ด้วงกว่างชน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ด้วงกว่างโซ้ง)
ด้วงกว่างชน
ชนิดย่อย Xylotrupes gideon sumatrensis
กว่างชนไทย_เจไดกว่างชน2.png
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ชั้น: Insecta
อันดับ: Coleoptera
วงศ์: Scarabaeidae
วงศ์ย่อย: Dynastinae
สกุล: Xylotrupes
สปีชีส์: X.  gideon
ชื่อทวินาม
Xylotrupes gideon
Guérin-Méneville, 1830
ชนิดย่อย
  • X. g. borneensis Minck, 1920
  • X. g. philippinensis Endrodi, 1957
  • X. g. sondaicus Silvestre, 2002
  • X. g. sumatrensis Minck, 1920
ชื่อพ้อง
  • Scarabaeus gideon Linnaeus, 1767

ด้วงกว่างชน หรือ ด้วงกว่างโซ้ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Xylotrupes gideon; อังกฤษ: Siamese rhinoceros beetle, Fighting beetle) อยู่ในวงศ์ Dynastinae ลำตัวมีสีตั้งแต่สีน้ำตาลอมแดงจนถึงเกือบดำ ตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่เรียกว่า กว่างโซ้ง หรือ กว่างชน มีเขาที่หลังอกยื่นยาวเป็นจะงอยเรียวไปทางด้านหน้าและโค้งลง ตรงปลายเป็น 2 แฉก กับที่หัวมีเขาเล็กยื่นออกไปเป็นเขาเดี่ยว โค้งขึ้นคล้ายนอแรด แต่ปลายแยกเป็น 2 แฉก บางตัวใต้ท้องอาจมีขนสีเหลืองอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ในตัวผู้ที่มีขนาดย่อมมีเขาสั้นเรียก กว่างกิ หรือ กว่างแซม ตัวเมียไม่มีเขาเรียก กว่างแม่ หรือ กว่างอีลุ่ม

ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 1-2 นิ้ว ขณะที่ตัวเมียจะมีความเล็กกว่า พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชนิดย่อยทั้งหมด 4 ชนิด

วงจรชีวิต[แก้]

ด้วงกว่างชน มีวงจรชีวิตที่สั้น หลังจากเป็นหนอนอาศัยอยู่ใต้ดินมาเป็นเวลาเกือบปีแล้ว เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะมีอายุอยู่ได้เพียงแค่ไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น โดยจะออกจากดินในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ด้วงกว่างชนจัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่งเนื่องจากทั้งตัวเต็มวัยและตัวอ่อนกินพืชเศรษฐกิจบางชนิดเป็นอาหาร เช่น มะพร้าวและอ้อย ตัวเต็มวัยจะออกหากินในเวลากลางคืน

การเลี้ยง[แก้]

ด้วงกว่างชน จัดเป็นสัตว์เลี้ยงที่คนไทยใช้ละเล่นให้ต่อสู้กันเป็นเวลานาน เช่นเดียวกับ ไก่ชน หรือ ปลากัด จนกลายเป็นประเพณีตามฤดูกาลที่ถิ่นล้านนา เช่นที่ จังหวัดเชียงใหม่ หรือน่าน ในต่างประเทศยังพบได้ที่ตอนเหนือของลาวและพม่า โดยจะนำตัวผู้ 2 ตัวมาขวิดกัน เรียกว่า "ชนกว่าง" โดยจะนำด้วงกว่างตัวผู้ 2 ตัวมาอยู่บนกระบอกไม้ยาวประมาณ 80-100 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร เรียกว่า ไม้กอน แล้วนำตัวเมียมาใส่รูปิดไว้ให้เห็นแต่เพียงหลัง เพื่อให้กลิ่นของตัวเมียดึงดูดตัวผู้ ด้วงกว่างชนตัวผู้จะสู้กันเพื่อแย่งชิงตัวเมีย แต่จะไม่สู้กันจนถึงตายเหมือนปลากัด การแพ้-ชนะ ขึ้นอยู่กับตัวที่ได้ล่าง คือ สามารถใช้เขางัดอีกตัวหนึ่งให้ลอยและคว่ำหงายท้องลงได้ ในขณะที่ตัวผุ้กำลังสู้กัน อาจใช้ไม้เรียวยาว ขนาดประมาณ 8 เซนติเมตร ที่เรียกว่า ไม้ฝัน ใช้ปั่นหรือยั่วยุให้ด้วงกว่างชนต่อสู้ให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยการใช้ไม้นี้แหย่หรือปั่นบริเวณหน้าหรือเขาหรือด้านข้างของตัวด้วงกว่างชน ให้เดินหรือทำในสิ่งที่ต้องการ[1]

ชนิดย่อย[แก้]

  • X. g. borneensis Minck, 1920
  • X. g. philippinensis Endrodi, 1957
  • X. g. sondaicus Silvestre, 2002
  • X. g. sumatrensis Minck, 1920

การอ้างอิงในสัญลักษณ์[แก้]

สัญลักษณ์ทีมเชียงราย ยูไนเต็ด

ด้วงกว่างชน หรือ ด้วงกว่างโซ้ง ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นทีมฟุตบอลประจำจังหวัดเชียงราย และได้รับฉายาว่า "กว่างโซ้งมหาภัย"

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]