ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง
ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิม (อังกฤษ: Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) ผ่านโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติระหว่างสมัยประชุมที่ 62 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550
ขณะที่ปฏิญญาสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะมิใช่ตราสารอันมีผลผูกพันตามกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ แต่สหประชาชาติแถลงว่า ปฏิญญาฯ "แสดงถึงพัฒนาการอันรวดเร็วของบรรทัดฐานกฎหมายระหว่างประเทศ และปฏิญญาฯ ยังสะท้อนพันธกรณีของสหประชาชาติที่จะขับเคลื่อนไปยังทิศทางที่แน่นอน" สหประชาชาติอธิบายว่าปฏิญญาฯ ว่าเป็น "มาตรฐานสำคัญในการปฏิบัติต่อปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญมุ่งสู่การกำจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิมกว่า 370 ล้านคนของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย และช่วยพวกเขาในการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติและการถูกเบียดตกขอบ (marginalisation)"[1]
เป้าประสงค์
[แก้]ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิมแถลงสิทธิปัจเจกและสิทธิร่วมของปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิม เช่นเดียวกับสิทธิในวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ภาษา การจ้างงาน สาธารณสุข การศึกษาและประเด็นอื่น ปฏิญญาฯ ยัง "ให้ความสำคัญแก่สิทธิปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการธำรงรักษาและเสริมสร้างสถาบัน วัฒนธรรมและประเพณีของตน และเพื่อติดตามการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการและความปรารถนาของพวกเขาเอง"[1] มัน "ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิม" และยัง "สนับสนุนการมีส่วนอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา และสิทธิของพวกเขาในการคงความแตกต่าง และติดตามวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขาเอง"[1][2]
การเจรจาและการลงมติเห็นชอบ
[แก้]ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิมใช้เวลาจัดทำนานถึง 25 ปี แนวคิดในการจัดทำเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2525 เมื่อคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติจัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิม (WGIP) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นผลจากการศึกษาโดยผู้เสนอรายงานการประชุมพิเศษ José R. Martínez Cobo ว่าด้วยปัญหาการเลือกปฏิบัติที่ปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิมเผชิญ คณะทำงานดังกล่าว ซึ่งได้รับมอบหมายให้พัฒนามาตรฐานสิทธิมนุษยชนซึ่งจะคุ้มครองปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิม เริ่มต้นทำงานใน พ.ศ. 2528 โดยร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิม ร่างปฏิญญาแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2536 และถูกเสนอต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยการป้องกันการเลือกปฏิบัติและการคุ้มครองชนกลุ่มน้อย ซึ่งให้การรับรองในปีถัดมา ระหว่างนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้เห็นชอบอนุสัญญาว่าด้วยชนพื้นเมืองและชนเผ่า พ.ศ. 2532
จากนั้นปฏิญญาฉบับร่างถูกส่งถึงคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งจัดตั้งคณะทำงานขึ้นอีกชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาข้อความ อีกหลายปีต่อมา คณะทำงานนี้ประชุมกัน 11 ครั้งเพื่อพิจารณาและแก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญาและข้อกำหนดของร่าง ความคืบหน้าในร่างปฏิญญาเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะมีบางรัฐกังวลเกี่ยวกับข้อกำหนดบางประการของปฏิญญา อาทิ สิทธิในการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของปวงชนท้องถิ่น และการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในดินแดนดั้งเดิมของปวงชนท้องถิ่นนั้น[3] ปฏิญญารุ่นสุดท้ายได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2549 โดยประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 47 ประเทศ อันเป็นองค์กรสืบทอดจากคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยมีรัฐสมาชิก 30 รัฐเห็นชอบ สองรัฐไม่เห็นชอบ สิบสองรัฐไม่ลงคะแนน และอีกสามรัฐขาดประชุม[4]
ต่อมา ปฏิญญาฯ ถูกส่งต่อไปยังสมัชชาใหญ่ ซึ่งได้มีการลงมติยอมรับข้อเสนอเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550 ระหว่างสมัยประชุมสามัญที่ 61 มี 143 ประเทศลงมติเห็นชอบ สี่ประเทศไม่เห็นชอบ และสิบเอ็ดประเทศงดออกเสียง[5] รัฐสมาชิกสี่ประเทศที่ลงมติไม่เห็นชอบมีออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยทุกประเทศข้างต้นกำเนิดขึ้นเดิมเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร และมีประชากรอพยพส่วนใหญ่มิใช่ปวงชนท้องถิ่น และมีประชากรท้องถิ่นส่วนน้อย นับแต่นั้น ทั้งสี่ประเทศได้เปลี่ยนไปลงนามปฏิญญาดังกล่าว ประเทศที่ไม่ออกเสียงได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บังกลาเทศ ภูฏาน บุรุนดี โคลอมเบีย จอร์เจีย เคนยา ไนจีเรีย สหพันธรัฐรัสเซีย ซามัวและยูเครน ส่วนรัฐสมาชิกอีก 34 รัฐไม่มาลงมติ[6] โคลอมเบียและซามัวได้เปลี่ยนไปลงนามเอกสารนับแต่นั้น[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Frequently Asked Questions: Declaration on the Rights of Indigenous Peoples United Nations Permanent Forum on Indigenous Issues.
- ↑ United Nations adopts Declaration on Rights of Indigenous Peoples United Nations News Centre, 13 September 2007.
- ↑ Declaration on the Rights of Indigenous Peoples: Adopted by the Human Rights Council on 29 June 2006 United Nations Permanent Forum on Indigenous Issues.
- ↑ UN Human Rights Council adopts documents on disappearances and indigenous peoples United Nations News Centre, 29 June 2006.
- ↑ Indigenous rights outlined by UN BBC News, 13 September 2007.
- ↑ UN adopts Declaration on Rights of Indigenous Peoples United Nations News Centre, 13 September 2007.
- ↑ UN Permanent Forum on Indigenous Issues, United Nations Declaration on Rights of Indigenous Peoples.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples as Adopted by the General Assembly, 13 September 2007 Full text of the Declaration.