ฉบับร่าง:กรี วรศะริน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กรี วรศะริน
เกิด26 มกราคม พ.ศ. 2457
กรี วรศะริน
เสียชีวิต19 สิงหาคม พ.ศ. 2541 (84 ปี)
คู่สมรสสมถวิล ยิ่งเจริญ
อาชีพนาฏศิลป์ - โขน
ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) พ.ศ.2531

นายกรี วรศะริน เป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย (โขน-ลิง) วิทยาลัยนาฏศิลป กองศิลปศึกษา กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) พ.ศ. 2531

ประวัติ[แก้]

กรี วรศะริน เกิดเมื่อ วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2457 บ้านเลขที่ 6 ซอยอินทรานุสรณ์ ถนนพิบูลสงคราม แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร บิดาชื่อ นายเผื่อน วรศะริน มารดาชื่อ นางแป้น วรศะริน

พ.ศ. 2468 ได้เริ่มการศึกษาชั้นต้นจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ณ โรงเรียนวัดสังเวชวิทยาราม ต่อจากนั้นจึงลาออกมาฝึกหัดโขนครั้งแรกที่บ้านเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีกระทรวงวัง ศิษย์ของขุนชาญรำเฉลียวโขนในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งท่านได้สอนให้เต้นเสา สอนท่าเต้นเขน ต่อมาได้ย้ายไปฝึกหัดโขนต่อ ณ วังสวนกุหลาบ ตำบลเทเวศร์พร้อมกับเรียนหนังสือวิชาสามัญที่โรงเรียนศรีอยุธยาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งขึ้นเพื่อให้พวกโขนหลวงได้ศึกษาจนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วย้ายไปฝึกหัดโขนอยู่ที่บริเวณท้ายพระบรมมหาราชวัง ตำบลท่าเตียน จนได้มีโอกาสแสดงถวายตัวต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้เข้าร่วมแสดงเป็นโขนลิงร่วมกับบรมครูในงานพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางพระเศวตคชเดชดิลก (วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470) สถานที่แสดงเวลานั้นคือ ริมกำแพงด้านในแถว ๆ ตึกรัฐสภา ในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาตั้งโขนหลวงขึ้นนายกรีจึงได้ย้ายมาฝึกหัดโขนหลวงร่วมกับเพื่อน ๆ หลายคนด้วยกัน พระยานัฏกานุรักษ์ได้เห็นแววความสามารถของ นายกรี จึงได้นำตัวนายกรีไปร่วมแสดงเป็นสิบแปดมงกุฎคู่ท้ายร่วมกับตัวแสดงรุ่นครู โดยแสดงบนแพริมแม่น้ำที่ท่าวาสุกรี ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแสดงโขนและต่อจากนั้นมาพระยานัฏกานุรักษ์ก็ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่นาย กรี วรศะรินอีกมากมาย ครู อาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ในวิชานาฏศิลป์โขนแก่นายกรี วรศะริน คือ พระยานัฏกานุรักษ์ คุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ จ่าเร่งงานรัดรุด (เฉลิม รุทธวณิช) จ่าห้าวยุทธการ (สุด คชจันทร์) ครูสง่า ศศิวณิช และท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี

รับราชการ[แก้]

พ.ศ. 2472 ได้เข้ารับราชการในกรมพิณพาทย์และโขนหลวง ในแผนกโขนหลวงตำแหน่งพระยาวานร ได้รับพระราชทานเงินเดือน 8 บาท และได้มีโอกาสแสดงโขนต่อหน้าพระที่นั่งรับรองราชอาคันตุกะ และงานพระราชพิธีหลายครั้ง เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2478 นายกรี วรศะริน ได้สมัครเข้ารับราชการทหารกองทัพทหารราบที่ 9 ทหารรักษาวังจนครบกำหนด และในปีนั้นเองมีคำสั่งโอนโขน-ละครหลวงมาขึ้นอยู่กรมศิลปากร นายกรี วรศะริน จึงย้ายมาประจำโรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์ (คือ วิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน) นายผกรี วรศะริน จึงได้รับมอบหมายหน้าที่เป็นครูสอนวิชานาฏศิลป์โขน (ลิง) ภาคปฏิบัติ และเป็นศิลปินผู้แสดงอีกด้วย

นายกรีสมรสกับนางสมถวิล ยิ่งเจริญ มีบุตรธิดาจำนวน 5 คน

  1. นายประสิทธิ์ วรศะริน
  2. นายภิเศก วรศะริน
  3. นายธวัชชัย วรศะริน
  4. นางสาวจรรยา วรศะริน
  5. นายอิสระ วรศะริน

นายกรี วรศะรินมีความสามารถรอบรู้กระบวนการงานของนาฏศิลป์ และการแสดงโขนทุกประเภท เป็นหลักและเป็นผู้อนุรักษ์แบบแผนการแสดงโขนทั้งยังสร้างสรรค์และประดิษฐ์ผลงานด้านการแสดงโขนไว้มากมาย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๑

เสียชีวิต[แก้]

นายกรี วรศะริน ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541

อ้างอิง[แก้]