บอรึส รอมันแชนกอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บอรึส รอมันแชนกอ
ภาพถ่ายของรอมันแชนกอในนิทรรศการ "พยาน" ที่เมืองไวมาร์ เยอรมนี เมื่อ ค.ศ. 2019
เกิดบอรึส ตือมอฟียอวึช รอมันแชนกอ
20 มกราคม ค.ศ. 1926(1926-01-20)
แคว้นซูมือ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน
เสียชีวิต18 มีนาคม ค.ศ. 2022(2022-03-18) (96 ปี)
คาร์กิว ยูเครน
มีชื่อเสียงจากผู้รอดชีวิตจากฮอโลคอสต์

บอรึส ตือมอฟียอวึช รอมันแชนกอ (ยูเครน: Бори́с Тимофі́йович Рома́нченко; 20 มกราคม ค.ศ. 1926 – 18 มีนาคม ค.ศ. 2022) เป็นบุคคลสาธารณะและนักเคลื่อนไหวชาวยูเครน และเป็นผู้รอดชีวิตจากฮอโลคอสต์ในค่ายกักกันบูเคินวัลท์ ค่ายกักกันมิทเทิลเบา-โดรา และค่ายกักกันแบร์เกิน-เบ็ลเซิน เขาถูกกองทัพรัสเซียสังหารด้วยกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงใส่อาคารที่พักอาศัยระหว่างที่รัสเซียรุกรานยูเครนใน ค.ศ. 2022[1][2][3][4]

ประวัติ[แก้]

รอมันแชนกอเกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1926 ที่หมู่บ้านบอนดารีในแคว้นซูมือ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน[2][5]

เมื่ออายุได้ 16 ปี รอมันแชนกอถูกกองทัพนาซีจับกุมและเนรเทศไปยังดอร์ทมุนท์ ที่นั่นเขาถูกบังคับใช้แรงงานในเหมืองถ่านหินเหมืองหนึ่ง หลังจากหลบหนีไม่สำเร็จ เขาก็ถูกนำตัวไปกักกันที่ค่ายบูเคินวัลท์และถูกบังคับให้ทำงานในสายการผลิตจรวดวี-2 ที่ศูนย์วิจัยกองทัพบกเพเนอมึนเดอ จากนั้นเขาถูกย้ายไปกักกันที่ค่ายมิทเทิลเบา-โดรา และในที่สุดก็ได้รับการปลดปล่อยออกจากค่ายแบร์เกิน-เบ็ลเซินใน ค.ศ. 1945 แต่เขาประจำการในกองทัพโซเวียตที่เยอรมนีตะวันออกต่อจนถึง ค.ศ. 1950[1] เมื่อบอริสได้กลับบ้าน เขาก็เข้าศึกษาต่อที่สถาบันการเหมืองแร่ในคาร์กิวและทำงานเป็นวิศวกร[1]

หลังจากที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซีสามแห่ง รอมันแชนกอได้แบ่งปันความทรงจำของเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านั้นและมีส่วนร่วมในการรักษาความทรงจำเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมที่เกิดจากนาซีอยู่เสมอ เขาเป็นรองประธาน (จากยูเครน) ของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยอดีตนักโทษบูเคินวัลท์-โดรา[6]

เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2015 รอมันแชนกอกล่าวปราศรัยในสถานที่ที่เคยเป็นค่ายกักกันบูเคินวัลท์ และอ่านคำสาบานของเหล่านักโทษบูเคินวัลท์เป็นภาษารัสเซียว่า "Наш идеал — построить новый мир мира и свободы" ("อุดมคติของพวกเราคือการสร้างโลกใบใหม่ของสันติภาพและเสรีภาพ")[6]

การเสียชีวิต[แก้]

หลังจากที่ภรรยาของรอมันแชนกอเสียชีวิต เขาก็อาศัยอยู่ตามลำพังที่ชั้น 8 ของอาคารชุดหลังหนึ่งในเขตซัลติวกาของคาร์กิว โดยมียูลียา รอมันแชนกอ ผู้เป็นหลานสาว คอยแวะไปดูแลอยู่เสมอ[1]

ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2022 ระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย กองทัพรัสเซียได้ระดมยิงเขตซัลติวกาซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยอย่างต่อเนื่อง อาคารชุดของรอมันแชนกอถูกกระสุนปืนใหญ่ตกใส่ ยูลียากล่าวว่าตัวอาคารถูกไฟเผาทำลายโดยสิ้นเชิง และกล่าวว่ารอมันแชนกอ "เหลือเพียงกระดูกอยู่บนโครงเตียงที่เขานอนอยู่"[7] อีฮอร์ แตแรคอว์ นายกเทศมนตรีนครคาร์กิว ได้สั่งการให้ช่วยเหลือครอบครัวของรอมันแชนกอในการเคลื่อนย้ายและฝังศพของเขา[7] ดมือตรอ กูแลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ว่าเหตุการณ์นี้เป็น "อาชญากรรมที่เลวร้ายเหลือจะกล่าว รอดจากฮิตเลอร์ ตายเพราะปูติน"[8]

อนุสรณ์[แก้]

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 สภานครไลพ์ซิชในเยอรมนีมีมติให้เปลี่ยนชื่อถนน "ทวร์มกูทชตราเซอ" (Turmgutstraße) ในย่านโกลิสซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่รัสเซียด้วย เป็น "ถนนบอรึส รอมันแชนกอ" (Boris-Romantschenko-Straße) เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Trauer um Boris Romantschenko" (ภาษาเยอรมัน). Maximilian-Kolbe-Werk. สืบค้นเมื่อ 21 March 2022.
  2. 2.0 2.1 "Ukraine war: Holocaust survivor killed by Russian shelling in Kharkiv" (ภาษาอังกฤษ). BBC News. 21 March 2022.
  3. "Holocaust-Überlebender in Charkiw getötet" (ภาษาเยอรมัน). Tagesschau. สืบค้นเมื่อ 22 March 2022.
  4. "Buchenwald-Überlebender durch Bomben in Charkiw getötet". mdr.de (ภาษาเยอรมัน). 21 March 2022. สืบค้นเมื่อ 21 March 2022.
  5. "В Харькове погиб 96-летний Борис Романченко — бывший узник нацистских лагерей, сумевший выжить в Бухенвальде. В его квартиру в многоэтажке попал снаряд" (ภาษารัสเซีย). Meduza. 21 March 2022. สืบค้นเมื่อ 22 March 2022.
  6. 6.0 6.1 "Boris Romantschenko getötet". buchenwald.de (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 21 March 2022.
  7. 7.0 7.1 Євгенія Луценко (21 March 2022). "У Харкові загинув 96-річний колишній в'язень нацистських концтаборів. У його будинок влучила російська ракета" (ภาษายูเครน). Громадське телебачення. สืบค้นเมื่อ 22 March 2022.
  8. "Russian shell kills survivor of four Nazi concentration camps" (ภาษาอังกฤษ). The Times. 21 March 2022.
  9. "Straße vor Russischem Konsulat in Leipzig wird nach Ukrainer benannt". mdr.de (ภาษาเยอรมัน). 11 November 2022. สืบค้นเมื่อ 11 November 2022.