ธรรมทาส พานิช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธรรมทาส พานิช มีเดิมคือ ยี่เกย พานิช เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 3 คน ของนายเซี้ยง นางเคลื่อน พานิช มีพี่ชายคือท่านพุทธทาสภิกขุ และน้องสาวคือ นางกิมช้อย เหมะกุล ซึ่งนายธรรมทาสเป็นบุคคลสำคัญผู้ก่อตั้งคณะธรรมทานและสวนโมกขพลาราม[1]

ประวัติ[แก้]

นายธรรมทาสเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2451 ที่บ้านพุมเรียง หมู่ที่ 2 ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย บิดาเป็นคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน มารดาเชื้อสายไทย เมื่ออายุได้เจ็ดขวบได้เข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนโพธิพิทยากร จนจบชั้นประถม ปีที่ 4 และเรียนต่อชั้นมัธยม 1-3 ที่นี่ต่อไปอีก หลังจากนั้นได้เข้าเรียนต่อมัธยมปีที่ 4 ที่โรงเรียนสารภีอุทิศ เรียนได้ครึ่งปีบิดาเสียชีวิต จึงบวชเป็นสามเณรจำพรรษาที่พุมเรียง 1 ปี ในปีที่ 2 ได้ไปจำพรรษาที่วัดไตรธรรมารามและเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำมณฑลสุราษฎร์ จนจบมัธยมปีที่ 5 แล้วลาสึกและเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปี พ.ศ. 2466 และได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 หลังจากนั้น ได้สอบเข้าศึกษาเตรียมแพทย์ปีที่ 1 ที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนได้ 1 ภาคเรียนก็ตัดสินใจลาออกเนื่องจากพี่ชายคือพระเงื่อมไม่ลาสิกขาบท ตามกำหนด เพื่อช่วยมารดาดำเนินกิจการค้าขายและเพื่อพระเงื่อมพี่ชายจะได้บวชต่อไป

ผลงาน[แก้]

นายธรรมทาส พานิช สนใจพุทธศาสนาและอยากส่งเสริมให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ตอนเข้าเรียนเตรียมแพทย์ เขาได้ค้นคว้าบทความที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติมากมาย ครั้นกลับบ้านในปี พ.ศ. 2470 เขาได้รวบรวมหนังสือต่างๆ จัดตั้งหีบหนังสือเพื่อให้ผู้สนใจได้ยืมอ่านขึ้นเมื่อปี 2472 มีกลุ่มผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้หลายคนและได้มีผู้บริจาคหนังสือในกิจการนี้หลายราย ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 นายธรรมทาสได้จัดตั้งคณะธรรมทานขึ้นโดยนางเคลื่อน พานิช ผู้เป็นมารดาได้บริจาคเงินเป็นทุนดำเนินการระยะแรก เพื่อไว้ใช้ดอกผลในกิจการพุทธศาสนา โดยเฉพาะส่งเสริมการปฏิบัติธรรมของสวนโมกขพลาราม ซึ่งตั้งขึ้นที่วัดตระพังจิต ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา คณะธรรมทานที่ตั้งขึ้นนี้ได้รับ การสนับสนุนจากบุคคลและหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี

จากการที่นายธรรมทาสได้ศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง ทำให้ท่านเห็นว่าควรเผย แพร่ต่อผู้อื่นด้วย จึงได้นำความรู้มาเขียนบทความและบางคราวก็แปลเรื่องจากหนังสือที่ได้อ่านออกเผยแพร่และต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ได้ตั้งโรงพิมพ์ธรรมทานขึ้นเพื่อพิมพ์เอกสารและหนังสือเผยแพร่งานศาสนา สำหรับหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่เป็นรายสามเดือนชื่อ พุทธสาสนา

ในปี พ.ศ. 2479 นายธรรมทาสเล็งเห็นว่าในตลาดไชยายังไม่มีโรงเรียน ทำให้นักเรียนต้องเดิน ทางไกลไปเรียนที่อื่น จึงตัดสินใจจัดตั้งโรงเรียนพุทธนิคมขึ้น โดยโรงเรียนนี้ได้รับหนังสือตอบรับความจำนงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ หนังสือนั้น ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2475[2] โรงเรียนจัดให้มีวันหยุดรอบสัปดาห์ในวันพระ (8 ค่ำ 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ) และนอกจากจะมีการเรียนวิชาต่างๆตามหลักสูตร ของ กระทรวงธรรมการแล้ว โรงเรียนนี้ได้จัดอบรมนักเรียนในทางพุทธศาสนาควบคู่ไปด้วย ทำนองเดียวกับโรงเรียนมิชชันนารี คือ นักเรียนจะต้องปฏิบัติตาม วินัยของโรงเรียนที่เรียกว่า "กฎชาวพุทธ 5 ข้อ" ได้แก่

  • ละเว้นสิ่งเสพติด
  • ละเว้นการพนันทุกชนิด
  • มีความมัธยัสต์ไม่ฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์
  • มีความเพียรในการทำงาน ไม่เลือกงาน
  • และประพฤติตามหลักพุทธศาสนา

นายธรรมทาส เห็นว่า ควรจัดตั้งคณะธรรมทานเป็นมูลนิธิ เพื่อให้การอุปถัมภ์แก่ กิจการโรงเรียน จึงได้ยื่นเรื่องราวการจัดตั้ง "ธรรมทานมูลนิธิ" ต่อสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 และ ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ ในเดือนมกราคม ปีต่อมา มูลนิธิให้ทุนนักเรียนเผยแพร่ธรรมะโดยการพิมพ์หนังสือออกเผยแพร่และส่งเสริมสนับสนุนสำนักปฏิบัติธรรมสวนโมกขพลาราม กิจการของมูลนิธิได้เจริญก้าวหน้าตามลำดับซึ่งเป็นหลักสำคัญในการสนับสนุนการเผยแพร่พุทธศาสนาของสวนโมกขพลารามมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนายธรรมทาสสนใจต่อพุทธศาสนาอย่างจริงจังแล้ว ท่านยังสนใจศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ภาคใต้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหลักฐานทางโบราณคดีของไชยา ท่านสนใจศึกษา ค้นคว้าเรื่องนี้ เนื่องจากท่านได้พบเห็น เศษกระเบื้อง ถ้วยชามสมัยต่างๆ ลูกปัด หัวเงินเฟื้อง หรือ เงินตรามโน มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ผลงานที่พิมพ์เผยแพร่ได้แก่ พนม ทราวดี ศรีวิชัย ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย พระแก้วมรกตของไทยและนิพพานธรรมใน ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ เป็นต้น และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา นายธรรมทาสได้รับความช่วยเหลือจากท่านจันทร์ (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี) เกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะ ข้อมูลจากต่างประเทศ ที่พิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ ท่านจันทร์ จะจัดส่งให้นายธรรมทาส ได้ค้นคว้าและแปลเป็นภาษาไทย พร้อมกับบันทึกเรื่องราวที่ได้จากการอ่านส่งไปให้ท่านจันทร์ทราบ เพื่อท่านจันทร์จะได้นำไปเป็นข้อมูลค้นคว้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษต่อไป

ชีวิตครอบครัว[แก้]

ในปี พ.ศ. 2475 ขณะที่นายธรรมทาส มีอายุได้ 23 ปี มารดารได้สู่ขอ นางสาวพร้อม ทั่งสุสังข์ บุตรสาวของ นายชวน นางจั่ว ทั่งสุสังข์ ผู้มีฐานะอันจะกิน แห่งหมู่ที่ 2 ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา และได้เข้าสู่พิธีสมรส อย่างถูกต้องตามประเพณีไทย อย่างสมเกียรติ แม้จะต้องมีความรับผิดชอบ ในฐานะผู้นำครอบครัว แต่นายธรรมทาส ก็ยังคงทำงานต่างๆ ที่ได้ริเริ่มไว้อย่างเต็มความสามารถ มีบุตรธิดารวมทั้งหมด 5 คน คือ นายสิริ นายประชา นางสุนทรี นายไมตรี และนายเมตตา

ปัจฉิมวัยและมรณกรรม[แก้]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา นายธรรมทาสไม่ได้เดินทางไปที่ใดไกลๆ เพราะสายตาไม่ดีแต่ นายธรรมทาสยังคงศึกษาค้นคว้างานทางโบราณคดี เขียนบทความทางศาสนาดูแลกิจการของโรงเรียน ธรรมทานมูลนิธิ โรงพิมพ์ และช่วยเหลือกิจการของสวนโมกขพลารามอย่างเอาจริงเอาจังมาโดยตลอด ภารกิจประจำวันของท่านในปัจจุบันนี้คือ ตื่นนอนเช้า เดินเล่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ต้อนรับแขก ฯลฯ และเข้านอนในเวลา 4 ทุ่มเป็นประจำ ชีวิตครอบครัว ของท่านมีแต่ความสุขสงบจนถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป

นายธรรมทาส พานิช ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 รวมอายุได้ 92 ปี

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์[แก้]

นายธรรมทาส เป็นผู้ที่ทำงานหนักมาโดยตลอด ผลงานของท่านล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เล็งเห็นความสำคัญของท่านและผลงาน จึงได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้แก่ท่านในเวลาต่อมา

อ้างอิง[แก้]

  1. โสมชยา ธนังกุล. มรดกธรรมจากท่านพุทธทาส. แสตมป์ & สิ่งสะสม. ปีที่ 1 (+42) ฉบับที่ 3. พฤษภาคม 2555. ISSN 2229-2780. หน้า 47
  2. บทความในวารสาร พุทธสาสนา ปีที่ ๖๘ เล่ม ๓ พุทธศักราช ๒๕๔๓ ฉบับพิเศษ สดุดีครูธรรมทาส พานิช เขียนโดย ชวน เพชรแก้ว พ.ศ. ๒๕๒๘
  • หนังสือสุราษฎร์ธานีของเรา, ชวน เพชรแก้วและสบาย ไสยรินทร์