ถนนหน้าวังตรา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถนนหน้าวังตรา หรือ ถนนหน้าบางตรา เป็นถนนโบราณที่ปูด้วยอิฐ เริ่มจากประตูวังหลวงทางด้านตะวันออก ซึ่งเรียกกันว่า ท่าสิบเบี้ย ตรงไปทาง ป่าพร้าว (ตลาดที่ขายมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่) เหนือวัดราชบูรณะ ตัดผ่านหน้าวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุ ไปออกตรงกำแพงพระนครด้านตะวันออก ใต้ประตูหอรัตนไชย ริมลำคูขื่อหน้าหรือแม่น้ำป่าสัก

ซึ่งถนนสายนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ถือเป็นถนน สายปฏิวัติ เพราะมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารและเอกสารโบราณเป็นจำนวนมาก เช่นคราวที่ เจ้าพระยามหาเสนา (คนเดียวกับหลวงศรียศ บ้านลานตากฟ้า 1 ในขุนนางที่ร่วมก่อการรัฐประหารโค่นอำนาจขุนวรวงศาธิราชและนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์) ซึ่งเป็นสมุหพระกลาโหมในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ขี่ช้างออกมาสู้กับพระศรีศิลป์ พระราชโอรสในสมเด็จพระชัยราชาธิราช ซึ่งก่อกบฏหมายจะชิงราชบัลลังก์บริเวณถนนหน้าวังตรา แต่ในที่สุดเจ้าพระยามหาเสนาก็ถูกฟาดตกช้างหายสาบสูญไป

หรือต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา คราวกบฏธรรมเถียร ธรรมเถียรได้ขี่ช้างชื่อ พลายมงคลจักรพาฬ มาตามถนนหน้าวังตราสายนี้หมายจะบุกเข้ายึดพระราชวังหลวง สมเด็จพระเพทราชา จึงโปรดให้มหาดเล็กไปอัญเชิญพระแสงของ้าวแสนพลพ่ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ชนะพระมหาอุปราชาในคราวสงครามยุทธหัตถี มาเป็นขวัญกำลังใจ[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. ""ถนนหน้าบางตรา" ย่านป่าถ่าน ถนนสายปฏิวัติ ยุคอยุธยา". มติชน. 30 มีนาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2024.