ข้ามไปเนื้อหา

จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที[1] (อังกฤษ: do justice and let the sky fall หรือ let justice be done though the heavens fall[2]; ละติน: fiat justitia ruat caelum, ฟิอัต ยุสทิเทีย รูอัต ไคลุม) เป็นภาษิตภาษาละตินทางกฎหมายซึ่งบ่งบอกถึงความเชื่อว่า ความยุติธรรมจักต้องมีอยู่ไม่ว่าในสถานการณ์รูปแบบใดก็ตาม โดยชาลส์ ซัมเมอร์ (อังกฤษ: Charles Summer) นักการเมืองผู้รณรงค์ให้เลิกทาสแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 กล่าวว่าภาษิตนี้ไม่ได้มีที่มาจากสมัยคลาสสิกแต่อย่างใด[3] แม้จะเชื่อกันว่าเป็นคำของ ลูเชิส คาลเพอร์นิเอิส พิโซ ซีโซนิเนิส (อังกฤษ: Lucius Calpurnius Piso Caesoninus) รัฐบุรุษในสมัยโรมันโบราณผู้เป็นสสุระของจูเลียส ซีซาร์ ก็ตาม

สมัยคลาสสิก

[แก้]

การอุปมาด้วยฟ้าถล่มในสมัยโบราณ

[แก้]

สันนิษฐานกันว่าการอุปมาด้วย "ฟ้าถล่ม" (อังกฤษ: falling sky) เป็นปรกติในสมัยคลาสสิก ดังที่ปรากฏหลายครั้งในวรรณกรรมแห่งยุค อาทิ งานเขียนของ พูบลิอุส เทเรนทิอุส อาเฟอร์ (ละติน: Publius Terentius Afer) นักเขียนบทละครแห่งสาธารณรัฐโรมัน เช่นในบทว่า "ผู้ขลาดหวาดฟ้าว่าจะพัง ฉะนี้หวังพึ่งได้ไฉนเล่า" (อังกฤษ: What if I have recourse to those who say, ‘What now if the sky were to fall?'; ละติน: Quid si redeo ad illos qui aiunt, ‘Quid si nunc cœlum ruat?)[4]

เช่นเดียวกับเรียงความของ ลูชิอูส ฟลาวิอูส อาร์ริอานูส (กรีก: Lucius Flavius Arrianus) เรื่อง "แคมเพนส์อ็อฟอเล็กซานเดอร์" (อังกฤษ: Campaigns of Alexander, "ยุทธรณรงค์แห่งพระเจ้าอเล็กซานดอร์") บรรพที่ 1 บทที่ 4 ว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มีพระราชปุจฉาไปยังทูตานุทูตแห่งเคลต์ ซึ่งล้วนประกอบด้วยกายาอันกำยำ กิริยาอันทะนงยโส และมาจากทะเลเอดรีอาทิก (อังกฤษ: Adriatic) ว่า "ในโลกนี้ สิ่งไรเล่าที่ท่านทั้งหลายเกรงกลัวเป็นที่สุด" และทูตานุทูตสนองพระราชปุจฉาว่า "ข้าพระองค์ทั้งหลายเกรงว่าฟ้าจะร่วงลงสู่ศีรษะแห่งเรา" ฝ่ายพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ซึ่งมีพระราชประสงค์จะได้ยินว่าเขาทั้งหลายเกรงกลัวพระองค์เป็นที่สุด ก็ไม่ทรงสมพระราชหฤทัย และทรงตระหนักโดยปริยายว่า หามีอำนาจของมนุษย์ใดในใต้หล้าจะทำอันตรายพวกเขาได้ เว้นแต่อำนาจของพิบัติภัยทางธรรมชาติโดยแท้

ทำนองเดียวกับในบทร้อยกรองกำสรดบทหนึ่งของ เธอ็อกนิสแห่งเมเกรา (อังกฤษ: Theognis of Megara) กวีชาวกรีก ซึ่งว่า "แม้นข้ามิภักดิ์ผู้รักข้า หรือขุ่นโกรธาปรปักษ์ไซร้ จงฟ้าโรจน์ร่วงลงตรงเกไศ (นี้ชนในใต้หล้าล้วนแสยง)" (อังกฤษ: "May the great broad sky of bronze fall on my head / (That fear of earth-born men) if I am not / A friend to those who love me, and a pain / And irritation to my enemies.")[5]

ในขณะที่ อริสโตเติล (อังกฤษ: Aristotle) กล่าวในผลงานของเขาเรื่อง "ฟิสิกส์" (อังกฤษ: Physics, "กายภาพ") บรรพที่ 4 ว่า ความเชื่อที่ว่าท้องฟ้าตั้งอยู่บนบ่าของยักษ์แอตเลิส (อังกฤษ: Atlas) และจะถล่มลงหากแอตเลิสผละจากไปนั้น เป็นความคิดในยุคแรกเริ่มของชนชาติที่โง่เขลา

ความยุติธรรมของพิโซ

[แก้]
ลูชิอูส แอนเนอูส เซเนเกา
เกิด: ประมาณ 4 ปีก่อน ค.ศ. (พ.ศ. 140)
ตาย: ค.ศ. 65 (พ.ศ. 608)

ในผลงานของ ลูชิอูส แอนเนอูส เซเนเกา (ละติน: Lucius Annaeus Seneca) ประเภทบทสนทนา เรื่อง "เดอีรา" (ละติน: De Ira; "บนความพิโรธ") บรรพที่ 1 บทที่ 18 ว่า ทหารนายหนึ่งกลับมาจากการลาหยุดโดยมิได้พาเพื่อนผู้ติดตามกลับมาด้วยตามวินัยทหาร กเนอูส พิโซ (อังกฤษ: Gnaeus Piso) ผู้ว่าการรัฐและผู้บัญญัติกฎหมาย จึงสั่งด้วยความพิโรธโกรธาให้ประหารชีวิตทหารผู้นั้นทันที บนเหตุผลว่าทหารติดตามคนนั้นหายไป แสดงว่าถูกทหารผู้เพิ่งกลับมานั้นฆ่าแล้วเป็นแน่ ในขณะจ่อคอเข้าสู่คมดาบประหาร ปรากฏว่าาทหารติดตามคนที่สันนิษฐานว่าถูกฆ่าตายแล้วปรากฏตัวขึ้น ประธานการประหารจึงสั่งให้หยุดการ แล้วพาทหารที่ถูกกล่าวหาไปพบกเนอูส พิโซ เพื่อขอให้งดโทษเสีย แต่กเนอูสกลับสั่งให้ประหารชีวิตทหารนายนั้นตามเดิมบนเหตุผลว่าได้มีคำตัดสินไปแล้ว และสั่งให้ประหารชีวิตประธานการประหารผู้นั้นด้วยบนเหตุผลว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย และสุดท้ายก็สั่งให้ประหารทหารติดตามที่สันนิษฐานว่าถูกฆ่าตายแล้วคนนั้นอีก บนเหตุผลว่าเป็นเหตุให้ผู้บริสุทธิ์ต้องจบชีวิตลงถึงสองคน

และด้วยการเล่าขานสืบต่อ ๆ กันมาถึงกรณีข้างต้นนี้ เกิดเป็นหลักการที่เรียกว่า "ความยุติธรรมของพิโซ" (อังกฤษ: Piso's Justice) ซึ่งมีว่า คำตัดสินใดที่มีไปโดยเจตนาตอบโต้ความผิดย่อมถือว่าถูกต้องในทางเทคนิค แต่ไม่ถูกต้องในทางศีลธรรม ซึ่งหลักการเช่นนี้อาจนับว่าเป็นการตีความภาษิต "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" ไปในทางลบ

กระนั้น แม้อันที่จริงแล้วบทสนทนาเรื่อง "เดอีรา" มิได้ปรากฏถ้อยคำของภาษิตดังกล่าวเลย แต่พจนานุกรมของบริวเวอร์ว่าด้วยวลีและนิทาน (อังกฤษ: Brewer's Dictionary of Phrase and Fable) ระบุว่ามีการปรากฏของภาษิตนี้[6]

อนึ่ง ยังเชื่อกันว่าสำนวน "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" เป็นคำของพิโซ แต่เป็นพิโซอีกคนหนึ่ง คือ ลูเชิส คาลเพอร์นิเอิส พิโซ ซีโซนิเนิส (อังกฤษ: Lucius Calpurnius Piso Caesoninus) รัฐบุรุษในสมัยโรมันโบราณผู้เป็นสสุระของจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการสับสนกับกรณีพิโซในบทสนทนา "เดอีรา" นี้

สมัยปัจจุบัน

[แก้]
วิลเลียม เมอร์รีย์ เอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์

ในปัจจุบัน ภาษิต "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" นี้มีการใช้เพื่อประกันความยุติธรรมสำหรับคนทุกระดับชั้นวรรณะ และเป็นภาษิตที่มีนัยในทางบวก ในวงการกฎหมายอังกฤษ วิลเลียม วัตเซิน (อังกฤษ: William Watson) นักบวชคาทอลิกผู้ถูกประหารชีวิตฐานเป็นกบฏ กล่าวในผลงานเรื่อง "เท็นโควดิเบทิเคิลโควเทเชินส์คอนเซิร์นนิงรีลิเจินแอนด์สเตต" (อังกฤษ: Ten Quodlibetical Quotations Concerning Religion and State, "สิบพจนาอันน่ารู้เกี่ยวกับศาสนาและรัฐ") เมื่อ ค.ศ. 1601 (พ.ศ. 2144) ว่า "เจ้าละเมิดฝ่าฝืนภาษิตอันเป็นสามัญแห่งกฎหมายภาษิตนั้น คือที่ว่า 'จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที' แล้วไซร้"[7] ซึ่งการกล่าวถึงของนักบวชวิลเลียม วัตเซินดังกล่าว เป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของภาษิตนี้ในวงวรรณกรรมอังกฤษ

นอกจากนี้ ภาษิตนี้ยังได้รับการกล่าวถึงโดย วิลเลียม ไพรน์ (อังกฤษ: William Prynne) นักกฎหมายชาวอังกฤษ ในผลงานเรื่อง "เฟรชดิสกัฟวะรีอ็อฟพรอดิเจิสว็อนเดอริงนิวเบลซิงสตาส์" (อังกฤษ: Fresh Discovery of Prodigious Wandering New-Blazing Stars, "การค้นพบครั้งใหม่ซึ่งดารากรอันร้อนแรงที่โคจรไปมาอย่างน่าอัศจรรย์") เมื่อ ค.ศ. 1646 (พ.ศ. 2189), โดย นาเธเนียล เวิร์ด (อังกฤษ: Nathaniel Ward) ใน "ซิมเพิลคอบเบลอร์อ็อฟอกาเวิม" (อังกฤษ: Simple Cobbler of Agawam, "เรื่องงี่เง่าไร้สาระของอกาเวิม") เมื่อ ค.ศ. 1647 (พ.ศ. 2190) และโดยอีกหลาย ๆ คนหลังจากนั้น แต่ครั้งที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดครั้งหนึ่ง ได้แก่ การอ้างถึงใน ค.ศ. 1770 (พ.ศ. 2313) ซึ่งวิลเลียม เมอร์รีย์ เอิร์ลแห่งแมนส์ฟิลด์ ลอร์ดหัวหน้าศาลข้างพระที่นั่ง ใช้ภาษิตนี้อธิบายถึงหน้าที่ของศาลยุติธรรม เพื่อตอบคำอ้างของจอห์น วิลส์ (อังกฤษ: John Wilkes) ที่เบิกความในคดีซัมเมอร์เซ็ตต์ว่าหากศาลตัดสินให้ทาสเป็นอิสระอาจจะทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษและอาณานิคมพังพินาศ

เช่นเดียวกับใน ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) เจมส์ เอ็ดวิน ฮอร์เทิน (อังกฤษ: James Edwin Horton) ผู้พิพากษาศาลเคลื่อนที่เขต 8 (อังกฤษ: Eighth Circuit Court) แห่งรัฐแอละแบมา สหรัฐอเมริกา สั่งเพิกถอนคำพิพากษาประหารชีวิตเฮย์วูด แพตเทอร์เซิน (อังกฤษ: Haywood Patterson) หนึ่งในชายชุดดำเก้านายที่เป็นแพะสำหรับข้อหาข่มขืนกระทำชำเราสตรีผิวขาวสองนางที่รัฐแอละแบมาใน "คดีพ่อหนุ่มสกอตส์โบโร" (อังกฤษ: Scottsboro Boys case) โดยกล่าวถึงภาษิต "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" ประกอบการชี้แจงว่า แม้เขาทราบดีว่าการตัดสินเช่นนี้จะต้องถูกแรงกดดันให้พ้นจากตำแหน่ง แต่จะให้พิพากษาลงโทษผู้บริสุทธิ์นั้นไม่อาจกระทำได้[8]

ข้อความ "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" นี้ในภาษาละติน ยังสลักอยู่บนบัลลังก์ศาลสูงสุดประจำรัฐจอร์เจีย (อังกฤษ: Supreme Court of Georgia) สหรัฐอเมริกา และสลักอยู่บนทับหลังประตูสถานีรถไฟไบรด์เวลการ์ดา (อังกฤษ: Bridewell Garda station) ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ด้วย นอกจากนี้ ข้อความ "จงประสาทความยุติธรรม" ในภาษาละติน ยังปรากฏบนเบื้องล่างภาพเหมือนของ จอห์น มาร์แชล (อังกฤษ: John Marshall) ประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา (อังกฤษ: Chief Justice) ซึ่งวาดโดย เรมแบรนต์ พีล (อังกฤษ: Rembrandt Peale) เมื่อ ค.ศ. 1835 (พ.ศ. 2378) และปัจจุบันแขวนอยู่ยังห้องประชุมศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา

อนึ่ง ภาษิตนี้ยังเป็นคติพจน์ของศาลสูงสุดประจำรัฐเทนเนสซี (อังกฤษ: Tennessee Supreme Court) โดยปรากฏอยู่บนตราประทับของศาล และเลี่ยมอยู่บนพื้นโถงอาคารศาลซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ไม่เท่านี้ ภาษิตดังกล่าวยังเป็นคติพจน์ของกองทัพอากาศแห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ: Her Majesty's Air Force) และปรากฏอยู่บนยอดหมวกทหารอากาศแห่งสหราชอาณาจักรด้วย

ทั้งนี้ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่ระเบิดที่ 447 แห่งกองทัพอากาศที่แปด ของสหรัฐอเมริกา ยังใช้ภาษิตนี้เป็นคติพจน์ของตน และปรากฏอยู่บนตราประจำตำแหน่งของหมู่ระเบิดนี้ด้วย

การประยุกต์ภาษิต

[แก้]
อิมมานูเอิล คานต์
เกิด: 22 เมษายน ค.ศ. 1724 (พ.ศ. 2267)
ตาย: 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1804 (พ.ศ. 2347)

ในภาคพื้นยุโรป โดยเฉพาะในประเทศเยอรมัน มีการประยุกต์ภาษิต "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" เป็นภาษิตใหม่ว่า "จงมีความยุติธรรม แม้โลกาจะวินาศก็ตามที" (อังกฤษ: let there be justice though the world perish; ละติน: fiat justitia, et pereat mundus) โดยได้รับการใช้เป็นคติพจน์อย่างเป็นทางการของจักรพรรดิเฟอร์ดินันด์ที่ 1 แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (อังกฤษ: Ferdinand I of Holy Roman) ซึ่งการประยุกต์นี้สันนิษฐานว่าน่าจะมีที่มาจากหนังสือเรื่อง "โลคีคอมมูเนส" (ละติน: 'Loci communes) ของ ฟิลิปป์ เมลันช์เธิน (อังกฤษ: Philipp Melanchthon) นักเทววิทยาชาวเยอรมัน เมื่อ ค.ศ. 1521 (พ.ศ. 2064)

การใช้ภาษิต "จงมีความยุติธรรม แม้โลกาจะวินาศก็ตามที" ครั้งหนึ่งที่มีการกล่าวขานกันมากที่สุดได้แก่การใช้ของ อิมมานูเอิล คานต์ (อังกฤษ: Immanuel Kant) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ในงานเขียนของเขาเรื่อง "เพอร์พีชวลพีซ" (อังกฤษ: Perpetual Peace, "อนันตสันติ") เมื่อ ค.ศ. 1795 (พ.ศ. 2338) ซึ่งเขาแปลภาษิต "fiat iustitia, pereat mundus" อย่างหลวม ๆ ว่า "ให้ความยุติธรรมนำไป แม้ว่าคนโฉดทั้งหลายในพื้นพิภพจะจบสิ้นลงเพราะเหตุนี้" (อังกฤษ: let justice reign, should all the rascals of the universe perish)[9] [10]

เนื่องจากภาษิต "จงมีความยุติธรรม แม้โลกาจะวินาศก็ตามที" เป็นเครื่องยืนยันเจตนารมณ์ของความยุติธรรมในทุกสภาพการณ์ ในประเทศเยอรมันปัจจุบันนี้ ภาษิตดังกล่าวจึงได้รับการอ้างถึงในทางไม่งาม เพื่อเสียดสีแนวคิดหรือแนวปฏิบัติทางกฎหมายซึ่งต้องการให้ปฏิบัติตามภาษิตนี้ในทุกกรณีแม้ว่าจะส่งผลเสียต่อส่วนรวมก็ตาม[11]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. กูเกิล, 2552 : ออนไลน์.
  2. "Fiat justitia, ruat caelum"; 2009 : Online.
  3. Charles Summer, 1875 : 507.
  4. Edward St. John Parry, 1857 : Act IV, sence 3, 719.
  5. Théognis de Mégare, 2007 : en ligne.
  6. E. Cobham Brewer, 1898 : Online.
  7. "You go against that general maxim in the laws, which is ‘Fiat justitia et ruant coeli."
  8. Douglas O. Linder, n.d. : Online.
  9. Immanuel Kant, 1796 : 61.
  10. Immanuel Kant, n.d. : Online.
  11. Muriel Kasper, 2000 : 108.

อ้างอิง

[แก้]
  • กูเกิล. (2552, 31 กรกฎาคม). จงประสาทความยุติธรรม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 กรกฎาคม 2552).
  • Charles Summer. (1875). "The position and duties of the merchant : address before the Mercantile Library Association of Boston, Nov. 13, 1854". The Works of Charles Sumner, (Volume 3). Boston : Lee and Shephard.
  • Douglas O. Linder. (n.d.). Without fear or favor: judge James Edwin Horton and the trial of the "Scottsboro Boys". [Online]. Available: <click>. (Accessed: 27 July 2009).
  • E. Cobham Brewer. (1898). "Piso's Justice". Dictionary of Phrase and Fable. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 27 July 2009).
  • Edward St. John Parry. (1857). Heautontimorumenos. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 27 July 2009).
  • "Fiat justitia, ruat caelum". (2009). Merriam-Webster Online. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 27 July 2009).
  • Immanuel Kant.
  • Muriel Kasper. (2000). Reclams Lateinisches Zitaten-Lexikon. Ditzingen : Reclam. ISBN 3-15-010478-5.