เรือนจำกลางบางขวาง
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ประตูหลักของเรือนจำกลางบางขวาง | |
ที่ตั้ง | จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย |
---|---|
พิกัดภูมิศาสตร์ | 13°50′48″N 100°29′35″E / 13.84667°N 100.49306°E |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ระดับความปลอดภัย | การป้องกันสูงสุด |
เปิดให้บริการ | พ.ศ. 2476 |
บริหารโดย | กรมราชทัณฑ์ |
เรือนจำกลางบางขวาง หรือ เรือนจำมหันตโทษ เป็นเรือนจำที่ใช้คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จนถึงโทษประหารชีวิต[1] ตั้งอยู่เลขที่ 117 หมู่ 3 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี อยู่ติดกับวัดบางแพรกใต้
ประวัติ
[แก้]เรือนจำกลางบางขวาง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2476 บนเนื้อที่ 136 ไร่ ล้อมกำแพงสูง 6 เมตร มีรั้วไฟฟ้าแรงสูง มีหอคอยพร้อมพลแม่นปืนเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยเรือนจำเเห่งนี้มีชื่อเดิมว่าเรือนจำกองมหันตโทษแต่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเรือนจำกลางบางขวางเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2484[2] โดยเรือนจำเเห่งนี้ก่อตั้งจากรัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้ย้ายเรือนจำกองมหันตโทษออกจากเขตพระนคร[3] เมื่อมีการเปลี่ยนโทษการประหารชีวิตจากการตัดคอเป็นการยิงเป้า เมื่อ พ.ศ. 2478 ก็ใช้สถานที่นี้เป็นสถานที่ประหารตลอดมา [4]แต่ในบางครั้งการประหารชีวิตเกิดขึ้นนอกเรือนจำกลางบางขวาง เช่นการประหารชีวิตนายสมศักดิ์ ขวัญแก้วที่เชิงเขาตะเเบก อำเภอสัตหีบ[5] หรือการประหารชีวิตครอง จันดาวงศ์และทองพันธ์ สุทธิมาศ ที่อำเภอสว่างแดนดิน[6] จนถึงปัจจุบัน มีนักโทษเด็ดขาดถูกประหารชีวิตโดยเพชรฆาตของเรือนจำไปแล้ว 326 ราย[7] เป็นนักโทษชาย 323 ราย และนักโทษหญิง 3 ราย[8] ปัจจุบันการประหารชีวิตเปลี่ยนมาใช้วิธีฉีดยาพิษเข้าสู่ร่างกาย ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 19 และมีผลบังคับใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2546
การประหารชีวิต
[แก้]การประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าส่วนใหญ่จะดำเนินการประหารชีวิตภายในห้องประหารของเรือนจำกลางบางขวาง โดยการประหารชีวิตภายในเรือนจำเเห่งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2480 โดยเป็นการประหารชีวิตนายเขียน บุญกันสอน ในความผิดฐานสมคบคิดกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา[9] ซึ่งการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษทั้งหมดจะต้องดำเนินการประหารชีวิตภายในเรือนจำกลางบางขวาง โดยได้มีการสร้างห้องฉีดยาพิษไว้ตั้งเเต่ปี พ.ศ.2546 หลังจากที่ได้เปลี่ยนกฏหมายการยิงเป้ามาเป็นการฉีดสารพิษ โดยในห้องประหารมีเตียงประหาร 2 เตียง ซึ่งจะใช้เตียงทั้งสองพร้อมกันหากมีการประหารชีวิตพร้อมกัน
ซึ่งหลังจากการประหารชีวิตศพนักโทษประหารจะถูกใส่ในช่องเก็บศพเเล้วนำร่างออกจากประตูเเดงหรือประตูผีของวัดบางแพรกใต้ในวันรุ่งขึ้น โดยในการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรกของประเทศไทยได้ใช้ห้องยิงเป้าเดิมในการประหารชีวิต[10] โดยห้องประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษถูกสร้างขึ้นหลังจากนั้น โดยแบบของห้องประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษห้องใหม่ถูกจำลองมาจากห้องประหารของหน่วยฮันต์สวิลล์ รัฐเท็กซัส ซึ่งห้องประหารชีวิตห้องนี้ถูกใช้ในการประหารชีวิตบัณฑิต เจริญวานิชและจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์เป็นครั้งแรก[11][12]
รายนามผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง
[แก้]- อำมาตย์เอก พระยาอาชญาจักร์ (บุญมา โรจนวิภาต)
- พลตรี ขุนจำนงภูมิเวท (จำนง ศิวแพทย์)
- พลตำรวจตรี ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีศรากร)
- พันโท หลวงเจนกลรบ (อินทร์ จารุจารีตธ์)
- พันตำรวจเอก หลวงรักษาสุขศานต์ (รักษา วาสิกานนท์)
- พันตำรวจโท หลวงฤทธิสรไกร (ศิริ ฤทธิ์สรไกร)
- ขุนพิสิฐนนทเดช (บุญมี มกรเสน)
- ขุนนิยมบรรณสาร (นิยม ศรนิยม)
- นายทองธัช สากิยลักษณ์
- นายบุญยฤทธิ์ นาคีนพคุณ
- นายสมัย บุนนาค
- นายสลับ วิสุทธิมรรค
- นายวิจิตร ทองคำ
- นายหาญ พันธุ์สมบุญ
- นายถวิล ณ ตะกั่วทุ่ง
- นายสวัสดิ์ สรรเสริญ
- นายอรุณ ฤทธิมัต
- นายวิวิทย์ จุตปาริสุทธิ์
- นายเสน่ห์ เพ็ชรสม
- นายสุทธิ์ นุ่นสังข์
- นายสุระ พันธุสาคร
- นายพิทยา สังฆนาคิน
- นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์
- นายธนพัฒน์ จันทรปรรณิก
- นายประเสริฐ อยู่สุภาพ[13]
นักโทษที่มีชื่อเสียง
[แก้]นักโทษปัจจุบัน
[แก้]- ประสิทธิชัย เขาแก้ว ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดในเหตุโจรกรรมร้านทองในจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2563 - ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งจะได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตจากการพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของรัชกาลที่ 10[14]
- บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีฆาตกรรมชูวงษ์ แซ่ตั๊งและวีรชัย ศกุนตะประเสริฐและวางแผนให้นักโทษอีกคนลักพาตัวภรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อแลกกับการให้บรรยินออกไปจากเรือนจำ แต่แผนดังกล่าวเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์สืบทราบได้ก่อน - ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งจะได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตจากการพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของรัชกาลที่ 10[15][16]
- วันชัย เเสงขาว ฆาตกรที่ก่อเหตุข่มขืนเด็กหญิงอายุ 13 ปี เเล้วโยนลงจากหน้าต่างรถไฟขบวนที่ 174 ที่ตำบลวังก์พง เมื่อปี พ.ศ.2557 - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ก็ได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตจากการพระราชทานอภัยโทษใน พ.ศ. 2562 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 10[17][18]
- นวัธ เตาะเจริญสุข ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานจ้างวานฆ่าสุชาติ โครตทุมซึ่งเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น - ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต[19][20]
- เชาวลิต ทองด้วง หรือ เสี่ยแป้ง นาโหนด ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีคดีในชั้นศาลหลายคดี วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เขาถูกส่งตัวจากเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชไปรักษาทันตกรรมที่โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช ระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล เขามีอาการวูบหมดสติและขาอ่อนแรง แพทย์จึงอนุญาตให้เขาพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ในเวลา 01.00 น.ของวันถัดมาเขาได้สะเดาะตรวนออกขณะที่เจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์ไม่อยู่หน้าห้องแล้วหลบหนีออกจากโรงพยาบาลพร้อมกับผู้ช่วยเหลืออีก 3 ราย ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ได้อยู่ในศาลจากคดีพยายามฆ่าเจ้าพนักงานที่ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง ถูกจับกุมที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เนื่องจากไปทะเลาะกับผู้หญิงคนหนึ่ง ถูกส่งตัวกลับมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2567 - ถูกส่งตัวจากเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชมาเรือนจำกลางบางขวางในวันที่ 5 มิถุนายน[21][22][23][24]
- ซอ ลิน และเว พิว คนงานเข้าเมืองผิดกฎหมายชาวพม่าจากรัฐยะไข่ ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมฮันนาห์ วิตเธอริดจ์ และเดวิด มิลเลอร์ ที่เกาะเต่า เมื่อปี พ.ศ.2557 - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่มีการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตในปีพ.ศ. 2563 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 10[25][26]
นักโทษในอดีต
[แก้]- อธิป สุญาณเศรษฐกร นายแพทย์โรงพยาบาลรถไฟผู้ก่อเหตุจ้างวานฆ่านวลฉวี เพชรรุ่ง ซึ่งเป็นภรรยาในปี พ.ศ. 2502 ก่อนจะนำศพของนวลฉวีทิ้งลงจากสะพานนนทบุรีไปในแม่น้ำเจ้าพระยา - ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษหลายครั้ง และพ้นโทษในปี พ.ศ.2514 หลังจากติดคุกเป็นเวลา 12 ปีเศษ โดยข้อมูลบางแหล่งระบุว่าอธิปพ้นโทษหลังจากติดคุกเป็นเวลา 1 ปีเศษ[27]
- สมบัติ พัฒนากุล หรือ ฉายาไอ้โม่งบ้ากาม ผู้ข่มขืนต่อเนื่องและชิงทรัพย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงปี พ.ศ. 2518-2521 โดยเขายอมรับว่าข่มขืนคนอย่างน้อย 20 คน และปฎิเสธ 1 คน - ถูกตัดสินจำคุก 722 ปี และกักกันหลังพ้นโทษ 50 ปี แต่ลดโทษเหลือ 50 ปีตามกฎหมาย ต่อมาถูกย้ายไปยังสถานกักกันนครปฐมและพ้นโทษในช่วงปีพ.ศ. 2547-2548
- เล็ก สุเคน หรือ ฉายาเป๋ อกไก่ ผู้ก่อเหตุข่มขืนและฆาตกรรมนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ห้องน้ำของโรงภาพยนตร์นิวยอร์ก ในย่านสะพานควาย เมื่อปี พ.ศ. 2525 - ถูกตัดสินประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์มีคำพิพาษาจำคุกตลอดชีวิตและศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุกตลอดชีวิต ก่อนจะพ้นโทษในเวลาต่อมา[28]
- สุขุม เชิดชื่น สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 7และนักธุรกิจ และตัดสินว่ามีความผิดฐานจ้างวานฆ่าแพทย์หญิงนิชรี มะกรสาร วิสัญญีแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬา เมื่อปีพ.ศ. 2539 ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ศาลฎีกาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต[29] โดยได้รับการลดโทษตามลำดับชั้นเหลือโทษจำคุก 22 ปี 6 เดือน 20 วัน และถูกย้ายไปเรือนจำกลางเขาบินและเรือนจำกลางคลองเปรม โดยเขาได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 รวมระยะเวลาจำคุก 17 ปี 2 เดือน 20 วัน[30][31][32][33]
- เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ ฆาตกรรมปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เมื่อปี พ.ศ. 2544 - ถูกตัดสินประหารชีวิตเเต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดวันต้องโทษในปี พ.ศ. 2550 ก่อนจะได้การลดโทษอีก 2 ครั้งจนเหลือโทษจำคุก 13 ปี และได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558
- วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ฆาตกรรมเเพทย์หญิง ผัสพร บุญเกษมสันติซึ่งเป็นภรรยาในปี พ.ศ. 2544 เเล้วนำไปทำลายศพ - ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษหลายครั้งจนเหลือโทษ 10 ปี 9 เดือน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557[34][35]
- เสริม สาครราษฎร์ ฆาตกรรมนักศึกษาเเพทย์เจนจิรา พลอยองุ่นซึ่งเป็นเเฟนสาวเมื่อปี พ.ศ. 2541 ก่อนจะทำลายศพ - ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตและได้รับการลดโทษหลายครั้งก่อนจะพ้นโทษเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ 2555[36][37]
- วิศิษฐ์ พึ่งรัศมี ผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บเงินค่าคุ้มครองจากพ่อค้าเเม่ค้าในตลาดไนท์บาซาร์และหัวหน้าซุ้มมือปืนภาคเหนือที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมชัยกร ไม้หอม เมื่อปี พ.ศ. 2539 เนื่องจากมือปืนรับจ้างเข้าใจผิดว่าชัยกรเป็นเกษม คำวงศ์ษา - ถูกตัดสินประหารชีวิตได้รับการลดโทษหลายครั้งก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี พ.ศ. 2558 [38][39][40]
- ชลอ เกิดเทศ อดีตนายตำรวจชาวไทยที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในความผิดฐานสนับสนุนในการฆ่าดาราวดี ศรีธนะขัณฑ์และเสรี ศรีธนะขัณฑ์ซึ่งสืบเนื่องมาจากคดีเพชรซาอุ - ถูกตัดสินประหารเเต่ได้รับการลดโทษหลายครั้งก่อนจะได้รับการพักโทษในปี พ.ศ. 2556ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ
- เรืองศักดิ์ ทองกุล ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดในการฆาตกรรมครอบครัวบุญทวี - ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตก่อนจะได้รับอภัยโทษหลายครั้งจนถูกย้ายมายังเรือนจำกลางสงขลาและพ้นโทษในปี พ.ศ.2553[41][42]
- วรยศ บุญทองนุ่ม นักร้องที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานมียาเสพติดไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพ(ยาอี) - ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี และได้รับการลดโทษลงเรื่อย ๆ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564
- วิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือ ท็อป หรือฉายา มือปืนป็อปคอร์น ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนเล็กยาวยิงปืนเข้าไปในอาคารศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ในพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เพื่อสกัดผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ที่จะเข้ามาปะทะกัน ส่งผลให้มีได้รับบาดเจ็บ 6 คน[43] ก่อนที่อะแกว แซ่ลิ้ว หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บจะเสียชีวิตในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557 หลังจากอะแกวนอนอัมพาตเป็นเวลา 7 เดือน[44] - ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ให้การเป็นประโยชน์ต่อคดีจึงลดโทษเหลือจำคุก 37 ปี 4 เดือน ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ศาลฎีกาพิพากษากลับจำคุก 37 ปี 4 เดือน[45][46] ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง เหลือโทษจำคุก 6 ปี 11 เดือน 14 วัน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565[47]
- วอร์เรน เฟลโลว์ อดีตผู้จัดส่งยาเสพติดชาวออสเตรเลีย - ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเเละได้รับพระราชทานอภัยโทษก่อนได้รับการปล่อยตัวจากบางขวางเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2533
- หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน อดีตนายเรืออากาศ และนักเขียน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏบวรเดช - ถูกตัดสินจำคุก 9 ปี แต่พ้นโทษหลังจากติดคุกเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากการพระราชทานอภัยโทษ
- หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์) อดีตนายทหารบกผู้เป็นหนึ่งในคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ให้งดเว้นการประหารชีวิตเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2487 เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
- พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ให้งดเว้นการประหารชีวิตเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2487 เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ให้งดเว้นการประหารชีวิตเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2487 เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ถูกวิสามัญฆาตกรรม
[แก้]- สนอง ยืนยง หรือฉายา ขุนโจรสามล้าน ผู้ก่อเหตุร่วมกันปล้นและฆาตกรรมนายมัด บินฮันนิมะซึ่งเป็นคนขับรถขนเงินของธนาคารเอเชีย ที่ถนนราชดำเนินก่อนที่จะถึงสี่แยกวิสุทธิ์กษัตริย์ เมื่อปี พ.ศ.2503 - ถูกตัดสินประหารชีวิต โดยเป็นผู้นำในการแหกคุก เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2504 โดยสามารถถอดโซ่ตรวนและได้รับปืนเมาเซอร์ขนาด.38 ซึ่งพาบุญยืน แสงชมพู,เฉลิม กัปตันแดง,สำเนียง ต้นแขม และวัชระ ศรเพชรออกจากตึกขัง หลังจากนั้นเขาได้จี้ลำพวน พรภักดีให้นำกุญแจมาและใช้เป็นโล่มนุษย์ ก่อนจะจี้สุดใจ เฮงสมบูรณ์ให้นำชุดผู้คุมให้พวกเขาแล้วขังในห้องขังนักโทษประหาร ต่อมาทั้ง 6 คนได้เดินทางเข้ามายังหอรักษาการเจ็ดชั้น แต่ทว่าทุ้ม แสงบัวจำหน้าเขาได้จึงตะโกนเรียกชื่อเขา สนองจึงยิงทุ้มจนเสียชีวิต หลังจากนั้นได้เกิดการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ ส่งผลให้สนองและวัชระถูกยิงเสียชีวิต ส่วนบุญยืน, เฉลิมและสำเนียงสามารถหลบหนีไปได้[48][49][50]
หลบหนีจากเรือนจำโดยยังไม่ถูกจับกุม
[แก้]- เฉลิม กัปตันแดง อดีตมือขวาของกังวาน วีระนนท์ และนักฆ่า ผู้ร่วมกับลี อยู่พงษ์ ก่อเหตุฆาตกรรมยกครัวด้วยมีดและสากตำข้าว ที่อำเภอไทรโยค เมื่อปีพ.ศ. 2504 ส่งผลให้มีผู้เสีย 6 คนรวมถึงหญิงตั้งครรภ์ โดยการฆาตกรรมครั้งนี้มาจากการจ้างวานฆ่าจากทองสาย สุริยา - ถูกตัดสินประหารชีวิตพร้อมกับลี แต่เขาร่วมการแหกคุกของสนอง ยืนยง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2504 โดยสนองกับวัชระถูกยิงเสียชีวิตขณะยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำที่หอรักษาการเจ็ดชั้น ส่วนเฉลิม, สำเนียงและบุญยืนสามารถหลบหนีไปได้สำเร็จ โดยถูกพบเห็นเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ที่ป่าในจังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย ส่วนลีถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2504 โดยเฉลิมนับเป็นนักโทษเพียงคนเดียวที่สามารถแหกคุกของเรือนจำกลางบางขวางแล้วไม่สามารถถูกจับกุมกลับมาได้จนถึงปัจจุบัน[51][52][53]
เสียชีวิตในเรือนจำ
[แก้]- บุญเกิด กฤษบำรุง บาทหลวงชาวนครปฐมผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏภายนอกราชอาณาจักร - ถูกตัดสินจำคุก 15 ปีและถึงแก่มรณกรรมในเรือนจำด้วยวัณโรคเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2487 หลังจากติดคุกได้ 3 ปี
- ประชา พูนวิวัฒน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปไตยผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย - ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เสียชีวิตในสถานพยาบาลของเรือนจำ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2541
- กังวาน วีระนนท์ หรือฉายา เจ้าพ่อบางนกแขวก ผู้มีอิทธิพลเก็บค่าผ่านทางเรือที่ผ่านคลองดำเนินสะดวกและแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่ตำบลบางนกแขวก โดยเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นและฆาตกรรมหลายคดี รวมถึงการจ้างวานฆ่าทนายความบุญเชิด ศุภมณี และประสิทธิ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร แล้วนำศพไปทิ้งเหวที่อำเภอเขาย้อย[54] โดยเขาถูกจับกุมที่บ้านริมคลองหลอดข้างวัดบุรณศิริมาตยาราม เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ถูกตำรวจตั้งข้อหา 28 คดี - ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เสียชีวิตในสถานพยาบาลของเรือนจำ เมื่อปี พ.ศ. 2506[55]
ถูกประหารชีวิต
[แก้]- ธีรศักดิ์ หลงจิ ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมดนุเดช สุขมากด้วยการแทงจำนวณ 24 แผลเพื่อชิงทรัพย์ในจังหวัดตรัง เมื่อปี พ.ศ. 2555 - ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561
- หล่ง ยินดี หรือฉายา เจ้าพ่อร่องช้าง หัวหน้ามือปืนรับจ้างผู้ร่วมกับปาน ฤือชัย และ เสา บัวเขียวก่อเหตุฆาตกรรมสุริยัน ส่องแสง นักร้องเพลงลูกทุ่งที่สนามโรงเรียนบ้านจำป่าหวาย อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ปานกับเสาได้ซัดทอดไปยังสังข์ทอง สีใส นักร้องเพลงลูกทุ่งว่าเป็นผู้จ้างวาน แต่ตำรวจไม่ได้ดำเนินคดีกับสังข์ทองเนื่องจากขาดหลักฐาน หล่งถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนปานกับเสาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และหล่ง, ปานและเสา ยังถูกตัดสินประหารชีวิตในคดีฆาตกรรมคหบดีจังหวัดพะเยา- ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2530 ส่วนปานกับเสาได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตจากการพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมาและคาดว่าจะถูกปล่อยตัวแล้ว[56]
- พันธ์ สายทอง ผู้ก่อเหตุข่มขืนและสังหารเด็กหญิงอายุ 5 ขวบในห้องน้ำของโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2539 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542
- ณรงค์ ปิ่นแก้ว, สำราญ ปิ่นแก้ว และ หลี แดงอร่าม ก่อคดีร่วมกันปล้นฆ่าชิงสร้อยพ่อค้าปลาสด และยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บในพื้นที่ตลาดลาดพร้าวสะพาน 2 เมื่อปี พ.ศ.2523 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2527
- สมศักดิ์ ฉั่วตระกูล ผู้ก่อเหตุชิงทรัพย์และฆาตกรรม 2 นักศึกษาสาวพี่น้องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2526 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2528
- ละมัย โพธิ์สุวรรณ หรือฉายา ไอ้ม้าซาดิสต์ ผู้ก่อเหตุข่มขืนและทุบตีแพทย์หญิงวัลยา เมฆสุดอย่างรุนแรงในบ้านที่กำลังก่อสร้างในหมู่บ้านทิพวัล๑ เป็นเหตุให้เธอไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2527
- พรหมมาศ เลื่อมใส ฆาตกรผู้ก่อเหตุฆาตกรรมคน 3 คนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดชลบุรี ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2531 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2539[57][58][59]
- จ.ส.ต. สุพจน์ เพ็งคล้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรป่าพยอม ผู้ก่อเหตุยิงจีรพงศ์ ไข่ขาว เนื่องจากต่อว่าที่เขาเอาอาวุธปืนมาขู่ แล้วยิงวนันญา สุวรรณพยัคฆ์เนื่องจากส่งเสียงกรีดร้อง ก่อนจะยิงวิทยา หนูเอียดจนเสียชีวิตเพราะขอให้หยุดยิงแล้วยิงวนัญญาซ้ำอีกนัด และยังได้ขว้างระเบิดมือใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขัดขวางการจับกุมส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บหลายนาย - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2541[60][61][62]
- สมศักดิ์ พรนารายณ์หรืออีกชื่อศักดิ์สิทธิ์ คำใส ฆาตกรต่อเนื่องชาวลาวที่ปลอมแปลงสัญชาติเเละหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งได้ก่อเหตุข่มขืนและพยายามฆ่าคนขับรถสามล้อเครื่องในอำเภอเมืองเลยเมื่อเดือนมิถุนายน 2538 และข่มขืนเละสังหารเด็กหญิงอายุ 15 ปีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2538 ในอำเภอเชียงคานซึ่งก่อนการประหารชีวิตเขาได้สารภาพว่าข่มขืนผู้หญิงหลายคนและยังได้ฆาตกรรมผู้หญิง 2 คนในประเทศลาว - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542[63][64]
- เดชา สุวรรณสุก ผู้ก่อเหตุข่มขืนและสังหารลูกสาวของตัวเองอายุ 4 ขวบที่บ้านพักของโรงไม้แห่งหนึ่งในเขตมีนบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2539 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2542[65]
- อำนาจ เอกพจน์ ผู้ก่อเหตุลอบสังหารไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ด้วยอาวุธมีดเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยมีนายนิรันดร เรืองกาญจนเศรษฐ์ บุตรชายคนโตเป็นผู้บงการ เเต่นิรันดรก็ฆ่าตัวตายก่อนถูกจับกุม - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2542
- สมคิด นามแก้ว ผู้ค้ายาเสพติดที่ลักลอบขนยาบ้าจำนวน 406,000 เม็ด เพื่อนำไปส่งให้ผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถูกจับกุมที่จังหวัดแพร่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2540 ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2544 นับเป็นนักโทษคดียาบ้ารายแรกของประเทศไทยที่ถูกประหารชีวิต
- ตะปอยโฮ ชาวกะเหรี่ยงผู้ก่อเหตุฆาตกรรมยกครัวครอบครัวของอดีตภรรยาตนเองที่อำเภอสีคิ้วด้วยขวานเมื่อปี พ.ศ. 2539 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2542
- ลี ยวน กวง ชาวฮ่องกงที่ลักลอบขนยาเสพติดร่วมกับ ชู ชิน กวย และ บุญเกิด จิตปรานี - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2544[66]
- ชู ชิน กวย ชาวไต้หวันที่ลักลอบขนยาเสพติดร่วมกับ ลี ยวน กวง และ บุญเกิด จิตปรานี - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2544[67]
- บุญเกิด จิตปรานี ชาวไทยที่ลักลอบขนยาเสพติดร่วมกับ ลี ยวน กวง และ ชู ชิน กวย - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2544[68]
- ถวิล หมั่นสาร อดีตข้าราชการครู ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมยกครัวครอบครัวของภรรยาตนเองที่จังหวัดบุรีรัมย์เมื่อปี พ.ศ. 2542 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2545 อนึ่ง ถวิล หมั่นสาร ถูกนำไปอ้างอิงในนิทานพื้นบ้านเรื่อง ทองปานลิ้นดำ โดยผู้เขียนนำภาพของถวิลในขณะที่พี่เลี้ยงนำตัวไปประหารจากหน้าหนังสือพิมพ์ไปใช้เป็นภาพของทองปาน
- จาย ส่างออ, กุลชนก อินเทศราช และเนตรน้อย ส่างคิด 3 ชาวไทใหญ่ที่ลักลอบขนยาบ้าจำนวนมากจากภาคเหนือเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถูกจับกุมเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2545
- ส้มเกลี้ยง สร้อยพลาย ผู้ก่อเหตุข่มขืนและสังหารลูกสาวของตัวเองอายุ 10 ขวบแล้วนำศพหมกป่าโดยใช้เชือกกระเป๋ารัดคอแล้วแขวนกับต้นไม้ที่จังหวัดกำแพงเพชรเมื่อปี พ.ศ. 2543 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2545
- สุดใจ ชนะ ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมอธิป บุญร่วม ผู้รับจ้างกรีดยางขณะกรีดยางพร้อมกับภรรยาที่สวนยางพาราในอำเภอทุ่งตะโก เมื่อปี พ.ศ. 2541 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2545 และเป็นบุคคลสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในประเทศไทย[69][70]
- บุญลือ นาคประสิทธิ์ ผู้ค้ายาเสพติดผู้ร่วมกับพันพงษ์ สินธุสังข์ และวิบูลย์ ปานะสุทธะ ใช้โรงงานไทย-เยอรมันกลูโคสผลิตยาบ้าเป็นจำนวนมาก ถูกจับกุมเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2541 - ถูกประหารชีวิตพร้อมกับพันพงษ์ด้วยการฉีดสารพิษเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ส่วนวิบูลย์ถูกประหารชีวิตในวันเดียวกันหลังจากบุญลือ โดยการประหารชีวิตครั้งนี้นับเป็นการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรกของประเทศไทย[71][72] [73]
- บัณฑิต เจริญวานิชและจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ ผู้ที่กระทำความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่1ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย - ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552[74][75]
- สังข์ สว่างใจ อดีตพระของวัดรางบัว ผู้ก่อเหตุใช้ปืนลูกซองกราดยิงพระสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ. 2481 เป็นเหตุให้มีพระสงฆ์มรณภาพ 2 รูป และได้รับบาดเจ็บ 3 รูป โดยมีแรงจูงใจจากการถูกจับได้ว่ากระผิดวินัยสงฆ์ถึงขั้นปราชิกจากการไปมีเพศสัมพันธ์กับเด็กวัด และถูกไล่ออกจากวัด - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2482(ก่อนปี พ.ศ.2483 วันขึ้นปีใหม่ของไทยคือวันที่ 1 เมษายน)[76]
- ซีอุย ชาวจีนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดว่าฆาตกรรมเด็กชายสมบูรณ์ บุญยกาญจน์ที่จังหวัดระยองในปี พ.ศ. 2501 ซึ่งตำรวจสืบสวนซีอุยคำรับสารภาพจากซีอุยว่าก่อคดีอีกอย่างน้อย 6 คดีในช่วงปี พ.ศ. 2497–2501 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2502 แต่ความผิดจริงก็เป็นที่ถกเถียงกันมาก
- บุญยืน แสงชมพู ชาวตำบลศรีพูนผู้ก่อเหตุขว้างวัตถุระเบิดใส่เสียโอ๊วผู้มีอิทธิพลในภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 31 คน และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เขาสามารถแหกคุกที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ 2 ครั้ง - ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งเขาร่วมการแหกคุกของสนอง ยืนยงเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2504 โดยสนองกับวัชระถูกยิงเสียชีวิตขณะยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำที่หอรักษาการเจ็ดชั้น ส่วนเฉลิม, สำเนียงและเขาสามารถหลบหนีไปได้สำเร็จ ต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2505 เวลา 04.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกขึ้นไปที่บ้านญาติของเขาในบ้านเจดีย์เจ็ดยอด อำเภอเมืองเชียงราย โดยพบเขากำลังนอนกับเมียอยู่ เขาได้พยายามแยงปืนจากตำรวจแต่ก็ถูกตำรวจใช้พานท้ายปืนฟาดที่ศีรษะ ส่งผลให้เขาวิ่งจากบ้าน แต่ก็ถูกตำรวตไล่ตามและยิงขู่จนเขายอมจำนน เขาถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2506[77][78]
- ธวัช สุธากุล หรือฉายาเปี๊ยก เฉลิมไทย หัวหน้ากลุ่มโจรในพื้นที่จังหวัดชลบุรีซึ่งก่อเหตุปล้นฆ่าหลายครั้ง เขาเคยถูกจับกุมจากคดีปล้นฆ่า 2 ครั้งแต่ก็ถูกยกฟ้องเพราะหลักฐานอ่อน ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2512 เขาได้ร่วมกับสมศักดิ์และพวกก่อคดีทำร้ายร่างกายสุชาติ วงษ์นาวิน และปล้นทรัพย์ ที่เขาสามมุข ก่อนจะลักพาตัวสุภาพรรณ รัตนะทายะ แฟนสาวของสุชาติ ไปข่มขืน และฆาตกรรมที่อ่างเก็บน้ำบางพระ - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515
- สมศักดิ์ ปาทาน มือขวาของธวัช สุธากุล ผู้ก่อเหตุร่วมกับธวัชและพวกก่อคดีทำร้ายร่างกายสุชาติ วงษ์นาวิน และปล้นทรัพย์ ที่เขาสามมุข ก่อนจะลักพาตัวสุภาพรรณ รัตนะทายะ แฟนสาวของสุชาติ ไปข่มขืน และฆาตกรรมที่อ่างเก็บน้ำบางพระ - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515
- จำเนียร จันทรา, ธนูชัย มนตรีวัต และ สนอง โพธิ์บาง ร่วมกันตระเวนล้วงกระเป๋าตามรถเมล์สายต่างๆ และฆาตกรรมพลเมืองดีที่มาขัดขวางไป 2 ราย ในปี พ.ศ.2515 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2515
- ประเสริฐ ฉิมเจริญ ผู้ก่อเหตุข่มขืนฆาตกรรมจิตรดา ปานจ้อย ที่เทศบาลนครอ้อมน้อย เมื่อปีพ.ศ. 2525 ถูกตัดสินประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีเพียง 11 วัน - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 อนึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 617/2526 ซึ่งเป็นฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ในประเด็นที่ว่าจำเลยสมัครใจดื่มสุราเองและขณะกระทำความผิดก็มีความรู้ผิดชอบเป็นอย่างดีจะอ้างว่าได้กระทำความผิดไปด้วยความไร้สติ ไม่รู้ผิดรู้ชอบและไม่สามารถบังคับตนเองได้อันเนื่องมาจากจำเลยดื่มสุรา ศาลฎีกาได้เห็นว่าไม่สามารถเป็นประเด็นที่ลดโทษได้
- พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ ผู้นำการก่อการกบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520และใช้ปืนยิง พล.ต. อรุณ ทวาทศิน จนเสียชีวิตขณะพยายามเเย่งปืน - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2520 และกบฏคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตจนถึงปัจจุบัน
- หลวงมหิทธิโยธี (สุ้ย ยุกตวิสาร) ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกราชบุรีที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏในกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2482
- ณเณร ตาละลักษณ์ อดีตนายทหาร, นักการเมือง และนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏในกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2482
- ลี บุญตา คนรับใช้ในบ้านของหลวงพิบูลสงครามที่ใช้ปืนไล่ยิงหลวงพิบูลสงครามถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏในกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2482
- ศุภชัย ศรีสติ ผู้นำสภาคนงานแห่งประเทศไทยที่ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยอำนาจมาตรา 17 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม พ.ศ. 2502[79]
- รวม วงศ์พันธ์ สมาชิกกรรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์และถูกประหารชีวิตตามคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยอำนาจมาตรา 17 - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2504[80][81]
- ชิต สิงหเสนี มหาดเล็กที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจาการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498
- บุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กห้องบรรทมที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจาการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498
- เฉลียว ปทุมรส สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนและราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจาการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล - ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ รู้ไหมเอ่ย ! เรือนจำแต่ละแห่งมีอำนาจคุมขังกี่วัน
- ↑ "ประวัติเรือนจำกลางบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-23. สืบค้นเมื่อ 2024-02-10.
- ↑ กำเนิดกรมราชทัณฑ์ เรือนจำกลางบางขวาง-คลองเปรม และการเลิกธรรมเนียมเก็บเงินนักโทษ
- ↑ "สถานที่ประหารชีวิตด้วยปืน!". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-09-14. สืบค้นเมื่อ 2003-09-14.
- ↑ ไม่มีใครกล้ารื้อ ศาลเจ้าพ่อแขก จุดยิงเป้านักโทษ สมัยจอมพลถนอม
- ↑ “ครอง จันดาวงศ์” นักต่อสู้ ปชต. เจ้าของวาทะ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”
- ↑ "อาถรรพณ์ 319 ดวงวิญญาณ มนต์ขลังคุกบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-12. สืบค้นเมื่อ 2006-03-26.
- ↑ สถิติการประหารชีวิต เก็บถาวร 2009-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เรือนจำกลางบางขวาง, สืบค้นวันที่ 19 พ.ย. 2552
- ↑ การซ้อนทับจับวางของวาทกรรมทัณฑวิทยา: วงศาวิทยาของการใช้โทษประหารและความรุนแรงเพื่อการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทยหน้าที่ 116 - 118
- ↑ การประหารด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรกของประเทศไทย
- ↑ เปิดประตู...คุกบางขวาง เรื่อง(ไม่)ลับ...หลัง "แดนประหาร"
- ↑ เปิดห้องประหาร...! ดินแดนสุดท้ายของนักโทษ ก่อนหมดลม [คลิป]
- ↑ "ประวัติยานุสรณ์ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-24. สืบค้นเมื่อ 2024-02-03.
- ↑ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567
- ↑ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567
- ↑ อธิบดีราชทัณฑ์ เผย บรรยิน นช.คดีฆ่า ได้รับพระราชอภัยโทษ67 ลดโทษประหาร เหลือจำคุกตลอดชีวิต
- ↑ 'วันชัย'นักโทษคดีฆ่าข่มขืนเข้าคุกบางขวางแล้ว
- ↑ ร.10 โปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขัง ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
- ↑ เรือนจำ ย้ายลับ "นวัธ" ขังบางขวาง
- ↑ “นวัธ”อดีต ส.ส.เพื่อไทยรอดถูกประหารชีวิตศาลฏีกาแก้โทษจำคุกตลอดชีวิต
- ↑ เฉลยแล้ว! สาเหตุ ‘เสี่ยแป้ง’ ทำไม ‘สะเดาะตรวน’ หนีออก รพ. ได้... สามารถ
- ↑ ส่อง "คุกบางขวาง" เรือนจำความมั่นคงสูง ขัง "แป้ง นาโหนด"
- ↑ ศาลจำคุกตลอดชีวิต "เสี่ยแป้ง นาโหนด" กับพวก คดีพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน
- ↑ ย้อนประวัติอาชญากรรม “เสี่ยแป้ง” 16 ปี ก่อวีรกรรม 11 คดี
- ↑ จบคดีเกาะเต่า ฎีกาพิพากษายืน "ประหาร 2 หนุ่มพม่า" ฆ่า-ข่มขืน
- ↑ คดีเกาะเต่า : แม่นักโทษชาวเมียนมาคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวอังกฤษหวังพึ่งพระบารมี ร.10 ต่อชีวิตลูกชาย
- ↑ 12 ก.ย.2502 พบร่าง นวลฉวี "ใบสั่งตาย" จากหมอคนรัก
- ↑ ย้อนคดีในตำนาน ‘เป๋ อกไก่’ ฆาตกรฆ่า ข่มขืน นศ.สาวคาห้องน้ำโรงหนัง
- ↑ ปิดฉาก! ศาลฎีกาสั่งประหาร'สุขุม เชิดชื่น' อดีตสว.จ้างฆ่า'หมอนิชรี'
- ↑ พักโทษ! อดีตส.ว.โทษประหาร พ้นเรือนจำแล้ว
- ↑ พักโทษ พ้นคุก ‘สุขุม เชิดชื่น’ อดีตส.ว.โทษประหาร คดีจ้างวานฆ่าหมอรพ.จุฬา
- ↑ เสาร์-อาทิตย์ นี้ ปล่อยตัวจำเลย 2 คดีดัง "สรยุทธ"อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง-"สุขุม เชิดชื่น" อดีต ส.ว.
- ↑ ย้อนคดี ย้อนอดีตตัวตน “สุขุม เชิดชื่น”จ้างวานสังหาร พญ. ถึง “ประหารชีวิต!”
- ↑ ย้อนรอยคดี “นพ.วิสุทธิ์” ฆาตกรรมซ่อนเงื่อนฆ่าหั่นศพเมีย
- ↑ '4 คดีฆ่าหั่นศพ สุดโจษจัน' จากปากนักสืบมือฉมัง เล่าพฤติกรรมโหดไขปมจับ!
- ↑ เลือดสาดกระเซ็น! รวม 2 คดีสยองขวัญ ฆ่าหั่นศพในตำนาน อำมหิตเล่าขานไม่รู้ลืม
- ↑ "เสริม สาครราษฎร์" ออกคุกแล้ว
- ↑ สิ้นลมแล้ว! 'วิศิษฐ์ พึ่งรัศมี' ป่าไม้คนดัง-จำเลยฆ่า 'ผอ.แสงชัย'
- ↑ ฎีกายืนประหารป่าไม้ทมิฬ จ้างฆ่าผิดตัว!
- ↑ ล้างมาเฟียบางขวาง เหิม”จ้างฆ่าอธ.
- ↑ ย้อน 4 คดี "ฆ่ายกครัว"
- ↑ ย้อนคดีสุดเหี้ยม ฆ่าเรียง 5 ศพ เชือกแขวน ยิ้มสะท้าน 'ศักดิ์ ปากรอ'
- ↑ นครบาลแจงเหตุปะทะหลักสี่ เจ็บ6ราย
- ↑ ใครคือ ‘ลุงอะแกว’ เหยื่อกระสุนเหตุการณ์ มือปืนป๊อปคอร์น ฮีโร่อิติปิสวนภควา
- ↑ ย้อนเหตุ "มือปืนป๊อปคอร์น" ยิงสนั่นแจ้งวัฒนะ เวทีพุทธะอิสระ ลุงกำนันเคยเอ่ยชม!
- ↑ ชุมนุม สาดกระสุน นองเลือด! ย้อนคดี 'มือปืนป๊อปคอร์น' ยิงสนั่นกลางแยกหลักสี่
- ↑ ‘มือปืนป๊อปคอร์น’ ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว หลังได้รับอภัยโทษ
- ↑ เปิดตำนานคดีประวัติศาสตร์ !!! กลุ่มโจรสุดอุกอาจที่สุดแห่งยุค ผู้กล้าลูบคม จอมพลสฤษดิ์ !!! การปล้นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดใน ประเทศไทย !!!
- ↑ หนังสือแหกคุก มหันตโทษบางขวาง โดยอรรถยุทธ พวงสุวรรณ
- ↑ ย้อนตำนาน "นักโทษประหาร" แหกคุกไทย ปิดฉาก "แป้ง นาโหนด"
- ↑ หนังสือพิมพ์อาณาจักรไทย วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ราคา 1 บาท
- ↑ หนังสือแหกคุก มหันตโทษบางขวาง โดยอรรถยุทธ พวงสุวรรณ
- ↑ ย้อนตำนาน "นักโทษประหาร" แหกคุกไทย ปิดฉาก "แป้ง นาโหนด"
- ↑ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายบุญเขต ศุภมณี และนายประสิทธิ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร
- ↑ กังวาน วีระนนท์ เจ้าพ่อบางนกแขวก
- ↑ เป็นคุ้งเป็นแคว อาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2560
- ↑ Thailand: further information on: fear of imminent execution: Prommas Leamsai
- ↑ Informe Sobre El Deute Extern a L'estat Espan หน้าที่319-321
- ↑ Thailand: Fear of imminent execution: one unnamed prisoner
- ↑ Thailand: Execution / Fear of further executions: Supoj Pengklai
- ↑ THAILAND A human rights review based on the International Covenant on Civil and Political Right
- ↑ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3931/2539
- ↑ พลิกแฟ้ม5นักโทษประหารคดีฆ่าข่มขืน
- ↑ "สมศักดิ์ พรนารายณ์นักข่มขืนจากลุ่มน้ำโขง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-05. สืบค้นเมื่อ 2023-03-05.
- ↑ เดชา สุวรรณสุก "ผมไม่ได้ทำน้องนุ่น"
- ↑ Thai executions condemned
- ↑ Eyewitness: Thailand's public executions
- ↑ Eyewitness: Thailand's public executions
- ↑ หนังสือพิมพ์มติชน หน้าที่ 10 เรื่อง “เอาแน่ 'ประหาร' แบบใหม่ เลิกปุปุ-ฉีดสารพิษแทน”, (25 พฤศจิกายน 2545)
- ↑ การซ้อนทับจับวางของวาทกรรมทัณฑวิทยา: วงศาวิทยาของการใช้โทษประหารและความรุนแรงเพื่อการลงทัณฑ์ในประวัติศาสตร์ไทยหน้าที่ 108 - 110
- ↑ บางขวางฉีดยาประหาร 2 นักโทษค้ายา!
- ↑ " พระนักเทศน์... นักโทษประหาร... เพชฌฆาต "
- ↑ การประหารด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรก ของประเทศไทย
- ↑ "เข็มฉีดยา"..จุดจบนักค้ายา
- ↑ เปิดแฟ้ม 7 คดีดัง “โทษประหาร” บ้างตาย บ้างรอชดใช้กรรม
- ↑ หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481
- ↑ ย้อนตำนาน "นักโทษประหาร" แหกคุกไทย ปิดฉาก "แป้ง นาโหนด"
- ↑ หนังสือแหกคุก มหันตโทษบางขวาง โดยอรรถยุทธ พวงสุวรรณ
- ↑ ประหารชีวิต "ศุภชัย ศรีสติ" วิศวะนักเรียนนอก วัย 34ปี ปลุกระดมต้านรัฐบาล
- ↑ การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2501-2506
- ↑ รวม วงษ์พันธ์[ลิงก์เสีย]