทำสงครามรูปแบบใหม่โดยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดที่เมืองตาลีกซ์ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของชาวเดอร์วิช ส่งผลให้ดินแดนเดอร์วิช ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร (บริติชโซมาลีแลนด์) และมีดินแดนบางส่วนตกอยู่ภายใต้การปกครองของอิตาลี (อิตาเลียนโซมาลีแลนด์) ต่อมาในปี 2484 ดินแดนทางตอนเหนือของโซมาเลียตกอยู่ภายใต้การบริหารจัดการทางทหารของสหราช อาณาจักรส่วนดินแดนทางใต้มีสถานะเป็นดินแดนในอารักขา หลังจากนั้น สหราชอาณาจักรถอนกำลังออกจากบริเวณดังกล่าวในปี 2503 และยินยอมให้ดินแดนของตนรวมตัวกับดินแดนที่อยู่ภายใต้การดูแลของอิตาลี และจัดตั้งรัฐใหม่โดยใช้ชื่อว่า สาธารณรัฐโซมาลี
สาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาลี
[แก้]ในปี 2512 นายพลซาลาอัด บาเบย์เร เคดีย์ นายพลโมฮัมเหม็ด ไซอัด บาร์รี และนายจามา คอร์เชล ผู้บัญชาการตำรวจได้ทำรัฐประหาร ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาลี และแต่งตั้งให้นายพลโมฮัมเหม็ด ไซอัด บาร์รี เป็นประธานาธิบดี โดยปกครองประเทศแบบเผด็จการ แต่ท้ายที่สุดระบบการปกครองของ นายพลโมฮัมเหม็ด ไซอัด บาร์รี ก็ล่มสลายลงในช่วงหลังสงครามเย็น[7][8]
สงครามกลางเมืองโซมาเลีย
[แก้]หลังจากนั้น สถานการณ์ในประเทศโซมาเลียตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย เกิดการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยต่างๆ จนกระทั่งตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตย[9] ในช่วงกลางปี 2534 ชนเผ่าทางเหนือของโซมาเลียที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรประกาศเอกราช และจัดตั้งรัฐใหม่ มีชื่อว่าสาธารณรัฐโซมาลีแลนด์ ปกครอง 6 เขต ได้แก่ อาวดาล, โวคูวี กัลบีด, ทูจด์ฮีร์, ซานัก และ ซูล อย่างไรก็ตาม รัฐดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ นอกจากนี้รัฐพุนต์แลนด์ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของโซมาเลียได้ประกาศเป็นรัฐปกครองตนเอง ในปี 2541 และปกครอง 3 เขต ได้แก่ บารี, นูกัล และทางตอนเหนือของเขตมูดัก อย่างไรก็ตามรัฐพุนต์แลนด์ยังไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะประกาศเอกราช แต่ต้องการปฏิรูประบบบริหารให้เกิดความชอบธรรม ซึ่งต่อมาทั้งสองรัฐเกิดความขัดแย้งอันเนื่องจากการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือ พื้นที่ทางตะวันออกของเขต ซูล และ ซานัก[10]
ต้นปี 2536 สหประชาชาติได้เข้ามามีบทบาทในโซมาเลียโดยได้จัดตั้งภารกิจสหประชาชาติในโซมาเลีย เพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับประชาชนในพื้นที่[8] แต่เนื่องจากการดำเนินภารกิจกระทำด้วยความยากลำบาก ทำให้สหประชาชาติต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ในปี 2538
รัฐบาลเฉพาะกาลแห่งชาติ
[แก้]หลังจากนั้น รัฐบาลเคนยาและ Intergovernmental Authority on Development (IGAD) ร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างกระบวนการสันติภาพในโซมาเลีย โดยสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและจัดตั้งรัฐบาล จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2547 นายอับดุลลาฮี ยูซุฟ อะห์เมด ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัฐบาลรักษาการโซมาเลีย[11] และได้จัดตั้งสถาบันสหพันธรัฐรักษาการ ขึ้นที่ประเทศเคนยา โดยประกอบด้วยสมาชิกสภา จำนวน 275 คน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสมัชชาสหพันธรัฐรักษาการ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความไม่สงบในกรุงโมกาดิชูยังคงมีอย่างต่อเนื่อง[12] และในปี 2549 TFG ย้ายที่ตั้งของรัฐบาลกลับมายังโซมาเลียที่เมืองไบโดอา และยึดเป็นฐานที่มั่น
เมื่อ TFG ย้ายกลับมาตั้งถิ่นฐานในโซมาเลีย TFG ได้ขอรับการสนับสนุนกองกำลังจากเอธิโอเปียเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐบาลและเสถียรภาพของรัฐ การกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่หลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่ม Islamic Court of Union (ICU) ที่สนับสนุนการปกครองตามหลักกฎหมายอิสลาม[13] และมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศ ทำให้กลุ่มต่อต้าน TFG ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรปลดปล่อยโซมาเลีย เพื่อตอบโต้การที่ TFG อนุญาตให้เอธิโอเปียรุกล้ำเข้ามาในดินแดนโซมาเลีย
ในปี 2549 สงครามระหว่าง ARS ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมุสลิม และTFG ภายใต้การสนับสนุนจากกองกำลังเอธิโอเปีย หรือเรียกว่ายุทธการไบโดอา จึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่กองกำลังเอธิโอเปียออกไปจากโซมาเลีย อย่างไรก็ตาม TFG และกองกำลังเอธิโอเปียเป็นฝ่ายชนะ และสามารถเข้ายึดกรุงโมกาดิชูซึ่งเป็นเมืองหลวงและฐานที่มั่นของ ARS ได้สำเร็จ หลังจากนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จึงได้รับรองข้อมติ UNSC ที่ 1744 (2007) อนุมัติให้สหภาพแอฟริกาจัดตั้งภารกิจของสหภาพแอฟริกาในโซมาเลีย[14] เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพทางการเมืองของโซมาเลีย โดยมีอาณัติในการสนับสนุนการเจรจาและความปรองดองแห่งชาติ ตลอดจนคุ้มครองและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้นำทางการเมือง ผู้นำชนเผ่า ผู้นำทางศาสนา และผู้แทนจากภาคประชาสังคม
ต่อมารัฐบาลเคนยาและองค์กร Intergovernmental Authority for Development ได้ร่วมกันพยายามผลักดันให้เกิดการสร้างกระบวนการสันติภาพในโซมาเลีย[15] จนกระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2551 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงสันติภาพจิบูตีร่วมกัน โดยมีสหประชาชาติเป็นคนกลาง และในเดือนมกราคม 2552 เอธิโอเปียได้ถอนกำลังทหารออกจากโซมาเลีย
ผลของยุทธการไบโดอาทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และขั้วอำนาจของ ARS ได้แตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนให้มีการประณีประนอมกับ TFG นำโดยชีค ชารีฟ ชีค อาห์เมด ซึ่งเป็นอดีตผู้นำ ICU และฝ่ายต่อต้าน TFG นำโดยชีค ฮัสซัน ดาฮีร์ อาเวส์[16][17]
ในช่วงปลายปี 2551 นายอับดุลลาฮี ยูซุฟ อะห์เมด ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากนั้น TFG และ ARS ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลขึ้นในเดือนมกราคม 2552 โดยเห็นชอบให้เพิ่มสมาชิกสภาจากฝ่าย ARS อีก 275 คน ดังนั้น รัฐสภาจึงมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 550 คน และรัฐสภาใหม่ได้คัดเลือกให้ชารีฟ ชีค อาห์เหม็ด ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี[18] เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 นอกจากนี้ ได้แต่งตั้งให้นายโอมาร์ อับดีราซิด อาลี ชาร์มาร์กี บุตรชายของนายอับดุลลาฮี ยูซุฟ อะห์เมด ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโซมาเลีย
อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพของ TFG ยังคลอนแคลน เนื่องจากกองกำลังเอธิโอเปียซึ่งเป็นกำลังพลส่วนมากได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ คงเหลือเฉพาะกองกำลังของสหภาพแอฟริกาที่ช่วยรักษาความมั่นคงและฟื้นฟูประเทศ ความอ่อนแอของรัฐบาลทำให้กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงกลับมามีอำนาจ ประกาศใช้กฎหมายอิสลาม และบุกยึดพื้นที่ทางตอนใต้ของโซมาเลีย และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงได้เข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงโมกาดิชูได้สำเร็จ แต่ยังไม่สามารถล้มรัฐบาลได้[19]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ John Kenrick, Phoenicia, (B. Fellowes: 1855), p. 199.
- ↑ Jeanne Rose, John Hulburd, The aromatherapy book: applications & inhalations, (North Atlantic Books: 1992), p. 94.
- ↑ Charnan, Simon (1990). Explorers of the Ancient World. Childrens Press. p. 26. ISBN 0-516-03053-1.
- ↑ "The Mariner's mirror". The Mariner's Mirror. Society For Nautical Research. 66–71: 261. 1984.
- ↑ Christine El Mahdy, Egypt : 3000 Years of Civilization Brought to Life, (Raincoast Books: 2005), p.297.
- ↑ Stefan Goodwin, Africa's legacies of urbanization: unfolding saga of a continent, (Lexington Books: 2006), p. 48.
- ↑ Laitin 1977, p. 8 .
- ↑ 8.0 8.1 Issa-Salwe, Abdisalam M. (1996). The Collapse of the Somali State: The Impact of the Colonial Legacy. London: Haan Associates. pp. 34–35. ISBN 187420991X.
- ↑ Kevin Shillington, Encyclopedia of African history, (CRC Press: 2005), p. 1406.
- ↑ Samatar, Said Sheikh (1982). Oral Poetry and Somali Nationalism. Cambridge University Press. pp. 131 & 135. ISBN 0-521-23833-1.
- ↑ Peter Robertshaw (1990). A History of African Archaeology. J. Currey. p. 105. ISBN 978-0-435-08041-9.
- ↑ S. A. Brandt (1988). "Early Holocene Mortuary Practices and Hunter-Gatherer Adaptations in Southern Somalia". World Archaeology. 20 (1): 40–56. doi:10.1080/00438243.1988.9980055. JSTOR 124524. PMID 16470993.
- ↑ Greystone Press Staff, The Illustrated Library of The World and Its Peoples: Africa, North and East, (Greystone Press: 1967), p. 338.
- ↑ H.W. Seton-Karr (1909). "Prehistoric Implements From Somaliland". Man. 9 (106): 182–183. doi:10.2307/2840281. JSTOR 2840281. สืบค้นเมื่อ 30 January 2011.
- ↑ Bakano, Otto (April 24, 2011). "Grotto galleries show early Somali life". AFP. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-30. สืบค้นเมื่อ 11 May 2013.
- ↑ Mire, Sada (2008). "The Discovery of Dhambalin Rock Art Site, Somaliland". African Archaeological Review. 25: 153–168. doi:10.1007/s10437-008-9032-2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-27. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
- ↑ Alberge, Dalya (17 September 2010). "UK archaeologist finds cave paintings at 100 new African sites". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 25 June 2013.
- ↑ Hodd, Michael (1994). East African Handbook. Trade & Travel Publications. p. 640. ISBN 0844289833.
- ↑ Ali, Ismail Mohamed (1970). Somalia Today: General Information. Ministry of Information and National Guidance, Somali Democratic Republic. p. 295.