ข้ามไปเนื้อหา

ชอว์แชงค์ มิตรภาพ ความหวัง ความรุนแรง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชอว์แชงค์ มิตรภาพ ความหวัง ความรุนแรง
A man stands with his back to the viewer and his arms outstretched, looking up to the sky in the rain. A tagline reads "Fear can hold you prisoner. Hope can set you free."
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับแฟรงก์ ดาราบอนต์
บทภาพยนตร์แฟรงก์ ดาราบอนต์
สร้างจากRita Hayworth and Shawshank Redemption
โดย สตีเฟน คิง
อำนวยการสร้างนิกิ มาร์วิน
นักแสดงนำ
กำกับภาพโรเจอร์ ดีกินส์
ตัดต่อริชาร์ด ฟรานซิส-บรูซ
ดนตรีประกอบทอมัส นิวแมน
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายโคลัมเบียพิคเจอร์ส
วันฉาย
  • 10 กันยายน ค.ศ. 1994 (1994-09-10) (TIFF)
  • 23 กันยายน ค.ศ. 1994 (1994-09-23) (สหรัฐ)
ความยาว142 นาที[1]
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ทำเงิน73.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ชอว์แชงค์ มิตรภาพ ความหวัง ความรุนแรง (ชื่ออังกฤษ: The Shawshank Redemption) ภาพยนตร์อเมริกัน แนวเรือนจำ ดราม่า ที่ออกฉายในปี 1994 (พ.ศ. 2537) กำกับการแสดงโดย แฟรงก์ ดาราบอนต์ ซึ่งเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา สร้างจากเรื่องสั้นของสตีเฟน คิง นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน เรื่อง Rita Hayworth and Shawshank Redemption ในปี ค.ศ. 1982 นำแสดงโดย ทิม ร็อบบินส์ แสดงเป็นแอนดี้ ดูเฟรย์ และ มอร์แกน ฟรีแมน แสดงเป็น เอลลิส บอยด์ "เรด" เรดดิง ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวเกือบ 2 ทศวรรษของแอนดี้ในคุกชอว์แชงค์และมิตรภาพกับเรด รวมถึงเรื่องราวชีวิตสะเทือนอารมณ์ของผู้คนในเรือนจำชอว์แชงค์

เรื่องย่อ

[แก้]

แอนดี้ ดูเฟรนส์ (ทิม ร็อบบินส์) นายธนาคารหนุ่มที่ถูกจับในข้อหาฆาตกรรมภรรยาและชายชู้เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ แอนดี้มั่นใจว่าเขาไม่ได้เป็นคนกระทำจริง แต่หลักฐานทั้งหมดชี้นำมาที่เขา เขาจึงต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิตในเรือนจำชอว์แชงค์ ในปี ค.ศ. 1947

ช่วงแรกที่เข้ามาแอนดี้เป็นคนเงียบและเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร แอนดี้ใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะเอ่ยปากพูดกับใคร คนที่เขาพูดด้วยคนแรกคือ เอลลิส บอยด์ "เรด" เรดดิง (มอร์แกน ฟรีแมน) นักโทษผิวดำ ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตและอยู่ในชอว์แชงค์มา 20 ปีแล้ว ด้วยความที่เรดอยู่ในเรือนจำแห่งนี้มานานเขาจึงมีสิทธิพิเศษเล็กน้อยที่จะสามารถหาของจากภายนอกเข้ามาในคุก อาทิ บุหรี่ รูปดาราสาวหรือของเล่นชิ้นเล็กๆ และสิ่งที่แอนดี้ขอจากเรดคือค้อนแกะสลักหิน 6-7 นิ้ว เพื่อมาแกะสลักหินที่งานอดิเรกของตนเนื่องจากดูเฟรนส์เป็นคนที่ชอบการแกะสลัก ในตอนแรกเรดกลัวจะเกิดปัญหาถ้าพัสดีคิดว่ามันเป็นอาวุธได้แต่เมื่อของที่แอนดี้ต้องการมาถึงเรดถึงกับต้องขำเพราะหากใช้ค้อนสลักหินในการแหกคุกคงใช้เวลาร่วมร้อยปี

แอนดี้เป็นคนมีความรู้ จนวันหนึ่งเขาได้ช่วยผู้คุมแฮดเล่ย์ (แคลนซี่ บราวน์) ในการหลีกเลี่ยงภาษีสุดโหดจากรัฐบาล ความสามารถของแอนดี้รู้ไปถึงหูของ พัสดีนอร์ตัน (บ็อบ กันทอน) แอนดี้ได้ถูกเปลี่ยนตำแหน่งงานในคุกและทำงานใกล้ชิดกับพัสดีนอร์ตันเพื่อดูแลทางด้านบัญชี แอนดี้ช่วยพัสดีนอร์ตันในการฟอกเงินที่ได้มาจากการทุจริต เขาเปลี่ยนจากเงินสกปรกให้เป็นเงินที่สะอาดและถูกต้อง โดยแอนดี้ได้สร้างคนสมมุติขึ้นมาคนหนึ่ง "เรนดัล สตีเวนส์" เพื่อใช้ในการฟอกเงินแต่นั่นกลับมีชีวิตโลดแล่นอยู่จริง มีเลขบัตรประกันสังคม มีบัญชีในธนาคาร และมีชื่อในฐานะผู้เสียภาษีให้กับรัฐบาล ทำให้การสาวความผิดไม่มีทางถึงตัวแอนดี้และพัสดีนอร์ตันอย่างแน่นอน

ชีวิตในคุกของแอนดี้เหมือนไปได้สวยมากกว่าตอนแรกที่เข้ามาอยู่ จนวันหนึ่งในปี ค.ศ. 1965 มีน้องใหม่เข้ามา ทอมมี่ วิลเลี่ยมส์ (กิล เบลโลวส์) เด็กหนุ่มที่ติดคุกหลายแห่งเพราะคดีลักเล็กขโมยน้อย ทอมมี่ได้เล่าเรื่องราวการติดคุกในแต่ละที่ให้ฟังจนวันหนึ่งความจริงที่น่าตกใจ ทอมมี่เล่าว่ามีเพื่อนร่วมห้องคนนึง ได้ฆาตกรรมภรรยาของนายธนาคารและชู้ของมันแต่ว่าสามีกลับรับเคราะห์แทน แอนดี้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ตนจะได้รับความยุติธรรม แอนดี้จึงไปหาพัสดีนอร์ตันและเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟังหวังเพื่อจะรื้อคดีกลับมาพิจารณาใหม่ แต่คำขอนั้นกลับถูกปฏิเสธ พัสดีนอร์ตันไม่มีทางให้คนที่รู้การโกงกินและการฟอกเงินของตัวเองออกไปสู่โลกภายนอกได้ พัสดีนอร์ตันจัดการปิดปากและฆ่าทอมมี่เพื่อดับความหวังครั้งสุดท้ายของแอนดี้ แอนดี้รู้สึกว่าความอยุติธรรมที่ได้รับมันมากพอแล้ว เขาได้บอกเรดเพื่อนรักของเขาว่าต้องพยายามที่จะอยู่ให้ได้หรือไม่ก็พยายามที่จะตาย

ในวันรุ่งขึ้น แอนดี้หายไปอย่างไร้ร่องรอยจากเรือนจำชอว์แชงค์ทำให้พัสดีที่มาตรวจห้องขังแอนดี้ด้วยอาการหัวเสีย มีการรื้อค้นจนทั่วและพบว่ามีรูขนาดใหญ่ลอดผ่านได้อยู่หลังโปสเตอร์ดาราสาวแผ่นใหญ่ในห้องแอนดี้ รูนั้นต่อตรงสู่ท่อระบายน้ำทิ้งและออกสู่โลกภายนอกเรือนจำ แอนดี้ใช้เวลาที่เขาติดคุกทั้งหมด 19 ปี ในการขุดรูนั่นด้วยค้อนสลักหินที่เขาได้มาเมื่อสองเดือนแรกของการอยู่ในเรือนจำ ทั้งเรือนจำจึงได้รับรู้ความจริงที่น่าตะลึงว่าแอนดี้แหกคุกออกไปสู่โลกภายนอกแล้ว

ในรุ่งเช้าหลังจากนั้นแอนดี้ได้ตระเวนไล่ถอนเงินฝากของพัสดีนอร์ตันที่มีอยู่ในทุกๆธนาคารที่เขาฝากไว้ในรูปชายหนุ่มที่ชื่อว่า "เรนดัล สตีเวนส์" ด้วยบัตรประชาชนที่เขาทำขึ้นจนหมดเกลี้ยง แอนดี้ใช้นามที่เขาเสกขึ้นมาทำให้มันมีตัวตนจริงๆที่กลายเป็นเขา นอกจากนั้นเขายังส่งหลักฐานการทุจริตติดสินบนต่างๆของพัสดีนอร์ตันให้กับสำนักพิมพ์พอร์ตแลนด์ เดลี่บูเกิ้ล จนพัสดีนอร์ตันยิงตัวตายเพื่อหนีความผิดในห้องทำงานของตนเอง [3]

เรดพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าในการขออนุมัติทัณฑ์บนแต่ต้องผ่านพ้นไปอย่างสูญเปล่าจนเริ่มทำใจแล้วว่าชั่วชีวิตนี้คงไม่มีโอกาสได้ออกไปเห็นแสงสว่างนอกเรือนจำอีก แต่ทว่าการมาถึงของแอนดี้ ชายหนุ่มผู้เก็บงำจุดมุ่งหมายบางอย่างไว้ในใจตลอดเวลา ก็ทำให้เรดได้เห็นคุณค่าของการมีความหวังอีกครั้ง

เบื้องหลังและรางวัล

[แก้]

The Shawshank Redemption เป็นภาพยนตร์ดราม่า กำกับการแสดงและเขียนบทภาพยนตร์โดย แฟรงค์ ดาราบอนต์ สร้างจากเรื่องสั้นของสตีเฟน คิง นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน เรื่อง Rita Hayworth and Shawshank Redemption ในปี ค.ศ. 1982 ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นผลงานภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกในชีวิตผู้กำกับของดาราบอน (ก่อนหน้านั้นดาราบอนเคยสร้างภาพยนตร์สั้นเรื่อง The Woman in the Room สมัยเป็นนักศึกษา ซึ่งสร้างจากเรื่องสั้นของสตีเฟ่น คิงเช่นกัน) โดยสตีเฟน คิงตัดสินใจให้สิทธิ์ขายในราคา 1 ดอลลาร์ [4]

ดาราบอนต์และนิกิ มาร์วิน (ผู้อำนวยการสร้าง) ใช้เวลา 5 เดือนตระเวนไปทั่วอเมริกาเพื่อหาสถานที่สำหรับถ่ายทำ จนไปเจอทัณฑสถานแมนส์ฟิลด์ รัฐโอไฮโอ ซึ่งหลังจากใช้งานมากว่า 100 ปีก็ถูกสั่งปิดไปในปี ค.ศ. 1990 หลังจากนั้นก็ปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้ดูเป็นคุกที่แออัดและเหมาะสำหรับการถ่ายทำ โดยใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 5 เดือน

ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างมากมายเมื่อเข้าฉาย ทั้งรายได้และคำวิจารณ์ จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 7 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงชายยอดเยี่ยม (มอร์แกน ฟรีแมน), บทดัดแปลงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม, เพลงสกอร์ยอดเยี่ยม และเสียงยอดเยี่ยม แต่ไม่ได้รับรางวัลใดๆ เลย และต้องพ่ายให้กับภาพยนตร์เรื่อง Forrest Gump ที่กวาดรางวัลในปีนั้นไป [5][6]

หลังจากประสบความสำเร็จมากแล้วอย่างมากมายกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แฟรงค์ ดาราบอนต์ ผู้กำกับเองก็มีผลงานภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ในปี ค.ศ. 1999 กับเรื่อง The Green Mile ซึ่งสร้างจากนวนิยายของสตีเฟ่น คิงและเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับนักโทษอีกเช่นกัน

The Shawshank Redemption ได้รับการจัดอันดับโดยเว็บไซต์ภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส (IMDB) ให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอันดับ 1 จาก 250 อันดับ ถึง 9.3 คะแนนเต็ม [7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Runtime
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ EWSep3094
  3. The Shawshank Redemption ความอยุติธรรมมีอยู่ทุกแห่งหน[ลิงก์เสีย]
  4. จุดกำเนิด "The Shawshank Redemption" (1994)
  5. 10 ข้อที่ควรดู The Shawshank Redemption ชอว์แชงค์ มิตรภาพ ความหวัง
  6. "ชอว์แชงค์ มิตรภาพ ความหวัง ความรุนแรง : ภาพยนตร์ดราม่าสุดเข้มข้น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ 2014-06-30.
  7. ขุดหนังเก่า มาแนะนำ : The Shawshank Redemption (1994)