ดอยนางนอน
ดอยนางนอน | |
---|---|
แนวทิวเขาทอดตัวคล้ายผู้หญิงนอนเหยียดยาว | |
จุดสูงสุด | |
ยอด | ดอยตุง |
ความสูง เหนือระดับน้ำทะเล | 1,389 เมตร (4,557 ฟุต) [1] |
พิกัด | 20°21′06″N 99°50′30″E / 20.35167°N 99.84167°E |
ข้อมูลเชิงขนาด | |
ยาว | 30 กม. (19 ไมล์) NNE/SSW |
กว้าง | 7 กม. (4 ไมล์) WNW/ESE |
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ | |
ที่ตั้ง | อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย |
เทือกเขา | ทิวเขาแดนลาว |
ข้อมูลทางธรณีวิทยา | |
ประเภทหิน | หินปูน |
ดอยนางนอน เป็นทิวเขาในตำบลโป่งงาม ตำบลโป่งผา และตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย[2] บางส่วนของดอยนางนอนอยู่ในการดูแลของวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
เมื่อ พ.ศ. 2561 เป็นที่รู้จักจากเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ดอยนางนอน[3]
ตำนาน
[แก้]แนวทิวเขาทอดตัวคล้ายผู้หญิงนอนเหยียดยาวจึงเป็นที่มาของชื่อดอยนางนอน เดิมชื่อ ดอยตายสะ หรือ ดอยสามเส้า มีตำนานเกี่ยวข้องกับปู่เจ้าลาวจก ดอยส่วนที่ศีรษะเรียกว่า "ดอยจ้อง" หรือ "ดอยจิกจ้อง" (เดิมเรียกดอยนี้ว่า ดอยท่าหรือดอยต้า) เป็นดอยของลูกชายปู่เจ้าลาวจกที่รอคอยพ่อ ดอยลูกถัดมาเรียกว่า "ดอยย่าเฒ่า" ซึ่งเป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนดอยอีกลูกหนึ่งคือ "ดอยดินแดง" หรือ "ดอยปู่เจ้าลาวจก" หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ "ดอยตุง"[4] ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของดอยนางนอน[5] และเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุดอยตุง
มีตำนานเล่าว่า มีเจ้าหญิงองค์หนึ่งแห่งเมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา แอบชอบพอกับชายหนุ่มคนดูแลม้า จนกระทั่งนางตั้งครรภ์ และกลัวว่าพระบิดาของนางจะลงโทษ จึงพากันหนีมาถึงแคว้นไชยนารายณ์ ทั้งสองเกิดอ่อนเพลีย ชายหนุ่มจึงบอกให้เจ้าหญิงนอนพัก ส่วนชายหนุ่มออกไปหาอาหารมาให้ แต่ก็ถูกทหารของพระบิดาที่ติดตามมาฆ่าตาย เจ้าหญิงรออยู่นาน ชายที่ตนรักก็ไม่มานางจึงตัดสินใจบูชารักโดยเอาปิ่นปักผมแทงศีรษะละสังขาร
อีกตำนานเล่าว่า เจ้าหญิงเมืองพุกามกรีธาทัพออกตามหาเจ้าชายที่นางรัก นางออกรบเรื่อยมาจนมาถึงเวียงสี่ทวงจึงพบกับเจ้าชาย แต่ปรากฏว่าเจ้าชายหนีหายไปกับสาวสวยชาวเวียงนี้อีกครั้ง นางรู้สึกเศร้าสลดจนตรอมใจตาย ก่อนตายได้อธิฐานให้ร่างกลายเป็นเทือกเขา
ยังมีตำนานเล่าว่า พญาครุฑลักพาลูกสาวพญานาค มาแอบซุกซ่อนอยู่ในเทือกเขาแห่งนี้ พญานาคผู้พ่อออกตามหาจนได้พบว่าลูกสาวนอนอยู่กับพญาครุฑในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ ปัจจุบันเรียกว่า "ขุนน้ำนางนอน" พญานาคได้ขอลูกสาวคืน แต่พญาครุฑขอแลกกับทองคำ ก่อนกลับพญานาคได้สร้างพระธาตุจอมนาคไว้[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Google Earth
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๓ (อักษร น-ม) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร : เดอะ เบสท์ เพรส แอนด์ ครีเอชั่น, ๒๕๖๐. (แก้ไขปรับปรุงข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๓)
- ↑ "ค้นร่องรอยภูสามเส้าหรือดอยนางนอน กับตำนานปู่จ้าวลาวจก". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "เปิดตำนาน "ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน" จ.เชียงราย". ไทยพีบีเอส.
- ↑ "เขาขุนน้ำนางนอน : ภูศักดิ์สิทธิ์ของแอ่งเชียงแสน". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
- ↑ "ล้านนาคำเมือง : ตำนาน "ดอยนางนอน"". มติชนสุดสัปดาห์.