นักกำหนดอาหาร
นักกำหนดอาหาร (อังกฤษ: Dietitian) เป็นบุคลากรสาธารณสุข ที่มีการรับรองโดยสมาคมวิชาชีพ เช่น ในสหรัฐอเมริการับรองโดย Academy of Nutrition and Dietetics หรือ ในประเทศไทยรับรองโดยสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย[1]
นักกำหนดอาหารเป็นผู้ที่นำความรู้ทางด้านโภชนาการมากำหนดปริมาณอาหารและสารอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ป่วยจนสามารถเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกาย[2]
มักมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาทของนักโภชนาการ และ นักกำหนดอาหาร นักโภชนาการ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลกระทบอาหารและสารอาหารต่อสุขภาพ[1] แตกต่างจากนักกำหนดอาหารที่นอกจากจะต้องมีความรู้ด้านโภชนาการแล้ว ยังต้องมีความรู้ในด้านการให้คำปรึกษาผู้ป่วยด้วย
ในประเทศไทย
[แก้]นักกำหนดอาหารวิชาชีพจะต้องมีความรู้ตามข้อกำหนดของสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย องค์ความรู้ด้านโภชนบำบัดทางการแพทย์ (Medical Nutrition Therapy) และการให้คำปรึกษา (Diet Counseling) องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการงานโภชนาการ (Food Service Management) องค์ความรู้ด้านโภชนาการพื้นฐาน (Basic Nutrition) องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Sciences) และองค์ความรู้ด้านการวิจัย (Nutrition and Dietetics Research)[1] โดยปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาของไทยเปิดทำการเรียนการสอนในสาขาด้านการกำหนดอาหารที่ผู้สำเร็จการศึกษามีสิทธิ์สอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นนักกำหนดอาหารวิชาชีพกับสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยนั้น เช่น หลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาโภชนบำบัดและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา[3] สาขาวิชาโภชนาการและโภชนบำบัด หรือ สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา สาขาวิชาโภชนวิทยาและการกำหนดอาหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาโภชนศาสตร์ การกำหนดอาหารและอาหารปลอดภัย หรือ สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นต้น
นักกำหนดอาหารสามารถทำงานได้ในทุกวงการ บ้างก็เป็นบุคคลเบื้องหน้าที่ปรากฏตัวต่อสื่อ หรือบุคคลเบื้องหลังที่คอยให้คำแนะนำด้านโภชนาการเพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี และมีภูมิต้านทานในการดูแลสุขภาพของตัวเอง ตัวอย่างอาชีพที่นักกำหนดอาหารสามารถทำได้ เช่น ผู้ให้คำแนะนำปัญหาด้านสุขภาพในโรงพยาบาล, นักกำหนดอาหารประจำศูนย์ดูแลด้านสุขภาพ, ผู้ประกอบการร้านอาหาร, เจ้าของสื่อให้ความรู้ด้านอาหารในโซเชียลมีเดีย, ผู้ให้คำปรึกษาด้านนวัตกรรม สื่อดิจิทัล และพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับประชาชน, นักกำหนดอาหารที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาทิ การดูแลด้านโภชนาการของนักกีฬาเช่น นักยกน้ำหนัก, นักกำหนดอาหารส่วนตัวที่ให้บริการแบบออนไลน์[4]
สามารถตรวจสอบรายชื่อ นักกำหนดอาหารที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องในประเทศไทยได้ที่ กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "คุณสมบัติของผู้สมัครสอบนักกำหนดอาหาร (Certified Dietitian of Thailand)". สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย.
- ↑ "นักกำหนดอาหาร (Dietitian) คือใคร?". Diamate.co. 2 ธันวาคม 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2019.
- ↑ "หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร" (PDF). คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "นักกำหนดอาหารเดอะ ซีรี่ส์". Eat Well Concept.
- ↑ "ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบโรคศิลปะ". สพรศ. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ. 3 มกราคม 2022.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ นักกำหนดอาหาร