ดีปา นูซันตารา ไอดิต

ดีปา นูซันตารา ไอดิต (อินโดนีเซีย: Dipa Nusantara Aidit) เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียระหว่าง พ.ศ. 2494 – 2508 เขามีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียขยายตัวมากระหว่างประชาธิไปไตยแบบชี้นำของซูการ์โน ก่อนจะถูกทหารปราบปรามอย่างราบคาบหลังเหตุการณ์กบฏ พ.ศ. 2508
ประวัติ
[แก้]ไอดิตเกิดที่เมืองเมดัน เกาะสุมาตราเมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 เขาอพยพมาอยู่จาการ์ตาเมื่ออายุได้ 11 ปี เขาเข้าศึกษาในโรงเรียนทางการพาณิชย์แต่ต้องออกกลางคันเมื่อญี่ปุ่นบุกเข้าอินโดนีเซียใน พ.ศ. 2485 ไอดิตเข้าร่วมขบวนการทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2482 โดยเข้าร่วมขบวนการเกอรินโตที่นิยมฝ่ายซ้ายของอามีร์ ซารีฟุดดิน ทำให้เขาได้ศึกษาลัทธิมากซ์ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียใน พ.ศ. 2486 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไอดิตทุ่มเทเวลาให้กับการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์นำโดยมุซโซก่อการกบฏที่ล้มเหลวที่เมืองมาดียุน พ.ศ. 2490 ไอดิตต้องลี้ภัยไปจีนและเวียดนามก่อนจะกลับมาใน พ.ศ. 2493 และได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เขาได้เป็นเลาธิการพรรคใน พ.ศ. 2494 และได้เป็นประธานพรรคในเวลาต่อมา
ในช่วงแรก พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพันธมิตรกับพรรคเปเอ็นอีของซูการ์โนและได้รับความนิยมสูง ต่อมาเมื่อระบบรัฐสภาล้มเหลว ซูการ์โนนำประชาธิปไตยแบบชี้นำมาใช้ ไอดิตสนับสนุนซูการ์โนอย่างเต็มที่ และทำให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มกองทัพบกและผู้นำศาสนาที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับซูการ์โน และตั้งแต่ พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา พรรคคอมมิวนิสต์สนับสนุนให้ซูการ์โนใช้นโยบายที่แข็งกร้าวกับฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น เช่น ยุบพรรคเมอรีบาของกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเสนอให้ซูการ์โนจัดตั้งกองทัพประชาชน
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 เกิดกบฏที่ฐานทัพอากาศที่ฮาลิม นายพลในกองทัพหลายคนถูกสังหาร กองทัพบกอ้างว่าพรรคคอมมิวนิสต์เกี่ยวข้องกับกบฏและขณะเกิดเหตุได้อยู่ในฮาลิมด้วย ซูฮาร์โตปราบปรามฝ่ายกบฏสำเร็จและถอดถอนซูการ์โนออกจากอำนาจ ปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ไอดิตถูกทหารจับกุมและถูกประหารชีวิตเมื่อ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508[1] ขณะมีอายุ 42 ปี
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ Ricklefs (1991), p. 288
รายการอ้างอิง
[แก้]- ตวงทิพย์ พรมเขต. (2558, กรกฎาคม-ธันวาคม). การเปลี่ยนผ่านของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียภายใต้การนำของไอดิต, 1951-1955. ชุมทางอินโดจีน: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์, 4(7), 196-214.
- ตวงทิพย์ พรมเขต. (2558, สิงหาคม-2559, กรกฎาคม). ภูมิหลังและปฐมบทชีวิตทางการเมืองของดี.เอ็น. ไอดิต ปี 1923-1951. วารสารประวัติศาสตร์, 40, 158-180.
- สุกัญญา บำรุงสุข. (2539). Aidit, Dipa Nusantara: นายดีปา นูสันตารา ไอดิต. ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (น. 77-80). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
- สุเจน กรรพฤทธิ์. (2560, เมษายน). ดี.เอ็น. ไอดิต (D.N. Aidit): “ความรุ่งโรจน์” ที่เลือนหายของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย. สารคดี, 33(386), 40-41.