กาฬเกษ
กาฬเกษ เป็นนิทานพื้นบ้านที่แพร่หลายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมถึงในประเทศลาว มักอ้างกันว่าอยู่ในปัญญาสชาดกซึ่งเป็นชาดกนอกนิบาต
ท่านเจ้าคุณอริยานุวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม ได้ตรวจชำระเรื่องกาฬเกษ จากต้นฉบับใบลานอักษรไทน้อยที่ได้มาจากวัดสว่างอารมณ์ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด[1] เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2519 พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศิริธรรม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดความยาว 480 หน้า[2] ตอนท้ายของฉบับนี้ระบุว่า แต่งโดยสมเด็จกู ในกรุงศรีสัตนาคณะหูต (กรุงล้านช้าง) ในสมัยสมเด็จเจ้าเชียงทอง จุลศักราช 1100 หรือ พ.ศ. 2281 หากพิจารณาแล้วตรงกับสมัยพระเจ้าสิริบุญสาร
วรรณกรรมเรื่องนี้ยังปรากฏเป็นบทกล่อมเด็กสมัยอยุธยา บทละครนอกของภาคกลาง ส่วนภาคใต้มีบทกล่อมเด็กในชื่อ กาเกด รวมถึงมีการนำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[3]
เนื้อเรื่อง
[แก้]ณ เมืองพาราณสี ปกครองโดยพระราชานามว่า สุริวงษ์ มีพระมเหสีนามว่า กาฬ ท้าวสุริวงษ์มีม้ามณีกาบซึ่งเป็นม้าวิเศษ เมื่อท้าวสุริวงษ์ได้ไปเรียนวิชาอาคมและได้ไปพบกับพญาครุฑและยักษ์กุมภัณฑ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นสหายกัน ท้าวสุริวงษ์ก็เรียนวิชาอาคมกับพระฤษีจนสำเร็จ แล้วกลับมาปกครองเมืองต่อไป
วันหนึ่งท้าวสุริวงษ์ต้องการจะมีบุตรชายเพื่อเอาไว้สืบราชสมบัติ พระองค์จึงทำพิธีขอลูกกับพระอินทร์ พระอินทร์ได้ส่งเทพบุตรกับเทพธิดาลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ เพื่อให้เป็นคู่สามีภรรยากัน โดยเทพบุตรองค์หนึ่งมาเกิดในท้องนางกาฬ มเหสีของท้าวสุริวงษ์ จนประสูติพระโอรสตั้งชื่อว่า กาฬเกษ
จนเมื่อกาฬเกษกุมารทรงเจริญวัย ได้เข้าไปเล่นในโรงม้า อันเป็นที่อยู่ของม้ามณีกาบ เจ้าชายกาฬเกษได้แอบขึ้นขี่ม้า ม้ามณีกาบได้พาเจ้าชายกาฬเกษเหาะขึ้นไปในอากาศออกจากเมืองมุ่งเข้าป่าหิมพานต์ ขณะที่เจ้าชายกาฬเกษหนีออกจากเมือง ได้พบกับนกสาริกาคู่หนึ่ง จึงได้สั่งความแก่นกคู่นั้นว่าให้ไปบอกท้าวสุริวงษ์บิดาของตนด้วยว่า จะออกไปเที่ยวในป่าสัก 3 ปี แล้วจะกลับมา
เจ้าชายกาฬเกษได้เดินทางถึงเมืองผีมนต์ซึ่งเป็นเมืองของท้าวผีมนต์และนางมาลีทอง เจ้าชายกาฬเกษได้พักอยู่นอกเมือง ได้ทราบข่าวว่าท้าวผีมนต์มีพระธิดารูปงามพระองค์หนึ่ง ชื่อว่า มาลีจันทน์ เจ้าชายกาฬเกษได้หาทางจนพบนางในสวนดอกไม้ จนได้ชอบพอรักใคร่กัน เมื่อครั้นเวลากลางคืน เจ้าชายกาฬเกษจึงแอบเข้าไปหานาง แต่ท้าวผีมนต์สืบได้ทราบความจริงว่ามีคนแอบไปหากับพระธิดา ท้าวผีมนต์จึงทำหอกยนต์ดักยิง เมื่อเจ้าชายกาฬเกษแอบเข้ามาก็ถูกหอกยนต์ยิง ก่อจะสิ้นใจเจ้าชายกาฬเกษได้สั่งนางมาลีจันทน์ไว้ว่าอย่าเผาศพตน ให้เอาศพใส่แพลอยน้ำไป ศพของเจ้าชายกาฬเกษได้ลอยทวนกระแสน้ำจนไปถึงอาศรมพระฤาษี เมื่อพระฤาษีมาพบเข้าจึงร่ายมนต์ชุบชีวิตให้ฟื้นขึ้นมา
เจ้าชายกาฬเกษฟื้นขึ้นมาและได้ร่ำเรียนวิชาอาคมอยู่กับพระฤาษี จนสำเร็จแล้วลาพระฤาษีกลับไปหานางมาลีจันทน์อีกครั้ง ท้าวผีมนต์ทราบข่าว จึงได้สู้รบกันในที่สุด ท้าวผีมนต์ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงได้ยกเมืองให้เจ้าชายกาฬเกษและนางมาลีจันทน์ครองเมือง แต่อยู่ได้ไม่นานก็พานางมาลีจันทน์เดินกลับเมืองพาราณสี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ท้าวกาฬเกษ".
- ↑ "ท้าวกาฬเกษ". ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
- ↑ สุนันท์ ศาสตรวาหา. "การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่อง กาฬะเกษ" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย.