ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี
ความเอนเอียงโดยการมอง (ความเสี่ยงของตน) ในแง่ดี[1] หรือ ความเอนเอียงโดยสุทรรศนนิยม[2] (อังกฤษ: optimism bias) หรือเรียกในภาษาอังกฤษว่า unrealistic optimism (การมองในแง่ดีแบบเป็นไปไม่ได้) หรือ comparative optimism (การมองในแง่ดีเชิงเปรียบเทียบ) เป็นความเอนเอียงที่เป็นเหตุให้เราเชื่อว่า เรามีโอกาสที่จะประสบเหตุการณ์เลวร้ายน้อยกว่าคนอื่น มีองค์ประกอบ 4 อย่างที่ทำให้เกิดความเอนเอียงนี้คือ[3]
ความเอนเอียงนี้จะเห็นได้ในสถานการณ์หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น
- เราเชื่อว่าเรามีโอกาสน้อยกว่าที่จะประสบอาชญากรรม[4]
- คนสูบบุหรี่เชื่อว่า ตนมีโอกาสที่จะเกิดโรคมะเร็งปอดน้อยกว่าคนสูบบุหรี่อื่น ๆ หรือคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็คิดว่าตนเองคงจะไม่เป็นตับแข็ง มะเร็งตับ หรือเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเกินขนาดจนเมา
- คนที่เล่นบันจีจัมพ์เป็นครั้งแรกเชื่อว่าตนมีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าคนอื่น[5]
- หรือว่าผู้ซื้อขายหุ้นคิดว่า ตนมีโอกาสเสี่ยงต่อการขาดทุนในตลาดขายหุ้นน้อยกว่าคนอื่น[6]
แม้ว่าความเอนเอียงนี้อาจจะเกิดขึ้นทั้งในเหตุการณ์เชิงบวก เช่นเชื่อว่าตนเองมีความสำเร็จทางการเงินดีกว่าคนอื่น และทั้งเหตุการณ์เลวร้าย เช่นเชื่อว่าตนมีโอกาสน้อยกว่าที่จะติดเหล้า แต่ว่างานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์โดยมากแสดงว่า ความเอนเอียงนี้มีกำลังมากกว่าในเหตุการณ์เลวร้าย[3][7] ความเอนเอียงนี้มีผลแตกต่างกันในเหตุการณ์เชิงบวกและลบ ความเอนเอียงในเหตุการณ์เชิงบวกมักจะนำไปสู่ความสุขและความมั่นใจ ความเอนเอียงในเหตุการณ์เลวร้ายจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่สูงยิ่งขึ้นที่จะประสบกับเหตุการณ์นั้น เช่นการมีพฤติกรรมเสี่ยงและไม่ทำการป้องกัน[3]
การวัด
[แก้]ความเอนเอียงนี้มักจะวัดโดยตัวกำหนดความเสี่ยงสองอย่าง คือ
- ความเสี่ยงสัมบูรณ์ (absolute risk) เป็นการเปรียบเทียบการประเมินตนว่ามีโอกาสจะประสบเหตุการณ์เลวร้าย กับโอกาสจริง ๆ ที่ตนจะประสบ (คือเปรียบเทียบกับโอกาสที่ตนมีจริง ๆ)
- ความเสี่ยงเปรียบเทียบ (comparative risk) เป็นการเปรียบเทียบการประเมินความเสี่ยงของตนว่าจะประสบเหตุการณ์เลวร้าย กับความเสี่ยงที่ตนประเมินผู้อื่นที่อยู่ในวัยและเพศเดียวกันเป็นต้นว่าจะประสบเหตุการณ์อย่างเดียวกัน[7][8]
มีปัญหาหลายอย่างในการวัดค่าสัมบูรณ์เพราะว่ายากมากที่จะกำหนดสถิติความเสี่ยงจริง ๆ ของคน ๆ หนึ่ง[8][9] ดังนั้น การวัดค่าในงานวิจัยมักจะเป็นแบบเปรียบเทียบ โดยเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบโดยตรงหรือโดยอ้อม[5] การเปรียบเทียบโดยตรงจะถามว่าตนมีโอกาสเสี่ยงในการประสบเหตุการณ์หนึ่ง ๆ น้อยกว่า มากกว่า หรือเท่ากับคนอื่น ๆ ในขณะที่การเปรียบเทียบโดยอ้อมจะเป็นการประเมินทั้งความเสี่ยงของตนในการประสบเหตุการณ์ และความเสี่ยงของคนอื่นในการประสบเหตุการณ์อย่างเดียวกัน[8][10]
หลังจากที่ได้ค่าประเมินต่าง ๆ นักวิจัยจะกำหนดว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ ระหว่างค่าประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉลี่ยของบุคคล เทียบกับค่าประเมินความเสี่ยงเฉลี่ยของบุคคลอื่น (ที่อยู่ในวัยและเพศเดียวกันเป็นต้น) โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ในเหตุการณ์เลวร้าย ค่าประเมินความเสี่ยงเฉลี่ยของบุคคลจะต่ำกว่าค่าประเมินความเสี่ยงที่ให้กับคนอื่น[8] ซึ่งใช้เป็นหลักฐานว่ามีความเอนเอียงนี้ ความเอนเอียงนี้สามารถกำหนดได้ในระดับกลุ่มเท่านั้น เพราะค่าประเมินเชิงบวกเทียบกับคน ๆ เดียวอาจจะถูกต้องตามความเป็นจริง[7] นอกจากนั้นแล้ว ยังมีปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับการวัดค่าความเสี่ยง เพราะว่ายากที่จะกำหนดว่า ใครมองในแง่ดี ใครมองถูกต้องตามความเป็นจริง และใครมองในแง่ร้าย[8][10] มีงานวิจัยที่เสนอว่า ความเอนเอียงมาจากการประเมินค่าความเสี่ยงของกลุ่มเปรียบเทียบเกินความจริง ไม่ใช่เป็นการประเมินค่าเสี่ยงของตนต่ำเกินไป[8]
องค์ประกอบ
[แก้]องค์ประกอบที่นำไปสู่ความเอนเอียงนี้สามารถแยกออกเป็นสี่กลุ่ม คือ[3]
- ผลที่พึงประสงค์เมื่อมีการเปรียบเทียบ
- กลไกทางประชาน
- ข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับตนและคนอื่น
- อารมณ์โดยทั่ว ๆ ไป
ซึ่งจะอธิบายต่อไป
ผลที่พึงประสงค์เมื่อมีการเปรียบเทียบ
[แก้]ทฤษฎีอธิบายความเอนเอียงประเภทนี้หลายอย่างแสดงว่า เป้าหมาย (goals) และสิ่งที่ต้องการที่จะเห็นเป็นผล (desired outcome) ของบุคคล เป็นเหตุหนึ่งของความเอนเอียง[3] คือ เรามักจะเห็นความเสี่ยงของเราน้อยกว่าคนอื่น เพราะเชื่อว่า เป็นสิ่งที่คนอื่นต้องการจะเห็นในเรา ทฤษฎีเหล่านี้รวมทั้ง
- การยกตน (self-enhancement)
- การบริหารความประทับใจ (Impression management)
- และความรู้สึกว่าควบคุมได้ (perceived control)
การยกตน
[แก้]ทฤษฎีการยกตนเสนอว่า การมองในแง่ดีเป็นสิ่งที่น่าพึงใจและทำให้รู้สึกดี เมื่อคิดว่า สิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้น[3] เราสามารถควบคุมความกังวลไม่สบายใจและอารมณ์เชิงลบอื่น ๆ ถ้าเชื่อว่า เราดีกว่าคนอื่น[3] เรามักจะสนใจหาข้อมูลสนับสนุนสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น มากกว่าข้อมูลที่จะแสดงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราจริง ๆ[3] ทฤษฎีความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีเสนอว่า เราจะพยากรณ์เหตุการณ์ในเชิงบวก เพราะเป็นสิ่งที่เราหวังให้เกิดขึ้น ซึ่งบอกเป็นนัยด้วยว่า เราอาจจะลดค่าความเสี่ยงของตนเมื่อเทียบกับคนอื่น เพื่อให้ตนดูดีกว่าคนอื่นโดยเฉลี่ย คือเพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้อื่น ดังนั้นจึงดีกว่าผู้อื่น[3]
การบริหารความประทับใจ
[แก้]งานวิจัยต่าง ๆ แสดงว่า เราพยายามที่จะสร้างและรักษาภาพพจน์ที่พึงปรารถนาของตนในวงสังคม คือ เรามีแรงจูงใจที่จะแสดงตนในภาพพจน์ที่ดีต่อผู้อื่น ดังนั้น นักวิจัยบางพวกจึงเสนอว่า ความเอนเอียงนี้เป็นตัวแทนของกระบวนการบริหารความประทับใจ คือ เราต้องการที่จะปรากฏว่าดีกว่าคนอื่น แต่ว่า นี่ไม่ใช่ความพยายามโดยจงใจ คือเกิดขึ้นใต้จิตสำนึก ในงานวิจัยหนึ่งที่ผู้ร่วมการทดลองเชื่อว่า จะมีการทดสอบความสามารถในการขับรถของตนโดยเหตุการณ์จริง ๆ หรือในความจริงเสมือน คนที่เชื่อว่าจะมีการทดสอบ จะมีความเอนเอียงแบบนี้น้อยกว่า และจะถ่อมตนมากกว่า เมื่อให้คะแนนทักษะการขับรถของตน เทียบกับบุคคลผู้ที่เชื่อว่าจะไม่มีการทดสอบ[11]
มีงานวิจัยที่เสนออีกด้วยว่า บุคคลที่แสดงตนเองในแง่ร้ายมักจะมีการยอมรับน้อยกว่าจากสังคม[12] ซึ่งเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่สนับสนุนการมองในแง่ดีมากเกินไป
ความรู้สึกว่าควบคุมได้
[แก้]เรามักจะมีความเอนเอียงเช่นนี้มากกว่าเมื่อเชื่อว่า เราสามารถควบคุมเหตุการณ์ในสถานการณ์นั้นมากกว่าคนอื่น[3][9][13] ยกตัวอย่างเช่น เรามักจะคิดว่า เราจะไม่เกิดความบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ถ้าเราเป็นคนขับ[13] อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเราเชื่อว่า เรามีระดับความควบคุมสูงในการติดเอดส์ เราก็จะมีโอกาสมากกว่าที่จะเห็นว่า โอกาสเสี่ยงในการติดโรคของเรามีน้อย[8] มีงานวิจัยหลายงานที่เสนอว่า เรายิ่งรู้สึกว่าเรามีความควบคุมสูงเท่าไร ก็จะมีความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีสูงขึ้นเท่านั้น[13][14] เพราะฉะนั้น ความรู้สึกว่าควบคุมได้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญเมื่อประเมินความเสี่ยงของตนเอง แต่ไม่ใช่เมื่อประเมินความเสี่ยงของคนอื่น[9][13]
งาน meta-analysis ที่สืบหาความสัมพันธ์ระหว่างความเอนเอียงนี้กับความรู้สึกว่าควบคุมได้พบว่า มีตัวแปร moderator อื่น ๆ ที่สนับสนุนส่งเสริมความสัมพันธ์[9] ในงานวิจัยที่ผ่านมา ผู้ร่วมการทดลองจากสหรัฐอเมริกาโดยทั่วไปมีค่าความสัมพันธ์ ระหว่างความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีและความรู้สึกว่าควบคุมได้ สูงกว่าประเทศอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้ว นักเรียนนักศึกษามักจะมีความเอนเอียงนี้ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มชนอื่น ๆ[9] แบบงานวิจัยยังแสดงความแตกต่างกันของความสัมพันธ์ระหว่างความเอนเอียงนี้กับความรู้สึกว่าควบคุมได้ คือ งานวิจัยที่ใช้การวัดโดยตรงเสนอว่า มีความสัมพันธ์กันระหว่างความเอนเอียงนี้กับความรู้สึกว่าควบคุมได้ สูงกว่าเมื่อเทียบกับงานวิจัยที่ใช้การวัดโดยอ้อม[9] ความเอนเอียงนี้มีกำลังสูงสุดในสถานการณ์ที่บุคคลต้องพึ่งการกระทำของตน และมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ[9]
องค์ประกอบมีผลตรงกันข้ามกับความรู้สึกว่าควบคุมได้ก็คือ ประสบการณ์ที่มีมาก่อน[8] นั่นก็คือ ประสบการณ์ที่มีมาก่อนมักจะสัมพันธ์กับความมีความเอนเอียงนี้ในระดับที่ต่ำกว่า ซึ่งงานวิจัยบางงานเสนอว่า มาจากการลดความรู้สึกว่า สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ หรือว่า ทำให้ง่ายขึ้นที่จะคิดว่า ตนมีโอกาสเสี่ยง[8][14] ประสบการณ์ก่อน ๆ ทำให้คิดได้ว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ อาจจะควบคุมได้น้อยกว่าที่เคยเชื่อมาก่อน ๆ[8]
กลไกทางประชาน
[แก้]ความเอนเอียงนี้อาจจะได้รับอิทธิพลจากกลไกทางประชาน 3 อย่างที่ใช้ในการประเมินและการตัดสินใจ คือ representativeness heuristic (ฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทน), singular target focus (จุดเป้าหมายที่มีอันเดียว), และ interpersonal distance (ความเหินห่างระหว่างบุคคล)[3]
ฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทน
[แก้]การประเมินความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ ที่เกี่ยวกับความเอนเอียงนี้ อาศัยว่า เหตุการณ์หนึ่งจะเหมือนกับไอเดียทั่วไปของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นอย่างไร[3] คือ มีนักวิชาการบางท่านที่เสนอว่า representativeness heuristic (ฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทน) เป็นเหตุอย่างหนึ่งของความเอนเอียงนี้ ซึ่งก็คือเรามักจะคิดถึงตัวอย่างประเภท (stereotypical categories) แทนที่จะคิดถึงตัวอย่างนั้นโดยตรงเมื่อทำการเปรียบเทียบ[14] ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการให้คนขับรถคิดถึงอุบัติเหตุรถยนต์ ผู้ขับก็มักจะคิดถึงคนขับรถที่ไม่ดี มากกว่าคนขับรถโดยทั่ว ๆ ไป[3] คือ เรามักจะเปรียบเทียบกับตัวอย่างไม่ดีที่นึกได้ มากกว่าจะทำการเปรียบเทียบที่แม่นยำกว่าโดยทั่ว ๆ ไประหว่างตนเองกับคนขับรถอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้ว เมื่อเราเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน เรามักจะเลือกเพื่อนที่แย่กว่าในเหตุการณ์ที่กำลังพิจารณา[15] คือ เรามักจะเลือกเพื่อนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเพราะว่าคล้ายกับตัวอย่างที่เป็นประเด็น มากกว่าจะเลือกเพื่อนทั่ว ๆ ไป (แทนที่เพื่อนที่มีลักษณะเป็นกลาง ๆ โดยเฉลี่ย)[15] นี่เป็นการหาตัวอย่างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคำถาม ซึ่งเป็นลักษณะของฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทน
จุดเป้าหมายที่มีอันเดียว
[แก้]ความยากลำบากอย่างหนึ่งในการแก้ความเอนเอียงนี้ก็คือ เราจะรู้จักตัวเราเองดีกว่าคนอื่น ดังนั้น แม้เราจะคิดถึงตนเองว่าเป็นบุคคลคนหนึ่ง แต่เรากลับคิดถึงผู้อื่นโดยความเป็นกลุ่มบุคคล ซึ่งนำไปสู่การประเมินค่าที่เอนเอียง และความไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจอย่างพอเพียงต่อบุคคลที่เปรียบเทียบ หรือกลุ่มที่เปรียบเทียบ โดยนัยเดียวกัน เมื่อทำการประเมินหรือทำการเปรียบเทียบความเสี่ยงของตนเทียบกับผู้อื่น เราโดยทั่ว ๆ ไปจะไม่ใส่ใจในบุคคลทั่ว ๆ ไป (คนกลาง ๆ โดยเฉลี่ย) แต่จะไปสนใจคนที่ตรงกับความรู้สึกและประสบการณ์ของตนเอง[3]
ความเหินห่างระหว่างบุคคล
[แก้]อีกอย่าง ความแตกต่างของการประเมินความเสี่ยง จะขึ้นอยู่กับว่า บุคคลที่เป็นเป้าหมายเปรียบเทียบ เหมือนหรือไม่เหมือนกับผู้ที่กำลังทำการเปรียบเทียบ[3] ยิ่งรู้สึกว่าห่างกันมากเท่าไร ค่าประเมินความเสี่ยงก็จะแตกต่างกันมากเท่านั้น แต่ถ้าทำให้ผู้ที่เป็นเป้าหมายเปรียบเทียบใกล้กับผู้เปรียบเทียบมากยิ่งขึ้น ค่าประเมินความเสี่ยงก็จะแตกต่างกันน้อยลง[3] มีหลักฐานอยู่บ้างว่า ความรู้สึกเกี่ยวกับความห่างทางสังคม (social distance) มีผลต่อระดับความเอนเอียงโดยมองในแง่ดี[16] คือ ถ้าเทียบกับบุคคลใน in-group (วงสังคมของตนเอง) ค่าประเมินระหว่างตนกับคนอื่น จะมีความใกล้เคียงกว่าเมื่อมีการเทียบกับบุคคลอื่นใน outer-group (กลุ่มนอกสังคมของตน)[16] ในงานวิจัยหนึ่ง นักวิจัยจัดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางสังคมของกลุ่มที่เปรียบเทียบ โดยที่ผู้ร่วมการทดลองทำการตัดสินโดยใช้กลุ่มเปรียบเทียบสองกลุ่ม คือ นักเรียนทั่วไปที่มหาวิทยาลัยของตน และนักเรียนทั่วไปที่อีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง ผลงานวิจัยแสดงว่า เราไม่ใช่เพียงแต่ทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีฐานะทางสังคมใกล้กว่าเราก่อนเท่านั้น แต่ความแตกต่างค่าประเมินความเสี่ยงระหว่างเรากับคนในกลุ่มของเราเองน้อยกว่า ค่าประเมินระหว่างเรากับคนในกลุ่มอื่นอีกด้วย[16]
งานวิจัยหลายงานยังพบอีกด้วยว่า เรามีความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ไม่รู้จักดี ในระดับที่สูงกว่า แต่ความเอนเอียงจะลดลงถ้าผู้เป็นเป้าหมายเปรียบเทียบเป็นคนคุ้นเคย เช่นเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัว ซึ่งเป็นเพราะเรามีข้อมูลเกี่ยวกับคนใกล้ตัว แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคนอื่น[7]
ข้อมูลเกี่ยวกับตนและกับผู้เป็นเป้าหมายเปรียบเทียบ
[แก้]เรามีข้อมูลเกี่ยวกับตนเองมากกว่าเรามีเกี่ยวกับผู้อื่น[3] ทำให้เราสามารถประเมินค่าความเสี่ยงของเราได้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่ทำให้ยากที่จะประเมินความเสี่ยงของผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความแตกต่างของความเห็นและข้อสรุปที่มีในเรื่องความเสี่ยงของตนเทียบกับของผู้อื่น ทำให้เกิดความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีในระดับที่สูงขึ้น (คือมีความแตกต่างกันของค่าเปรียบเทียบที่มากขึ้น)[3]
ความเอนเอียงเพราะเหมือนมนุษย์
[แก้]Person-positivity bias (ความเอนเอียงเพราะเหมือนมนุษย์) เป็นความโน้มเอียงที่จะให้คะแนนวัตถุหนึ่งดีกว่าวัตถุอื่น เพราะเหมือนกับมนุษย์มากกว่า โดยทั่วไปแล้ว วัตถุเป้าหมายยิ่งเหมือนกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากเท่าไร ก็จะมีความรู้สึกคุ้นเคยกับวัตถุนั้นมากขึ้นเท่านั้น แต่กลุ่มบุคคลกลับเป็นความคิดที่เป็นนามธรรมมากกว่า ทำให้เกิดความคิดเห็นที่ดีได้น้อยกว่า ความเอนเอียงเพราะเหมือนมนุษย์สามารถอธิบายความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีได้ว่า เมื่อเราเทียบตนเองกับคนอื่นโดยทั่วไป (คนระดับกลาง ๆ) ไม่ว่าจะเป็นคนเพศเดียวกันหรือคนวัยเดียวกัน ผู้เป็นเป้าหมายเปรียบเทียบกลับดูเหมือนมนุษย์น้อยกว่า เหมือนกับบุคคลน้อยกว่า ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างกันระหว่างตนกับผู้อื่น[3]
ความคิดมีตนเป็นศูนย์กลาง
[แก้]Egocentric thinking (ความคิดมีตนเป็นศูนย์กลาง) หมายถึงการที่เรารู้ข้อมูลและความเสี่ยงของตนเอง พอที่จะสามารถใช้ในการประเมินและการตัดสินใจ แต่ว่า แม้ว่าเราจะมีข้อมูลมากเกี่ยวกับตนเอง เรากลับไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้อื่น ดังนั้น เมื่อจะทำการตัดสินใจ เราต้องใช้ข้อมูลอื่นที่เรามี เช่นข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่ม ใช้เพื่อที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ที่เป็นเป้าหมายมากยิ่งขึ้น[3] นี้อาจจะมีความสัมพันธ์กับความเอนเอียงประเภทนี้ เพราะว่า แม้ว่าเราจะสามารถใช้ข้อมูลที่มีเกี่ยวกับตน แต่เรากลับมีความยากลำบากในการเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้อื่น[3] ความคิดมีตนเป็นศูนย์กลางเช่นนี้พบได้บ่อยครั้งกว่าในเด็กวัยรุ่นและเด็กมหาวิทยาลัย ที่มักจะคิดถึงตนเองมากกว่าผู้อื่นโดยรวม ๆ[17]
แต่ว่า มีวิธีหลีกเลี่ยงแนวคิดแบบมีตนเป็นศูนย์กลาง ในงานวิจัยหนึ่ง นักวิจัยให้ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งทำรายการองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการจะได้ประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วให้อีกกลุ่มหนึ่งอ่านรายการนั้น กลุ่มที่อ่านรายการจะแสดงความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีน้อยกว่า ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ความรู้ที่ดีขึ้นเกี่ยวกับคนอื่น และเกี่ยวกับความรู้สึกผู้อื่นในเรื่องโอกาสเสี่ยง จะทำกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาใกล้ตัวเรามากยิ่งขึ้น[14]
การประเมินความสามารถในการควบคุมของผู้อื่นต่ำเกินไป
[แก้]ในทฤษฎีความคิดมีตนเป็นศูนย์กลาง มีความเป็นไปได้ที่เราจะประเมินความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ของผู้อื่น (ที่เป็นกลาง ๆ โดยเฉลี่ย) ต่ำเกินไป ซึ่งสามารถอธิบายได้โดย 2 แนว คือ
- เราประเมินการควบคุมเหตุการณ์ในชีวิตของผู้อื่นต่ำเกินไป[14]
- เรามองข้ามอย่างสิ้นเชิงว่า คนอื่นสามารถควบคุมผลในชีวิตได้
ยกตัวอย่างเช่น คนสูบบุหรี่อาจจะคิดว่า ตนได้ทำการป้องกันเพื่อที่จะไม่เป็นโรคมะเร็งปอดไว้แล้ว เช่น สูบบุหรี่แค่วันละหนเดียว หรือใช้ก้นกรอง และเชื่อว่า คนอื่นไม่ได้ใช้วิธีการป้องกันเหมือนกันกับตน แต่จริง ๆ แล้ว ก็จะมีคนสูบบุหรี่อื่นมากมายที่ทำการป้องกันอย่างเดียวกันนั่นแหละ[3]
อารมณ์โดยทั่ว ๆ ไป
[แก้]องค์ประกอบสุดท้ายของความเอนเอียงนี้ก็คืออารมณ์โดยทั่ว ๆ ไป และประสบการณ์ทางอารมณ์ มีงานวิจัยที่แสดงว่า เรามีความเอนเอียงชนิดนี้ในระดับที่ต่ำกว่า เมื่อกำลังมีอารมณ์เชิงลบ และมีในระดับที่สูงกว่า เมื่อมีอารมณ์เชิงบวก อารมณ์ที่ทำให้เศร้าใจสะท้อนถึงการระลึกถึงเหตุการณ์ที่ไม่ดี ซึ่งเพิ่มความคิดเห็นเชิงลบ ในขณะที่อารมณ์ดีจะโปรโหมตการระลึกถึงเหตุการณ์ดี ๆ และความรู้สึกที่ดี[3] ซึ่งบอกเป็นนัยว่า โดยรวม ๆ แล้ว อารมณ์ที่ไม่ดี รวมทั้งภาวะซึมเศร้า มีผลเป็นการเพิ่มค่าประเมินความเสี่ยงของตน ซึ่งทำให้มีความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีที่ลดลง[8] นอกจากนั้นแล้ว ความวิตกกังวลยังนำไปสู่ระดับความเอนเอียงนี้ที่ต่ำลง ซึ่งก็สนับสนุนสมมติฐานว่า ประสบการณ์ดี ๆ โดยทั่ว ๆ ไป และทัศนคติที่ดี จะมีผลเป็นระดับความเอนเอียงนี้ที่สูงขึ้นในการประเมินเหตุการณ์ต่าง ๆ[8]
ผลกระทบของความเอนเอียง
[แก้]ในทางสุขภาพ ความเอนเอียงนี้มักจะทำให้เราไม่สนใจที่จะกระทำการป้องกันต่าง ๆ เพื่อมีสุขภาพที่ดี[18] ดังนั้น นักวิจัยจึงจำเป็นต้องรู้จักความเอนเอียงนี้ และกระบวนการที่ความเอนเอียงขัดขวางไม่ให้มนุษย์ กระทำการป้องกันในการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจของตนเองโดยเปรียบเทียบต่ำเกินไป จะมีความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจน้อยกว่า และแม้หลังจากอ่านบทความเกี่ยวกับโรค ก็จะยังไม่สนใจในเรื่องความเสี่ยงต่อโรคหัวใจของตน[10] เพราะว่า ความเอนเอียงนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการตัดสินใจ จึงสำคัญที่จะรู้ว่า ความรู้สึกว่าเสี่ยงไม่เสี่ยงเกิดขึ้นได้อย่างไร และว่า อย่างไรจึงจะมีผลเป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมการป้องกันความเสี่ยง ความรู้สึกเสี่ยงมีอิทธิพลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่นการออกกำลังกาย ไดเอ็ต และการใช้ครีมกันแดด[19]
นโยบายป้องกันความเสี่ยงนั้นมักจะเน้นที่เด็กวัยรุ่น เพราะเด็กวัยรุ่นมีความรู้สึกเสี่ยงที่บิดเบือน จึงมักจะมีพฤติกรรมเสี่ยง ๆ ทางสุขภาพบ่อย ๆ เช่นการสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด และเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน และถึงแม้จะรู้ถึงความเสี่ยง ความรู้นี้ก็ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมของเด็ก[20] ส่วนวัยรุ่นที่มีความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีต่อพฤติกรรมเสี่ยง ๆ ก็จะมีความเอนเอียงนี้สูงด้วยในวัยผู้ใหญ่[18]
อย่างไรก็ดี บททดสอบที่ใช้วัดค่าความเสี่ยงเหล่านี้บ่อยครั้งมีปัญหาทางระเบียบวิธี (methodological problem) คือ คำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ไม่มีเงื่อนไข มีการใช้เหมือนกันทั้งหมด ในงานวิจัยที่ศึกษาประชากรทั้งหมด จึงทำให้เกิดปัญหา เช่นถามถึงโอกาสที่การกระทำหนึ่งจะเกิดขึ้น แต่ไม่ได้กำหนดว่ามีผลของการกระทำนั้นหรือไม่ หรือว่า เปรียบเทียบเหตุการณ์จริง ๆ ที่เกิดขึ้น กับเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้น[19] ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการฉีดวัคซีน มีการเปรียบเทียบความรู้สึกของคนที่ฉีดและไม่ได้ฉีด ปัญหาอย่างอื่นก็คือ การไม่รู้ความรู้สึกเสี่ยงของบุคคลในเรื่องหนึ่ง ๆ[19] ซึ่งถ้ารู้ก็จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาความเอนเอียงโดยมองในแง่ดี และพฤติกรรมที่สามารถใช้ป้องกัน
การแก้ไขและการกำจัด
[แก้]งานวิจัยหลายงานแสดงว่า ยากมากที่จะกำจัดความเอนเอียงนี้ แต่ว่า ก็มีผู้เชื่อว่า ความพยายามเพื่อลดความเอนเอียงนี้ จะสนับสนุนให้คนเริ่มพฤติกรรมป้องกันทางสุขภาพ แต่ว่า ก็ยังมีนักวิชาการที่เสนอว่า ความเอนเอียงนี้ไม่สามารถที่จะลดได้[21]
ในงานวิจัยที่ทดสอบวิธี 4 อย่างเพื่อลดความเอนเอียงนี้ คือ[21]
- ให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านรายการองค์ความเสี่ยงสุขภาพ
- ให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านรายการองค์ความเสี่ยงสุขภาพโดยทำให้คิดว่าตนเองแย่กว่าผู้อื่น
- ให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านรายการองค์ความเสี่ยงทีละอย่างและคิดถึงบุคคลผู้มีความเสี่ยงสูง
- ให้ผู้ร่วมการทดลองทำรายการลักษณะนิสัยต่าง ๆ ของตนที่คิดว่าเพิ่มความเสี่ยง
ล้วนแต่เป็นวิธีที่ลดความเอนเอียงได้อย่างไม่แน่นอน แต่ว่า การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ไปในด้านตรงกับข้าม บ่อยครั้งจะเพิ่มความเอนเอียงขึ้น[21] แม้ว่ามีงานวิจัยที่พยามยามจะลดความเอนเอียงโดยลดความแตกต่างกันจากผู้อื่น อย่างไรก็ดี โดยองค์รวมแล้ว ความเอนเอียงก็จะยังหลงเหลืออยู่บ้าง[16]
ถึงแม้ว่างานวิจัยต่าง ๆ จะแสดงว่า ยากที่จะกำจัดความเอนเอียง แต่ก็มีองค์ประกอบบางอย่างที่อาจช่วย ในการลดความแตกต่างของค่าประเมินความเสี่ยงระหว่างตนเองกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง คือ ถ้าทำให้กลุ่มเปรียบเทียบมีความใกล้เคียงกับตน ความเอนเอียงจะสามารถลดลงได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่หมดสิ้นไป มีงานวิจัยหลายงานที่พบว่า เมื่อให้บุคคลทำการเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อนสนิท ก็แทบจะไม่มีความต่างกันระหว่างค่าประเมินโอกาสว่าเหตุการณ์หนึ่ง ๆ จะเกิดขึ้นระหว่างตนกับเพื่อน[15] นอกจากนั้นแล้ว ถ้าประสบเหตุการณ์จริง ๆ ก็จะนำไปสู่การลดระดับความเอนเอียงนี้[8] คือแม้ว่าจะเฉพาะเจาะจงกับเหตุการณ์ที่ตนประสบเท่านั้น แต่การรู้สิ่งที่ไม่ได้รู้มาก่อน จะมีผลทำให้เกิดการมองในแง่ดีน้อยลงว่า เหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดขึ้น
นโยบาย แผนงาน และการบริหาร
[แก้]ความเอนเอียงนี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและการพยากรณ์ ทั้งในเรื่องการตั้งนโยบาย การวางแผนงาน และการจัดการบริหาร ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาการทำงานที่มีการวางแผน มักจะมีการประเมินต่ำเกินไป และผลประโยชน์ที่ได้มักจะมีการประเมินสูงเกินไป เพราะเหตุแห่งความเอนเอียงนี้ คำว่า เหตุผลวิบัติในการวางแผน (planning fallacy) สำหรับปรากฏการณ์เช่นนี้ เป็นคำบัญญัติโดยอะมอส ทเวอร์สกี้ และแดเนียล คาฮ์นะมัน[22][23] เริ่มมีการสั่งสมหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ความเอนเอียงนี้ เป็นความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของค่าใช้จ่ายเกินงบประมาณในเมกะโปรเจกต์[24]
ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ร้าย
[แก้]ความเอนเอียงตรงกันข้ามกับความเอนเอียงนี้ก็คือ ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ร้าย (อังกฤษ: pessimism bias) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เราประเมินโอกาสที่เหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นกับเรามากเกินไป โดยเปรียบเทียบกับความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี ความแตกต่างก็คือ เรามีความวิตกกังวลกับเรื่องที่มีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต[25]
ผู้มีภาวะซึมเศร้ามีโอกาสสูงที่จะมีความเอนเอียงโดยการมองในแง่ร้าย[26][27] ซึ่งเป็นไปได้ว่า เป็นเพราะโดยทั่ว ๆ ไป คนซึมเศร้าจะมีความคิดเชิงลบ มีงานสำรวจหลายงานที่พบว่า ผู้สูบบุหรี่ประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจโดยมีความเอนเอียงโดยมองในแง่ร้ายเล็กน้อย แต่ว่า เอกสารการตีพิมพ์โดยองค์รวมแสดงผลที่ยังไม่ชัดเจน[28]
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ "Lexitron พจนานุกรมไทย<=>อังกฤษ รุ่น 2.6". หน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2546. แปล "optimism" ว่าการมองในแง่ดี
- ↑ "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ optimism ว่า "สุทรรศนนิยม"
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 3.19 3.20 3.21 3.22 Shepperd, James A.; Patrick Carroll; Jodi Grace; Meredith Terry (2002). "Exploring the Causes of Comparative Optimism" (PDF). Psychologica Belgica. 42: 65–98. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-25. สืบค้นเมื่อ 2015-03-06.
- ↑ Chapin, John; Grace Coleman (2009). "Optimistic Bias: What you Think, What you Know, or Whom you Know?". North American Journal of Psychology. 11 (1): 121–132.
- ↑ 5.0 5.1 Weinstein, Neil D.; William M. Klein (1996). "Unrealistic Optimism: Present and Future". Journal of Social and Clinical Psychology. 15 (1): 1–8. doi:10.1521/jscp.1996.15.1.1.
- ↑ Elder, Alexander (1993). Trading for a Living; Psychology, Trading Tactics, Money Management. John Wiley & Sons. Intro - sections "Psychology is the Key" & "The Odds are against You", And Part I "Individual Psychology", Section 5 "Fantasy versus Reality". ISBN 0-47159224-2.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 Gouveia, Susana O.; Valerie Clarke (2001). "Optimistic bias for negative and positive events". Health Education. 101 (5): 228–234. doi:10.1108/09654280110402080.
- ↑ 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 Helweg-Larsen, Marie; James A. Shepperd (2001). "Do Moderators of the Optimistic Bias Affect Personal or Target Risk Estimates? A Review of the Literature" (PDF). Personality and Social Psychology Review. 5 (1): 74–95. doi:10.1207/S15327957PSPR0501_5.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 Klein, Cynthia T. F.; Marie Helweg-Larsen (2002). "Perceived Control and the Optimistic Bias: A Meta-analytic Review" (PDF). Psychology and Health. 17 (4): 437–446. doi:10.1080/0887044022000004920. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-10-10. สืบค้นเมื่อ 2015-03-06.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 Radcliffe, Nathan M.; Klein, William M. P. (2002). "Dispositional, Unrealistic, and Comparative Optimism: Differential Relations with the Knowledge and Processing of Risk Information and Beliefs about Personal Risk". Personality and Social Psychology Bulletin. 28: 836–846. doi:10.1177/0146167202289012.
- ↑ McKenna, F. P; R. A. Stanier; C. Lewis (1991). "Factors underlying illusionary self-assessment of driving skill in males and females". Accident Analysis and Prevention. 23: 45–52. doi:10.1016/0001-4575(91)90034-3. PMID 2021403.
- ↑ Helweg-Larsen, Marie; Pedram Sadeghian; Mary S. Webb (2002). "The stigma of being pessimistically biased" (PDF). Journal of Social and Clinical Psychology. 21 (1): 92=107. doi:10.1521/jscp.21.1.92.22405.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 Harris, Peter (1996). "Sufficient grounds for optimism?: The relationship between perceived controllability and optimistic bias". Journal of Social and Clinical Psychology. 15 (1): 9–52. doi:10.1521/jscp.1996.15.1.9.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 Weinstein, Neil D. (1980). "Unrealistic optimism about future life events". Journal of Personality and Social Psychology. 39 (5): 806–820. CiteSeerX 10.1.1.535.9244. doi:10.1037/0022-3514.39.5.806.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 Perloff, Linda S; Barbara K. Fetzer (1986). "Self-other judgments and perceived vulnerability to victimization". Journal of Personality and Social Psychology. 50: 502–510. doi:10.1037/0022-3514.50.3.502.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 Harris, P; Middleton, Wendy; Joiner, Richard (2000). "The typical student as an in-group member: eliminating optimistic bias by reducing social distance". European Journal of Social Psychology. 30: 235–253. doi:10.1002/(SICI)1099-0992(200003/04)30:2<235::AID-EJSP990>3.0.CO;2-G.
- ↑ Weinstein, Neil D. (1987). "Unrealistic Optimism: About Susceptibility in Health Problems: Conclusions from a Community-Wide Sample". Journal of Behavioral Medicine. 10 (5): 481–500. doi:10.1007/BF00846146. PMID 3430590.
- ↑ 18.0 18.1 Bränström, Richard; Yvonne Brandberg (2010). "Health Risk Perception, Optimistic Bias, and Personal Satisfaction" (PDF). American Journal of Health Behavior. 34 (2): 197–205. doi:10.5993/ajhb.34.2.7. PMID 19814599. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-12-12. สืบค้นเมื่อ 2015-03-06.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 Brewer, Noel T.; Gretchen B. Chapman; Fredrick X. Gibbons; Meg Gerrard; Kevin D. McCaul; Neil D. Weinstein (2007). "Meta-analysis of the Relationship Between Risk Perception and Health Behavior: The Example of Vaccination" (PDF). Health Psychology. 26 (2): 136–145. doi:10.1037/0278-6133.26.2.136. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-09. สืบค้นเมื่อ 2015-03-06.
- ↑ Gerrard, Meg; Gibbons, Frederick X.; Benthin, Alida C.; Hessling, Robert M. (1996). "A Longitudinal Study of the Reciprocal Nature of Risk Behaviors and Cognitions in Adolescents: What You Do Shapes What You Think, and Vice Versa" (PDF). Health Psychology. 15 (5): 344–354. doi:10.1037/0278-6133.15.5.344. PMID 8891713.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 21.0 21.1 21.2 Weinstein, Neil D.; Klein, William M (1995). "Resistance of Personal Risk Perceptions to Debiasing Interventions". Health Psychology. 14 (2): 132–140. doi:10.1037/0278-6133.14.2.132. PMID 7789348.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Pezzo, Mark V.; Litman, Jordan A.; Pezzo, Stephanie P. (2006). "On the distinction between yuppies and hippies: Individual differences in prediction biases for planning future tasks". Personality and Individual Differences. 41 (7): 1359–1371. doi:10.1016/j.paid.2006.03.029. ISSN 0191-8869.
- ↑ Kahneman, Daniel; Tversky, Amos (1979). "Intuitive prediction: biases and corrective procedures". TIMS Studies in Management Science. 12: 313–327.
- ↑ Flyvbjerg, Bent (2011). "Over Budget, Over Time, Over and Over Again: Managing Major Projects". ใน Morris, Peter W. G.; Pinto, Jeffrey; Söderlund, Jonas (บ.ก.). The Oxford Handbook of Project Management. Oxford: Oxford University Press. pp. 321–344. doi:10.1093/oxfordhb/9780199563142.003.0014. ISBN 978-0-19956314-2.
- ↑ Edelman, Ric (2010-12-21). The Truth About Money (4 ed.). HarperCollins. p. 230. ISBN 978-0-06-207572-7.
- ↑ Sharot, Tali; Riccardi, Alison M.; Raio, Candace M.; Phelps, Elizabeth A. (2007). "Neural mechanisms mediating optimism bias". Nature. 450 (7166): 102–105. Bibcode:2007Natur.450..102S. doi:10.1038/nature06280. ISSN 0028-0836. PMID 17960136.
- ↑ Wang, PS (2004), "Effects of major depression on moment-in-time work performance", American Journal of Psychiatry, 161 (10): 1885–1891, doi:10.1176/ajp.161.10.1885, PMID 15465987
- ↑ Sutton, Stephen R. (1999), "How accurate are smokers' perceptions of risk?", Health, Risk & Society, 1 (2): 223–230, doi:10.1080/13698579908407020
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Tali Sharot: The optimism bias", การประชุมว่าด้วยเทคโนโลยี การบันเทิง และการออกแบบเรื่องความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี (อาจมีคำบรรยายภาษาไทย)