ซากูราจิมะ
ซากูราจิมะ | |
---|---|
ทิวทัศน์ของซากูราจิมะ มองจากแผ่นดินใหญ่คาโงชิมะ | |
จุดสูงสุด | |
ความสูง เหนือระดับน้ำทะเล | 1,117 เมตร (3,665 ฟุต) |
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ | |
ข้อมูลทางธรณีวิทยา | |
ประเภทภูเขา | กรวยภูเขาไฟสลับชั้น |
การปะทุครั้งล่าสุด | ค.ศ. 1955 ถึง 2022 (ยังดำเนินอยู่) [1] |
ซากูราจิมะ (ญี่ปุ่น: 桜島; โรมาจิ: Sakura-jima[2]) เป็นชื่อท้องที่ในจังหวัดคาโงชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกรวยภูเขาไฟสลับชั้นมีพลัง และเดิมเป็นเกาะ แต่เมื่อภูเขาไฟกลางเกาะปะทุขึ้นใน พ.ศ. 2457 ทำให้ลาวาไหลเชื่อมเกาะเข้ากับแผ่นดินใหญ่บริเวณคาบสมุทรโอซูมิ[3]
ปัจจุบันภูเขาไฟนี้ยังคงมีพลัง โดยปล่อยเถ้าธุลีออกมาตกลงบนพื้นที่โดยรอบ การปะทุครั้งก่อน ๆ ได้ก่อให้เกิดพื้นที่สูงจากทรายขาวขึ้นในภูมิภาค
ซากูราจิมะเป็นภูเขาสลับชั้น มียอดเขาสามลูก ได้แก่ ยอดคิตะ (ยอดทิศเหนือ) ยอดนากะ (ยอดกลาง) และยอดมินามิ (ยอดทิศใต้) ซึ่งเป็นยอดที่ยังคงมีพลังอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันยอดคิตะเป็นยอดที่สูงที่สุดของซากูราจิมะ โดยสูง 1,117 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ภูเขาตั้งอยู่ในอ่าวคาโงชิมะส่วนที่เรียกว่าอ่าวคิงโก พื้นที่ที่เคยเป็นเกาะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองคาโงชิมะ คาบสมุทรที่ตั้งภูเขาไฟมีพื้นที่ประมาณ 77 ตารางกิโลเมตร
ประวัติทางธรณีวิทยา
[แก้]ซากูราจิมะตั้งอยู่ในแคลดีราไอระที่ก่อตัวขึ้นจากการปะทุครั้งใหญ่เมื่อ 22,000 ปีก่อน[4] เถ้าธุลีภูเขาไฟและหินพัมมิซปริมาตรหลายร้อยลูกบาศก์กิโลเมตรถูกขับออกมา ทำให้โพรงหินหนืดใต้ช่องทางปะทุยุบตัวลง แคลดีราที่เกิดขึ้นมีขนาดมากกว่า 20 กิโลเมตร Tephra ปลิวไปตกไกลถึง 1,000 กิโลเมตรจากภูเขาไฟ โดยซากูราจิมะเป็นช่องทางปะทุมีพลังในยุคใหม่ของภูเขาไฟลูกเดียวกันนี้ในแคลดีรา
ซากูราจิมะก่อตัวขึ้นจากความเคลื่อนไหวของแคลดีราหลังการปะทุ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 13,000 ปีก่อน[5] ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 8 กิโลเมตรทางทิศใต้ของใจกลางแคลดีรา การปะทุครั้งแรกที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1506[6] การปะทุส่วนใหญ่ของซากูราจิมะเป็นแบบสตรอมโบลี[6] ซึ่งส่งผลกระทบเพียงพื้นที่ยอดเขา แต่มีการปะทุแบบไพลนีซึ่งรุนแรงกว่าเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2014-2019 พ.ศ. 2322-2325 และ พ.ศ. 2457 ด้วยเช่นกัน[7]
ความเคลื่อนไหวของ ยอดคิตะ หยุดลงเมื่อประมาณ 4,900 ปีก่อน โดยการปะทุภายหลังจากนั้นมักจะเกิดขึ้นที่ ยอดมินามิ[8]
การปะทุเมื่อ พ.ศ. 2457
[แก้]การปะทุของซากูราจิมะในปีค.ศ.1914 | |
---|---|
เถ้าธุลีหนาปกคลุมเมืองคาโงชิมะระหว่างซากูราจิมะปะทุเมื่อ พ.ศ. 2457 มองเห็นภูเขาไฟอยู่ด้านตรงข้ามของอ่าว | |
วันที่ | มกราคม 2457 |
ประเภท | Peléan |
ระดับ | 4 |
ผลกระทบ | แผ่นดินไหวก่อนการปะทุทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 คน ชาวเมืองได้อพยพออก และทอพอโลยีของท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก |
การปะทุเมื่อ พ.ศ. 2457 เป็นการปะทุของภูเขาไฟที่รุนแรงที่สุดของญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ลาวาหลากได้ถมช่องแคบระหว่างเกาะและแผ่นดินไหว ทำให้เกาะกลายเป็นคาบสมุทร ก่อนหน้าปีดังกล่าวนั้นภูเขาไฟได้สงบมานานกว่าศตวรรษ[4] การปะทุครั้งนั้นเริ่มขึ้นในวันที่ 11 มกราคม หลายวันก่อนหน้านั้นได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หลายครั้ง บ่งบอกว่าภูเขาไฟกำลังจะปะทุ ทำให้ผู้อยู่อาศัยแทบทั้งหมดออกจากเกาะไป ในระยะแรกการปะทุนั้นเป็นการระเบิดรุนแรง ก่อให้เกิด Eruption column และตะกอนภูเขาไฟหลาก แต่หลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในวันที่ 13 มกราคมในปีเดียวกัน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 35 คน การปะทุกลายเป็นลาวาหลากไหลพรั่งพรูออกมา ซึ่งไหลต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากนั้น[4] และเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ยากในญี่ปุ่น เนื่องจากหินหนืดที่พบในญี่ปุ่นมีปริมาณซิลิกาสูง บ่งชี้ว่าการปะทุในญี่ปุ่นแทบทุกครั้งเป็นแบบระเบิด[9]
การปะทุทำให้เกาะมีพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยกลืนเอาเกาะขนาดเล็กหลายเกาะที่อยู่ใกล้เคียง และเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ด้วยคอคอดแคบในที่สุด บางส่วนของก้นอ่าวคาโงชิมะตื้นขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้กระแสน้ำขึ้นน้ำลงเพิ่มสูงขึ้น[4]
ในการปะทุระยะสุดท้าย ใจกลางแคลดีราไอระได้ยุบตัวลงประมาณ 60 เซนติเมตรเนื่องจากโพรงหินหนืดข้างใต้ว่างเปล่าลง[4] ข้อเท็จจริงที่ว่าการยุบตัวเกิดขึ้นที่ใจกลางแคลดีราแทนที่จะเป็นข้างใต้ซากูราจิมะโดยตรง บ่งบอกว่าภูเขาไฟดูดเอาหินหนืดมาจากแหล่งกักเก็บเดียวกันกับที่เคยทำให้เกิดการปะทุที่ก่อให้เกิดแคลดีรา[4] เหตุการปะทุนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ Wrath of the Gods ในปีเดียวกัน ซึ่งมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับคำสาปในครอบครัวหนึ่งที่ทำให้ภูเขาไฟปะทุ
ความเคลื่อนไหวในปัจจุบัน
[แก้]ซากูราจิมะมีความเคลื่อนไหวเด่นชัดมากขึ้นใน พ.ศ. 2498 และปะทุอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ละปีเกิดการระเบิดขนาดเล็กนับพันครั้ง พ่นเอาเถ้าธุลีลอยขึ้นสูงเหนือภูเขาไฟ 2-3 กิโลเมตร หอสังเกตการณ์ภูเขาไฟซากูราจิมะก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 เพื่อเฝ้าสังเกตการปะทุเหล่านี้[6]
การเฝ้าสังเกตภูเขาไฟและการทำนายการปะทุขนาดใหญ่มีความสำคัญมาก เนื่องจากภูเขาไฟตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น โดยเมืองคาโงชิมะซึ่งมีผู้อยู่อาศัย 680,000 คน อยู่ห่างจากภูเขาไฟเพียงไม่กี่กิโลเมตร ทางเมืองได้จัดการซ้อมแผนอพยพเป็นประจำ และได้สร้างที่หลบภัยจำนวนหนึ่งที่ประชาชนสามารถหลบจากเศษหินภูเขาไฟที่ตกลงมาได้[10]
เมื่อ พ.ศ. 2534 ซากูราจิมะถูกกำหนดให้เป็น Decade volcano เนื่องจากเป็นอันตรายต่อประชากรใกล้เคียงอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้เป็นตัวอย่างการศึกษาที่สำคัญในทศวรรษสากลเพื่อการลดภัยพิบัติทางธรรมชาติของสหประชาชาติ[11]
ซากูราจิมะอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติคิริชิมะ–ยากุ โดยมีลาวาหลากมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ พื้นที่รอบซากูราจิมะมีบ่อน้ำพุร้อนสำหรับตากอากาศอยู่หลายแห่ง หนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางเกษตรกรรมที่สำคัญของซากูราจิมะคือ หัวผักกาดขนาดใหญ่เท่าลูกบาสเกตบอล (ซากูระไดกง) [12]
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซากูราจิมะได้ปะทุ พ่นเศษหินขึ้นสูง 2 กิโลเมตร การปะทุครั้งนี้ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นหลังการระเบิดขนาดเล็กกว่าที่เกิดขึ้นตลอดสุดสัปดาห์ และคาดว่าไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการปะทุครั้งนี้[13]
ใน พ.ศ. 2554 และ 2555 ซากูราจิมะปะทุครั้งใหญ่หลายครั้ง และยังคงเคลื่อนไหวอยู่จนถึงปัจจุบัน[14]
ในปี พ.ศ. 2559 เกิดการปะทุขึ้นอีกครั้งในเช้าของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 หลังจากมีการปะทุเรื่อยมาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2558 นับจากการปะทุในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ยังคงมีการปะทุแบบอ่อนๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงหลังๆ มีบันทึกไว้ว่าเถ้าภูเขาไฟพุ่งสูงถึง 5000-10000 ฟุต (1.5-3 กิโลเมตร)และกล้องจับความร้อนยังบันทึกไว้ว่าบริเวณปากปล่องภูเขาไฟมีรังสีความร้อนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยภาพถ่ายรังสีความร้อนของปล่องภูเขาไฟ Sakurajima (Kita-Dake, L, และ Showa ,R) ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2015 (ล่าง) และ 6 กุมภาพันธ์ 2016 (บน) แสดงให้เห็นของอุณหภูมิที่สูงขึ้นในปล่อง Showa: ภาพโดย(JMA) "Sakurajima volcano (Japan): explosive activity continues". Feb 10, 2016. สืบค้นเมื่อ February 12, 2016.
ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ณ เวลาประมาณ 20:05 JST เกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณยอดปล่องของภูเขาไฟ กระจายขี้เถ้าไปไกลราว 2.5 กิโลเมตรจากปล่องภูเขาไฟ[15][16] ต่อมา ณ เวลาประมาณ 20:50 JST ภายหลังการระเบิด กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ยกระดับการแจ้งเตือนจากระดับ 3 สู่ ระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด รวมถึงประกาศให้มีการระวังภัยและการอพยพในระดับสูงสุด[15] นี่เป็นครั้งแรกที่มีการแจ้งเตือนการปะทุระดับ 5 สำหรับภูเขาไฟซากูราจิมะ[17]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Sakurajima volcano" (ภาษาอังกฤษ). 31 Jan 2019.
- ↑ photo, caption -- Kagoshima after Sakurashima eruption, Illustrated London News. January 1914.
- ↑ Davison C (1916-09-21). "The Sakura-Jima Eruption of January, 1914". Nature. 98: 57–58. Bibcode:1916Natur..98...57D. doi:10.1038/098057b0.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 "The 1914 Sakurajima explosion at Volcanoworld". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-16. สืบค้นเมื่อ 2007-08-03.
- ↑ "Sakurajima at Activolcan.info". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-07. สืบค้นเมื่อ 2007-08-03. French
- ↑ 6.0 6.1 6.2 "Sakura-jima, Japan". VolcanoWorld. Oregon State University. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-01. สืบค้นเมื่อ 2008-10-12.
- ↑ "Sakurajima at the Earthquake Research Institute, University of Tokyo". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-14. สืบค้นเมื่อ 2007-08-03.
- ↑ "Sakura-jima". Global Volcanism Program. Smithsonian Institution. สืบค้นเมื่อ 2007-08-04.
- ↑ "Japanese Volcanoes at the Northern Illinois University". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-19. สืบค้นเมื่อ 2007-08-06.
- ↑ "Reuters report on Sakurajima explosion, June 5th 2006". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-08-06.
- ↑ "Decade Volcano Sakurajima at the Earthquake Research Institute". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-19. สืบค้นเมื่อ 2007-08-06.
- ↑ "Touristic information on synapse.ne.jp". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-30. สืบค้นเมื่อ 2007-08-06.
- ↑ "Japan's Sakurajima volcano erupts". March 10, 2009. สืบค้นเมื่อ March 16, 2012.
- ↑ VolcanoDiscovery
- ↑ 15.0 15.1 "桜島で噴火 噴火警戒レベル5に引き上げ 33世帯に避難指示 | NHK". NHK (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2022-07-24.
- ↑ "MBCニュース | 桜島で噴火 噴石が東方向に2.4キロ飛ぶ". MBC. สืบค้นเมื่อ 2022-07-24.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "桜島で噴火が発生 気象庁が噴火速報を発表 火口上300mで雲に入る". WeatherNews (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2022-07-24.