ข้ามไปเนื้อหา

นีกอลา เลออนาร์ ซาดี การ์โน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซาดี การ์โน

นีกอลา เลออนาร์ ซาดี การ์โน (ฝรั่งเศส: Nicolas Léonard Sadi Carnot) เป็นนักฟิสิกส์และนายทหารยุทธโยธาชาวฝรั่งเศส ซึ่งคิดค้นทฤษฎีเครื่องจักรความร้อน จากงานวิจัยเรื่อง Reflections on the Motive Power of Fire ในปี ค.ศ.1824 ปัจจุบันทฤษฎีนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "วัฏจักรการ์โน" เป็นผู้วางรากฐานกฎข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิกส์ หรืออาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นนักอุณหพลศาสตร์คนแรกของโลก ซึ่งคิดค้นหลักการพื้นฐานต่าง ๆ มากมายเช่น ประสิทธิภาพการ์โน ทฤษฎีการ์โน เครื่องจักรความร้อนการ์โน เป็นต้น

ซาดี การ์โน เกิดในกรุงปารีส เป็นบุตรชายคนโตของแลแซร์ การ์โน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม ขามีน้องชายนามว่า อีปอลิต การ์โน (Hippolyte Carnot) ซึ่งเป็นบิดาของประธานาธิบดีมารี ฟร็องซัว ซาดี การ์โน

เมื่อซาดี การ์โน มีอายุสิบหกปี ได้เข้าศึกษาที่วิทยาลัยโพลีเทคนิค École ที่ซึ่งมีอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงเช่น ซีเมอง เดอนี ปัวซง และอ็องเดร-มารี อ็องแปร์ หลังจบการศึกษาเขาได้เป็นนายทหารในกองทัพบกฝรั่งเศส ต่อมาจึงได้ให้ความสนใจในงานวิจัยทางด้านฟิสิกส์ โดยเฉพาะทฤษฎีเกี่ยวกับความร้อน อย่างไรก็ตามในปี 1815 นโปเลียนถูกโค่นอำนาจ พ่อของเขาก็ต้องลี้ภัยไปปรัสเซีย การ์โนต้องออกจากกองทัพฝรั่งเศส และใช้เวลาไปกับการวิจัยและเขียนหนังสือ

การ์โนเผยแพร่บทความเรื่อง Réflexions sur la puissance motrice du feu ("Reflections on the Motive Power of Fire") ในปี ค.ศ.1824 ขณะอายุ 28 ปี ซึ่งเป็นยุคเครื่องจักรไอน้ำเฟื่องฟู บทความอธิบายถึงเครื่องจักรความร้อนในลักษณะต่างๆ โดยพยายามอธิบายเหตุผลว่า เครื่องจักรไอน้ำที่ใช้ไอน้ำความร้อนสูงจะทำงานได้ดีกว่าเนื่องจากอุณหภูมิของระบบที่สูงกว่าอุณหภูมิภายนอก ทฤษฎีของการ์โนไม่ได้ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรไอน้ำ มันจึงไม่ค่อยได้รับความสนใจนัก

การ์โนเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคเมื่อปี ค.ศ. 1832 ขณะอายุเพียง 36 ปี เครื่องใช้ส่วนตัวรวมทั้งงานเขียนของเขาถูกนำไปฝังทั้งหมดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ จึงเหลืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏต่อมาในปัจจุบันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

งานเขียนของการ์โนเป็นที่รู้จักขึ้นมาเนื่องจากเอมีล กลาแปรง (Émile Clapeyron) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส นำไปปรับปรุงต่อยอดความคิดในปี ค.ศ.1834 หลังจากนั้น เคลาซิอุสและเคลวิน ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องเอนโทรปีและกฎข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิกส์ ออกมาในที่สุด