นกหัวโตทรายใหญ่
นกหัวโตทรายใหญ่ | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | สัตว์ (Animalia) |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata) |
ชั้น: | สัตว์ปีก (Aves) |
อันดับ: | นกหัวโต (Charadriiformes) |
วงศ์: | นกหัวโต (Charadriidae) |
สกุล: | นกหัวโตเล็ก (Charadrius) |
สปีชีส์: | นกหัวโตทรายใหญ่ (C. leschenaultii ) |
ชื่อทวินาม | |
Charadrius leschenaultii (Lesson, 1826) | |
ชื่อพ้อง | |
Cirrepidesmus leschenaultii |
นกหัวโตทรายใหญ่ (Charadrius leschenaultii ) เป็นนกชายเลนในสกุลนกหัวโต และเป็นนกอพยพในกลุ่มที่ผลัดขนในฤดูผสมพันธุ์ และมีความแตกต่างระหว่างเพศในฤดูผสมพันธุ์ โดยฤดูผสมพันธุ์มีถิ่นอาศัยบริเวณกึ่งทะเลทรายในประเทศตุรกี ต่อเนื่องถึงเอเชียกลาง ส่วนฤดูหนาวจะอพยพมาทางเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2] สำหรับในประเทศไทย พบได้ในแหล่งน้ำใกล้ป่าชายเลน ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันช่วงประมาณเดือน พฤศจิกายน ถึง มกราคม
ชื่อสกุล Charadrius เป็นคำในภาษาละตินยุคปลายซึ่งกล่าวถึง นกสีค่อนข้างเหลือง ในพระคัมภีร์วัลเกต ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ซึ่งกลายมาจากคำในภาษากรีกโบราณว่า คาราดริออส (กรีกโบราณ: Χαραδριος) ซึ่งหมายถึงผู้อยู่ในร่องธาร ชื่อชนิดทางวิทยาศาสตร์ leschenaultii นำมาจากชื่อของบุคคลคือ Jean Baptiste Leschenault de la Tour (ค.ศ. 1773-1826)[3] นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้พบและจำแนกชนิดได้ครั้งแรก ที่เมืองพอนดิเชอร์รี ในประเทศอินเดีย
นกหัวโตทรายใหญ่ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ในข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุรักษ์นกน้ำอพยพแอฟริกัน-ยูเรเชีย (The Agreement on the Conservation of African-Eurasian Migratory Waterbirds; AEWA)
อนุกรมวิธาน
[แก้]ชนิดพันธุ์นี้มักจะแบ่งออกเป็นสามชนิดย่อย ที่มีการกระจายดังต่อไปนี้:
- Charadrius leschenaultii columbinus - ขอบเขตจากตุรกีถึงอัฟกานิสถานตอนใต้ โดยในฤดูหนาวพบในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง
- Charadrius leschenaultii crassirostris - ทำรังในพื้นที่ทางตะวันออกของทะเลแคสเปียนไปจนถึงทางตะวันออกเฉียงใต้ของคาซัคสถาน ในช่วงฤดูอพยพหนีหนาวพบไกลถึงแอฟริกาใต้
- Charadrius leschenaultii leschenaultii - รูปแบบที่กำลังได้รับการเสนอชื่อเป็นชนิดย่อย พบจากตะวันตกของจีนไปจนถึงมองโกเลียตอนใต้ และไซบีเรียตอนใต้ ช่วงฤดูหนาวพบในออสเตรเลีย
ลักษณะทางกายภาพ
[แก้]นกหัวโตทรายใหญ่ มีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนกับนกชนิดอื่นในสกุลนกหัวโตเล็ก โดยลักษณะพิเศษประจำพันธุ์คือ เป็นนกขนาดเล็ก ความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง ยาว 19-22 เซนติเมตร[4] คล้ายนกหัวโตทรายเล็ก แต่ ตัวโตกว่าเล็กน้อย ปากมีสีดำ สันขากรรไกรบน ยาวมากกว่า 2 ซม. ขาและนิ้วสีเทาออกเขียว หรือ ออกเหลือง โดยขาท่อนบน ยาวเท่ากับ หรือเกือบเท่ากับขาท่อนล่าง
ขนคลุมลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาล ขนคลุมหน้าผากจะมีสีน้ำตาลอ่อน และมีขีดคล้ายคิ้วสีขาวลากเหนือตาไปถึงตอนบนของขนคลุมหู มีแถบสีน้ำตาลลากจากโคนปาก ลากผ่านใต้ตาไปจนถึงขนคลุมหู หน้าอกมีแถบคาดอกสีน้ำตาล แต่ไม่ต่อกันตรงกลาง ด้านล่าง ใต้คอถึงอกตอนบน และ ท้องลงไปจนถึงขนคลุมใต้หาง สีขาว ปีกมีสีน้ำตาล แต่ขนปลายปีกจะมีสีดำ ขณะบินจะเห็นแถบสีขาวที่ปีกเช่นเดียวกับนกหัวโตทรายเล็ก แต่แถบจะใหญ่และชัดกว่า
ในตอนต้นฤดูผสมพันธุ์ นกตัวผู้จะมีการผลัดขนหน้าผากเป็นสีดำ และมีแต้มสีขาวล้อมรอบด้วยเส้นสีดำ แถบคาดตาสีขาว กระหม่อมและคอด้านบนสีน้ำตาลแดง ใต้คอและคอตอนล่างสีขาว อกสีแถบสีน้ำตาลแดง แต่ตอนกลางฤดูผสมพันธุ์จะมองไม่เห็นแต้มสีขาวที่หน้าผาก แต่กระหม่อม หน้าผาก และ แถบคาดอก จะเป็นสีส้ม หรือ น้ำตาลแดงเข้มชัดเจน แถบคาดอกจะต่อเป็นแถบเดียวกัน
นิสัยประจำพันธุ์
[แก้]พบการรวมฝูงเป็นฝูงขนาดเล็กหรือกลาง ตั้งแต่ 2-50 ตัว แต่อาจพบการสะสมฝูงได้ถึง 1,000 ตัวในจุดแวะพัก[1] หากินในช่วงน้ำลงทั้งกลางวันและกลางคืน บินได้ดีมากและเร็ว เมื่อถูกรบกวนจะบินหนีในทันที อาจหากินอยู่รวมกับนกชายเลนอื่น ๆ โดยเฉพาะนกหัวโตทรายเล็ก ส่วนอาหาร ได้แก่ แมลง ตัวหนอน สัตว์น้ำต่าง ๆ เช่น หอย ปู ปลา กุ้ง บางครั้งกินผล ยอด และต้นอ่อนของพืชที่ขึ้นในน้ำเค็มบางชนิด กินอาหารด้วยการวิ่งในระยะทางที่สั้น ๆ และหยุด แล้วเก็บอาหารด้วยปากแทนที่จะใช้เทคนิคการจับเหยื่อแบบทั่วไป
ทำรังอยู่บนพื้นโดยตรง โดยวางไข่หนึ่งครั้งต่อฤดูการผสมพันธุ์ โดยมากมักจะมี 3 ฟองโดยวางบนพื้นในหลุมที่ขุดขึ้น ไข่จะถูกฟักเป็นเวลา 24 วันโดยเฉลี่ย ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะคอยดูแลตัวรังด้วยกัน[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 BirdLife International (2012). "Charadrius leschenaultii". www.iucnredlist.org. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
- ↑ Clements, J. F., T. S. Schulenberg, M. J. Iliff, D. Roberson, T. A. Fredericks, B. L. Sullivan, and C. L. Wood (2015) The eBird/Clements checklist of birds of the world: Version 2015 http://www.birds.cornell.edu/clementschecklist/download, läst 2016-02-11
- ↑ Jobling, James A (2010). The Helm Dictionary of Scientific Bird Names. London: Christopher Helm. pp. 99, 222. ISBN 978-1-4081-2501-4.
- ↑ Lars Svensson; Peter J. Grant (1999). Margareta Söderberg (บ.ก.). Fågelguiden (ภาษาสวีเดน). illustrator by Killian Mullarney, Dan Zetterström. Stockholm: Albert Bonniers Förlag. pp. 104–105. ISBN 91-0-056976-3.
- ↑ Lars Larsson (2001) Birds of the World, CD-rom
บรรณานุกรม
[แก้]- Hayman, Peter; Marchant, John; Prater, Tony (1986). Shorebirds: an identification guide to the waders of the world. Boston: Houghton Mifflin. pp. 384–385. ISBN 0-395-60237-8.
- National Parks and Wildlife Services NSW Australia (pdf)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Charadrius leschenaultii ที่วิกิสปีชีส์
- ภาพและวีดิทัศน์ โดย Birds of the World.
- บันทึกเสียงร้อง โดย xeno-canto.org