ข้ามไปเนื้อหา

งูหางกระดิ่ง (สกุล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งูหางกระดิ่ง
งูหางกระดิ่งไซด์ไวน์เดอร์ (C. cerastes)
ปลายหางที่ทำให้เกิดเสียง
เสียงสั่นหาง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไฟลัมย่อย: Vertebrata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Serpentes
วงศ์: Viperidae
วงศ์ย่อย: Crotalinae
สกุล: Crotalus
Linnaeus, 1758
ชื่อพ้อง

งูหางกระดิ่ง (อังกฤษ: Rattlesnakes; สเปน: Crótalo) เป็นสกุลของงูพิษที่อยู่ในวงศ์งูแมวเซา (Viperidae) และวงศ์ย่อยงูหางกระดิ่ง (Crotalinae) ใช้ชื่อสกุลว่า Crotalus (/โคร-ทา-ลัส/)

โดยคำว่า Crotalus นั้นมาจากภาษากรีกคำว่า krotalon หมายถึง "สั่น" หรือ "Castanet"[2] มีลักษณะเด่น คือ เมื่อลอกคาบแล้ว เกล็ดบางส่วนที่ปลายหางจะไม่ลอกหลุดหมดไป เกล็ดเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นปล้อง ๆ เป็นสารประกอบเคอราติน เรียงตัวต่อเนื่องกันซึ่งเป็นส่วนซึ่งเมื่อสั่นเกล็ดส่วนนี้แล้วจะทำให้เกิดเสียงจากการปล้องแต่ละปล้องนั้นเสียดสีกระทบกัน เพื่อใช้เป็นสัญญาณเตือนและข่มขู่สัตว์ที่ใหญ่กว่าที่คุกคาม อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ นอกจากนี้แล้วยังมีหัวมีลักษณะแบน ดูคล้ายรูปสามเหลี่ยม รูม่านตาคล้ายรูม่านตาของแมว คือ เป็นรูปวงรีวางตัวในแนวตั้ง และจะมีความกว้างของหัวเป็นสองเท่าของลำคอ สามารถเห็นแอ่งรับรู้ความร้อนอินฟาเรดระหว่างตา และรูจมูกของแต่ละข้างของหัว ซึ่งเป็นบริเวณที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ทำให้งูสามารถรู้ตำแหน่งของเหยื่อได้แม้ในความมืด เนื่องจากเป็นงูที่หากินในเวลากลางคืน โดยกินเหยื่อเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู, กระต่าย หรือแพรรีด็อก เป็นต้น และหากินตามพื้นดินมากกว่าขึ้นต้นไม้ เป็นงูที่ออกลูกเป็นไข่ แต่ไข่จะฟักในตัวแม่งู ลูกงูจะออกมาในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ครั้งละ 5-12 ตัว ลูกงูที่ออกมามีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว (15-20 เซนติเมตร) ลูกงูจะมีปล้องเกล็ดที่หาง 1 ปล้อง สามารถผลิตพิษได้แต่จำนวนน้อย และพิษยังไม่รุนแรงมาก และจะโตเต็มวัยเมื่ออายุได้ 3 ปี[3]

สีของลำตัวต่างกันไปตามชนิด และระยะของการลอกคราบ โดยมีสีสันที่หลากหลายได้แก่ สีน้ำตาล, สีเหลือง, สีเทา, สีดำ, สีคล้ายกับฝุ่นชอล์ก และสีเขียวมะกอก เป็นต้น[4] [3]

จัดเป็นงูที่มีพิษร้ายแรงมาก ทำให้สัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า หรือมนุษย์ถึงแก่ความตายได้ เป็นงูที่พบแพร่กระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่ภาคใต้และภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกา, อเมริกากลาง จนถึงอเมริกาใต้ โดยที่ ๆ อาศัยจะเป็นพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ทะเลทราย อีกทั้งในหลายชนิดยังมีการเคลื่อนที่โดนเคลื่อนตัวไปด้านข้าง ๆ ด้วยวิธีการโยนตัวขึ้นและทิ้งดิ่งลงในแนวตั้ง ซึ่งเป็นวิธีการเคลื่อนที่ไหวที่ดีในพื้น ๆ ที่เป็นที่อ่อนนุ่มอย่าง พื้นทราย [5]

การจำแนก

[แก้]

ปัจจุบัน จำแนกได้ทั้งสิ้น 29 ชนิด [6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. McDiarmid RW, Campbell JA, Touré T. 1999. Snake Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference, vol. 1. Herpetologists' League. 511 pp. ISBN 1-893777-00-6 (series). ISBN 1-893777-01-4 (volume).
  2. Campbell JA, Lamar WW. 2004. The Venomous Reptiles of the Western Hemisphere. Comstock Publishing Associates, Ithaca and London. 870 pp. 1500 plates. ISBN 0-8014-4141-2.
  3. 3.0 3.1 Kardong, K. V. and Bels, V. L. (1998). Rattlesnake Strike Behavior: Kinematics. The Journal of Experimental Biology. 201: 837-850.
  4. Howard, W. E. (1994). Prevention and Control of Wildlife Damage. F-21-26.
  5. หน้า 111, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดย วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
  6. "Crotalus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Crotalus ที่วิกิสปีชีส์