ข้ามไปเนื้อหา

ฆาตกรจักรราศี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฆาตกรจักรราศี
ภาพสเกตช์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตามคำบอกเล่าของพยานในคดีฆาตกรรมที่เพรสซิดิโอไฮท์
ภูมิหลัง
ชื่ออื่นฆาตกรจักรราศี,
ฆาตกรโซดิแอก
การฆ่า
จำนวนผู้เสียหายเสียชีวิต 5 คน
บาดเจ็บ 2 คน
อีก 37 คน ที่มีการสันนิษฐานว่าถูกฆาตกรรมโดยโซดิแอก
ห้วงเวลาฆ่าค.ศ. 1968
(สันนิษฐานว่าเริ่มก่อเหตุตั้งแต่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1963)–ค.ศ. 1969
(สันนิษฐานว่าสิ้นสุดการก่อเหตุเมื่อ ค.ศ. 1972)
ประเทศ สหรัฐ
รัฐรัฐแคลิฟอร์เนีย สันนิษฐานว่าอาจรวมถึงในพื้นที่ของรัฐเนวาดา
วันถูกจับไม่เคยถูกนำตัวมาดำเนินคดี

ฆาตกรจักรราศี (อังกฤษ: Zodiac Killer) หรือ ฆาตกรโซดิแอก คือฆาตกรต่อเนื่องซึ่งก่อเหตุในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ในแถบพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย (สันนิษฐานว่ารวมถึงเขตรัฐเนวาดา) ซึ่งทางการไม่สามารถระบุถึงตัวตนที่แท้จริงและแรงจูงใจของเขาได้มาจนถึงปัจจุบัน นามว่า โซดิแอก หรือ จักรราศี ถูกประดิษฐ์ขึ้นใช้โดยตัวเขาเอง เขาแทนตัวเองด้วยชื่อนี้ในทุกจดหมายที่เขาส่งถึงกรมตำรวจซานฟรานซิสโกและถูกนำออกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้จักเขาในนามดังกล่าว ซึ่งในจดหมายประกอบด้วยรหัสลับสี่ชุด ปี ค.ศ. 2020 มีผู้ที่สามารถถอดรหัสของฆาตกรจักรราศีได้แล้ว 2 ชุด[1] ทำให้เหลือ 2 ใน 4 ชุดนี้ยังไม่มีบุคคลได้สามารถถอดได้จนถึงปัจจุบัน

โซดิแอกฆาตกรรมเหยื่อในท้องที่ วัลเลโฮ ทะเลสาบเบอรีเอสซา และนครซานฟรานซิสโก ระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. 1968 - ตุลาคม ค.ศ. 1969 (สันนิษฐานว่าตั้งแต่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1963 - ค.ศ. 1972) โดยเป็นชาย 4 คน หญิง 3 คน ทั้งหมดอายุระหว่าง 16 - 29 ปี และได้รับการยืนยันว่าทั้งหมดเป็นเหยื่อของโซดิแอกจริง ซึ่งจำนวนของเหยื่อที่นอกเหนือจาก 7 คนนี้ ถูกระบุเพิ่มเติมเข้าไปจากการสืบสวนที่ค้นพบความเชื่อมโยงของรูปแบบและลักษณะของเหยื่อที่ตรงกับ 7 คนก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีหลักฐานใดที่แน่ชัดพอจะพิสูจน์ถึงความเชื่อมโยงของเหยื่อที่เหลือได้

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2004 คดีซึ่งทำโดยกรมตำรวจซานฟรานซิสโกก็ได้หมดอายุความลง แต่ได้ถูกรื้อคดีขึ้นมาใหม่ในช่วงก่อนเดือนมีนาคม ค.ศ. 2007 คดียังคงเปิดอยู่ในท้องที่ของวัลเลโฮเคาท์ตี นาปาเคาท์ตี และในโซลาโนเคาท์ตี ซึ่งปัจจุบันศาลยุติธรรมแห่งแคลิฟอร์เนียยังคงเก็บรักษาเอกสารเกี่ยวกับเหยื่อของฆาตกรต่อเนื่องรายนี้

เหยื่อ

[แก้]

เหยื่อที่ได้รับการยืนยัน

[แก้]

แม้โซดิแอกจะอ้างในจดหมายที่ส่งไปยังสำนักหนังสือพิมพ์ว่าเขาได้ฆาตกรรมเหยื่อทั้งหมด 37 คน แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันเหยื่อเพียง 7 คนเท่านั้น มีเหยื่อเพศชาย 2 คนในรายชื่อนี้เท่านั้นที่รอดชีวิต เหยื่อที่ได้รับการยืนยันทั้งหมดได้แก่

วันที่ ชื่อ-สกุล อายุ พิกัดที่เกิดเหตุ รายละเอียด
20 ธันวาคม
ค.ศ. 1968
เดวิด อาร์เธอร์ ฟาราเดย์ 17 ปี 38°5′41.61″N 122°8′38.24″W / 38.0948917°N 122.1439556°W / 38.0948917; -122.1439556 ถูกยิงและเสียชีวิตบนถนนเลคเฮอร์แมนในเขตเมืองเบนิเซีย
เบตตี ลู เจนเซน 16 ปี
4 กรกฎาคม
ค.ศ. 1969
ไมเคิล เรนัลต์ แมกกู 19 ปี 38°7′33.56″N 122°11′27.94″W / 38.1259889°N 122.1910944°W / 38.1259889; -122.1910944 ถูกยิงที่ลานจอดรถของสนามกอล์ฟบลูรอคสปริงส์นอกเมืองวัลเลโฮ ดาร์ลีนเสียชีวิตขณะถูกนำส่งโรงพยาบาลไกเซอร์ฟาวน์เดชัน ส่วนไมเคิลรอดชีวิต
ดาร์ลีน เอลิซาเบท เฟอร์ริน 22 ปี
27 กันยายน
ค.ศ. 1969
ไบรอัน แคลวิน ฮาร์ทเนล 20 ปี 38°33′48.29″N 122°13′54.43″W / 38.5634139°N 122.2317861°W / 38.5634139; -122.2317861 ถูกแทงหลายครั้งทะเลสาบเบอรีเอสซา เคาท์ตีนาปา ไบรอันรอดชีวิตจากแผลถูกแทงบนแผ่นหลัง 6 จุด แต่เซซีเลียเสียชีวิต ใน 2 วันต่อมาเนื่องจากทนพิษบาดแผลไม่ไหว
เซซีเลีย แอนน์ เชพเพิร์ด 22 ปี
11 ตุลาคม
ค.ศ. 1969
พอล ลี สไตน์ 29 ปี 37°47′19.47″N 122°27′25.54″W / 37.7887417°N 122.4570944°W / 37.7887417; -122.4570944 ถูกยิงและเสียชีวิตที่เพรสซิดิโอไฮท์ในเขตเมืองซานฟรานซิสโก

เหยื่อที่ไม่ได้รับการยืนยัน

[แก้]

จากผู้เสียชีวิตในเหตุฆาตกรรมที่ได้รับการสงสัยว่าอาจเชื่อมโยงถึงโซดิแอก ไม่มีผู้ใดในรายชื่อนี้ที่ได้รับการยืนยัน

วันที่ ชื่อ-สกุล อายุ พิกัดที่เกิดเหตุ รายละเอียด
4 มิถุนายน ค.ศ. 1963 โรเบิร์ต โดมิโกส์ 18 ปี 34°28′11.20″N 120°10′7.14″W / 34.4697778°N 120.1686500°W / 34.4697778; -120.1686500 ถูกยิงและเสียชีวิตที่ชายหาดใกล้ ๆ กับเมืองลอมพอค รัฐแคลิฟอร์เนีย ลินดาและโรเบิร์ตถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อเหยื่อเนื่องจากความเหมือนกันของคดี โดยเฉพาะลักษณะการถูกฆาตกรรมของทั้งคู่ที่คล้ายคลึงกับการถูกฆาตกรรมที่ทะเลสาบเบอรีเอสซาใน 6 ปีต่อมา
ลินดา เอ็ดเวิร์ด 17 ปี
30 ธันวาคม ค.ศ. 1966 เชอร์รี โจ เบทส์ 18 ปี 33°58′19″N 117°22′52″W / 33.97194°N 117.38111°W / 33.97194; -117.38111 ถูกแทงหลายจุดจนเสียชีวิตและเกือบถูกตัดศีรษะที่วิทยาลัยสังคมริเวอร์ไซด์ เคาท์ตีริเวอร์ไซด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เชอร์รีถูกสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกับคดีของโซดิแอก และถูกเปิดเผย 4 ปีหลังจากที่โซดิแอกเริ่มก่อเหตุ โดยนักหนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ พอล เอเวอร์รี่ ซึ่งเขาค้นพบความเหมือนถึงลักษณะการถูกทำร้ายและสภาวะแวดล้อม ณ จุดที่เชอร์รีถูกฆาตกรรม
22 มีนาคม ค.ศ. 1970 แคธลีน จอห์นส์ 22 ปี 37°38′16.14″N 121°23′55.22″W / 37.6378167°N 121.3986722°W / 37.6378167; -121.3986722 อ้างว่าถูกลักพาตัวบนทางหลวงหมายเลข 132 หลักไมล์ที่ 580 ทางตะวันตกของเมืองโมเดสโต เธอเล่าว่าเธอหนีออกมาจากรถที่เธอนั่งมาด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้รถของเธอเสียและมีชายแปลกหน้าชักชวนว่าจะไปส่ง เธอตอบตกลงและนำลูกสาวแบเบาะของเธอไปด้วย จนเมื่อชายผู้นั้นบอกว่าจะฆ่าเธอและลูก เธอจึงหนีลงมาจากรถขณะที่ชายแปลกหน้าเผลอบริเวณระหว่างเมืองสตอกตันกับเมืองแพทเทอสัน
6 กันยายน ค.ศ. 1970 ดอนนา ลาส 25 ปี ไม่ทราบแน่ชัด พบเห็นครั้งสุดท้ายในเมืองสเตทไลน์ รัฐเนวาดาโดยมีโปสการ์ดถูกส่งมาจากฟอร์เรสไฟน์คอนโดมิเนียม ใกล้กับทะเลสาบทาโฮ มาถึงสำนักหนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ อ้างว่าการหายตัวไปของดอนนา ลาส เกี่ยวข้องกับโซดิแอก แต่ไม่มีหลักฐานใดที่เกี่ยวพันโดยตรงกับการหายตัวไปของดอนนา ลาสและโซดิแอก
สัญลักษณ์ประจำตัวฆาตกร

เส้นเวลา

[แก้]

ถนนเลคเฮอร์แมน

[แก้]

คุณลักษณะของเหยื่อรายแรกของโซดิแอกกลับกลายเป็นเด็กวัยรุ่นมัธยมปลาย เดวิด อาร์เธอร์ ฟาราเดย์ อายุ 17 ปี และ เบตตี ลู เจนเซน อายุ 16 ปี 20 ธันวาคม ค.ศ. 1968 บนถนนเลคเฮอร์แมนในเขตเมืองเบนิเซีย ทั้งคู่อยู่ในระหว่างการเดทครั้งแรก และมีแผนที่จะไปคอนเสิร์ตวันคริสต์มาสที่โฮแกนไฮ ประมาณ 2 หรือ 3 ช่วงตึกจากบ้านของเบตตี แทนที่ทั้งคู่จะแวะบ้านเพื่อนและแวะทานอาหารค่ำที่ร้านอาหารท้องถิ่น เดวิดกลับบึ่งรถไปตามถนนเลคเฮอร์แมน ณ เวลาประมาณ 22.15 น. เดวิดหยุดรถยี่ห้อแรมเบลอร์ซึ่งเป็นของแม่ และจอดบริเวณไหล่ทาง บริเวณนั้นเองรู้จักทั่วไปกันในหมู่วัยรุ่นว่าเป็น "ไหล่ทางของคู่รัก" ไม่นานหลังจากล่วงเลยเวลา 23.00 น. รถยนต์อีกคันจอดข้าง ๆ รถของทั้งคู่ ก่อนที่คนขับจะลงมาจากรถพร้อมปืนพกและออกคำสั่งให้ทั้งคู่ออกมาจากรถแรมเบลอร์ เบตตีเป็นคนแรกที่ก้าวออกจากรถ ในขณะที่เดวิดกำลังก้าวออกจากรถได้ครึ่งทาง ชายแปลกหน้ายิ่งปืนเข้าที่หัวของเขา ด้วยความตื่นตระหนกเบตตีวิ่งหนีสุดชีวิต เธอถูกยิงที่หลัง 5 นัด จนล้มลงกับพื้นห่างจากตัวรถ 28 ฟุต สักพักชายแปลกหน้าจึงขับรถออกไป ศพทั้งสองถูกพบไม่กี่นาทีหลังจากเกิดเหตุโดยสเตลลา บอร์จส์ ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ละแวกนั้น สำนักงานนายอำเภอของโซลาโนเคาท์ตีรับผิดชอบสืบสวนเหตุฆาตกรรมนี้ แต่ไม่มีความคืบหน้าของการสืบสวนเลย

บลูรอคสปริงส์

[แก้]

ช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนตรงของวันที่ 4 กรกฎาคม ย่างเข้าวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 ไมเคิล เรนัลต์ แมกกู อายุ 19 ปี และ ดาร์ลีน เอลิซาเบท เฟอร์ริน อายุ 22 ปี ขับรถออกไปกลางดึกไปยังสนามกอล์ฟบลูรอคสปริงส์, วัลเลโฮเคาท์ตี ที่ซึ่งห่างออกไปราว 1 ไมล์จากสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมบนถนนเลคเฮอร์แมน ไมเคิลจอดรถ ขณะที่ทั้งสองอยู่บนรถของดาร์ลีน รถยนต์อีกคันขับเข้ามาและจอดข้าง ๆ ทั้งคู่ แต่รถยนต์คันดังกล่าวขับออกไปแทบจะทันทีที่จอด ก่อนจะกลับมาในอีกประมาณ 10 นาทีต่อมาและจอดข้างหลังทั้งคู่ ทันทีที่รถคันดังกล่าวจอดสนิท คนขับก้าวลงจากรถและตรงดิ่งสู่ประตูข้างคนขับของรถที่ซึ่งไมเคิลและดาร์ลีนนั่งอยู่ มือข้างหนึ่งของชายแปลกหน้าถือไฟฉายขณะที่อีกข้างถือปืนพกลูเจอร์ขนาด 9 มิลลิเมตร เขาส่องไฟฉายเข้าตาของทั้งสองเพื่อทำให้มองไม่เห็น ก่อนจะยิงทั้งคู่คนละ 3 ครั้ง จากนั้นเขาจึงเริ่มเดินกลับไปยังรถของตน ทันทีที่เสียงร้องคร่ำครวญจากความเจ็บปวดของไมเคิลดังขึ้น เขาจึงเดินกลับมาที่รถและยิงทั้งคู่ซ้ำอีกคนละ 2 ครั้ง และขับรถจากไป

เวลา 12.40 น. ของวันต่อมา มีผู้ชายคนหนึ่งโทรศัพท์มายังสถานีตำรวจวัลเลโฮ รายงานและอ้างความรับผิดชอบการกระทำดังกล่าว เขายังกล่าวอ้างความรับผิดชอบต่อคดีของเดวิด อาร์เธอร์ ฟาราเดย์ และ เบตตี ลู เจนเซน เหตุฆาตกรรมซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ 6 เดือนครึ่ง ตำรวจแกะรอยโทรศัพท์จนพบว่าชายคนดังกล่าวโทรมาจากตู้โทรศัพท์ในสถานีน้ำมันบนถนนสปริงส์ ตู้ดังกล่าวมีระยะห่างสามส่วนสิบไมล์จากบ้านของดาร์ลีน และห่างจากสถานีตำรวจวัลเลโฮเพียงไม่กี่ช่วงตึก ดาร์ลีนเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ขณะที่ไมเคิลรอดชีวิตแม้จะถูกยิงที่ใบหน้า, คอและหน้าอก

จดหมายถ้อยแถลงฉบับแรก

[แก้]
ถ้อยคำจากการถอดชุดรหัสลับของโซดิแอกที่ส่งมาพร้อมกับจดหมาย ขณะที่ 18 ตัวอักษรสุดท้ายยังไม่มีผู้ใดแปลออก

1 สิงหาคม ค.ศ. 1969 จดหมายสามฉบับที่ถูกจัดเตรียมไว้โดยฆาตกร แต่ละฉบับถูกส่งไปยังสำนักหนังสือพิมพ์ 3 แห่ง ได้แก่ วัลเลโฮไทม์เฮรัลด์, ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์และซานฟรานซิสโกเอ็กแซมิเนอร์ ลายลักษณ์อักษรที่แทบจะเหมือนกันของทั้งสามฉบับให้ใจความถึงการกล่าวอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุฆาตกรรมที่ถนนเลคเฮอร์แมนและที่บลูรอคสปริงส์ ในแต่ละฉบับยังแนบชุดรหัสลับ 3 ชุด โดยใช้ 408 สัญลักษณ์ ที่ซึ่งฆาตกรอ้างถึงความเป็นลักษณะเฉพาะของรหัสลับที่เขาประดิษฐ์ขึ้น เขายังข่มขู่ให้สำนักหนังสือพิมพ์ทั้งสามตีพิมพ์เนื้อความจากจดหมายของเขาลงบนหน้าหนึ่งของแต่ละฉบับ มิเช่นนั้นเขาจะ "ฆาตกรรมผู้คนในเวลากลางคืนตลอดช่วงสุดสัปดาห์นั้น และฆ่าต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบหนึ่งโหล" (12 คน) ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ตีพิมพ์ชุดรหัสลับชุดที่สามลงบนหน้าที่ 4 ของฉบับวันต่อมา ข้าง ๆ รหัสลับ หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์คำพูดของหัวหน้าสารวัตตำรวจ สน.วัลเลโฮ แจค อี. สติทช์ ที่ว่า "เราไม่พอใจที่จดหมายถูกเขียนขึ้นโดยฆาตกร" และท้าทายให้ฆาตกรส่งจดหมายมาอีกครั้งพร้อมกับข้อเท็จจริงที่สามารถระบุถึงบุคลิกลักษณะของเขาและสามารถยืนยันได้ว่าเขาเป็นผู้ก่อเหตุที่แท้จริง[2] ต่อมาคำขู่ของฆาตกรไม่เคยเกิดขึ้นจริง และชุดรหัสลับทั้งสามถูกตีพิมพ์ในที่สุด

7 สิงหาคม ค.ศ. 1969 จดหมายอีกฉบับถูกส่งไปที่ ซานฟรานซิสโกเอ็กแซมิเนอร์ ด้วยคำขึ้นต้นจดหมายที่ว่า "Dear Editor This is the Zodiac speaking" คำแปล: "ถึงบรรณาธิการ นี้คือถ้อยแถลงของโซดิแอก" ที่ซึ่งต่อมาเขาใช้เป็นคำขึ้นต้นจดหมายกับทุกฉบับที่เขาส่งมา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขาไปในที่สุด และวันนั้นเองที่เขาเริ่มแทนตัวเองด้วยชื่อ "โซดิแอก" เนื้อความในจดหมายจงใจที่จะตอบคำท้าทายของหัวหน้าสารวัตตำรวจ สน.วัลเลโฮ ที่ซึ่งท้าทายให้เขาเล่าถึงรายละเอียดของฆาตกรรม เขาจึงเล่าถึงขั้นตอนและวิธีการฆ่าเดวิด, เบตตีและดาร์ลีน ในจดหมายยังกล่าวถึงรายละเอียดของฆาตกรรมซึ่งไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน เช่นเดียวกับข้อความที่โซดิแอกส่งถึงตำรวจว่า "they will have me" 8 สิงหาคม ค.ศ. 1969 โดนัลด์ และ เบททีย์ ฮาร์เดิน จากเมืองซาลินาส, มอนเทอรีเคาท์ตี, รัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถถอดรหัสชุดหนึ่งของโซดิแอกที่ตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์ได้[3] โดยที่ไม่พบชื่อของฆาตกรปรากฏในชุดรหัส ใจความดังนี้

I LIKE KILLING PEOPLE BECAUSE IT IS SO MUCH FUN IT IS MORE FUN THAN KILLING WILD GAME IN THE FORREST BECAUSE MAN IS THE MOST DANGEROUS ANIMAL OF ALL TO KILL SOMETHING GIVES ME THE MOST THRILLING EXPERENCE IT IS EVEN BETTER THAN GETTING YOUR ROCKS OFF WITH A GIRL THE BEST PART OF IT IS THAT WHEN I DIE I WILL BE REBORN IN PARADICE AND ALL THE I HAVE KILLED WILL BECOME MY SLAVES I WILL NOT GIVE YOU MY NAME BECAUSE YOU WILL TRY TO SLOI DOWN OR STOP MY COLLECTING OF SLAVES FOR MY AFTERLIFE EBEORIETEMETHHPITI

คำแปล :

ฉันชอบฆ่าผู้คนเพราะว่ามันสุดแสนจะสนุก มันสนุกกว่าเกมล่าสัตว์ในป่าเสียอีก เพราะมนุษย์คือสัตว์ที่อันตรายที่สุดจากทั้งหมด จากการฆ่าบางสิ่งบางอย่างมันให้ประสบการณ์อันสุดแสนจะสยดสยองให้ฉัน มันดีกว่าประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงเสียอีก ช่วงที่ดีที่สุดของมันคือเมื่อฉันตาย ฉันจะไปเกิดใหม่บนสวรรค์ และทั้งหมดที่ฉันได้ฆ่าไปจะกลายมาเป็นทาสของฉัน ฉันจะไม่ให้ชื่อของฉันไป เพราะพวกคุณจะพยายามขัดขวางหรือยับยั้งการสะสมทาสสำหรับชีวิตหลังความตายของฉัน EBEORIETEMETHHPITI

อักษรภาษาอังกฤษ 18 ตัวสุดท้ายที่ถอดได้ไม่มีผู้ใดเข้าใจถึงความหมายของมัน

ทะเลสาบเบอรีเอสซา

[แก้]

27 กันยายน ค.ศ. 1969 ไบรอัน แคลวิน ฮาร์ทเนล อายุ 20 ปี และ เซซีเลีย แอนน์ เชพเพิร์ด อายุ 22 ปี ทั้งคู่กำลังปิคนิคกันที่บนเกาะกลางทะเลสาบที่มีทางเชื่อมสู่แผ่นดินเป็นทรายไปยังต้นโอ๊คแฝดสองต้น ชายผู้หนึ่งจู่โจมทั้งคู่โดยสวมใส่ชุดสีดำแบบเพชฌฆาต ส่วมหมวกสีดำคลุมใบหน้า และสวมแว่นตากันแดด บนหน้าอกมีลวดลายเป็นรูปวงกลมสีขาวมีกากบาตตรงกลาง ในมือถือปืนพกที่ซึ่งไบรอันเชื่อว่าน่าจะเป็นปืน 0.45 เอซีพี ไบรอันพยายามคุยกับชายคนดังกล่าวและได้ข้อมูลมาว่าเขาเป็นนักโทษหลบหนีออกมาจากเรือนจำที่รัฐมอนแทนา ซึ่งเขาอ้างว่าได้ฆ่าผู้คุมและขโมยรถหนีออกมา และกล่าวต่ออีกว่าต้องการรถและเงินจากทั้งคู่เพื่อเดินทางต่อไปยังเม็กซิโก เขานำเชือกที่พกมาส่งให้กับเซซิเลียและออกคำสั่งให้เธอมัดข้อมือของไบรอัน ขณะที่ไบรอันนอนหมอบคว่ำหน้า จากนั้นชายชุดคลุมคนดังกล่าวให้เซซิเลียนอนคว่ำเช่นเดียวกับไบรอันก่อนที่จะมัดข้อมือเธอเช่นกัน เขาเดินไปตรวจเชือกที่เซซิเลียมัดไบรอันและพบว่าเธอมัดมันอย่างหลวม ๆ เขาจึงมัดมันให้แน่นขึ้น ไบรอันคิดในใจว่านี้เป็นการปล้นที่แปลกประหลาด แต่ทันใดนั้นชายชุดคลุมก็คว้ามีดออกมาแล้วแทงทั้งคู่ซ้ำไปซ้ำมา ทั้งคู่ร้องด้วยความเจ็บปวด จากนั้นเขาจึงเดินไปยังถนนน็อกวิลล์ที่ซึ่งรถของทั้งคู่จอดอยู่ เขาวาดรูปวงกลมขีดกากบาดด้วยปากกาหมึกดำมีข้อความว่า "Vallejo/12-20-68/7-4-69/Sept 27-69-6:30/by knife"[4][5] บนประตูรถ เวลา 19.40 น. ชายคนดังกล่าวโทรศัพท์ไปแจ้งสำนักงานนายอำเภอของนาปาเคาท์ตีจากตู้โทรศัพท์สาธารณและรายงานการก่ออาชญากรรมของเขา ไม่กี่นาทีต่อมาตำรวจแกะรอยโทรศัพท์และพบว่ามันถูกโทรมาจากตู้โทรศัพท์ที่ร้านทำความสะอาดรถบนถนนหลักของนาปาเคาท์ตี ไม่กี่ช่วงตึกจากสำนักงานอำเภอ ห่างจากจุดเกิดเหตุทำร้ายร่างกายเซซิเลียและไบรอันออกไปราว 27 ไมล์ นักสืบรุดไปยังตู้โทรศัพท์ดังกล่าวและอนุญาตให้เก็บรอยนิ้วมือที่ยังคงสดใหม่ แต่รอยนิ้วมือดังกล่าวไม่สามารถตรวจตรงกับผู้ต้องสงสัยรายใดเลย

ชายคนหนึ่งและลูกชายกำลังตกปลาบริเวณใกล้เคียง ทั้งคู่ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือและเสียงร้องโอดครวญจึงเดินเข้าไปและพบทั้งสองเข้า ชายผู้นั้นจึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานให้มาช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานนายอำเภอนาปาเคาท์ตี เดฟ คอลลินส์ และ เรย์ แลนด์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐคนแรกที่ไปยังจุดเกิดเหตุ เซซิเลียยังคงมีสติและเล่ารายละเอียดของชายชุดคลุมให้แก่เดฟฟัง ทั้งคู่ถูกส่งไปยังโรงพยาบาลควีนออฟเดอะวัลเลย์โดยรถพยาบาล เซซิเลียเกิดอาการโคมาระหว่างทางสู่โรงพยาบาลและเธอไม่ได้สติกลับมาอีกเลย สองวันต่อมาเธอจึงเสียชีวิตลงขณะที่ไบรอันรอดชีวิตและเล่ารายละเอียดทั้งหมดให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อบันทึกเป็นเอกสารคำให้การ นักสืบของนาปาเคาท์ตี เคน แนร์โลว ผู้ซึ่งรับโอนคดีมาสืบสวนตั้งแต่ระยะแรกติดตามคดีมาโดยตลอดจนกระทั่งเขาปลดเกษียณในปี ค.ศ. 1987[6]

เพรสซิดิโอไฮท์

[แก้]

11 ตุลาคม ค.ศ. 1969 ชายผู้หนึ่งใช้บริการรถแท็กซี่ของ พอล ลี สไตน์ อายุ 29 ปี ชายคนดังกล่าวขึ้นรถบนแยกที่ถนนเมสันตัดกับถนนเกียร์รีในตัวเมืองซานฟรานซิสโก จากนั้นเขาขอให้ไปส่งที่แยกถนนวอชิงตันตัดกับถนนเมเปิล ในเพรสซิดิโอไฮท์ เมื่อถึงสถานที่ดังกล่าวพอลกลับขับเลยถนนเมเปิลดังกล่าวไป 1 ช่วงตึกและหยุดตรงที่ถนนวอชิงตันตัดกับถนนเชอร์รี โดยที่ไม่ไม่มีผู้ใดทราบเหตุผล จากนั้นชายที่โดยสารมาก็ยิงเข้าที่หัวของพอลด้วยปืนขนาด 9 มิลลิเมตร จากนั้นหยิบกระเป๋าเงินและกุญแจรถของพอลไป เขายังฉีกชายเสื้อของพอลไปด้วย ขณะนั้นเป็นเวลา 21.55 น. โดยที่ไม่รู้ตัวชายคนดังกล่าวถูกจ้องมองโดยวัยรุ่นสามคนจากฝั่งตรงข้าม ทั้งหมดโทรศัพท์ไปหาตำรวจว่าการก่ออาชญากรรมกำลังดำเนินอยู่ วัยรุ่นเล่าว่าคนร้ายเช็ดรอยเลือดและเดินจากไปในทิศที่มุ่งไปยังทางเหนือของเพรสซิดิโอ ตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุไม่กี่นาทีถัดมา วัยรุ่นทั้งสามอธิบายแก่ตำรวจว่าชายคนนั้นเพิ่งจะเดินออกไปและยังคงอยู่ในบริเวณนี้

สองช่วงตึกจากที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ดอน ฟูค ก็ได้รับฟังการแจ้งเหตุของวัยรุ่นทั้งสามจากวิทยุตำรวจเช่นกัน เขาพบเห็นชายผิวขาวเดินไปตามทางเท้าแล้วก้าวขึ้นบันไดหน้าบ้านหลังหนึ่งซึ่งอยู่ฝากทางเหนือของถนน การพบเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังได้รับแจ้งเหตุเพียง 5 - 10 นาทีเท่านั้น คู่หูที่นั่งมาด้วย เอริค ซีล์ม ไม่เห็นชายคนดังกล่าว ทั้งคู่ไม่ได้เอะใจกับชายผู้นั้นเลยเนื่องจากวิทยุตำรวจสั่งการให้เขาคอยมองหาชายผิวดำในบริเวณนั้น ทั่งคู่จึงขับรถตำรวจเลยชายผู้นั้นไปโดยไม่ได้หยุดรถ เมื่อถึงจุดเกิดเหตุดอนได้รับการบอกเล่าโดยเจ้าหน้าที่เพลลิเซตติว่าที่จริงแล้วเรากำลังมองหาชายผิวขาวไม่ใช่ชายผิวดำ ดอนจึงรู้ทันทีว่าพวกเขาคลาดกับคนร้ายไปเสียแล้ว ดอนจึงสรุปว่าคนร้ายเดินกลับเส้นทางเดิมที่เขานั่งรถมาและหนีไปทางเพรสซิดิโอ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตรวจสอบรถแท้กซี่คันดังกล่าวแต่มันถูกทำความสะอาดไว้โดยคนร้ายแล้ว รอยนิ้วมือที่พบเพียงเล็กน้อยก็ไม่ตรงกับผู้ใดเลย วัยรุ่นทั้งสมติดตามตำรวจไปยังสถานีตำรวจเพื่ออธิบายลักษณะของคนร้าย ก่อนจะกลับไปอีกครั้งเพื่อให้การใหม่ คนร้ายถูกสันนิษฐานว่าอายุระหว่าง 35 - 45 ปี นักสืบบิล อาร์มสตรอง และ เดฟ ทอสชี รับเข้ามาดูแลการสืบสวนนี้ด้วยตัวเอง กรมตำรวจซานฟรานซิสโกสืบสวนและตั้งรายชื่อผู้ต้องสงสัยได้กว่า 2,500 คนตลอดช่วงหนึ่งปีนั้น

จดหมายและรหัสอีกหลายฉบับที่ตามมา

[แก้]

14 ตุลาคม ค.ศ. 1969 ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ ได้รับจดหมายที่ส่งมาจากโซดิแอก ในฉบับนี้มีชิ้นส่วนชายเสื้อของพอล สไตน์แนบมาด้วย และนั้นเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้ก่อเหตุที่เพรสซิดิโอไฮท์ ในจดหมายยังมีคำขู่ระบุว่าเขาจะยิงรถโรงเรียน เวลา 2.00 น. ของวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1969 บุคคลนิรนามอ้างตัวว่าเป็นโซดิแอกโทรศัพท์ไปยังกรมตำรวจโอคแลนด์ ว่าเขาต้องการหนึ่งในนักกฎหมายชื่อดังระหว่าง เอฟ. บี เบย์ลี หรือ เมลวิน เบลลิ ให้ไปออกรายการทอล์คโชว์ของ จิม ดันบาร์ ในช่วงเช้า ปรากฏว่า เอฟ. บี เบย์ลี ไม่สามารถไปร่วมรายการได้ เมลวินจึงได้ไปออกอากาศในช่วงเช้าของวันนั้นแทน เขาร้องขอให้ผู้ชมคอยติดตามการถ่ายทอดสด ในที่สุดบุคคลนิรนามโทรศัพท์เข้ามาในรายการหลายครั้ง เขาอ้างว่าตัวเขาชื่อแซม เมลวินจึงนัดพบเขาผ่านรายการที่เมืองดาลี แต่ชายคนดังกล่าวกลับไม่ปรากฏตัวออกมา เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ซึ่งเคยได้ยินเสียงของโซดิแอกได้ฟังเสียงของ "แซม" และสรุปว่าเสียงของแซมไม่ใช่เสียงของโซดิแอก นั้นทำให้ตำรวจเชื่อว่าผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาในรายการไม่ใช่ฆาตกรตัวจริง การโทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งในภายหลังถูกดักฟังและแกะรอยโดยเจ้าหน้าที่ จนพบว่ามันถูกโทรเข้ามาจากโรงพยาบาลนาปาโดยผู้ป่วยโรคจิต วันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1969 โซดิแอกส่งจดหมายมาและภายในมีรหัสลับมาอีกชุดมีตัวสัญลักษณ์ทั้งหมด 340 ตัว 9 พฤศจิกายน วันถัดมาเขาได้ส่งจดหมายมาอีกฉบับมีความยาวทั้งหมด 7 หน้า ในเนื้อความระบุว่า วันที่เขาฆาตกรรม พอล สไตน์ เขาอ้างว่าหลังเขาเดินออกมาจากจุดเกิดเหตุมีตำรวจสองคนหยุดและพูดคุยกับเขาเป็นเวลา 3 นาที โดยซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ได้ตัดส่วนหนึ่งของจดหมายแล้วออกตีพิมพ์ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ซึ่งฉบับนั้นยังตีพิมพ์คำกล่าวอ้างของโซดิแอกด้วย ในวันนั้นเอง ดอน ฟูค ได้จดบันทึกอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนนั้น ส่วนรหัสลับชุดนั้นไม่เคยมีผู้ใดถอดมันออกเลย

วันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1969 หนึ่งปีพอดีกับที่ เดวิด ฟาราเดย์ และ เบตตี ลู เจนเซน ถูกยิงเสียชีวิตโดยฆาตกร โซดิแอกส่งจดหมายไปยังบ้านของนักกฎหมายเมลวิน เบลลิ ในจดหมายยังมีเศษชิ้นส่วนเสื้อของพอล สไตน์แนบมาด้วย เนื้อความระบุถึงการขอความช่วยเหลือจากเมลวิน

โมเดสโต

[แก้]

ในคืนวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1970 แคธลีน จอห์นส์ อายุ 22 ปี กำลังขับรถจากซานเบอร์นาดิโอไปยังเพตาลูมาเพื่อไปเยี่ยมแม่ของเธอ เธอตั้งครรภ์ได้ 7 เดือนและมีลูกสาววัย 10 เดือนอยู่บนเบาะฝั่งข้างคนขับ ขณะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกบนทางหลวงหมายเลข 132 ใกล้เมืองโมเดสโต รถยนต์ที่ขับตามมาด้านหลังเริ่มบีบแตรและสาดไฟสูงใส่เธอ เธอจึงลดความเร็วลงและหยุดรถบนไหล่ทาง รถคันดังกล่าวจอดด้านหลัง คนขับก้าวลงมาและปรากฏว่าเป็นผู้ชาย เขาบอกกับเธอว่าเขาสังเกตเห็นล้อหลังด้านขวาของเธอแกว่งไปมาและเกรงว่าจะเกิดอันตรายจึงอาสาว่าจะช่วยขันน็อตของล้อให้แน่นขึ้น เธอจึงยินยอมให้ชายคนดังกล่าวช่วย หลังจากเขาซ่อมมันเสร็จสิ้นเขากลับขึ้นรถและขับออกไป แคธลีนกลับขึ้นรถของเธอและเริ่มเดินทางต่อ สักพักถัดมาตัวรถสั่นอย่างรุนแรงจนล้อหลังด้านขวาหลุดออกมา และชายคนดังกล่าวก็ขับย้อนกลับมา เขาอาสาจะไปส่งเธอที่สถานีบริการน้ำมันที่ใกล้ที่สุดเธอตอบตกลงและนำลูกสาววัย 10 เดือนของเธอขึ้นรถชองชายคนดังกล่าว ส่วนรถยนต์ของเธอถูกจอดทิ้งไว้ข้างถนน พวกเขาขับผ่านสถานีบริการน้ำมันหลายแห่งแต่เขาไม่ยอมหยุดรถที่สถานีบริการน้ำมันสักแห่งเลย เป็นเวลาประมาณหนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ชายคนดังกล่าวขับรถวนเวียนไปมาบนถนนสายเล็ก ๆ บริเวณเมืองเทรซี เมื่อแคธลีนถามเขาว่าทำไมไม่หยุดรถเขาก็บ่ายเบี่ยงประเด็นตลอด ต่อมาเขามาหยุดรถบนแยกแห่งหนึ่งและบอกกับแคธลีนว่าเขาจะฆ่าเธอก่อนแล้วจากนั้นจะโยนร่างของเธอออกไปตามด้วยร่างของลูกสาววัย 10 เดือนของเธอด้วย แคธลีนตกใจถึงขีดสุดและกระโดดหนีออกมาจากรถพร้อมกับลูกสาววัย 10 เดือนของเธอด้วย เธอวิ่งหนีเข้าไปซ่อนตัวในดงหญ้า ชายคนดังกล่าวจึงขึ้นรถและขับออกไป เธอขอความช่วยเหลือจากผู้สัญจรไปมาจนมีผู้มาส่งเธอที่สถานีตำรวจเมืองแพทเทอสัน

ขณะที่เธอให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เธอก็แนะนำว่าการลักพาตัวเธอครั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับฆาตกรที่ฆ่าพอล สไตน์ เนื่องจากเธอคิดว่าเป็นคนเดียวกับที่เพิ่งจะลักพาตัวเธอกับลูกสาว ตำรวจระแวงว่าคนร้ายอาจจะย้อนกลับมาฆ่าเธอและลูกสาว ตำรวจจึงให้เธออยู่บริเวณใกล้เคียงที่ร้านมิลส์เรสเตอรองต์ ต่อมาตำรวจพบรถยนต์ของเธอในสภาพถูกทุบทำลายและถูกวางเพลิง และตำรวจยังวิเคราะห์ต่ออีกว่าผู้กระทำอาจมีความโกรธแค้นอะไรบางอย่าง

มีการถกเถียงเป็นวงกว้างเกี่ยวกับการลักพาตัวแคธลีน ผู้ที่สนับสนุนเธอเชื่อว่าคนร้ายพยายามจะฆ่าสองแม่ลูกขณะขับรถวนเวียนไปมา แต่เอกสารรายงานของตำรวจปฏิเสธความเชื่อนั้น ส่วนข่าวของแคธลีนที่พิมพ์โดยพอล เอเวอร์รี่ แห่งหนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ รายงานว่าขณะที่เธอซ่อนตัวอยู่ในดงหญ้าคนร้ายทิ้งรถไว้และใช้ไฟฉายออกตามหาเธอ แต่เธอเล่าว่าชายคนดังกล่าวไม่ได้ก้าวออกมาจากรถยนต์ของเขาเลย และยังมีความเชื่อที่โต้แยงกันเกี่ยวกับสถานที่ที่แคธลีนจอดรถของเธอทิ้งเอาไว้ บางเชื่อว่ามันถูกย้ายตำแหน่งก่อนจะเผา แต่บางคนเชื่อว่ามันอยู่ตรงตำแหน่งนั้นตั้งแต่แรก นอกจากนี้สาธารณชนยังตั้งคำถามว่าเธออาจจะเป็นหนึ่งในเหยื่อของฆาตกรโซดิแอกอีกคนหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่สงสัยกันเป็นเวลาหลายปี

การสื่อสารที่ซับซ้อนของโซดิแอก

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1970 โซดิแอกยังคงติดต่อและสื่อสารกับสาธารณชนและตำรวจผ่านทางไปรษณีย์และออกตีพิมพ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ ในจดหมายที่ประทับตราไปรษณียากรของวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1970 เขาได้เขียนบนจดหมายว่า "My name is ___" แล้วตามด้วยรหัสลับ 13 ตัว เขายังกล่าวอีกว่าไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการวางระเบิดที่สถานีตำรวจในนครซานฟรานซิสโกเมื่อไม่นานมานี้ (เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1970) แต่กล่าวต่อว่า "นี้เป็นอีกหนึ่งความน่ายินดีที่สามารถฆ่าตำรวจได้ มันน่ายินดีกว่าการแค่ทำร้ายเพราะตำรวจมันสามารถยิงเรากลับได้" เขายังวาดแผนภาพแสดงวิธีที่เขาจะประกอบระเบิดขึ้นเองซึ่งเขาอ้างว่าจะนำมันไปใช้ระเบิดโรงเรียน ด้านล่างแผนภาพเขาทิ้งท้ายว่า " = 10 SFPD = 0"

(สัญลักษณ์ หมายถึงตัวโซดิแอกเอง ส่วน SFPD ย่อมาจาก San Francisco Police Department ซึ่งหมายถึงกรมตำรวจซานฟรานซิสโกนั่นเอง)

วันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1970 เขาได้ส่งจดหมายอีกฉบับมาที่ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ เขาระบุในจดหมายว่า "หวังว่าพวกคุณคงมีความสุขกับตัวเอง เมื่อฉันจุดระเบิดของฉัน" ตามมาด้วยสัญลักษณ์วงกลมขีดกากบาทประจำตัวเขา ด้านหลังยังมีคำขู่ที่จะใช้รถโดยสารเป็นตัวระเบิดกำกับไว้ด้วย หนังสือพิมพ์ออกตีพิมมพ์รายละเอียดของมันทั้งหมด นอกจากนี้เขายังต้องการให้ผู้คนสวมใส่กระดุมโซดิแอกอีกด้วย

วันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1970 ในจดหมายที่ประทับตราไปรษณียากร เขาระบุว่าเขาผิดหวังที่ไม่มีใครสวมใส่กระดุมโซดิแอกเลย และระบุต่อว่า "ฉันยิงชายคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในรถที่จอดอยู่ด้วยปืนจุดสามแปดนิ้ว" ซึ่งคาดว่าน่าจะหมายถึงคดีของ ร.น. ริชารด เรดทิช ที่เกิดเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน เวลา 5.25 น. ขณะริชาร์ดกำลังเขียนตั๋วจอดรถในบริเวณที่เขารับผิดชอบอยู่ คนร้ายยิงเขาที่หัวด้วยปืนพกขนาด 0.38 นิ้ว ริชาร์ดเสียชีวิตในอีก 15 ชั่วโมงต่อมา กรมตำรวจซานฟรานซิสโกปฏิเสธความเกี่ยวข้องของคดีนี้กับโซดิแอกและยังคงจับผู้ร้ายที่ก่อเหตุไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน ในจดหมายยังแนบแผนที่บริเวณโดยรอบอ่าวซานฟรานซิสโกที่ผลิตขึ้นโดยบริษัทผลิตแผนที่ฟิลิปส์ 66 ยังมีรูปของภูเขาดิอาโบลซึ่งบนรูปนั้นเขาทำเครื่องหมายวงกลมขีดกากบาทเช่นเดิมแต่บนสุดของสัญลักษณ์นั้นเขาเขียนหมายเลข 0, 3, 6 และ 9 ไล่ลงมาตามลำดับเสมือนเป็นหน้าปัดนาฬิกา เขาบอกว่าเลข 0 เปรียบเสมือนทิศเหนือ และบอกว่ามันจำชี้ทางไปสู่จุดที่เขาฝังระเบิดไว้แต่ตำรวจตรวจพบว่าไม่เคยเกิดขึ้นจริง เขายังทิ้งท้ายด้วยว่า " = 12 SFPD = 0"

ในจดหมายฉบับวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1970 ที่ส่งไปยังซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์โซดิแอกกล่าวอ้างรับผิดชอบต่อกรณีของแคธลีน จอห์นส์ ว่าเขาเป็นผู้กระทำเอง จดหมายถูกส่งมา 4 เดือนหลังจากเกิดเหตุ ส่วนในฉบับวันที่ 24 มิถุนายน เขายังถอดความจากบทเพลงของ "เดอะมิกาโด" แล้วใส่เนื้อเพลงของเขาเอง ในเนื่อเพลงมีใจความเกี่ยวกับแผนที่เขาจะทรมานต่อ "ทาส" ของเขาบน "สวรรค์" เขาลงท้ายด้วยสัญลักษณ์เดิมแต่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมว่า " = 13 SFPD = 0" และประโยคสุดท้ายที่เขาทิ้งท้ายคือ "โปรดอย่าลืม รหัสลับที่ภูเขาดิอาโบลมีความสัมพันธ์กับมุมที่เกิดระหว่างเส้นรัศมี 2 เส้นของวงกลมขนาด +# นิ้ว ตลอดความยาวของเส้นรัศมี 2 เส้น" ในปี ค.ศ. 1981 การตรวจสอบข้อความดังกล่าวถูกสรุปโดยแกเรธ เพนน์ นักวิจัยคดีโซดิแอกที่ค้นพบการที่เส้นรัศมีสองเส้นมาทำมุมกัน และพบว่าเส้นรัศมีนั้นชี้ไปยังจุด 2 จุดที่เขาก่อเหตุขึ้น

7 ตุลาคม ค.ศ. 1970 ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ได้รับการ์ดขนาด 3 คูณ 5 นิ้ว ที่โซดิแอกวาดสัญลักษณ์ ด้วยเลือด เนื้อความในการ์ดเป็นข้อความจากจดหมายที่เขาส่งมาซึ่งเขาตัดมันมาจากที่หนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ตีพิมพ์ โดยรอบการ์ดถูกเจาะเป็นรูทั้งหมด 13 รู นักสืบบิล อาร์มสตรอง และ เดฟ ทอชชี ลงความเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การ์ดจะถูกส่งมาจากโซดิแอกจริง

ริเวอร์ไซด์

[แก้]
"คำสารภาพ"

วันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1970 นักข่าวหนังสือพิมพ์ของซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ พอล เอเวอร์รี่ (นักข่าวผู้ที่คอยติดตามคดีของโซดิแอกมาตั้งแต่ต้น) ได้รับการ์ดวันฮาโลวีนซึ่งถูกเขียนไว้บนการ์ดด้วยอักษรตัว "Z" ตามด้วยสัญลักษณ์วงกลมขีดกากบาทของโซดิแอก และมีข้อความว่า "Peek-a-boo, you are doomed" คำแปล: "พีคอะบู (เสียงเหนี่ยวไกปืน), คุณจบเห่แน่" คำขู่ดังกล่าวทำให้เขากังวลอย่างมากและเนื้อความในจดหมายก็ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เช่นเคย หลังจากนั้นไม่นาพอลได้รับจดหมายนิรนามที่บอกเล่าว่ามีความเหมือนกันของลักษณะการฆาตกรรมของโซดิแอกกับลักษณะฆาตกรรมที่เกิดกับ เชอร์รี โจ เบทส์ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน ในมหาวิทยาลัยประจำเมือง ริเวอร์ไซด์เคาท์ตี, เขตมหานครลอสแอนเจลิส ห่างออกไปทางใต้มากกว่า 400 ไมล์จากซานฟรานซิสโก เขารายงานการค้นพบนี้ลงบนหนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1970

ย้อนความกลับไปในวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1966 เชอร์รี โจ เบทส์ อายุ 18 ปี ใช้เวลาช่วงเย็นของวันนั้นในห้องสมุดของวิทยาลัยจนกระทั่งห้องสมุดปิดเวลา 21.00 น. ผู้คนละแวกนั้นกล่าวว่าได้ยินเสียงกรีดร้องช่วงเวลาประมาณ 22.30 น. ร่างของเธอพบแป็นศพไม่ห่างจากห้องสมุดมาก อยู่ระหว่างบ้านร้างสองหลังที่ทางมหาวิทยาลัยกำลังจะรื้อถอนเพื่อปรับปรุงใหม่ สายไฟของหัวจ่ายในรถโฟล์กสวาเกนของเชอรร์รีพบว่าถูกตัดออก ร่างของเธออยู่ในสภาพถูกทุบตีอย่างโหดร้ายและถูกแทงจนถึงแก่ความตาย นาฬิกาข้อมือยี่ห้อไทเมกของผู้ชายและเสื้อที่ชายข้อมือมีรอยฉีกขาดถูกพบบริเวณใกล้เคียง หน้าปัดนาฬิกาหยุดที่ตัวเลข 12:24 แต่ตำรวจเชื่อว่าการฆาตกรรมเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นมาก ตำรวจยังพบรอยเท้าของรองเท้าที่มีใช้กันอยู่ในวงการทหาร อีกหนึ่งเดือนถัดมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1966 จดหมายที่เขียนขึ้นจากการพิมพ์ดีดถูกส่งมายังสถานีตำรวจและสำนักพิมพ์ริเวอร์ไซด์เพรสอินเตอร์ไพรส์ ชื่อที่หัวกระดาษพิมพ์ว่า "The Confession" หรือ "คำสารภาพ" ผู้ที่พิมพ์ระบุในใจความอ้างว่าเขาเป็นผู้กระทำเหตุฆาตกรรมเชอร์รี โจ เบทส์ และเล่ารายละเอียดการฆาตกรรมทั้งหมดซึ่งไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน เขายังเตือนอีกว่า "เชอร์รีไม่ใช่คนแรกและจะไม่ใช่คนสุดท้าย"

ธันวาคม ค.ศ. 1966 มีการค้นพบบทกลอนที่ถูกสลักไว้ด้านล่างโต๊ะตัวหนึ่งในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยว่า "Sick of living/unwilling to die" คำแปล: "เบื่อที่จะอยู่/ไม่เต็มใจที่จะตาย" ซึ่งลักษณะการใช้ภาษาและลายมือคล้ายคลึงกับของโซดิแอกที่เขาเขียนมาทางจดหมายระหว่างปี ค.ศ. 1969 - ค.ศ. 1972 เป็นอย่างมาก และถัดลงมามันถูกสลักด้วยอักษรย่อ "rh" ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นชื่อของคนร้าย เชอร์วูด เมอร์ริล ผู้ตรวจสอบคดีชั้นแนวหน้าของรัฐแคลิฟอร์เนียให้ความเห็นไว้ว่า บนกลอนดังกล่าวถูกเขียนโดยโซดิแอก วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1967 ครบรอบ 6 เดือนของเหตุฆาตกรรม โจเซฟ โจ เบทส์ ผู้เป็นบิดา, ตำรวจและสำนักพิมพ์ริเวอร์ไซด์เพรสอินเตอร์ไพรส์ ได้รับจดหมายที่แทบจะเหมือนกันซึ่งลายมือมีลักษณะถูกเขียนหวัด ๆ ฉบับของสำนักพิมพ์และตำรวจมีข้อความว่า "Bates had to die there will be more" คำแปล: "เบทส์จำเป็นต้องตายและมันจะมีมากกว่านี้" และด้านล่างมีอักษรที่เขียนแบบลวก ๆ พอจะมองเห็นเป็นตัว "Z" ส่วนฉบับของโจเซฟเขียนว่า "She had to die there will be more" คำแปล: "เธอจำเป็นต้องตายและมันจะมีมากกว่านี้" โดยปราศจากอักษร "Z" ด้านล่าง

กลับมาวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1971 เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนหลังจากบทความเกี่ยวกับเชอร์รีของพอล เอเวอร์รี่ โซดิแอกส่งจดหมายไปยังหนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสไทม์ ในเนื้อความโซดิแอกกล่าวชื่นชมตำรวจแทนที่จะเป็นพอลกับการค้นพบความเชื่อมโยงที่ริเวอร์ไซด์ เขาระบุต่อว่า "But they are only finding the easy ones, there are a hell of a lot more down there" คำแปล: "แต่พวกเขาพบแค่ชิ้นง่าย ๆ ยังมีอีกมากมายที่นั้น" ความเชื่อมโยงระหว่าง เชอร์รี โจ เบทส์, ริเวอร์ไซด์และโซดิแอก ยังคงเหลือไว้เป็นปริศนา พอล เอเวอร์รี่ และสำนักงานตำรวจริเวอร์ไซด์ลงความเห็นว่าโซดิแอกอาจจะไม่ได้เป็นผู้กระฆาตกรรมเชอร์รี แต่ยอมรับว่าจดหมายที่ถูกส่งมาในคดีของเชอร์รีเขาอาจนำไปอวดอ้างว่าเป็นผลงานของเขา

ทะเลสาบทาโฮ

[แก้]

22 มีนาคม ค.ศ. 1971 จดหมายอีกฉบับถูกส่งไปยังซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ หัวจดหมายระบุส่งถึงพอล เอเวอร์รี่ ซึ่งเชื่อกันว่าถูกส่งมาจากโซดิแอก จดหมายกล่าวอ้างความรับผิดชอบต่อการหายตัวไปของ ดอนนา ลาส อายุ 25 ปี เมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1970 จดหมายถูกเขียนขึ้นจากการนำตัวอักษรต่าง ๆ จากแผ่นโฆษณาหรือนิตยสารมาแปะเป็นถ้อยคำ ในจดหมายระบุเจาะจงถึงคำบนป้ายโฆษณาของฟอร์เรสต์ไพน์คอนโดมิเนียมดังนี้ "Sierra Club", "Sought Victim 12", "peek through the pines", "pass Lake Tahoe areas" และ "around in the snow." ตามด้วยสัญลักษณ์วงกลมขีดกากบาทลงท้าย

ในคืนวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1970 สเตตไลน์, รัฐเนวาดา ดอนนา ลาส เป็นพยาบาลอยู่ที่โรงแรมซาฮาราทาโฮคาสิโน ดอนนาเสร็จสิ้นการทำงานเวลาประมาณ 2.00 น. ตามบันทึกที่บอกว่าเธอรักษาผู้ป่วยคนสุดท้ายเวลา 1.40 น. และไม่มีผู้ใดพบเห็นเธอออกไปจากที่ทำงาน เช้าวันต่อมาชุดเครื่องแบบและรองเท้าของเธอถูกพบในถุงกระดาษในห้องทำงานของเธอ และยังพบเศษดินที่อธิบายไม่ได้บนชุดและรองเท้า รถยนต์ของเธอถูกพบที่อพาร์ตเมนของเธอโดยที่อพาร์ตเมนไม่มีสิ่งผิดปกติใด ๆ วันต่อมาเจ้าของอพาร์ตเมนและเจ้านายของเธอต่างก็ได้รับโทรศัพท์จากชายนิรนามที่กล่าวอย่างอวดอ้างว่าดอนนาออกไปจากเมืองระหว่างที่กลับไปเยี่ยมครอบครัว สำนักงานตำรวจและสำนักงานนายอำเภอสืบสวนคดีของเธอในฐานะบุคคลสูญหายและสันนิษฐานว่า "เธอเพียงแค่จากไปอย่างไร้ร่องรอยด้วยตัวของเธอเอง" ต่อมาไม่มีผู้พบเห็นดอนนาอีกเลย จากคำใบ้ที่ส่งมากับจดหมายเกี่ยวกับบริเวณในเซียร์ราคลับ เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบและขุดคนบริเวณที่กล่าวอ้างไว้แต่พบเพียงแว่นกันแดดเท่านั้น ปัจจุบันไม่มีหลักฐานใดที่แน่ชัดพอจะเชื่อมโยงการหายตัวไปของดอนนา ลาสกับฆาตกรโซดิแอกได้

ซานตาบาบารา

[แก้]

หนังสือพิมพ์วัลเลโฮไทม์เฮรัลด์ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1972 ตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์ของบิล เบเคอร์ นักสืบจากสำนักงานนักสืบนายอำเภอซานตาบาบารา ที่ให้ทฤษฎีและตั้งข้อสงสัยว่าการฆาตกรรมคู่รักหนุ่มสาวคู่หนึ่งในซานตาบาบาราว่าอาจเป็นอีกคดีหนึ่งของโซดิแอก

4 มิถุนายน ค.ศ. 1963 เป็นเวลา 5 ปี 6 เดือนก่อนที่โซดิแอกจะเป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรกจากการฆาตกรรมที่ถนนเลคเฮอร์แมน นักเรียนไฮสคูล โรเบิร์ต โดมิโกส์ อายุ 18 ปี กับ ลินดา เอ็ดเวิร์ด อายุ 17 ปี ทั้งคู่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณชายหาดใกล้เมืองลอมพอคโดยที่ทั้งคู่หนีเรียนกันมา ตำรวจสันนิษฐานว่าคนร้ายพยายามที่จะจับทั้งสองมัดข้อมือ แต่ทั้งสองสามารถแกะเชือกที่มัดจนหลุดได้และพยายามวิ่งหนี คนร้ายจึงยิ่งทั้งคู่ซ้ำไปมาหลายครั้งที่บริเวณหลังและหน้าอกด้วยปืนพกแคลิเบอร์ 0.22 มิลลิเมตร คนร้ายซ่อนศพทั้งสองไว้ในกระท่อมหลังเล็ก ๆ บริเวณใกล้เคียง คนร้ายพยายามที่จะเผากระท่อมแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

จดหมายฉบับสุดท้าย

[แก้]

หลังจากจดหมายฉบับที่มีเนื้อหาอ้างความรับผิดชอบต่อการหายตัวไปของดอนนา ลาส โซดิแอกก็หยุดส่งจดหมายติดต่อกับสาธารณชนไปเป็นเวลาเกือบ 3 ปี จดหมายที่ประทับตราลงวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1974 ถูกส่งไปยังซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลซึ่งยืนยันว่าโซดิแอกเป็นผู้เขียนขึ้น ข้างในกล่าวชื่นชมนวนิยายสยองขวัญเรื่อง ดิ เอกซอร์ซิสต์ ว่าเป็น "the best saterical comidy [sic]" ที่ดีที่สุดเท่าที่เขาเคยพบเจอ และยังประกอบด้วยบทกวีท่อนหนึ่งของ เดอะ มิกาโด อีกทั้งยังมีสัญลักษณ์ปริศนาที่อธิบายไม่ได้กำกับไว้ด้านล่าง นอกจากนี้ยังมีคะแนนที่เขียนไว้ด่านล่างว่า "Me = 37 SFPD = 0" (SFPD หมายถึงกรมตำรวจซานฟรานซิสโก)

ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ยังได้รับจดหมายอีกฉบับประทับตราลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974 ที่ส่งถึงบรรณาธิการ ภายในเป็นรหัสลับที่กล่าวถึงกองทัพเสรีเพื่อการเกื้อกูล (อังกฤษ: Symbionese Liberation Army) ที่สะกดออกมาเป็นภาษานอร์สโบราณที่แปลว่า "ฆ่า" แต่อย่างไรก็ตามลายมือที่ใช้ในจดหมายฉบับดังกล่าวไม่ตรงกับลายมือของโซดิแอก

ต่อมาซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ได้รับจดหมายที่ประทับตราลงวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1974 ใจความกล่าวยกย่องและชื่นชมภาพยนตร์เรื่อง "แบดแลนด์ส" ที่เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการฆาตกรรม โดยเขากล่าวว่าเป็น "เกียรติภูมิแห่งฆาตกร" และบอกให้ตีพิมพ์โฆษณาเกี่ยวกับภาพยนตร์ลงบนหนังสือพิมพ์ และลงชื่อว่า "A citizen" ทั้งลายมือ, วิธีการเขียนและการใช้ถ้อยคำที่แดกดันทั้งหมดล้วนมีลักษณะตรงกับของโซดิแอกในช่วงปี ค.ศ. 1969 - ค.ศ. 1972 เป็นอย่างมาก

ซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ยังคงได้รับจดหมายอย่างต่อเนื่อง ฉบับต่อมาลงวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1974 กล่าวหาว่า มารโค สปิเลลนิ นักคอลัมน์นิสต์ ว่าเป็นโซดิแอกและลงชื่อด้วยคำว่า "the Red Phantom (red with rage)" ข้อสันนิษฐานที่ว่าจดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นโดยโซดิแอกเองยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน

จดหมายฉบับวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1978 ที่ในขั้นต้นให้ถือว่าเป็นจดหมายฉบับที่โซดิแอกเขียนขึ้นจริง แต่หลังจากนั้นไม่ถึงสามเดือนผู้ส่งก็เขียนกลับมาอีกว่าเป็นเพียงการเล่นตลกเท่านั้น เดฟ ทอสชี นักสืบสวนคดีฆาตกรรมของกรมตำรวจซานฟรานซิสโกที่พยายามไขคดีของโซดิแอกตั้งแต่คดีที่เพรสซิดิโอไฮท์เป็นต้นมา ถูกเชื่อว่าเป็นผู้ปลอมแปลงจดหมายนั้นขึ้นมาเอง โดยนักเขียน อาร์ตีด โมพิน เป็นผู้กล่าวหาที่เชื่อว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับจดหมายที่เขาได้รับในปี ค.ศ. 1976 จากผู้ที่ชื่นชอบโซดิแอกเขียนขึ้นเพื่อทำให้เป็นข่าว ซึ่งจดหมายฉบับปี ค.ศ. 1976 นี้เองที่เขาก็เชื่อว่าเขียนโดยเดฟ ทอชชี ต่อมาเดฟ ทอชชี ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ปลอมแปลงจดหมายของโซดิแอกและท้ายที่สุดก็พ้นจากข้อกล่าวหา ผู้ที่เขียนจดหมายฉบับวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1978 ยังคงไม่ได้รับการพิสูจน์และยืนยัน

3 มีนาคม ค.ศ. 2007 บัตรอวยพรวันคริสต์มาสของบริษัทอเมริกันกรีททิง ถูกส่งไปยังซานฟรานซิสโกคอร์นิเคิลส์ ประทับตราไปรษณียากรลงปี ค.ศ. 1990 ในเมืองยูเรกา, รัฐแคลิฟอร์เนีย พึ่งถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้จากเอกสารภาพถ่ายโดยผู้ช่วยบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ แดเนียล คิง ภายในซองจดหมายประกอบด้วยบัตรอวยพรและภาพจากการถ่ายเอกสารเป็นรูปของกุญแจสองอันของกรมไปรษณีย์สหรัฐฯ ลายมือบนหน้าซองคล้ายคลึงกับลายมือของโซดิแอกแต่ถูกโต้แย้งโดยผู้ตรวจสอบเอกสาร ลอยด์ คันนิงแฮม ว่าทั้งหมดไม่ใช่ของโซดิแอก อีกทั้งบนหน้าซองไม่มีที่อยู่ติดต่อกลับและสัญลักษณ์วงกลมขีดกากบาทของเขาเหมือนเช่นเคย ทางหนังสือพิมพ์ได้ส่งเอกสารหลักฐานทั้งหมดให้แก่สถานีตำรวจวัลเลโฮเพื่อทำรอตรวจพิสูจน์ต่อไป

ผู้ต้องสงสัยหลัก

[แก้]

อาร์เธอร์ ลีห์ อัลเลน คือผู้ต้องสงสัยหลักเพียงคนเดียวของคดีนี้ที่ตำรวจให้การรับรอง อาร์เธอร์ไม่เคยได้รับการพิสูจน์ว่าเขาเกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีฆาตกรรมหลายคดี อีกทั้งรอยนิ้วมีของเขาก็ไม่ตรงกับรอยนิ้วมือที่โซดิแอกทิ้งไว้บนรถแท็กซี่ในคดีฆาตกรรมพอล สไตน์ ในปี ค.ศ. 1992 หลังการก่อเหตุผ่านไปเป็นเวลา 23 ปี ไมเคิล เรนัลต์ แมกกู เหยื่อของฆาตกรโซดิแอกที่รอดชีวิตมาได้ระบุชี้ชัดว่ารูปพรรณของอาร์เธอร์ใกล้เคียงกับคนร้ายที่ยิงเขาในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 มากที่สุด ไมเคิลยืนยันกับทางตำรวจจากการที่ตำรวจให้ดูรูปถ่ายในใบขับขี่ปี ค.ศ. 1968 ของอาร์เธอร์ หลังทนทุกข์ทรมานจากโรคเบาหวานในที่สุดอาร์เธอร์ ลีห์ อัลเลน ก็เสียชีวิตด้วยภาวะไตวายในปี ค.ศ. 1992 ในปี ค.ศ. 2002 ดีเอ็นเอจากน้ำลายของโซดิแอกที่ได้จากตราไปรษณียากรบนซองจดหมายที่ส่งมาถูกนำไปตรวจสอบกับดีเอ็นเอของอาร์เธอร์ และดีเอ็นเอของเพื่อนสนิทเก่าของอาร์เธอร์ ดอน เชนีย์ ผู้ซึ่งให้การกับทางตำรวจว่าอาร์เธอร์อาจเป็นโซดิแอก ผลการตรวจสอบดีเอ็นเอปรากฏว่าดีเอ็นเอจากซองจดหมายไม่ตรงกับดีเอ็นเอของทั้งสอง แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถยืนยันแน่ชัดได้ว่าดีเอ็นเอจากซองจดหมายเป็นของโซดิแอกจริง

ความคืบหน้าล่าสุด

[แก้]
  • ค.ศ. 2002 - กรมตำรวจซานฟรานซิสโกเปรียบเทียบดีเอ็นเอจากซองจดหมายที่ได้รับจากโซดิแอกกับอาร์เธอร์ ลีห์ อัลเลน ผู้ต้องสงสัยหลัก ผลปรากฏว่าไม่ตรงกัน
  • เมษายน ค.ศ. 2004 - กรมตำรวจซานฟรานซิสโกจัดคดีของโซดิแอกให้เป็น "คดีที่หาข้อสรุปไม่ได้"
  • ค.ศ. 2007 - บุตรบุญธรรมของ แจค เทอร์แรนซ์ อ้างว่าพ่อของเขาคือโซดิแอก กรมตำรวจซานฟรานซิสโกจึงรื้อคดีมาสืบสวนใหม่และส่งหลักฐานทั้งหมดไปยังสถานีตำรวจวัลเลโฮเพื่อสืบสวนต่อไป คดียังคงเปิดในท้องที่ สน.วันเลโฮ มาจนปัจจุบัน
  • ค.ศ. 2009 - เดโบราห์ เปเรซ อ้างว่าบิดาของเธอ กาย วอร์ด เฮนด์ริคสัน คือโซดิแอก อย่างไรก็ตามในภายหลังเธอออกมาอ้างว่าเธอคือลูกนอกสมรสของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ตำรวจจึงไม่ให้ความเชื่อถือต่อคำกล่าวอ้างของเธอ
  • ค.ศ. 2009 - ดีเอ็นเอของ ริชาร์ด โจเซฟ กายโกว์สกี (ดิค ไกค์) ถูกส่งไปวิเคราะห์ที่กรมตำรวจซานฟรานซิสโก

เว็บไซต์ของสถานีตำรวจวัลเลโฮยังคงรับคำแนะนำในการสอบสืนคดีของโซดิแอกอยู่ คดียังคงเปิดในพื้นที่สถานีตำรวจนาปาและริเวอร์ไซด์

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

เรื่องราวของฆาตกรจักรราศีได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งหนึ่งในชื่อเรื่อง โซดิแอก ตามล่า รหัสฆ่า ฆาตกรอำมหิต (ZODIAC) ในปี ค.ศ. 2007 นำแสดงโดย เจค จิลเลนฮอล, โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์, มาร์ค รัฟฟาโร กำกับการแสดงโดย เดวิด ฟินเชอร์[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จดหมายอักษรปริศนาจาก "ฆาตกรจักรราศี" ถูกถอดรหัสได้เป็นฉบับที่สองแล้ว
  2. Coded Clues in Murders เก็บถาวร 2009-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. San Francisco Chronicle, 2 August 1969. Retrieved 21 July 2007.
  3. Graysmith, pp. 54–55.
  4. Graysmith, pp. 62-77
  5. Message written on Hartnell's car door
  6. Dorgan, Marsha (2007-02-18). "Tracking the mark of the Zodiac for decades". Napa Valley Register. สืบค้นเมื่อ 2008-09-16.
  7. [1]