จูเซปเป อาร์ชิมโบลโด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จูเซปเป อาร์ชิมโบลโด

จูเซปเป อาร์ชิมโบลโด (อังกฤษ: Giuseppe Arcimboldo หรือ Giuseppe Arcimboldi) (ค.ศ. 1527 - 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1593) เป็นจิตรกรชาวอิตาลีผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้เขียนภาพเหมือนแบบมีจินตนาการเช่นเขียนเป็นภาพที่ใช้ผลไม้, ผัก, ดอกไม้, ปลา และหนังสือ ที่จัดประกอบเข้าด้วยกันจนเป็นหน้าตาที่ทราบว่าเป็นภาพเหมือนของผู้ใด

ประวัติ[แก้]

เวอร์ทัมนัส” เทพแห่งฤดูกาล ภาพเหมือนของสมเด็จพระจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

อาร์ชิมโบลโดเกิดที่มิลานในประเทศอิตาลีเมื่อปี ค.ศ. 1527 เป็นลูกของจิตรกรบิอาจิโอผู้ทำงานที่มหาวิหารมิลาน[1]ในปี ค.ศ. 1549 อาร์ชิมโบลโดได้รับจ้างให้ออกแบบหน้าต่างประดับกระจกสีให้แก่มหาวิหารที่รวมทั้งหน้าต่างที่เป็นเรื่องราวของนักบุญแคทเธอรินแห่งอเล็กซานเดรีย ต่อมาในปี ค.ศ. 1556 อาร์ชิมโบลโดก็ทำงานร่วมกับจุยเซ็ปเป เมดาเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่มหาวิหารมอนซา ในปี ค.ศ. 1558 ก็ได้ร่างภาพสำหรับทอพรมทอแขวนผนังที่เป็นภาพการสิ้นพระชนม์ของพระแม่มารี ซึ่งยังแขวนอยู่บนผนังของมหาวิหารที่โคโมมาจนกระทั่งทุกวันนี้[1]

ในปี ค.ศ. 1562 จุยเซ็ปเปก็ได้รับตำแหน่งเป็นช่างเขียนภาพเหมือนประจำราชสำนักของสมเด็จพระจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเวียนนา และต่อมากับสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 2 และพระราชโอรสสมเด็จพระจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 ที่ราชสำนักในกรุงปราก นอกจากจะเป็นช่างเขียนแล้วก็ยังเป็นนักตกแต่ง และนักออกแบบเครื่องแต่งกาย พระเจ้าออกัสตัสแห่งแซกโซนีผู้เสด็จมาเยี่ยมเวียนนาระหว่างปี ค.ศ. 1570 และ ค.ศ. 1573 ได้ทรงมีโอกาสเห็นผลงาน พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการให้วาดภาพ "The Four Seasons" ซึ่งเป็นภาพที่รวมสัญลักษณ์การเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์

งานปกติของอาร์ชิมโบลโดที่เป็นหัวข้อทางศาสนาก็หมดความนิยมกันไป แต่งานที่เป็นภาพเหมือนที่เขียนจากผัก, ผลไม้, สัตว์ทะเล และรากไม้ที่เป็นที่ชื่นชมของผู้คนร่วมสมัยก็ยังเป็นที่นิยมกันจนถึงทุกวันนี้ นักวิพากษ์ศิลปะถกเถียงกันว่าการวาดภาพประเภทนี้เป็นการวาดของผู้ที่เพียงมีความคิดที่แปลก หรือเป็นเพราะเป็นผู้มีอาการผิดปกติทางจิต[1] นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็นสมัยที่ผู้คนนิยมปริศนาและของแปลกต่างๆ ฉะนั้นพฤติกรรมของอาร์ชิมโบลโดก็คงจะเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมกับสมัยมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของความผิดปกติทางจิต

อาร์ชิมโบลโดเสียชีวิตที่มิลานหลังจากที่ยุติการรับราชการในกรุงเวียนนา ในระหว่างช่วงหลังของอาชีพที่ได้ทำการเขียนภาพเหมือนของสมเด็จพระจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 และภาพเหมือนตนเองเป็นคนสี่ฤดู ชาวอิตาลีร่วมสมัยสรรเสริญเกียรติคุณของงานของอาร์ชิมโบลโดด้วยโคลงกลอนและบทสรรเสริญ

เมื่อกองทัพสวีเดนเข้าโจมตีกรุงปรากในปี ค.ศ. 1648 ระหว่างสงครามสามสิบปี ภาพเขียนหลายภาพของอาร์ชิมโบลโดก็ถูกนำไปจากงานสะสมของสมเด็จพระจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2

งานของอาร์ชิมโบลโดพบได้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะในกรุงเวียนนาในประเทศออสเตรีย, ปราสาทอัมบราสในอินส์บรุค, พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในกรุงปารีสในประเทศฝรั่งเศส และในพิพิธภัณฑ์หลายพิพิธภัณฑ์ในสวีเดน, อิตาลี และ สหรัฐอเมริกา

ผลงาน[แก้]

งานอันมีลักษณะที่พิสดารของอาร์ชิมโบลโดโดยเฉพาะภาพซ้อนมาพบอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยจิตรกรลัทธิเหนือจริงเช่นซัลบาดอร์ ดาลี ในปี ค.ศ. 1987 ก็ได้มีการแสดงนิทรรศการงานของอาร์ชิมโบลโดที่พาลัซโซกราสซิที่เวนิส ที่รวมทั้งงานหลายชิ้นที่เป็นภาพที่มีความหมายซ้อน อิทธิพลของงานเขียนของอาร์ชิมโบลโดพบในงานของชิเกโอะ ฟูคูดะ, อิสท์วาน โอโรสซ์, อ็อคตาวิโอ โอแคมโพ และ ซานโดร เดล เพรเท และในงานภาพยนตร์ของ Jan Švankmajer นอกจากจะปรากฏในงานจิตรกรรมแล้ว งานเขียนที่มีลักษณะไปในแนวเหนือจริงของอาร์ชิมโบลโดก็ยังปรากฏในนวนิยายด้วย เช่นในนวนิยาย “2666” ที่เขียนโดย Roberto Bolaño ที่เป็นเรื่องของตัวละครที่เป็นนักเขียนเยอรมันชื่อเบนโน ฟอน อาร์ชิมโบลดิ[ต้องการอ้างอิง] หรือในนวนิยาย “The Coming of Vertumnus” โดยเอียน วัตสัน

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Giuseppe Arcimboldo's hallucinations: Fantasy or insanity? - International Herald Tribune". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-06. สืบค้นเมื่อ 2009-11-22.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ จุยเซ็ปเป อาร์ชิมโบลโด