กำเนิดวีนัส (บอตติเชลลี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กำเนิดวีนัส
ศิลปินซานโดร บอตติเชลลี
ปีค.ศ. 1482 - 1486
ประเภทสีฝุ่นบนผ้าใบ
สถานที่หอศิลป์อุฟฟิซิ ฟลอเร็นซ์

กำเนิดวีนัส (อังกฤษ: The Birth of Venus) เป็นจิตรกรรมที่เขียนโดยซานโดร บอตติเชลลี[1]จิตรกรสมัยเรอเนซองส์คนสำคัญชาวอิตาลีที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซิ, ฟลอเร็นซ์ในประเทศอิตาลี

ซานโดร บอตติเชลลีเขียนภาพ “กำเนิดวีนัส” ระหว่างปี ค.ศ. 1484 ถึงปี ค.ศ. 1486 ที่เป็นภาพของวีนัสลอยมาเกยฝั่งอย่างผู้หญิงเต็มตัว

ที่มา[แก้]

ภาพใหญ่เช่นภาพ “ฤดูใบไม้ผลิ” อาจจะเขียนสำหรับวิลลาดิคาสเตลโลของลอเร็นโซ ดิ เปียร์ฟรานเชสโค เดอ เมดิชิ (Lorenzo di Pierfrancesco de' Medici) ราวปี ค.ศ. 1482 หรืออาจจะก่อนหน้านั้นก็ได้ นักวิชาการบางคนเสนอว่า “วีนัส” ที่เขียนให้ลอเร็นโซและที่กล่าวถึงโดยจอร์โจ วาซารีอาจจะเป็นงานคนละชิ้นกับชิ้นนี้ซึ่งปัจจุบันสูญหายไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเป็นงานที่เขียนขึ้นเพื่อฉลองความรักของจุยเลียโน ดิ เปียโร เดอ เมดิชิ (Giuliano di Piero de' Medici) (ผู้ที่เสียชีวิตในกรณีการคบคิดพัซซิในปี ค.ศ. 1478) ต่อซิโมเน็ตตา คัตตาเนโอ เวสปุชชิ (Simonetta Cattaneo Vespucci) ผู้ที่พำนักอยู่ที่เมืองพอร์โตเวเนเร ที่ติดทะเลและเป็นเมืองที่ตำนานว่าเป็นที่เกิดของวีนัส เชื่อกันว่าบอตติเชลลีเองก็หลงรักซิโมเน็ตตาคนสวยผู้เป็นภรรยาน้อยของเดอ เมดิชิ แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนภาพนี้ก็ตาม ภาพก็ยังมีความคล้ายคลึงที่เห็นได้ชัดกับมหากาพย์ “มหากาพย์เมตะมอร์ฟอร์ซิส” และ “Fasti” โดยโอวิด และ “Verses” โดย โพลิเซียโน นอกจากนั้นก็ยังเชื่อกันว่าซิโมเน็ตตาเป็นนางแบบของวีนัสและของสตรีในภาพอื่นๆ ที่บอตติเชลลีเขียนเช่นภาพ “ฤดูใบไม้ผลิ”

งานจิตรกรรมฝาผนังที่ปอมเปอี

เทพีวีนัสลอยมาจากทะเลมาเกยฝั่งบนหอยที่ถูกเป่ามาโดยเซไฟรัส (Zephyrus) ผู้เป็นเทพแห่งลมตะวันตกและเป็นสัญลักษณ์ของความไคร่ โดยมีเทพีองค์หนึ่งของเทพีโฮแร (Horae) ซึ่งเป็นเทพีแห่งฤดูมารออยู่และยื่นมอบเสื้อคลุมลายดอกไม้ให้

บรรยากาศของภาพที่ออกไปทางที่ไม่ใช่ศิลปะคริสต์ศาสนาอย่างเช่นภาพส่วนใหญ่ที่เขียนในยุคเดียวกัน เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจที่ภาพเขียนไม่ถูกทำลายในกองไฟของจิโรลาโม ซาโวนาโรลา (Girolamo Savonarola) ที่งานของบอตติเชลลีหลายชิ้นที่เห็นว่าเป็นงานนอกรีตนอกรอยถูกทำลายไป แต่อาจจะเป็นเพราะบอตติเชลลีมีความสนิทกับลอเร็นโซ เดอ เมดิชิซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยทำให้งานชิ้นนี้รอดมาได้

ลักษณะร่างกายของวีนัสและรายละเอียดรองไม่ได้สัดส่วนตามธรรมชาติตามทฤษฎีของสัจจะนิยมของเลโอนาร์โด ดา วินชี หรือราฟาเอล ที่เห็นได้ชัดคือคอที่สูงยาวของวีนัสและไหล่ซ้ายที่ลู่ซึ่งดูไม่ถูกส่วน บางคนก็สันนิษฐานเป็นลักษณะที่มาก่อนสมัยแมนเนอริสม์

แรงบันดาลใจจากศิลปะคลาสสิก[แก้]

งานเขียนนี้เป็นหนึ่งในภาพชุดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคำบรรบายของนักประวัติศาสตร์อัสซีเรียนลูเซียนในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ของงานเขียนกรีกโบราณชิ้นเอกซึ่งปัจจุบันสูญหายไปแล้ว นอกจากนั้นบอตติเชลลีก็ยังใช้ภาพเขียนโบราณ “วีนัสอนาดีโอเมเน” (Venus Anadyomene) โดย อเพลเลส (Apelles) เป็นแบบ ซึ่งคำว่า “Anadyomene” หมายถึงขึ้นมาจากทะเลซึ่งบอตติเชลลีนำมาใช้เป็น “กำเนิดวีนัส” ซึ่งเป็นชื่อที่มารู้จักกันดีในคริสต์ศตวรรษที่ 19th และมีความคล้ายคลึงกับประติมากรรมอโฟรไดทีโดยแพร็กซิเทลีส

บอตติเชลลีไม่เคยเห็นจิตรกรรมฝาผนังของวีนัสที่ปอมเปอี แต่อาจจะเห็นภาพที่ลอกเลียนมาที่มีชื่อเสียงที่เขียนโดยอเพลเลสที่ลูเชียนกล่าวถึง

ในสมัยกรีกโรมันหอยเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะของสตรี

ท่าทางยืนของวีนัสของบอตติเชลลีละม้ายท่ายืนของ “วีนัสแห่งเมดิชิ” ที่เป็นประติมากรรมหินอ่อนจากสมัยกรีกโรมันของงานสะสมของตระกูลเมดิชิ ซึ่งบอตติเชลลีมีโอกาสได้ศึกษา

อ้างอิง[แก้]

  1. Web Gallery of Art: Sandro Botticelli[1]

ดูเพิ่ม[แก้]