จ่าดับ จำเปาะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จ่าดับ จำเปาะ
ตัวละครใน ภาพยนตร์ชุด หนึ่งต่อเจ็ด
และ 7 ประจัญบาน
โปสเตอร์ 7 ประจัญบาน (2545), จ่าดับ จำเปาะ (คนกลาง)
ปรากฏครั้งแรกภาพยนตร์ หนึ่งต่อเจ็ด (พ.ศ. 2501)
ปรากฏครั้งสุดท้ายละครโทรทัศน์ 7 ประจัญบาน (พ.ศ. 2553)
สร้างโดยส. อาสนจินดา
แสดงโดยส. อาสนจินดา (พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2512)
ทักษิณ แจ่มผล (พ.ศ. 2520)
พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง (พ.ศ. 2545, พ.ศ. 2548, พ.ศ. 2553)

จ่าดับ จำเปาะ เป็นตัวละครสมมติ สร้างโดย ส. อาสนจินดา ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ชุด หนึ่งต่อเจ็ด ภาพยนตร์ไทยแนวแอ็คชั่นนักเลง-ตลก ช่วงปี พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2512 โดยเป็นเรื่องราววีรกรรมการกอบกู้ชาติไทย ตัวละครนี้เป็นบทบาททหารรับจ้าง เป็นผู้นำและเป็นที่เคารพของกลุ่ม มักจะสวมบทมือปืนคาดเชือกกล้วยกางเกงสีแดง ซึ่งเป็นตัวละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยนั้นจนได้รับฉายา "เชือกกล้วยกางเกงแดง"

จ่าดับ จำเปาะ ปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์ "หนึ่งต่อเจ็ด" ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2501 ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จในภาคแรกๆ แล้วมีภาพยนตร์ภาคต่อหลายๆ ภาคร่วมสิบตอน โดยมีตัวละครจ่าดับ จำเปาะเป็นตัวที่เด่นสุด กลายเป็นวีรบุรุษของคนไทยเฉพาะในภาพยนตร์ โดยมี ส.อาสนจินดา รับบทแสดงเป็นตัวละครจ่าดับ จำเปาะ ในช่วงปี พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2512

ภาพยนตร์ชุดเรื่องหนึ่งต่อเจ็ดได้รับการยกย่องให้เป็นภาพยนตร์ภาคต่อของไทยที่ได้รับการสร้างอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในอดีต นับตั้งแต่เรื่อง หนึ่งต่อเจ็ด ที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูงที่รู้จักกันในช่วงยุค 2500 จนถูกสร้างออกมาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี รวมถึงตอนที่ชื่อว่า "7 ประจัญบาน" และในยุคต่อมามีการนำกลับมาสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2520 ผู้ที่รับบทเป็นจ่าดับคือ ทักษิณ แจ่มผล และยุคต่อมา พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง (ภาพยนตร์ชุด พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2548, ละคร พ.ศ. 2553)

ประวัติ[แก้]

ไฟล์:ส.อาสนจินดา.jpg
ส. อาสนจินดา ต้นกำเนิดตัวละครจ่าดับ จำเปาะ

การสร้างและแรงบันดาลใจ[แก้]

ส. อาสนจินดา สร้างตัวละครจ่าดับ จำเปาะ โดยกำหนดให้เป็น ทหารรับจ้างมักจะสวมบทมือปืนคาดเชือกกล้วยกางเกงในสีแดงจนได้รับฉายา "เชือกกล้วยกางเกงแดง" อุปนิสัยใจร้อน มีความมั่นใจในตัวเองสูง รักพวกพ้องและเป็นผู้นำและเป็นที่เคารพของกลุ่ม โดยในกลุ่มพวกพ้องมีอยู่ 7 คนโดยมีชื่อที่คล้องจองกัน ได้แก่ จ่าดับ จำเปาะ, เหมาะ เชิงมวย, ตังกวย แซ่ลี้, อัคคี เมฆยันต์, ดั่น มหิตรา, กล้า ตะลุมพุก, จุก เบี้ยวสกุล ทั้ง 7 คนถือเป็นตัวละครเอกของภาพยนตร์ชุดนี้

ส.อาสนจินดา ได้รับแรงบันดาลใจการตั้งชื่อตัวละครเอกทั้ง 7 คนให้สอดคล้องกันมาจากบทประพันธ์เรื่อง อกสามศอก ของ อรวรรณ (เลียว ศรีเสวก) โดยมีชื่อพระเอกคล้องจองกัน คือ มิตร เมืองแมน, แสน สุรศักดิ์, กรด แก้วสามสี, ปลิว ปานทอง และ วิง ไกรลาศ จากการที่ส.อาสนจินดาชื่นชอบบทประพันธ์นี้จึงเกิดแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อตัวละครนี้ขึ้น

ลักษณะตัวละครกลุ่มพวกพ้องทั้ง 6 คนของจ่าดับ จำเปาะ จากปลายปากกาและจินตนาการของ ส. อาสนจินดา[1] มีดังนี้

  • เหมาะ เชิงมวย เป็นคนเก่งทางด้านแม่ไม้มวยไทย เป็นคนอ่อนน้อมและเชย มักจะถูกเพื่อนๆ แกล้ง มีน้องชายชื่อว่า หมัด เชิงมวย
  • ตังกวย แซ่ลี้ เป็นคนโผงผาง รักเพื่อน ไม่ชอบให้ใครเรียกว่า เจ๊ก ชอบแต่งตัวแบบ เจมส์ ดีน (ต้นฉบับแสดงโดย ทองฮะ วงศ์รักไทย)
  • อัคคี เมฆยันต์ เป็นคนกะล่อนชอบวางแผนและชอบเล่นการพนันจนเสียงาน
  • ดั่น มหิทธา เป็นคนเจ้าชู้ รักง่ายหน่ายเร็ว ชอบหาเรื่องกับจ่าดับ (ต้นฉบับแสดงโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์)[2]
  • กล้า ตะลุมพุก เป็นคนซื่อ อารมณ์ดี มีความสามารถในการใช้หมัดที่หนักกว่าคนอื่นมาก
  • จุก เบี้ยวสกุล เป็นคนธรรมมะธัมโม เชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลังชอบช่วยเหลือ มีความชำนาญในเรื่องระเบิด

ภาพยนตร์ชุด หนึ่งต่อเจ็ด[แก้]

ภาพยนตร์ หนึ่งต่อเจ็ด ผลงานของ ส.อาสนจินดา ที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูงที่รู้จักกันในปี พ.ศ. 2501

จ่าดับ จำเปาะปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์ "หนึ่งต่อเจ็ด" ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2501 สร้างมาจากความเคืองแค้นโรงภาพยนตร์อันเนื่องมาจากภาพยนตร์ที่ตั้งใจสร้างอย่าง พ่อจ๋า (2500) ที่ฉายโรงภาพยนตร์แกรนด์ โดนกลั่นแกล้งทั้งที่กำลังทำเงินแต่โดนออกจากโรง ขณะภาพยนตร์อีกเรื่อง สุภาพบุรุษสลึมสลือ (2500) ภาพยนตร์แอ็คชั่นที่ไม่ได้บรรจงสร้างเหมือนพ่อจ๋ากลับทำเงิน ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 เจ้าของโรงภาพยนตร์พัฒนากรให้เงินก้อนหนึ่งแก่ ส.อาสนจินดา เพื่อนำไปสร้างภาพยนตร์แอ็คชั่นมาเข้าฉายในช่วงเทศกาลตรุษจีน ส.อาสนจินดาจึงมีเวลาเพียง 27 วันในการถ่ายทำก่อนฉายในวันตรุษจีนตามเงื่อนไข[3] ส.อาสนจินดาจึงสร้างภาพยนตร์เรื่อง หนึ่งต่อเจ็ด นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, วิไลวรรณ วัฒนพานิช, วิภา วัฒนธำรงค์, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, อดุลย์ ดุลยรัตน์, สมชาย ตันฑกำเนิด, ทม วิศวชาติ และ ส.อาสนจินดา รับบทเป็น จ่าดับ จำเปาะ บทบาทนี้ส.อาสนจินดาจะสวมบทมือปืนคาดเชือกกล้วยกางเกงในสีแดงเอง ซึ่งเป็นตัวละครได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยนั้น จนได้รับฉายา "เชือกกล้วยกางเกงแดง"

ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร หลังภาพยนตร์ออกฉายปรากฏว่ากวาดรายได้เกินหลักล้าน[4] และสามารถทำรายได้ให้แก่โรงภาพยนตร์พัฒนากรได้เกือบ 9 แสนบาท[3] ซึ่งถือว่าสูงมากในสมัยนั้น ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จในภาคแรกๆทำให้มีการสร้างภาคต่อๆมาร่วมสิบตอน เรียกได้ว่าหลังจาก พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา เรื่องราวการผจญภัยของจ่าดับและผองเพื่อนก็จะออกฉายแต่ละภาคเกือบจะทุกๆปี ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนชื่อหนังไปในแต่ละภาคแต่ละตัวละครยังคงเป็นจ่าดับคนเดิมและอาจจะมีบ้างที่ในบางภาคบางตอน ผองเพื่อนบางคนอาจจะหายไปแต่ตัวละครจ่าดับนั้นยังคงอยู่

และมีการสร้างภาพยนตร์ภาคต่อหลายๆภาคในช่วงปี พ.ศ. 2501 - 2512 โดยภาพยนตร์แต่ละภาคนั้นจะปลุกใจให้รักชาติและสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงต่างๆ [5] ซึ่งทั้งหมดกำกับโดย ส.อาสนจินดา อาทิ

  • นักเลงเดี่ยว (2501)
  • เจ็ดแหลก (2501) สร้างโดย บางกอกการภาพยนตร์ เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2501 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร
  • สิบสองนักสู้ (2502) หรือชื่ออื่น สิบสองมือปืน ภาคนี้มีเพียง จ่าดับ จำเปาะ, ตังกวย แซ่ลี้, ดั่น มหิทธา สร้างโดย วิจิตรภาพยนตร์ โดย วิจารณ์ ภักดีวิจิตร เป็นผู้อำนวยการสร้าง เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2502 ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์-พัฒนากร
  • เจ็ดประจัญบาน (2506) สร้างโดยวัชรภาพยนตร์ โดย วิมล ยิ้มละมัย กำกับการแสดงโดย ส.อาสนจินดา เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2506 ที่โรงภาพยนตร์คาเธ่ย์
  • เจ็ดตลุมบอน (2506) เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2506 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร
  • ชุมทางหาดใหญ่ (2509) หรือชื่ออื่น หนึ่งต่อเจ็ด ตอนใหม่ เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2509 ที่โรงภาพยนตร์ควีนส์
  • 1 ต่อ 7 ประจัญบาน (2510) เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2510 ที่โรงภาพยนตร์บางกอก[6]
  • หาดใหญ่ใจสู้ (2512)[7]

และจ่าดับ จำเปาะยังไปปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่อง ครุฑเพชร (2508) ที่กำกับโดย ครูเนรมิต เป็นภาพยนตร์ที่รวมฮีโร่ระดับคลาสสิกในนวนิยายไทยหลายคนมาไว้รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นชีพ ชูชัย จากเล็บครุฑ ของ พนมเทียน, เหยี่ยวราตรี ของ ส.เนาวราช รวมถึงจ่าดับ จำเปาะด้วย

ภาพยนตร์ทวิภาค พ.ศ. 2520[แก้]

หนึ่งต่อเจ็ด (พ.ศ. 2520)

ภาพยนตร์ หนึ่งต่อเจ็ด นำกลับมาสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2520 เนื่องจากในยุคนั้น ขณะที่กระแสหนังแนวบู๊ประเภทประกบดาราและชื่อตัวละครต้องอ่านได้สัมผัสคล้องจองกันกำลังเป็นที่นิยม ทางค่ายสหมงคลฟิล์มก็หยิบเอาหนังเก่าเรื่องราวของนักสู้ 7 คนซึ่งเขียนโดย ส.อาสนจินดา เมื่อปี พ.ศ. 2501 กลับมาปัดฝุ่นสร้างใหม่อีกครั้ง [8]

ส.อาสนจินดา มาสร้างและกำกับเองเป็นครั้งที่สอง บทของจ่าดับ จำเปาะ ตกเป็นของ ทักษิณ แจ่มผล แต่ ส.อาสนจินดา ยังคงรับหน้าที่กำกับเช่นเคย และที่สำคัญเนื้อหาเรื่องราวในแต่ละภาค มักหยิบนำเอาเรื่องของสถานการณ์ปัจจุบันในยุคสมัยนั้น โดยมี สหมงคลฟิล์ม เป็นผู้จัดจำหน่าย อำนวยการสร้างโดย สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ สร้างกลางปี พ.ศ. 2519 ฉายต้อนรับตรุษจีน พ.ศ. 2520 นำแสดงหลักโดย

ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 มีเพลงโฆษณาโดยใช้ตัวละครเอกทั้ง 7 คนเป็นเนื้อร้อง ภาพยนตร์ออกฉายประสบความสำเร็จอย่างสูง[9][10] และมีภาคต่อในชื่อว่า "7 ประจัญบาน" โดยร่วมกำกับด้วย วิเชียร วีระโชติ ออกฉายวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2520[11] ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ประสบความสำเร็จเช่นกัน

นำมาสร้างใหม่ในชื่อ 7 ประจัญบาน[แก้]

ในปี พ.ศ. 2545 ภาพยนตร์ หนึ่งต่อเจ็ด ได้ถูกนำโครงเรื่องและชื่อตัวละครมาสร้างใหม่ในชื่อ 7 ประจัญบาน เป็นเรื่องราวที่เกิดในเหตุการณ์ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยมี เฉลิม วงศ์พิมพ์ เป็นผู้กำกับ[12] โดยครั้งนี้ตัวละครจ่าดับ จำเปาะ รับบทโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ร่วมด้วย อัมรินทร์ นิติพน, เท่ง เถิดเทิง, ค่อม ชวนชื่น, ทศพล ศิริวิวัฒน์, แช่ม แช่มรัมย์, พิเศก อินทรครรชิต, พรรณวลินทร์ ศรีสวัสดิ์, กุณฑีรา สัตตบงกช, ดลยา โพธิภัทรกุล, ดี๋ ดอกมะดัน, สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ และ ประกาศิต โบสุวรรณ ออกฉายวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2545 ทำรายได้ 58.30 ล้านบาท[13] ต่อมาจึงมีการสร้างภาพยนตร์ภาคต่อ "7 ประจัญบาน 2" ในปี พ.ศ. 2548 โดยมี สามารถ พยัคฆ์อรุณ ซึ่งมารับบทแทนเท่ง เถิดเทิงในภาคแรก โดยรับบทเป็น เหมาะ เชิงมวย เป็นพี่ชายของหมัด เชิงมวย[14]และนอกจากนี้ในปีเดียวกัน ทางสำนักพิมพ์ วิบูลย์กิจ ยังได้จัดทำฉบับการ์ตูนออกมาร่วมโปรโมทภาพยนตร์ด้วย โดยออกมา 7 ฉบับต่อตัวละครหนึ่งตัว โดยเล่ม จ่าดับ จำเปาะ วาดโดย อนันต์ ฐิตาคม [15]

ในปี พ.ศ. 2553 กอบสุข จารุจินดาได้นำเรื่อง 7 ประจัญบาน กลับมาสร้างใหม่อีกครั้ง โดยดัดแปลงจากบทภาพยนตร์ดั้งเดิมของ ส. อาสนจินดา ในรูปแบบละครโทรทัศน์ออกอากาศทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ผลิตโดยบริษัท สุขสันต์หรรษา 52 จำกัด บทโทรทัศน์โดย สิงห์พยศ กำกับการแสดงโดย วีระชัย รุ่งเรือง เป็นเรื่องราววีรกรรมการกอบกู้ชาติไทยที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้นักแสดงหน้าใหม่ กับนักแสดงที่เคยแสดงในภาพยนตร์ คือ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง และ สรพงศ์ ชาตรี และตัวละครจ่าดับ จำเปาะ ก็ยังคงรับบทโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เช่นเดิม [16]

ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์[แก้]

นี่คือรายชื่อภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ที่ตัวละครจ่าดับ จำเปาะ ปรากฏตัว

ชื่อเรื่อง ปีที่ออกฉาย ผู้แสดงเป็นจ่าดับ จำเปาะ ผู้กำกับ
หนึ่งต่อเจ็ด พ.ศ. 2501 ส. อาสนจินดา ส. อาสนจินดา
นักเลงเดี่ยว
เจ็ดแหลก
สิบสองนักสู้ พ.ศ. 2502
เจ็ดประจัญบาน พ.ศ. 2506
เจ็ดตลุมบอน
ครุฑเพชร พ.ศ. 2508 ครูเนรมิต
ชุมทางหาดใหญ่ พ.ศ. 2509 ส. อาสนจินดา
1 ต่อ 7 ประจัญบาน พ.ศ. 2510
หาดใหญ่ใจสู้ พ.ศ. 2512
1 ต่อ 7 พ.ศ. 2520 ทักษิณ แจ่มผล
7 ประจัญบาน ส.อาสนจินดา
วิเชียร วีระโชติ
7 ประจัญบาน พ.ศ. 2545 พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เฉลิม วงศ์พิมพ์
7 ประจัญบาน 2 พ.ศ. 2548
๗ ประจัญบาน พ.ศ. 2553 วีระชัย รุ่งเรือง

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. จากปลายปากกาและจินตนาการของ ส. อาสนจินดา
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-12-01.
  3. 3.0 3.1 รายการ สยามศิลปิน ปีที่ ๑ ตอน สมชาย อาสนจินดา พระเอกนักประพันธ์
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2011-11-29.
  5. จากอินทรีแดงถึงเจ็ดประจัญบาน[ลิงก์เสีย]
  6. "เศษหนัง 16 มม.ไม่มีเสียง ชุดที่ 1". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-09. สืบค้นเมื่อ 2013-01-09.
  7. "ฮีโร่ไทย ที่ไม่มีวันตาย". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-18. สืบค้นเมื่อ 2012-07-18.
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2012-12-02.
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-11. สืบค้นเมื่อ 2011-12-01.
  10. หนึ่งต่อเจ็ด sahamongkolfilm.com
  11. 7 ประจัญบาน sahamongkolfilm.com
  12. 7 ประจัญบาน pantip.com
  13. 100 อันดับหนังไทย ที่ทำรายได้สูงที่สุด
  14. 7 ประจัญบาน 2 pantip.com
  15. Metalbridges
  16. ละคร ๗ ประจัญบาน ช่อง 3[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]