อาเกโตะ นากามูระ
อาเกโตะ นากามูระ | |
---|---|
อาเกโตะ นากามูระ | |
เกิด | 11 เมษายน ค.ศ. 1889 นาโงยะ จักรวรรดิญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | 12 กันยายน ค.ศ. 1966 | (77 ปี)
รับใช้ | ญี่ปุ่น |
แผนก/ | กองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น |
ประจำการ | 1923–1945 |
ชั้นยศ | พลโท |
บังคับบัญชา | กองบัญชาการทหารประจำประเทศไทย, กองพลที่ 39, กองพลทหารราบที่ 18 |
การยุทธ์ | สงครามโลกครั้งที่สอง (สงครามแปซิฟิก) |
พลโท อาเกโตะ นากามูระ (ญี่ปุ่น: 中村明人; โรมาจิ: Nakamura Aketo, 11 เมษายน ค.ศ. 1889 – 12 กันยายน ค.ศ. 1966) เป็นนายทหารชาวญี่ปุ่นผู้ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ประวัติ
[แก้]เกิดเมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1889 ที่ชนบทในแถบเมืองนาโงยะ จังหวัดไอจิ จักรวรรดิญี่ปุ่น สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น ได้ยศเป็นนายร้อยตรีเมื่อปี ค.ศ. 1910 ต่อมาในปี ค.ศ. 1922 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สาธารณรัฐไวมาร์ (เยอรมนี)
เมื่อเดินทางกลับญี่ปุ่นแล้ว ได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบกแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น ต่อมาได้เป็นผู้บังคับกรมทหารราบที่ 24 ในแมนจูเรีย และเข้าประจำกระทรวงกลาโหมในตำแหน่งอธิบดีกรมกิจการทหาร และกรมยุทธการทหารตามลำดับ ในปลายปี ค.ศ. 1940 ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 5 บุกเข้าทางตอนเหนือของฝรั่งเศสอินโดจีน
ในปี ค.ศ. 1941 ได้เป็นผู้บัญชาการกองพลประจำนาโงยะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา และในปีเดียวกันได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกรมสารวัตรทหาร อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเข้ามาเป็นผู้บัญชาการกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในเดือนมกราคม ค.ศ.1943
ชีวิตราชการทหารในไทย
[แก้]ญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 ทั้งนี้นายพลนากามูระได้รับแต่งตั้งและมาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1943 ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งนอกเหนือไปจากนั้น เขามีภารกิจที่จะต้องทำให้คนไทยไม่ต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้น ถือว่าความสัมพันธ์ไม่ค่อยจะราบรื่นดีนัก จากการถูกประชาชนในพื้นที่ต่อต้าน
ความขัดแย้งที่บ้านโป่ง
[แก้]จากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวบ้านและทหารญี่ปุ่นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จนมีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายเมื่อ พ.ศ. 2485 นั้น ได้บานปลายกลายเป็นปมขัดแย้งนานนับปี จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นเลวร้ายลง ในเรื่องนี้ทางเอกอัครราชทูตไทยประจำจักรวรรดิญี่ปุ่น ดิเรก ชัยนาม ซึ่งขณะนั้นกลับมาราชการที่กรุงเทพ ได้เข้าพูดคุยกับนายพลนากามูระ ว่าความขัดแย้งระหว่างทหารญี่ปุ่นและคนไทยนั้น เกิดจากการที่ทหารญี่ปุ่นชอบตบหน้าและตบหัวคนไทย ซึ่งในไทยถือว่าเป็นการดูถูกดูแคลนอย่างถึงที่สุดที่มิอาจให้อภัย แม้ว่าในกองทัพญี่ปุ่นจะถือเป็นเรื่องปกติก็ตาม ซึ่งหากยุติปัญหานี้ไม่ได้ความสัมพันธ์จะยิ่งแย่ลงไปอีก อีกประการคือเกิดจากการที่ทหารญี่ปุ่นชอบเปลือยผ้าบ้าง, แก้ผ้าอาบน้ำในที่สาธารณะ หรือยืนปัสสาวะริมข้างทาง ซึ่งคนไทยไม่มีวัฒนธรรมเช่นนั้น เมื่อนายพลนากามูระได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกละอายใจมาก จึงมีคำสั่งเด็ดขาดเรื่องห้ามตบหน้าและศีรษะลงไปในนายทหารทุกเหล่าชั้น รวมทั้งการทำคู่มือนับหลายหมื่นเล่มเรื่องวัฒนธรรมไทยแจกจ่ายให้แก่ทหารญี่ปุ่นทุกนายในไทยและที่กำลังจะเข้ามาประจำการใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติตน
จากเหตุการณ์ขัดแย้งที่บ้านโป่ง ได้ถูกรายงานไปยังศูนย์บัญชาการใหญ่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นแห่งเอเชียบูรพาที่สิงคโปร์ ทางศูนย์บัญชาการได้เรียกร้องให้ทางการไทยจับกุมหัวหน้ากลุ่มประหารชีวิต และจ่ายค่าชดใช้ให้ทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตรายละ 80,000 บาท (ประมาณ 80,000 เยนในสมัยนั้น) แต่ตัวแทนจากรัฐบาลไทยได้เข้าพูดคุยกับนายพลนากามูระถึงปัญหาดังกล่าว ว่าหัวหน้าผู้ก่อการเป็นภิกษุสงฆ์ไม่สามารถประหารชีวิตได้ ทำให้นายพลนะกะมุระต้องเสนอไปที่ศูนย์บัญชาการใหญ่ โดยมีทางออกคือ ขอไม่ประหารชีวิตชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว แต่ไทยจะดำเนินการจับกุมและลงโทษตามสมควร และไทยจะจ่ายค่าชดใช้ให้ทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิต ซึ่งภายหลังทางกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยก็จะบริจาคเงินส่วนหนึ่งไปยังครอบครัวของชาวบ้านที่เสียชีวิตด้วยเช่นกัน ทางศูนย์บัญชาการใหญ่ได้ตอบรับคำขอดังกล่าว เห็นควรให้การต่างๆเป็นไปตามดำริของผู้บัญชาการกองทัพฯประจำประเทศไทย
ภายหลังสงคราม
[แก้]หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1945 โดยจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ นายพลนากามูระได้ถูกจับกุมโดยขบวนการเสรีไทย หลังจากนั้นเขาก็ถูกแจ้งข้อหาอาชญากรสงคราม และจะต้องถูกส่งไปดำเนินคดีที่โตเกียว แต่ระหว่างนั้น เขาต้องถูกขังอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวางระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ต่อมาจะถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่โตเกียวโดยเครื่องบิน เขาเป็นหนึ่งในนายพลระดับสูงไม่กี่คนที่รอดจากโทษประหาร และภายหลังก็ใช้ชีวิตตามปกติและเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ส่วนเกี่ยวข้อง
[แก้]ในระหว่างที่ประจำการในประเทศไทยพลโทนากามูระได้บริจาคเงินบูรณะองค์ พระปฐมเจดีย์ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 10 บาทซึ่งถือว่ามีค่ามากในสมัยนั้น
- พารามิเตอร์รูปภาพในแม่แบบกล่องข้อมูลบุคลากรทหารต้องการการอัปเดต
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2432
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2509
- ทหารชาวญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง
- ผู้นำการทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง
- นายพลชาวญี่ปุ่น
- นายพลในสงครามโลกครั้งที่สอง
- ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง
- ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น–ไทย
- ความสัมพันธ์ทางการทหารญี่ปุ่น–ไทย
- บุคคลจากนาโงยะ