จัน ดารา (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2544)
จัน ดารา | |
---|---|
ไฟล์:Jandara Poster.jpg | |
กำกับ | นนทรีย์ นิมิบุตร |
เขียนบท | นวนิยาย : เรื่องของจัน ดารา ของ อุษณา เพลิงธรรม บทภาพยนตร์ : ศิรภัค เผ่าบุญเกิด นนทรีย์ นิมิบุตร |
อำนวยการสร้าง | ปีเตอร์ ชาน Jo Jo Yuet-chun Hui ดวงกมล ลิ่มเจริญ นนทรีย์ นิมิบุตร |
นักแสดงนำ | สุวินิจ ปัญจมะวัต เอกรัตน์ สารสุข สันติสุข พรหมศิริ วิภาวี เจริญปุระ คริสตี้ ชุง ภัทรวรินทร์ ทิมกุล วิสันต์ ทิพย์สุวรรณ จิตรลดา เจริญลาภ พิมประภา ตั้งประภาพร ศศิธร พานิชนก ครรชิต ถ้ำทอง |
ผู้บรรยาย | อรรถพร ธีมากร |
กำกับภาพ | ณัฐวุฒิ กิตติคุณ |
ตัดต่อ | สุนิตย์ อัศวินิกุล |
ดนตรีประกอบ | ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ ภควัฒน์ ไววิทยะ เดี่ยวไวโอลินโดย ทัศนา นาควัชระ |
ผู้จัดจำหน่าย | ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ |
วันฉาย | 28 กันยายน พ.ศ. 2544 |
ความยาว | 110 นาที |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ภาษา | ภาษาไทย |
ข้อมูลจาก All Movie Guide | |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
จัน ดารา เป็นภาพยนตร์ไทยดัดแปลงจากนิยายเรื่อง เรื่องของจัน ดารา ซึ่งอุษณา เพลิงธรรม เขียนลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 2507 ถึงปี 2509[1] มีนนทรีย์ นิมิบุตร กำกับ และไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ออกฉายเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2544 มีเนื้อหาทำนองนาฏกรรมเชิงสังวาส ว่าด้วยความสัมพันธ์ของครอบครัวหนึ่ง ทั้งที่เป็นความรักฉันญาติมิตร ความรักฉันชู้สาว และความเคียดแค้นชิงชัง ชนิดที่ตัวละครแต่ละตัวล้วนเป็นกระจกสะท้อนพฤติกรรมของกันและกัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลมากมาย ในจำนวนนั้น ได้แก่รางวัลพระสุรัสวดี สาขานักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยมสำหรับวิภาวี เจริญปุระ และรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์
เนื้อเรื่อง
[แก้]ในต้นพุทธทศวรรษที่ 2460 ดารา พิจิตรวานิช หญิงสาววัยสิบแปดปี เดินทางจากพระนครไปเมืองพิจิตร แต่ถูกจอม คนรักของวาด กับพวกอีกจำนวนหนึ่ง ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราจนตั้งครรภ์ บิดาของดาราจึงว่าจ้างให้หลวงวิสนันทเดชาสมรสกับดาราเพื่อรักษาเกียรติยศของวงศ์ตระกูล โดยยกบ้านและที่ดินให้เป็นการแลกเปลี่ยน
ดาราเสียชีวิตทันทีที่คลอดบุตร หลวงวิสนันทเดชาจึงโทษว่าทารกนั้นเป็นต้นเหตุให้ภริยาถึงแก่ความตาย และตั้งชื่อให้ว่า จัน-จัญไร วิสนันท์ เวลานั้น วาดเดินทางจากพิจิตรมาร่วมพิธีศพดารา และพบว่าจันเป็นที่รังเกียจของบ้านวิสนันท์ ประกอบกับรู้สึกผิดที่คนรักของตนเป็นต้นเหตุให้เกิดเคราะห์กรรมครั้งนี้ วาดจึงยอมเป็นภริยาของหลวงวิสนันทเดชา เพื่อจะได้เลี้ยงดูจันอย่างใกล้ชิดจนตลอดรอดฝั่ง วาดกับหลวงวิสนันทเดชานั้นมักสมสู่กันแม้อยู่ต่อหน้าจัน จันจึงชิงชังหลวงวิสนันทเดชาที่ได้เป็นเจ้าของวาด เพราะเขาก็ใจปฏิพัทธ์วาดผู้เป็นน้าอยู่เช่นกัน ฝ่ายหลวงวิสนันทเดชากับวาดนั้นมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ วิไลเรข วิสนันท์ หรือแก้ว ซึ่งหลวงวิสนันทเดชารักประดุจแก้วตาดวงใจ
แต่หลวงวิสนันทเดชานั้นเป็นเสือผู้หญิง ในระหว่างที่วาดตั้งครรภ์วิไรเลขอยู่ หลวงวิสนันทเดชาจึงเริ่มสนองกามคุณของตน โดยร่วมประเวณีกับสตรีมากหน้าหลายตาเป็นนิตย์ แม้ว่าอยู่ต่อหน้ารูปดารา ภริยาผู้ล่วงลับ ก็ตาม ทว่า เมื่อเห็นรูปภริยาคราใดก็ให้นึกโกรธจันขึ้นมาเรื่อยไป หลวงวิสนันทเดชาจึงมักกระทำทารุณต่อจันและไม่เอาใจใส่เลี้ยงดูจัน ทั้งยังอบรมสั่งสอนให้แก้วจงเกลียดจงชังจันด้วย เป็นเหตุให้จันเกิดความสงสัยว่า ชะรอยหลวงวิสนันทเดชาจะมิใช่บิดาที่แท้จริงของตน
ต่อมา บุญเลื่อง หญิงสาวผู้มักมากในกามารมณ์และเป็นภริยาเก่าของหลวงวิสนันทเดชา ย้ายกลับเข้ามาอาศัยในบ้านวิสนันท์ และหญิงผู้นี้เองที่สอนให้จันได้รู้เพศรสเป็นครั้งแรก ในเวลานั้น จันยังได้พบไฮซินธ์ หญิงสาววัยสิบหกปี บ่อยครั้ง ณ โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษภาคค่ำในพระนคร และจันหลงรักเธอจนหมดหัวใจ ไฮซินธ์จึงเป็นผู้สอนให้จันได้รู้สึกถึงความรักอันบริสุทธิ์เป็นครั้งแรก
วันหนึ่ง แก้วซึ่งรักอยู่กับเคน กระทิงทอง บุตรของคนรับใช้ในบ้าน กำลังจะร่วมประเวณีกัน จันมาพบเข้าและสำคัญว่าเคนล่วงละเมิดแก้วอยู่ จึงเข้าไปช่วยเหลือ ประจวบกับที่บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านได้ยินเสียงร้องและติดตามมาพบเข้า แก้วซึ่งรังเกียจจันอยู่แล้วจึงฟ้องว่า จันล่อลวงตนมากระทำทางเพศ เคนจึงเข้ามาช่วยเหลือ หลวงวิสนันทเดชาฟังแล้วก็โกรธเป็นอันมาก และขับไล่จันออกจากบ้านวิสนันท์ จันจึงไปอาศัยอยู่ที่บ้านญาติข้างมารดา ณ เมืองพิจิตร และได้ทราบความจริงเกี่ยวกับกำเนิดของตนว่า ดารา มารดานั้น ถูกรุมโทรม โดยที่จอม ผู้ชำเราคนแรก ถูกพวกพ้องสังหารตายทันทีหลังจากได้ชำเราดารา ส่วนพวกพ้องที่เหลือหลังจากได้ข่มขืนกระทำชำเราดาราแล้ว ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจติดตามมาวิสามัญฆาตกรรมจนสิ้นเช่นกัน จึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่า แท้จริงแล้วบิดาของจันเป็นผู้ใด จันจึงให้รู้สึกว่า ชีวิตตนช่างมืดมนนัก และครุ่นคำนึงถึงแต่ไฮซินธ์
ไม่กี่ปีให้หลัง คุณขจรสมจรกับแก้วผู้เป็นน้องสาว และแก้วตั้งครรภ์ เพื่อธำรงเกียรติยศของวงศ์ตระกูล หลวงวิสนันท์เดชาจึงสั่งให้วาดไปเรียกจันกลับพระนคร แล้วเสนอให้จันรับเป็นบิดาของบุตรในครรภ์แก้วแทนตน จันตกลงโดยมีเงื่อนไขว่า หลวงวิสนันทเดชาต้องโอนบ้านและที่ดินให้แก่ตน ทั้งนี้ เพื่อชำระความแค้นเคืองที่ตนมีต่อหลวงวิสนันทเดชามาตั้งแต่เยาว์วัย หลวงวิสนันทเดชารับคำอย่างเสียมิได้ เมื่อสมประสงค์แล้ว จันก็รุดไปหาไฮซินธ์ แต่พบว่าไฮซินธ์จากโลกนี้ไปแล้วเพราะไข้รากสาดน้อย ขณะที่วาดเมื่อเห็นว่าเรื่องราวทั้งหลายคลี่คลายลงด้วยดีแล้วก็ลาไปบวชเป็นนางชีอยู่ที่เมืองนครสวรรค์โดยไม่สึกอีก
เวลานั้นเอง แก้วให้กำเนิดบุตรชายหนึ่งคน แต่เพราะทารกนั้นเกิดจากการร่วมประเวณีในหมู่ญาติ จึงมีภาวะโง่เขลาเบาปัญญาอย่างที่สมัยใหม่เรียกว่า ปัญญาอ่อน และจันตั้งชื่อให้ทารกนั้นว่า ปรีย์-อัปรีย์ วิสนันท์ แก้วเสียใจ และเริ่มมีความสัมพันธ์ทางเพศกับบุญเลื่อง เมื่อจันทราบเข้า ก็ข่มขู่ให้เธอมีบุตรกับเขา แต่แก้วมิยินยอม เพราะใจยังจงเกลียดจงชังจัน จันจึงข่มขืนกระทำชำเราเธอกระทั่งเธอตั้งครรภ์ อย่างไรก็ดี แก้วไม่ต้องการให้กำเนิดบุตรของจัน จึงให้บุญเลื่องช่วยทำให้ตนตกเลือดจนแท้ง
เมื่อสภาพการณ์ในบ้านเป็นเช่นนี้ จันจึงใฝ่หาความสุขทางกามคุณแต่ถ่ายเดียว โดยร่วมประเวณีกับสาวใช้ แม้กระทั่งเบื้องหน้ารูปดารา มารดาผู้วายชนม์ของตน ทำนองเดียวกับที่หลวงวิสนันทเดชาได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น อยู่มาวันหนึ่ง หลวงวิสนันทเดชามาพบเห็นจันกับบุญเลื่องกำลังสมสู่กัน ก็ให้รู้สึกเจ็บช้ำไปทั้งกายใจถึงกับล้มลงและเป็นอัมพาต จันจึงเริ่มตั้งคำถามแก่ตนเองว่า เป็นไฉนตนถึงไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฏจักรตัณหาราคะทำนองเดียวกับที่หลวงวิสนันทเดชาก่อขึ้น ที่สุดแล้ว เรื่องก็ให้คำตอบว่า เพราะจันเป็นหน่อเนื้อของดาราผู้ถูกรุมโทรมนั่นเอง
ตัวละคร
[แก้]ชื่อ | ผู้แสดง |
---|---|
จัญไร วิสนันท์ |
|
จันเป็นชายหนุ่มซึ่งเติบโตขึ้นมาในครอบครัวขุนนางร่ำรวยมั่งคั่ง แต่มารดาถึงแก่ความตายตั้งแต่เขาแรกเกิด หลวงวิสนันทเดชาผู้เป็นบิดาจึงโทษว่าเป็นความผิดเขา และไม่อนาทรร้อนใจในความเป็นอยู่เขา แม้กระทั่งประพฤติทารุณต่อเขาเสมอมาด้วย หลวงวิสนันทเดชานี้เองเป็นผู้ตั้งนามให้แก่เขาว่า จัญไร และเนื่องจากจันได้พบเห็นพฤติกรรมลามกอนาจารของหลวงวิสนันทเดชามาแต่เด็ก ทำให้เขาเติบใหญ่ขึ้นมาโดยมีอุปนิสัยและความประพฤติทำนองเดียวกัน | |
หลวงวิสนันทเดชา | สันติสุข พรหมศิริ |
หลวงวิสนันทเดชาเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรัฐบาลสยาม ครั้งหนุ่มได้ตกลงสมรสกับดารา พิจิตรวานิช หญิงสาวผู้ถูกรุมโทรม เพื่อช่วยรับเป็นบิดาเด็กในครรภ์ดาราซึ่งต่อมาได้แก่จัน แต่ข้อแม้ว่าแลกกับทรัพย์สมบัติของครอบครัวพิจิตรวานิช แม้ดำรงอยู่ในเกียรติและฐานะอันสูงส่งแห่งวงสังคม แต่ในจิตใจของหลวงวิสนันทเดชานั้นมีความวิปริตทางกามมากพอกับความใคร่ในกามคุณ เขาชำเราสตรีไม่เลือกหน้า แม้กระทั่งบุตรสาวของตนเอง | |
วิไลเรข วิสนันท์ (แก้ว) |
|
แก้วเป็นบุตรีของหลวงวิสนันทเดชากับวาด มีความจงเกลียดจงชังจันตามที่หลวงวิสนันทเดชาปลูกฝังมาแต่ยังเล็ก ต่อมาจึงอ้างว่าถูกจันชำเรา เป็นเหตุให้จันต้องถูกขับออกจากบ้านวิสนันท์ ภายหลัง แก้วได้ร่วมประเวณีกับหลวงวิสนันทเดชาผู้เป็นบิดาจนตั้งครรภ์ จึงจำต้องสมรสกับจันเพื่อรักษาหน้าตาของวงศ์ตระกูล ต่อมา ยังมีความรักร่วมเพศกับบุญเลื่อง อนุภริยาของบิดาด้วย | |
บุญเลื่อง | คริสตี้ ชุง |
บุญเลื่องเป็นกุลสตรีมีความสามารถมากในทางศิลปวิทยา แต่มักมากในกามวัตร ได้เป็นอนุภริยาของหลวงวิสนันทเดชา ภายหลังยังได้สมสู่กับจันและแก้ว บุตรของหลวงวิสนันทเดชาด้วย | |
วาด | วิภาวี เจริญปุระ |
วาดเป็นหญิงสาวจิตใจดี แต่จอม คนรัก ได้พาพวกไปฉุดคร่าดารา พิจิตรวานิช หญิงสาวชาวพระนคร มาข่มขืนกระทำชำเราจนตั้งครรภ์ วาดจึงรู้สึกผิดและโทษตนเองว่ามีส่วนสร้างบาปเคราะห์ครั้งนี้ด้วย แล้วยอมตนเป็นภริยาของหลวงวิสนันทเดชาเพื่อจะได้เข้าสู่บ้านวิสนันท์และสามารถบำรุงเลี้ยงดูจันแทนมารดาที่สิ้นชีวิตแล้วได้ | |
ไฮซินธ์ | ศศิธร พานิชนก |
ไฮซินธ์เป็นหญิงสาวมุสลิมอายุสิบหกปี ร่ำเรียนหนังสือในจังหวัดพระนคร และได้พบจัน ณ โรงเรียนภาษาอังกฤษภาคค่ำ จันหลงรักเธอจนหมดหัวใจ เป็นรักบริสุทธิ์รักเดียวของจัน | |
เคน กระทิงทอง | ครรชิต ถ้ำทอง |
เคนเป็นบุตรของคนรับใช้ในบ้านวิสนันท์ | |
ดารา พิจิตรวานิช | วัลภา พรหมนวล |
ดาราเป็นหญิงสาวชาวพระนคร ถูกข่มขืนกระทำชำเราจนตั้งครรภ์ และเด็กในครรภ์นั้นต่อมาคือจัน | |
จอม | ดนัย ชนะชานันต์ |
จอมเป็นคนรักของวาด แต่พาพวกไปฉุดชักลากคร่าดารามารุมโทรม และถูกพวกเหล่านั้นเองฆ่าตายหลังจากเสร็จกามกิจในไม่ช้า |
การเผยแพร่
[แก้]จัน ดารา เริ่มฉายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 ในงานฉายรอบปฐมทัศน์ มีผู้คนมาร่วมมากมาย และนนทรีย์ นิมิบุตร กล่าวเปิดงาน ความตอนหนึ่งว่า "ภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้เน้นไปด้านเซ็กส์ แต่จะเน้นไปที่การให้ข้อคิดเกี่ยวกับผลจากกามารมณ์มากกว่า"[2]
รางวัล
[แก้]จัน ดารา ได้รับรางวัลมากมาย ได้แก่[3]
งานประกาศผลรางวัล | สาขารางวัล | ผู้รับรางวัล |
---|---|---|
สตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์ 2002 | สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม | สุนิตย์ อัศวินิกุล ธานินทร์ เทียนแก้ว |
สุพรรณหงส์ ประจำปี พ.ศ. 2544 | สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม | ณัฐวุฒิ กิตติคุณ |
สาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม | เอก เอี่ยมชื่น | |
ชมรมวิจารณ์บันเทิง ปี พ.ศ. 2544 | สาขาผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม | วิภาวี เจริญปุระ |
สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม | ณัฐวุฒิ กิตติคุณ | |
สาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม | เอก เอี่ยมชื่น |
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-16. สืบค้นเมื่อ 2012-09-08.
- ↑ บรรยากาศงานแถลงข่าวภาพยนตร์เรื่องจันดารา
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-21. สืบค้นเมื่อ 2012-08-03.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ภาพยนตร์ จันดารา (2544)
- เว็บไซต์ทางการ จันดารา (2544) เก็บถาวร 2011-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- จันดารา (2544) ที่เว็บไซต์ สยามโซน.คอม
- Jan Dara (2001) ที่เว็บไซต์ IMDb