ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว
月牙泉
Crescent Lake
ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวและศาลาชมทิวทัศน์ ปี 2023
ระบบอุทกวิทยา
ชื่อแหล่งน้ำทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว
月牙泉
Crescent Lake
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้งมณฑลกานซู่ ประเทศจีน
ความยาว218 เมตร[1]

ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว (จีน: 月牙泉; พินอิน: Yuèyá Quán หรือ เยฺว่หยาฉฺวัน; แปลตามตัว สระน้ำซับพระจันทร์เสี้ยว) เป็นทะเลสาบขนาดเล็กรูปพระจันทร์เสี้ยว ก่อตัวจากน้ำซับที่พุขึ้นตามธรรมชาติจนกลายเป็นโอเอซิสกลางทะเลทราย ห่างจากเมืองตุนหฺวางในมณฑลกานซู่ไปทางใต้ 5 กิโลเมตร

ประวัติ[แก้]

ในสมัยโบราณทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว รู้จักกันในชื่อ 渥洼池 (โว่วาฉือ; สระหลุมยุบ), 沙井 (ชาจิ่ง; บ่อทราย), 药泉 (เย่าฉฺวัน; น้ำพุยา)[2] เป็นหนึ่งในแปดจุดชมวิวในตุนหฺวางตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น[2] และถูกเรียกว่า เยฺว่หยาฉฺวัน ในสมัยราชวงศ์ชิง

ในปี 1932 มิลเดรด เคเบิล (Mildred Cable) และ ฟรานเชสกา เฟรนช์ (Francesca French) เยี่ยมชมทะเลสาบระหว่างการเดินทางในภูมิภาคนี้ และบันทึกความประทับใจของพวกเขาไว้ในหนังสือทะเลทรายโกบี (The Gobi Desert) กล่าวว่า "รอบตัวนั้น เราเห็นชั้นของเนินทรายสูงตระหง่าน อย่างไรก็ตามเราพยายามโกหกตัวเองให้สำรวจสืบเสาะต่อไป ในขณะที่เราดิ้นรนอย่างสิ้นหวังบนสันเขาสุดท้ายที่เราปีนข้าม มองลงไปที่สิ่งที่อยู่ไกลข้างหน้า เราเห็นทะเลสาบที่เบื้องล่าง มันช่างสวยงามตระการตา"[3]

ได้รับการจัดระดับโดยคณะกรรมการจัดระดับคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนสถานที่ท่องเที่ยวระดับ AAAAA เมื่อปี 2558

การก่อตัว[แก้]

เชื่อกันว่าทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวและโอเอซิสก่อตัวและคงอยู่มากว่า 2,000 ปี[1] ตาม "พงศาวดารของเทศมณฑลตุนหวง" ทะเลสาบไม่เคยถูกทรายปกคลุมซึ่งพัดมาจากลมแรงตั้งแต่ประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน[4] การกล่าวอ้างต่าง ๆ เกี่ยวกับการก่อตัวของทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว เช่น เกิดจากพุน้ำซับที่ค่อย ๆ สะสมตัว, รอยเลื่อน, น้ำพุจากรอยแยกธรรมชาติ, น้ำบาดาลที่ล้น และส่วนที่เหลืออยู่ของแม่น้ำโบราณ (แม่น้ำตั่งสายเดิมที่เปลี่ยนเส้นทางและคงเหลือเป็นทะเลสาบรูปแอก)

ในปี 1997 มีการเริ่มต้นการสำรวจ หลังจากสำรวจและวิจัยภาคสนามนานกว่าห้าปี ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาจากสถาบันการสำรวจและออกแบบวิศวกรรมป้องกันและควบคุมภัยพิบัติทางธรณีวิทยาของมณฑลกานซู่ (甘肃地质灾害防治工程勘查设计院) เชื่อว่า ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวตั้งอยู่ในช่องแคบระหว่างตะกอนน้ำพารูปพัดแม่น้ำตั่ง (党河洪积扇) และตะกอนน้ำพารูปพัดห้วยน้ำซีฉุ่ย (西水沟积扇) โดยก่อตัวจากสภาพภูมิประเทศที่ต่ำและระดับน้ำใต้ดินที่เอ่อล้นสู่พื้นผิว แม่น้ำตั่งเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไหลผ่านแอ่งตุนหฺวางและยังเป็นแหล่งน้ำบาดาลหลักในลุ่มน้ำตุนหฺวางอีกด้วย (แม่น้ำตั่งเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ที่ไหลจากภูเขาในบริเวณทางใต้ในลักษณะที่ลุ่มน้ำแบบปิด ไม่สะสมตัวบนพื้นผิว แต่ไหลลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน) ลำธารใต้ดินของแม่น้ำตั่งเติมเต็มทะเลสาบอย่างสม่ำเสมอทำให้ระดับน้ำมีความสมดุล อีกปัจจัยหนึ่งคือที่ตั้งของทะเลสาบที่อยู่ท่ามกลางเนินทราย ที่ด้านใต้และด้านเหนือจะสูงกว่าฝั่งตะวันออกและตะวันตก ลมที่พัดไปตามเนินทรายจะหมุนขึ้นอย่างกะทันหันจากทางเข้าตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทรายขึ้นไปด้านบนแล้วออกจากทางออกทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทรายจึงไม่ทับถมตัวโอเอซิส ลมพัดไปในทิศทางนั้นตลอดทั้งปี ทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามของหาดทรายและทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว[1][4][5][6]

ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว ถูกล้อมรอบด้วยเนินทรายที่เรียกว่า "เนินทรายกระซิบ" (鸣沙山 )[7][8]

ระดับน้ำ[แก้]

จากข้อมูลในปี 1960 ความลึกของน้ำเฉลี่ยของทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวอยู่ที่ 4 ถึง 5 เมตร (13 ถึง 16 ฟุต) และจุดที่ลึกที่สุดคือ 7.5 เมตร (25 ฟุต) แต่ในอีก 40 ปีถัดมาระดับน้ำของทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวลดลงทุก ๆ ปี ความลึกของทะเลสาบลดลงมากกว่า 7 เมตร[9] ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 พื้นผิวน้ำของทะเลสาบได้หดตัวลงอย่างมาก ความลึกของน้ำเฉลี่ยในช่วงนั้น อยู่ที่ 0.9 เมตร และจุดที่ลึกที่สุดเพียง 1.3 เมตร ในปี 2006 รัฐบาลท้องถิ่นเมืองตุนหฺวางด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางได้เริ่มเติมทะเลสาบและการฟื้นฟูระดับน้ำของทะเลสาบ ซึ่งความลึกและขนาดของทะเลสาบเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่นั้นมา[10] โครงการบำบัดรักษาฉุกเฉินในการผันน้ำบาดาล เสนอและออกแบบโดยสถาบันการสำรวจและออกแบบวิศวกรรมป้องกันและควบคุมภัยพิบัติทางธรณีวิทยาของมณฑลกานซู่[11]

การท่องเที่ยว[แก้]

ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวและทะเลทรายโดยรอบได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยว มีบริการขี่อูฐและยานพาหนะ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Daily (2013-05-13). "No, it's not a mirage: Tiny 2,000-year-old oasis in China that keeps city alive is saved from being swallowed by desert". Mail Online.
  2. 2.0 2.1 刘洋 (2005-09-12). "甘肃敦煌月牙泉在"呼救"". 搜狐新闻. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-07. สืบค้นเมื่อ 2015-04-11.
  3. Cable, Mildred; French, Francesca (1950). The Gobi Desert. London: Readers Union & Hodder and Stoughton. p. 63.
  4. 4.0 4.1 "Crescent Lake in Dunhuang". chinaexploration.com.
  5. จนคุณรู้จักทุกมุมของโลกใบนี้มากขึ้น!, เกี่ยวกับผู้แต่ง Expedia Th เอ็กซ์พีเดียรักการท่องเที่ยวและชื่นชอบที่จะเก็บประสบการณ์ใหม่ๆ มาฝาก เพื่อพาคุณออกไปสำรวจ ค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จากทั่วโลก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คุณรู้สึกว่า "โลกใบนี้เล็กนิดเดียว" (2017-12-02). "ตามหาทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว เที่ยวทะเลทรายโกบี". บล็อกเอ็กซ์พีเดีย.
  6. "เที่ยวทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว ด้วยตัวเอง เมื่อไหร่ดี". When OR Where.
  7. "ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว และเนินทรายกระซิบ เมืองตุนห". www.palanla.com.
  8. "ทะเลสาบจันทร์เสี้ยว เย่ว์หยาเฉวียน โอเอซิสกลางทะเลทราย ประเทศจีน".{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)https://travel.trueid.net
  9. Yardley, Jim (27 May 2005). "A Crescent of Water is Slowly Sinking into the Desert". The New York Times.
  10. "China's tiny desert oasis Yueyaquan Crescent Lake saved from a future". 15 May 2013.
  11. "No, it's not a mirage: Tiny 2,000-year-old oasis in China that keeps city alive is saved from being swallowed by desert". Mail Online. 13 May 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-27. สืบค้นเมื่อ 14 May 2013.