ข้ามไปเนื้อหา

บาศกนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผลงานแบบบาศกนิยม

บาศกนิยม (อังกฤษ: cubism) เป็นลัทธิการสร้างสรรค์ศิลปะที่ได้รับผลสะท้อนมาจากอิทธิพลด้านความเจริญทางวิทยาศาสตร์ และจากลักษณะรูปแบบหน้ากากของชนเผ่าดั้งเดิมในแอฟริกา ซึ่งได้ปลุกเร้าการสร้างสรรค์แบบใหม่ รวมทั้งลักษณะการของศิลปินสมัยใหม่ที่พยายามแสวงหาลักษณะเฉพาะตัวให้กับตนเอง เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับลักษณะรูปแบบศิลปะกลุ่มอื่นที่ผ่านมาหรือที่มีอยู่ในยุคนั้น ซึ่งมีหลักสุนทรียภาพที่แสดงรูปทรงศิลปะในลักษณะผันแปรความจริง โดยให้มีลักษณะเป็นเหลี่ยมมุม เป็นลูกบาศก์ เป็นทรงเรขาคณิต เพื่อสร้างความคิดรวบยอดเชิงสามมิติให้ปรากฏในผืนระนาบสองมิติหรือสามมิติ แสดงออกทั้งงานจิตรกรรมและประติมากรรม หากเป็นงานจิตรกรรมรูปแบบผลงานก็จะสามารถแสดงลักษณะปรากฏทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังบนพื้นระนาบไปพร้อมกัน บางทีก็แสดงการทับซ้อนและปิดบังระหว่างกัน รวมทั้งมีการตัดทอนรูปทรงให้ดูง่ายขึ้นกว่ารูปจริงของวัตถุหรือสภาวะที่แท้จริงของรูปทรงนั้น ๆ ด้วย

ประวัติ

[แก้]

แนวคิดและจุดเริ่มต้น

[แก้]

บาศกนิยมนับเป็นวิวัฒนาการของวงการศิลปะอย่างสำคัญ โดยศิลปินสองคน คือ ฌอร์ฌ บรัก และปาโบล ปีกัสโซ ซึ่งทั้งสองต่างมีจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจจากผลงานของปอล เซซาน ซึ่งมีความคิดว่า "โครงสร้างเรขาคณิตเป็นรากฐานของรูปทรงธรรมชาติทั้งมวล" และถ้าเข้าใจรูปทรงของโลกภายนอก และโครงสร้างตามความเป็นจริงแล้ว จงมองดูรูปเหล่านั้นให้เป็นเหลี่ยมเป็นลูกบาศก์ง่าย ๆ ทั้งปีกัสโซและบรักพยายามเน้นคุณค่าของปริมาตร ของวัสดุกับอากาศซึ่งสัมพันธ์กันเต็มไปหมดในภาพ อีกทั้งยังปฏิเสธหลักการของลัทธิประทับใจซึ่งละเลยความสำคัญของรูปทรงและมวลปริมาตร ศิลปินทั้งสองต่างสำรวจรายละเอียดของสิ่งที่พวกเขาต้องการวาด ด้วยการวิเคราะห์และแยกแยะทำลายรูปทรงเหล่านั้นให้กลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่ปะติดปะต่อกัน จากนั้นก็นำมาสังเคราะห์ประกอบกันใหม่ ให้รูปทรงบางรูปทับกัน ซ้อนกัน หรือเหลื่อมล้ำกันก็ได้ โดยมีจุดประสงค์สำคัญในเรื่องการสร้างความงามที่เกิดจากมวลปริมาตรเป็นเป้าหมายสูงสุด

โดยที่มาของชื่อบาศกนิยมนั้นมาจากการที่ฌอร์ฌ บรัก ได้ส่งงานของเขาไปแสดงในนิทรรศการศิลปะที่หอศิลป์ศิลปินอิสระ (Salon des Artistes Indépendants) ในกรุงปารีส และถูกปฏิเสธไม่ให้แสดงงาน และนำผลงานทั้งหมดออกจากนิทรรศการ โดยมีนักวิจารณ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับผลงานของบรักว่า เป็นการสร้างสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาดเล็กทั้งสิ้น และเป็นผลงานที่ไม่เห็นความสำคัญของรูปทรงและตัดทอนทุกอย่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน รูปร่างของสิ่งต่าง ๆ โดยบรักตัดทอนให้เกิดรูปทรงเรขาคณิตและนำไปสู่รูปทรงแบบลูกบาศก์

โดยในแรกเริ่มนั้น ปีกัสโซและบรักเริ่มทำงานในแบบบาศกนิยมร่วมกันนั้น ปีกัสโซเปิดเผยว่า "ตอนที่เริ่มเขียนภาพในแนวทางนี้นั้น พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะสร้างรูปสี่เหลี่ยม แต่เพียงแต่ต้องการแสดงความคิดพวกเขาออกมาเท่านั้น" และในการที่จะแสดงออกให้ตรงกับความคิดของทั้งสอง ก็จำเป็นต้องทำการค้นหาโครงสร้างใหม่ และต้องเปลี่ยนแนวศิลปะไปในทางตรงกันข้ามกับศิลปะลัทธิประทับใจ ด้วยเหตุดังนี้ เขาจึงต้องละเลยเรื่องสีและสัมผัสเพื่อหันไปค้นหาเรื่องโครงสร้างซึ่งจะเป็นพื้นฐานขององค์ประกอบ โดยจัดระเบียบเสียใหม่

มุมมองเทคนิคและรูปแบบ

[แก้]

ศิลปะแบบบาศกนิยมเกิดจากการที่ศิลปินไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางศิลปะที่ต่างไปจากแบบเก่าโดยสิ้นเชิง มันยากแก่การจำกัดความให้ เพราะบาศกนิยมมันไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎี ระบบ หรือแม้แต่รูปแบบเพียงแบบเดียว หากแต่บาศกนิยมได้พยายามค้นคว้าจากแนวทางในการสร้างสรรค์ งานศิลปะ ที่แสดงให้เห็นวัตถุ โดยให้ความรู้สึกว่าภาพนั้น ๆ ถูกสร้างขึ้นด้วยสีบนผืนผ้าใบ ไม่ใช่เพียงแค่การเลียนแบบวัตถุเท่านั้น ให้สายตามองเห็นเป็นจริงอย่างธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ศิลปะแบบบาศกนิยมก็ไม่ใช่ศิลปะนามธรรมโดยแท้จริง เพราะว่าบาศกนิยมยังมีเนื้อหาเรื่องราวในภาพอยู่ แต่สิ่งที่บาศกนิยมให้ความสนใจคือการมุ่งไปที่ลักษณะของวัตถุทางรูปทรงที่เราเห็นได้ด้วยความคิด ดังนั้น บาศกนิยมจึงเป็นแนวทางศิลปะที่พยายามจะเชื่อมโยงทั้งความคิดและสายตาเข้าด้วยกัน

ปีกัสโซและบรักนั้นได้แรงบันดาลใจในการทำศิลปะแบบบาศกนิยมจากเซซานในเรื่องโครงสร้างและการไม่ลวงตา บาศกนิยมทำตามหลักการวิเคราะห์ โครงสร้าง และการแปรระนาบ แล้วสร้างรูปทรงที่เป็นเหลี่ยมเป็นสันขึ้นมา โดยลดระยะในช่วงความลึกจากโลกแห่งทิวทัศน์จริงลงมา ทำให้มวลสารทั้งหลายอัดรวมกันเหมือนภาพนูน บาศกนิยมแบบวิเคราะห์ (analytical cubism) จะตัดรายละเอียดซับซ้อนของวัตถุจริงออกไป บ้านและต้นไม้จะลดรูปทรงลง เหลือแค่ก้อนเหลี่ยมหรือรูปโค้งอย่างง่าย ๆ

บาศกนิยมจะมีแนวทางที่ไม่แสดงให้เห็นได้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร แต่จะใช้ให้สิ่งต่าง ๆ นั้นมาปรากฏคู่กันเสมอ เช่น ในการสร้างปริมาตร (volume) แต่ในขณะที่ก็มีการใช้สีแบนราบตามผืนผ้าใบในบริเวณใกล้เคียง มีการจับลักษณะวัตถุตามที่ตาเห็น ขณะเดียวกันก็จงใจใช้สีที่แสดงให้รู้ว่านี่คือ ผืนผ้าใบแท้ ๆ ไม่ใช่อย่างอื่น ในเรื่องเส้นวาดและสีก็เช่นเดียวกัน เส้นอาจจะถูกกลืนหายเข้าไปในบริเวณสี ขอบร่างที่คมชัดของคนอาจจะเลือนหายเข้าไป กลืนกับระนาบรอบตัวได้โดยง่าย วิธีการทำระนาบให้เชื่อมโยงกันไปเรื่อย ๆ นั้นจะทำโดยการเปลี่ยนระดับสายตาไปด้วยกัน จะพบกับความตื้นลึกที่ต่างกัน แม้มันจะอยู่บนระนาบเดียวกันก็ตาม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ปีกัสโซได้เปลี่ยนแนวทางการทำงานแบบบาศกนิยมมาเป็นบาศกนิยมแบบสังเคราะห์ (synthetic cubism) บาศกนิยมแบบนี้จะมีวัสดุต่าง ๆ เท่าที่หาได้มาปะติดเข้าไปด้วย ภาพที่ใช้วัสดุมาประกอบกันนี้เรียกว่า "ภาพปะติด" (collage) อาจจะใช้แผ่นกระดาษ เศษหนังสือพิมพ์ แผ่นกระจกเงา เส้นเชือก ทราย หรือไพ่ การนำเอาเศษวัสดุเหล่านี้มาใส่ในภาพ สามารถอำพรางความรู้สึกที่ว่า "โลกของภาพเขียนกับโลกของจิตรกรหรือผู้ดูไม่มีอะไรเกี่ยวกัน เป็นคนละโลก" ลดลง ซึ่งจะทำให้คนดูภาพกับจิตรกรมีความเชื่อมโยงกันทางความคิดมากยิ่งขึ้น วัสดุที่เลือกมาใช้นี้จะยังคงไว้ซึ่งคุณสมบัติทางการใช้สอย เมื่อนำมาจัดองค์ประกอบทางศิลปะก็จะได้คุณลักษณะใหม่ที่เป็นนามธรรมในแบบแผนที่แปลกออกไป

บาศกนิยมยุคแรก

[แก้]

ระยะที่ 1 บาศกนิยมแบบหน้าตัด (facet cubism) ระหว่าง ค.ศ. 1907-1909 เป็นบาศกนิยมแบบเริ่มต้น ระยะนี้ศิลปินจะสร้างสรรค์ผลงานโดยการแบ่งแยกวัตถุหรือรูปภาพออกเป็นส่วนประกอบทางเรขาคณิตที่แน่นอน หรืออาจเรียกว่าตัดเป็นเหลี่ยมมุมอย่างหน้าเพชร (facet) ก็ได้ แล้วจึงนำเอาส่วนประกอบย่อยเหล่านั้นมาจัดองค์ประกอบใหม่เข้าด้วยกัน ซึ่งการแสดงออกในระยะเริ่มต้นของบาศกนิยมนี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของเซซานอย่างชัดเจน ด้วยพวกเขาได้นำลักษณะรูปแบบของเซซานมาเป็นจุดดลใจและแนวทางการพัฒนาของตน นอกจากนั้น ศิลปินบาศกนิยมยังสนใจศึกษาศิลปกรรมของอนารยชนชาวแอฟริกาและศิลปกรรมแบบอาร์เคอิกของกรีกโบราณด้วย

บาศกนิยมยุคที่สอง

[แก้]

ระยะที่ 2 บาศกนิยมแบบวิเคราะห์ (analytical cubism) ระหว่าง ค.ศ. 1909-1912 เป็นบาศกนิยมที่ได้รับการสร้างขึ้นด้วยการแตกแยกรูปแบบจริงของวัตถุเพิ่มมากขึ้น แล้วจึงนำมาวิเคราะห์ประกอบผ่านผลงาน แสดงให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ของวัตถุไปพร้อมกัน บาศกนิยมแบบวิเคราะห์นี้เป็นการวิเคราะห์เกี่ยวกับรูปทรงและพื้นที่ พื้นระนาบของวัตถุได้ถูกสร้างขึ้นในแนวใหม่ จากการศึกษาโครงสร้าง และการแสดงให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ (angular and faceted planes) ของวัตถุสิ่งเดียวกันได้หลายด้าน ในส่วนเนื้อหาศิลปะนั้นศิลปินสามารถสร้างสรรค์ด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น เป็นภาพคน หุ่นนิ่ง หรือทิวทัศน์ โดยการใช้สีที่มีลักษณะไม่ฉูดฉาด ภาพระยะนี้มักถูกคลุมไว้ด้วยสีเทา สีน้ำตาลอมแดง สีเขียว และสีดิน

บาศกนิยมยุคที่สาม

[แก้]

ระยะที่ 3 บาศกนิยมแบบสังเคราะห์ (synthetic cubism) ระหว่าง ค.ศ. 1912-1914 บาศกนิยมแบบสังเคราะห์มีพัฒนาการล้ำหน้าเกินกว่าบาศกนิยมที่ผ่านมามาก ศิลปินแสดงออกด้วยการจัดองค์ประกอบมากขึ้น และหยิบเอาเรื่องราวที่ง่ายและใกล้ตัวมาเป็นเนื้อหาแสดงออก เช่น แผ่นกระจก วัตถุที่ปรากฏนห้องทำงาน อาทิ แก้วเหล้า กล่องยาสูบ บุหรี่ ขวดเหล้า ไพ่ เศษผ้า เครื่องดนตรี หนังสือพิมพ์ โดยการใช้เทคนิคภาพปะติดเข้ามาช่วย หรือที่เรียกว่า "flat pattern cubism" จัดวางลงบนผิวระนาบด้านตั้งและนอนในลักษณะแบนราบ ด้วยโครงสร้างของสีที่เข้ากันในลักษณะลึกลับน่าอัศจรรย์ จิตรกรรมบาศกนิยมในระยะหลังนี้จะแสดงรูปทรงต่าง ๆ ของวัตถุด้วยการแบ่งแยกออกจากกันและวางทับซ้อนกันด้วยผิวระนาบ (overlapping planes) และเส้น มีค่าของสีและลักษณะผิวพื้นที่แตกต่างกัน ดังเช่น ภาพหญิงสาวกับกีตาร์ ของฌอร์ฌ บรัก และภาพคนเล่นไพ่ของปีกัสโซ ซึ่งศิลปินทั้งสองมีเป้าหมายด้านการแสดงออกมากกว่าคำนึงถึงเนื้อหา

จุดมุ่งหมายและการตีความ

[แก้]

กระแสบาศกนิยมมีความเชื่อทางศิลปะว่า การแสดงออกทางศิลปะนั้น นอกจากจะต้องไม่ถ่ายทอดตามความเป็นจริงตามตาเห็นแล้ว ศิลปินยังจะต้องกลั่นกรองรูปทรงด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์รูปทรงให้เหลือเพียงแก่นที่แท้จริงและมั่นคงแข็งแรงด้วยปริมาตรของรูปทรงที่แข็งแรงอัดแน่นอีกด้วย ส่วนมิติแห่งความลึกถูกทำให้ปรากฏด้วยการใช้เหลี่ยมมุมประดุจเพชรที่ถูกเจียระไน ทำให้เกิดเงาทับซ้อนและเล่นแง่มุมด้วยขอบเขตของภาพที่ประสานสัมผัสกันอย่างเป็นจังหวะภายใต้การให้สีที่ไม่ฉูดฉาดรุนแรง เปลี่ยนแปลงรูปทรงธรรมชาติ มาสู่การจัดองค์ประกอบแบบนามธรรมทางเรขาคณิต ในลักษณะทับซ้อนกันบ้าง หรือมีรูปทรงบางใสซ้อนสลับกันบ้าง ใช้สีแบนราบปราศจากแสงและเงา มีความกลมกลืนหรือตัดกัน

Woman Combing Her Hair ของอาร์คีเปนโค ค.ศ. 1914 หรือ 1915 (35.9 x 9.2 x 8.1 cm.) Raymond and Patsy Nasher Collection, Dallas, Texas 1984.A.40

หากพิจารณารูปแบบศิลปะของกระแสบาศกนิยมโดยภาพรวม จะเห็นมีลักษณะเป็นลูกบาศก์ ดังนั้นผลงานดังกล่าวจึงถูกเรียกว่าบาศกนิยม อย่างไรก็ตามลักษณะเฉพาะประการแรกของบาศกนิยมประการสำคัญคือ การแสดงออกด้านการสร้างสรรค์ของศิลปินจะอยู่ภายใต้การควบคุมขอบเขตของผลงานและความรู้สึกของศิลปินให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และหลักการเสมอ ศิลปินคำนึงถึงความมีระยะใกล้ไกลในภาพ ด้วยรูปทรงขนาด การทับซ้อน การบัง และความโปร่งใสเหมือนภาพเอกซเรย์ จะคำนึงถึงการตัดทอน การย่อและขยายส่วน และการบิดเบือนรูปทรง ให้อิสรเสรีแก่ผู้ชม และการสร้างสรรค์งานศิลปะจะคำนึงถึงหลังการจัดองค์ประกอบศิลป์

ประติมากรรมบาศกนิยม

[แก้]

จิตรกรรมกระแสบาศกนิยมยังมีอิทธิพลต่อประติมากรรมอย่างเด่นชัด ด้วยปีกัสโซเคยสร้างประติมากรรมเพื่อเพิ่มพูนการค้นคว้าของกระแสนี้ควบคู่ไปกับจิตรกรรมด้วย เพราะบางอย่างในประติมากรรมแสดงออกเป็นรูปธรรมได้มากกว่าจิตรกรรม นอกจากการปั้นรูปด้วยดินเหนียวและหล่อด้วยโลหะแล้ว ปีกัสโซยังได้พัฒนาสร้างงานด้วยไม้ระบายสีด้วย เขาริเริ่มนำเศษโลหะมาเชื่อมต่อกันเป็นรูป โดยนำเศษชิ้นส่วนของเครื่องจักรซึ่งมีรูปร่างต่าง ๆ แต่ละชิ้นมีรูปทรงสำเร็จรูปอยู่แล้ว นำชิ้นสำเร็จรูปเหล่านั้นเข้ามารวมกันอยู่ในรูปเดียว ซึ่งก่อให้เกิดความคิดแก่พวกดาดาในภายหลัง อย่างไรก็ตาม มีประติมากรแท้ ๆ หลายคนทำงานตามแนวอุดมคติของกระแสบาศกนิยมอย่างสัมฤทธิผล

ตัวอย่างศิลปินสำคัญ

[แก้]

อิทธิพลของบาศกนิยมต่อลัทธิอื่น

[แก้]

กลุ่มออร์ฟิสต์ (orphism) เป็นชื่อที่กีโยม อาปอลีแนร์ กวีและนักวิจารณ์ศิลปะคนสำคัญเป็นคนตั้งให้ในปี ค.ศ. 1911 อธิบายว่า "เป็นงานศิลปะทางจิตรกรรมที่ให้โครงสร้างใหม่ ๆ โดยปราศจากรายละเอียด ศิลปะแบบนี้ไม่ได้นำมาจากสิ่งที่มองเห็นด้วยตาธรรมดา แต่มีอยู่ในการสร้างสรรค์ของศิลปินและแสดงออกโดยศิลปินต่อความสมบูรณ์ของจริง" งานของกลุ่มออร์ฟิสต์ก็คือบาศกนิยมในรูปลักษณะหนึ่งที่ได้พัฒนาขึ้นอีกขั้น เป็นงานที่มีหลักการอยู่บนพื้นฐานของการใช้สีอันงดงาม แสดงออกถึงการเกี่ยวพันกันระหว่างสีกับรูปทรง จิตรกรที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้นำในกลุ่มนี้คือ รอแบร์ เดอโลแน (Robert Delaunay) ผลงานส่วนมากจะเป็นเรื่องของปริมาตรกับสี เขาชอบแสดงผลของอารมณ์ต่อสีที่บริสุทธิ์สดใสซึ่งเกิดจากการเคยฝึกฝนตามแนวคิดของลัทธิประทับใจมาก่อน แต่พอปี ค.ศ. 1911 ก็ได้มีการนำความคิดของบาศกนิยมมาปรับใช้ เขาจัดแสดงงานร่วมกลับกลุ่มจิตรกรอิสระในห้องแสดงของพวกบาศกนิยม อาปอลีแนร์ได้กล่าวถึงผลงานของเขาระยะนั้นว่า "มีคุณค่าของสีที่ให้ความรู้สึกร่าเริงดุจดนตรีอันบริสุทธิ์" ระหว่างปี ค.ศ. 1910-1912 เดอโลแนได้วาดภาพชุดกรุงปารีสและหอไอเฟลไว้หลายภาพ ภาพชุดนี้มีรูปแบบวิธีการสังเคราะห์เรื่องรูปทรงเช่นเดียวกับบาศกนิยม ต่างกันตรงที่ผลงานของเดอโลแนเต็มไปด้วยแสงสีอันสดใส แลดูมีความเคลื่อนไหว อันได้รับอิทธิพลบางประการของพวกอนาคตนิยมเข้าผสมด้วย และต่อมาแนวคิดนี้ได้ผ่านเข้าไปในความคิดของวาซีลี คันดินสกี และกลายเป็นต้นกำเนิดอย่างหนึ่งในหลายสาเหตุของการเกิดลัทธิศิลปะนามธรรม ซึ่งกฎเกณฑ์นี้คือ การใช้แสงอาทิตย์ผสมกับรูปทรงในทรรศนะของบาศกนิยม

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554)หน้า 423-426.
  • จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2545).
  • สมยศ ยังตาล. ประติมากรรมสร้างสรรค์ : กรณีศึกษาประติมากรรมรูปทรงคนศิลปะบาศกนิยมของอเล็กซานเดอร์ อาร์คิเปงโก และจากส์ ลิปซิทซ์ ช่วง ค.ศ. 1909-1930 = Creative sculpture : a case study of Cubist figure sculpture : Alexander Archipenko and Jaques Liphit วิทยานิพนธ์ ((ศป.ม (ทัศนศิลป์)) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2546.
  • Lynn Gamwell. Cubist criticism (Ann Arbor, Mich. : UMI Research Press, c1980).