ข้ามไปเนื้อหา

การครุ่นคิด (จิตวิทยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ความครุ่นคิด (จิตวิทยา))

การครุ่นคิด[1] (อังกฤษ: Rumination) เป็นการใส่ใจอย่างหมกมุ่นในอาการต่าง ๆ เกี่ยวกับความทุกข์/ปัญหาของตน และในเหตุและผลที่อาจเป็นไปได้ของความทุกข์ แทนที่จะใส่ใจในวิธีแก้ปัญหา[2] ทั้งความครุ่นคิดและความกลุ้มใจ (worry) สัมพันธ์กับความวิตกกังวล (anxiety) และอารมณ์เชิงลบอื่น ๆ แต่ว่าก็ยังไม่มีวิธีการเดียวที่ตกลงใช้วัดระดับของมัน[3]

ตามทฤษฎี Response Styles Theory เสนอในปี 1998 (โดย Nolen-Hoeksema)[4] ความครุ่นคิดนิยามว่าเป็น "การใส่ใจอย่างหมกมุ่นในอาการต่าง ๆ เกี่ยวกับความทุกข์/ปัญหาของตน และในเหตุและผลที่อาจเป็นไปได้ของความทุกข์ แทนที่จะใส่ใจในวิธีแก้ปัญหา" และเพราะว่าทฤษฎีนี้ได้หลักฐานเชิงประสบการณ์สนับสนุน ดังนั้นจึงเป็นแบบจำลองของความครุ่นคิดที่นิยมใช้กันมากที่สุด แต่ว่าก็ยังมีทฤษฎีอื่น ๆ ที่เสนอนิยามอื่น ยกตัวอย่างเช่น ในทฤษฎี Goal Progress Theory ความครุ่นคิดไม่ใช่เป็นปฏิกิริยาต่อสภาวะของพื้นอารมณ์ แต่เป็น "การตอบสนองต่อความล้มเหลวที่จะก้าวหน้าอย่างน่าพอใจไปยังเป้าหมายอย่างหนึ่ง"[5] บทความนี้แสดงแบบจำลองหลายอย่างของความครุ่นคิดและหมายจะแยก "ความครุ่นคิด" จากแนวคิด/โครงสร้างทางจิตวิทยาอื่น ๆ ที่อาจดูคล้ายกันหรือเหลื่อมกัน

ทฤษฎี

[แก้]

Response styles theory

[แก้]

ทฤษฎีสไตล์การตอบสนอง (อังกฤษ: Response styles theory, ตัวย่อ RST) ดั้งเดิมนิยามความครุ่นคิดว่า เป็นการใส่ใจอย่างไม่ได้ตั้งใจ (passive) และอย่างซ้ำ ๆ ในอาการซึมเศร้าของตน และในเหตุและผลที่เป็นไปได้ของอาการเหล่านั้น[6] หลักฐานที่ยืนยันนิยามนี้มาจากผลงานวิจัยที่แสดงว่า การครุ่นคิดมีส่วนทำให้เกิด ดำรงรักษา และทำอาการซึมเศร้าต่าง ๆ ให้แย่ลง[7][8] และมีส่วนในการสำแดงอาการ (episodes) ของโรคซึมเศร้า[9] ในปี 2008 ผู้ตั้งทฤษฎีได้ขยายนิยามของความครุ่นคิดนอกเหนือไปจากความซึมเศร้า โดยรวมการใส่ใจอาการของความทุกข์ที่ไม่ได้ตั้งใจและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยทั่วไป เพราะว่าความครุ่นคิดปรากฏกว่ามีส่วนร่วมกับความผิดปกอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงแค่ความซึมเศร้า[2] ทฤษฎี RST ยังยืนยันด้วยว่า การหันไปใส่ใจเรื่องที่ดี (positive distraction) เป็นทางเลือกที่ดีแทนการครุ่นคิด คือใส่ใจในสิ่งเร้าเชิงบวกเรื่องอื่นแทนที่จะใส่ใจในความทุกข์ของตน[10] แต่ว่า ก็มีวรรณกรรมอื่น ๆ ที่แสดงว่า การหันไปใส่ใจเรื่องที่ดี อาจไม่สามารถช่วยเท่ากับที่เคยคิดมาก่อน[11]

Self-regulatory executive function model

[แก้]

แบบจำลอง self-regulatory executive function (S-REF) เกี่ยวกับการทำหน้าที่ผิดปรกติทางอารมณ์ (affective dysfunction) ยืนยันว่า ความครุ่นคิดสามารถอธิบายได้อย่างแม่นยำภายในแบบจำลองของการควบคุมตัวเองแบบหลายระดับ (multilevel model of self-regulation)[11] โดยเฉพาะแล้ว แบบจำลอง S-REF นิยามการครุ่นคิดไว้ว่า "ความคิดซ้ำ ๆ ที่เกิดจากความพยายามเพื่อรับมือความขัดแย้งในตัวเอง (self-discrepancy) โดยมุ่งหมายเพื่อปฏิบัติการต่อข้อมูลเกี่ยวกับตนเองเป็นหลักและไม่ใช่เพื่อการกระทำมีเป้าหมายแบบทันที"[12] หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อบุคคลกำลังครุ่นคิด เขามุ่งที่จะตอบคำถามอย่างเช่น

  • ฉันรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์นี้
  • ฉันจะเปลี่ยนความคิดความรู้สึกของฉันเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร
  • ฉันจะป้องกันความคิดความรู้สึกที่ไม่ดีในอนาคตได้อย่างไร

แต่ว่า ในการตอบปัญหาเหล่านี้ คนที่กำลังครุ่นคิดมักจะใส่ใจที่อารมณ์ของตนเอง (คือ ปฏิบัติการต่อข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง) แทนที่จะใส่ใจในวิธีแก้ปัญหา (คือ การกระทำที่มีเป้าหมาย)[12] ความสำนึกรู้ความคิดของตนเอง (Metacognition) เป็นส่วนสำคัญของแบบจำลอง S-REF และช่วยอธิบายการเชื่อมต่อกันระหว่างการครุ่นคิดและความซึมเศร้า[6] โดยเฉพาะก็คือ ผู้ที่เชื่อในเชิงบวก (เป็น metacognitive belief) ว่าการครุ่นคิดมีประโยชน์ (เช่น ฉันต้องครุ่นคิดเหตุการณ์ร้ายในอดีตเพื่อที่จะเข้าใจ)[13] จะมีแรงจูงใจในการครุ่นคิดต่อไป[14] และเมื่อเริ่มครุ่นคิดแล้ว ความเชื่อเกี่ยวกับการครุ่นคิดจะเปลี่ยนเป็นเชิงลบ คือว่ามันเป็นทุกข์ (เช่น การครุ่นคิดทำให้ฉันป่วยทางกาย) ควบคุมไม่ได้ (เช่น การครุ่นคิดหมายถึงฉันควบคุมตัวเองไม่ได้) และมีผลลบทางสังคม[14][15] ความเชื่อ (ที่เป็น metacognitive belief) เชิงลบจะมีส่วนให้เกิดและดำรงความซึมเศร้า[14]

Goal progress theory

[แก้]

ทฤษฎี Goal progress theory (ตัวย่อ GPT) อธิบายการครุ่นคิดว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะก็คือ GPT มองการครุ่นคิดว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของ Zeigarnik effect ซึ่งแสดงว่า บุคคลจะจำข้อมูลเกี่ยวกับงานที่ยังไม่เสร็จได้ดีกว่างานที่เสร็จแล้ว[5][11] จากมุมมองนี้ GPT นิยามการครุ่นคิดไว้ว่า "ความโน้มเอียงที่จะคิดถึงบ่อย ๆ ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญ และสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ที่ยังไม่ได้" หรือที่ยังไม่ก้าวหน้าอย่างเพียงพอ[11][16] ทฤษฎี GPT พยากรณ์ว่า บุคคลที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายที่คิดถึงได้ง่ายมีโอกาสสูงกว่าที่จะครุ่นคิด ซึ่งเป็นการพยากรณ์ที่มีหลักฐานจากงานศึกษาหลายงาน[5]

พยาธิสภาพ

[แก้]

งานวิจัยมากมายเกี่ยวกับผลของการครุ่นคิด หรือความโน้มเอียงที่จะพิจารณาตัวเอง (self-reflect) แสดงว่าการครุ่นคิดเชิงลบจะขัดขวางสมาธิในการแก้ปัญหา และมีผลเป็นการหมกมุ่นอยู่ในความคิดเชิงลบเกี่ยวกับความล้มเหลวในอดีต[17] หลักฐานจากงานศึกษาแสดงว่า ผลลบของการครุ่นคิดมากจากความเอนเอียงทางประชาน (cognitive bias) เช่นความเอนเอียงทางความจำหรือการใส่ใจ ซึ่งทำให้บุคคลคิดเลือกเอาแต่สิ่งเร้าเชิงลบ[18] ความโน้มเอียงที่จะครุ่นคิดในเชิงลบดำรงอยู่อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานาน และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคซึมเศร้า ไม่ใช่เพียงแค่คนครุ่นคิดเป็นประจำเท่านั้นที่เกิดความซึมเศร้า งานศึกษาแบบทดลองได้แสดงแล้วว่า บุคคลที่ถูกชักจูงให้ครุ่นคิดประสบกับความรู้สึกซึมเศร้ามากกว่า[19] มีหลักฐานด้วยว่า การครุ่นคิดสัมพันธ์กับความวิตกกังวลทั่วไป ความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ การดื่มเหล้าเพื่อให้เมา (binge drinking) ความผิดปกติในการรับประทาน และพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง

ความครุ่นคิดตอนเแรกเชื่อกันว่า เป็นตัวพยากรณ์ช่วงเวลาของอาการซึมเศร้า กล่าวอีกอย่างก็คือ การครุ่นคิดถึงปัญหา สมมุติว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการซ้อมความจำ (memory rehearsal) ซึ่งเคยเชื่อว่าทำประสบการณ์ซึมเศร้าให้ยาวนานขึ้น แต่หลักฐานปัจจุบันแสดงว่า แม้ว่าการครุ่นคิดจะมีส่วนก่อความซึมเศร้า แต่ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับช่วงเวลาการเกิดอาการ[2]

รูปแบบและเรื่องที่คิด

[แก้]

การพยากรณ์ว่าอะไรเป็นเรื่องที่บุคคลครุ่นคิด ต่าง ๆ กันไปขึ้นอยู่กับมุมมองของทฤษฎี ทฤษฎีบางอย่างเสนอว่า การครุ่นคิดจะสนใจที่ความรู้สึกเชิงลบ และ/หรือ สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนั้น (รวมทั้งทฤษฎี RST, rumination on sadness, Trapnell and Campbell, stress-reactive rumination, post-event processing model) มีทฤษฎีอื่นที่พยากรณ์ว่า เป็นการคิดถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างสถานะของตนในปัจจุบันและสถานะที่ต้องการ (goal progress, conceptual evaluative model of rumination) และทฤษฎีอื่น ๆ เสนอว่า ตีมเชิงลบในเรื่องความควบคุมไม่ได้และความเสียหายที่จะมีใน metacognition เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด[20]

ความคิดสามัญที่เป็นลักษณะของการครุ่นคิดก็คือการถามความอยู่เป็นสุขของตนเอง และการสนใจในเรื่องเหตุและผลของอาการซึมเศร้าของตนเอง[10] ยกตัวอย่างเช่น "ทำไมฉันจึงเป็นคนไม่เอาไหนเช่นนี้" "ทำไมฉันจึงอารมณ์ไม่ดีอย่างนี้" หรือว่า "ทำไมฉันไม่รู้สึกอยากจะทำอะไรเลย"[10]

ความแตกต่างทางทฤษฎีอีกอย่างก็คือกาลเวลาของเรื่องที่คิด โดยมีหลายทฤษฎีสมมุติว่า สามารถเกี่ยวข้องทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน ส่วนบางทฤษฎีสมมุติว่า เป็นเรื่องในอดีตหรือปัจจุบัน แต่ว่า ก็มีรายงานที่สม่ำเสมอว่า การครุ่นคิดเมื่อเทียบกับความกลุ้มใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีต[21] แต่ว่างานศึกษาในปี 2007 พบว่า เวลาจะเปลี่ยนไปในช่วงการครุ่นคิด คือบุคคลจะเริ่มที่เรื่องในอดีตก่อน แล้วเพิ่มความคิดเกี่ยวกับปัจจุบันและอนาคตมากขึ้นต่อมา[22] ดังนั้น การครุ่นคิดอาจจะซับซ้อนกว่าที่เคยคิด และไม่ใช่เป็นเรื่องอดีตล้วน ๆ

มีการเสนอแบบการครุ่นคิดเหล่านี้ คือ[23]

  • State rumination (การครุ่นคิดถึงสภาวะ) ซึ่งเป็นการหมกมุ่นในเรื่องผลและความรู้สึกที่สัมพันธ์กับความล้มเหลวในอดีต การครุ่นคิดเช่นนี้เป็นเรื่องสามัญกว่าในบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย มีบุคลิกภาพแบบ neuroticism และอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเชิงลบ (negative attributional style)
  • Action rumination (การครุ่นคิดถึงการกระทำ) เป็นกระบวนการคิดที่สนใจในสิ่งที่จะทำ โดยพุ่งความสนใจไปที่การถึงเป้าหมายและการแก้ไขความผิดพลาด
  • Task-irrelevant rumination (การครุ่นคิดถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง) ซึ่งคิดถึงเหตุการณ์หรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ไม่สามารถเข้าถึง เพื่อที่จะเปลี่ยนความสนใจไปจากความล้มเหลว[24]

การวัด

[แก้]

ความครุ่นคิดสามารถวัดได้โดย Ruminative Responses Scale จากชุดคำถาม Response Styles Questionnaire[10] ซึ่งให้ผู้รับการทดสอบแสดงว่า ตนมีความคิดหรือพฤติกรรม 22 อย่างบ่อยแค่ไหนเมื่อรู้สึกเศร้าใจหรือซึมเศร้า

ความแตกต่างระหว่างเพศ

[แก้]

ตาม ศ. จิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยลท่านหนึ่ง หญิงมักจะครุ่นคิดเมื่อเศร้า เทียบกับชายที่มักจะหันไปสนใจเรื่องอื่น ความแตกต่างในการตอบสนองเช่นนี้ชี้ว่า ทำไมหญิงจึงมีอัตราความซึมเศร้าสูงกว่าชาย[25] นักวิจัยอื่น ๆ ได้พบหลักฐานยืนยันว่าหญิงมีโอกาสสูงกว่าที่จะครุ่นคิด แม้ว่า หลักฐานที่แสดงว่าชายมักหันไปสนใจเรื่องอื่นจะมีหลักฐานที่ไม่สม่ำเสมอ[26]

การเปิดเผยแบบดี

[แก้]

แม้ว่าการครุ่นคิดโดยทั่วไปจะไม่ดีและสัมพันธ์กับความซึมเศร้า การคิดถึงและกล่าวถึงความรู้สึกตนเองมีประโยชน์ในสถานการณ์บางอย่าง ตาม ศ. ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน การเปิดเผยตนเองที่ดีสามารถลดความเครียดและความครุ่นคิด ถ้าการเปิดเผยนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับเหตุของปัญหา[27] ดังนั้น ถ้าบุคคลแชร์ความรู้สึกตนเองกับผู้อื่นที่ตนมีความสัมพันธ์ที่ดี นี่อาจจะเป็นความเจริญงอกงาม โดยเปรียบเทียบกัน เมื่อบุคคลครุ่นคิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ และหมกหมุ่นอยู่ในปัญหาเดียวกันโดยที่ไม่ก้าวหน้า ก็จะมีโอกาสเกิดความซึมเศร้ามากขึ้น

ความสัมพันธ์กับแนวคิดอื่น ๆ

[แก้]

ความครุ่นคิด (Rumination) คล้ายกันหรือเหลื่อมกันกับแนวคิด/โครงสร้างอื่น ๆ เช่น ความกลุ้มใจ (Worry) และความคิดเชิงลบอัตโนมัติ (negative automatic thought)

ความกลุ้มใจ

[แก้]

ความครุ่นคิดปรากฏว่าสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความกลุ้มใจ (Worry) โดยสามารถนิยามความกลุ้มใจได้ว่า "ลูกโซ่ของความคิดและจินตภาพ ที่เต็มไปด้วยอารมณ์เชิงลบ และค่อนข้างควบคุมไม่ได้ เป็นการพยายามแก้ปัญหาในใจเกี่ยวกับประเด็นที่มีผลไม่แน่นอน แต่มีโอกาสที่จะมีผลลบอย่างน้อยหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้น"[11][28] มีการเปรียบเทียบความครุ่นคิดกับความกลุ้มใจ ซึ่งในทฤษฎีบางอย่าง ความครุ่นคิดเป็นรูปแบบหนึ่งของความกลุ่มใจ (เช่น S-REF) นอกจากนั้นแล้ว นักวิจัยหลายคนได้ให้ข้อสังเกตว่า มีความเกิดร่วมกันของโรค (comorbidity) สูงระหว่างโรควิตกกังวล (GAD) และโรคซึมเศร้า (MDD) คือ คนไข้ 60% ที่มีอาการของ GAD สามารถวินิจฉัยว่ามี MDD ด้วย การเกิดร่วมอย่างสำคัญเช่นนี้ทำให้มีวรรณกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำระหว่างความครุ่นคิด ซึ่งบ่อยครั้งศึกษาในเรื่อง MDD กับความกลุ้มใจ ซึ่งบ่อยครั้งศึกษาในเรื่อง GAD

ค่าวัดของความครุ่นคิดและความกลุ้มใจมีสหสัมพันธ์สูง เหนือกว่าค่าวัดอาการความวิตกกังวลและความซึมเศร้า (r=.66; Beck & Perkins, 2001) ทั้งความครุ่นคิดและความกลุ้มใจเหลื่อมกันในความสัมพันธ์กับโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า แม้ว่าจะมีงานศึกษาที่แสดงความจำเพาะ (specificity) ของความครุ่นคิดกับโรคซึมเศร้าและความกลุ้มใจกับโรควิตกกังวล นอกจากนั้นแล้ว มีการพบว่า ความครุ่นคิดสามารถพยากรณ์ความเปลี่ยนแปลงของอาการซึมเศร้าและของอาการวิตกกังวล และคนไข้ MDD รายงานระดับความกลุ้มใจคล้ายกับคนไข้ GAD ดังนั้นโดยองค์รวมแล้ว งานวิจัยเหล่านี้แสดงว่า ความครุ่นคิดและความกลุ้มใจไม่ใช่แค่สัมพันธ์กันเท่านั้น เพราะแต่ละอย่างยังสัมพันธ์กับอาการของทั้งความซึมเศร้าและความวิตกกังวลอีกด้วย

มีงานศึกษาที่แสดงว่า เรื่องที่กลุ้มใจกับเรื่องที่ครุ่นคิดแตกต่างกัน ความกลุ้มใจบ่อยครั้งเป็นเรื่องการแก้ปัญหาและเกี่ยวกับอนาคต ในขณะที่ความครุ่นคิดมักจะเป็นเรื่องความสูญเสียและเกี่ยวกับอดีต ความครุ่นคิด เมื่อเทียบกับความกลุ้มใจ สัมพันธ์กับความพยายามและความมั่นใจที่น้อยกว่าในการแก้ปัญหา[6] มีการเสนอว่า ความครุ่นคิดและความกลุ้มใจมีหน้าที่ต่างกัน คือ ความครุ่นคิดสัมพันธ์กับความเชื่อว่าตัวเองมีส่วนในสถานการณ์มากกว่าและจำเป็นต้องเข้าใจมากกว่า เทียบกับความกลุ้มใจที่สัมพันธ์กับความต้องการหลีกเลี่ยงความคิดที่ทำให้กลุ้มใจ (Watkins 2004b) ยังมีสมมติฐานอีกด้วยว่า ความกลุ้มใจเป็นเรื่องจินตนาการมากกว่าความครุ่นคิด แต่ว่าหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ลงรอยกัน[29][30][31] ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว งานศึกษาเหล่านี้แสดงว่า ความกลุ้มใจและความครุ่นคิดเป็นแนวคิดที่สัมพันธ์กันและทั้งสองต่างก็นำไปสู่ความซึมเศร้าและความวิตกกังวล เป็นไปได้ว่า ความครุ่นคิดและความกลุ้มใจเป็นแบบการคิดซ้ำ ๆ ที่สัมพันธ์กัน และอาจจะชัดเจนกว่าถ้าจัดเป็นแบบย่อยของโครงสร้างที่ครอบคลุมแนวคิดทั้งสอง เช่น เป็นกลยุทธ์รับมือปัญหาแบบหลีกเลี่ยง (avoidant coping strategy)

ความคิดเชิงลบอัตโนมัติ

[แก้]

มีการเปรียบเทียบความครุ่นคิดกับความคิดเชิงลบอัตโนมัติ (negative automatic thoughts) ที่นิยามว่าเป็นความคิดซ้ำ ๆ ที่มีตีมเกี่ยวกับความสูญเสียหรือความล้มเหลวส่วนบุคคล ตาม ศ. จิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล (2004) เธอยืนยันว่า ความครุ่นคิด (ดังที่นิยามใน RST) ต่างจากความคิดเชิงลบอัตโนมัติ เพราะว่า ความคิดเชิงลบอัตโนมัติเป็นการประเมินแบบรวบรัด ถึงเรื่องความสูญเสียและความล้มเหลวในโรคซึมเศร้า ในขณะที่ความครุ่นคิดเป็นลูกโซ่ของความคิดที่ซ้ำ ๆ วนเวียน เป็นเรื่องลบ เกี่ยวกับตนเอง ที่อาจเกิดขึ้นโดยตอบสนองต่อความคิดเชิงลบอัตโนมัติในเบื้องต้น[32] เธอยังเสนอด้วยว่า ความครุ่นคิดอาจมีตีมเชิงลบที่พบในความคิดเชิงลบอัตโนมัตินอกเหนือไปจากการวิเคราะห์อาการ เหตุ และผลของความรู้สึก หนังสือปี 2004 ยังให้หลักฐานที่สนับสนุนข้อสรุปนี้ คือ นักเขียนพบว่า ความครุ่นคิดสามารถพยากรณ์ความซึมเศร้าแม้เมื่อควบคุมการคิดเชิงลบ (negative cognition) ซึ่งแสดงว่า แนวคิดทั้งสองไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และมีคุณค่าการพยากรณ์ที่ต่างกัน[12] แต่แม้ว่า จะมีการอ้างว่า ความครุ่นคิดและความคิดเชิงลบอัตโนมัติเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน แต่ว่า Response Style Questionnaire ก็ได้ถูกคัดค้านในประเด็นว่ามีส่วนเหลื่อมกับความคิดเชิงลบอัตโนมัติ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Wareerat Thanoi, Rungnapa Panitrat, Kobkul Phancharoenworakul, Elaine A. Thompson, Dachavudh Nityasuddhi (2011). "The Adolescent Ruminative Response Scale (Thai version): Psychometric Properties" (PDF). J Nurs Sci. 29: 30. แบบวัดความครุ่นคิด{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 Nolen-Hoeksema S, Wisco BE, Lyubomirsky S (September 2008). "Rethinking Rumination". Perspectives on Psychological Science. 3 (5): 400–424. doi:10.1111/j.1745-6924.2008.00088.x. PMID 26158958. S2CID 6415609.
  3. Smith, J.M.; Alloy, L.B. (2008). "A roadmap to rumination: A review of the conceptualization of this multifaceted construct". Clinical Psychology Review. 29 (2): 116–128. doi:10.1016/j.cpr.2008.10.003.
  4. Nolan SA, Roberts JE, Gotlib IH (1998). "Neuroticism and ruminative response style as predictors of change in depressive symptomatology" (PDF). Cognitive Therapy and Research. 22 (5): 445–455. doi:10.1023/A:1018769531641. S2CID 15419457.
  5. 5.0 5.1 5.2 Watkins, E. R. (2008). "Constructive and unconstructive repetitive thought". Psychological Bulletin. 134 (2): 163–206. doi:10.1037/0033-2909.134.2.163.
  6. 6.0 6.1 6.2 Papageorgiou C, Wells A (2004). "Nature, Functions, and Beliefs about Depressive Rumination". ใน Papageorgiou C, Wells A (บ.ก.). Depressive Rumination: Nature, Theory and Treatment. West Sussex: John Wiley & Sons. pp. 1–20. doi:10.1002/9780470713853.ch1. ISBN 9780470713853.
  7. Nolen-Hoeksema S, Morrow J (1993). "Effects of rumination and distraction on naturally occurring depressed mood". Cognition and Emotion. 7 (6): 561–570. doi:10.1080/02699939308409206.
  8. Nolen-Hoeksema S, Parker LE, Larson J (July 1994). "Ruminative coping with depressed mood following loss". Journal of Personality and Social Psychology. 67 (1): 92–104. doi:10.1037/0022-3514.67.1.92. PMID 8046585.
  9. Nolen-Hoeksema S (August 2000). "The role of rumination in depressive disorders and mixed anxiety/depressive symptoms". Journal of Abnormal Psychology. 109 (3): 504–511. doi:10.1037/0021-843x.109.3.504. PMID 11016119. S2CID 43090073.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Nolen-Hoeksema, S (1991). "Responses to depression and their effects on the duration of the depressive episode". Journal of Abnormal Psychology. 100 (4): 569–582. doi:10.1037/0021-843x.100.4.569.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 Smith, J. M.; Alloy, L. B. (2009). "A roadmap to rumination: A review of the definition, assessment, and conceptualization of this multifaceted construct". Clinical Psychology Review. 29 (2): 116–128. doi:10.1016/j.cpr.2008.10.003.
  12. 12.0 12.1 12.2 Matthews G, Wells A (2004). "Rumination, Depression, and Metacognition: The S-REF Model". ใน Papageorgiou C, Wells A (บ.ก.). Depressive Rumination: Nature, Theory and Treatment. West Sussex: John Wiley & Sons. pp. 125–151. doi:10.1002/9780470713853.ch7. ISBN 9780470713853.
  13. Papageorgiou, C.; Wells, A. (2001). "Positive beliefs about depressive rumination: Development and preliminary validation of a self-report scale". Behavior Therapy. 32 (1): 13–26. doi:10.1016/s0005-7894(01)80041-1.
  14. 14.0 14.1 14.2 Papageorgiou, C.; Wells, A. (2003). "An empirical test of a clinical metacognitive model of rumination and depression". Cognitive Therapy and Research. 27: 261–273.
  15. Papageorgiou, C.; Wells, A. (2001). "Metacognitive beliefs about rumination in recurrent major depression". Cognitive and Behavioral Practice. 8 (2): 160–164. doi:10.1016/s1077-7229(01)80021-3.
  16. Martin LL, Shrira I, Startup HM (2004). "Rumination as a Function of Goal Progress, Stop Rules, and Cerebral Lateralization". ใน Papageorgiou C, Wells A (บ.ก.). Depressive Rumination: Nature, Theory and Treatment. West Sussex: John Wiley & Sons. pp. 153–175. doi:10.1002/9780470713853.ch8. ISBN 9780470713853.
  17. Lyubomirsky, S; Kasri, F; Zehm, K (2003). "Dysphoric rumination impairs concentration on academic tasks". Cognitive Therapy and Research. 27 (3): 309–330. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-26. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  18. Joormann, J.; Dkane, M.; Gotlib, I. H. (2006). "Adaptive and maladaptive components of rumination? Diagnostic specificity and relation to depressive biases" (PDF). Behavior Therapy. 37 (3): 269–280. doi:10.1016/j.beth.2006.01.002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-06-01. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  19. Nolen-Hoeksema, S.; Morrow, J. (1993). "Effects of rumination and distraction on naturally occurring depressed mood". Cognition and Emotion. 7 (6): 561–570. doi:10.1080/02699939308409206.
  20. Nolen-Hoekssema, S; Wisco, BE; Lyubomirsky, S (2008). "Perspectives on Psychological Science". 3 (5). {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  21. Watkins, E.; Moulds, M. (2005). "Distinct modes of ruminative self-focus: Impact of abstract vs. concrete rumination on problem solving in depression". Emotion. 5: 319–328. doi:10.1037/1528-3542.5.3.319.
  22. McLaughlin, K.A.; Borkovec, T.D.; Sibrava, N.J. (2007). "The effects of worry and rumination on affect states and cognitive activity". Behavior Therapy. 38: 23–38. doi:10.1016/j.beth.2006.03.003.
  23. Mikulincer, Mario (1996). "Mental rumination and learned helplessness: Cognitive shifts during helplessness training and their behavioral consequences.". ใน Sarason, I.; Sarason, B.; Pierce, G. (บ.ก.). Cognitive interference: Theories, methods, and findings. Hillsdale, NJ: Lawrence Erlbaum. pp. 191–210.
  24. Ciarocco, NJ; Vohs, KD; Baumeister, RF (2010). "Some good news about rumination: Task-focused thinking after failure facilitates performance improvement" (PDF). Journal of Social and Clinical Psychology. 29 (10): 1057–1073. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-05-26. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  25. Nolen-Hoeksema, S (1987). "Sex differences in unipolar depression: Evidence and theory". Psychological Bulletin. 101 (2): 259–282. doi:10.1037/0033-2909.101.2.259. PMID 3562707.
  26. Strauss, J.; Muday, T.; McNall, K.; Wong, M. (1997). "Response Style Theory revisited: Gender differences and stereotypes in rumination and distraction". Sex Roles. 36: 771–792. doi:10.1023/A:1025679223514.
  27. Pennebaker, J. W. (1989). "Confession, inhibition, and disease". Advances in Experimental Social Psychology. 22: 211–244.
  28. Borkovec, T.D.; Robinson, E.; Pruzinsky, T.; DePree, J. A. (1983). "Preliminary exploration of worry: Some characteristics and processes". Behavioral Research and Therapy. 21 (1): 9–16. doi:10.1016/0005-7967(83)90121-3.
  29. McLaughlin, K.A.; Borkovec, T.D.; Sibrava, N.J. (2007). "The effects of worry and rumination on affect states and cognitive activity". Behavior Therapy. 38 (1): 23–38. doi:10.1016/j.beth.2006.03.003.
  30. Papageorgiou, C.; Wells, A. (1999). "Process and meta cognitive dimensions of depressive and anxious thoughts and relationships with emotional intensity". Clinical Psychology and Psychotherapy. 5: 152. doi:10.1002/(sici)1099-0879(199905)6:2<156::aid-cpp196>3.0.co;2-a.
  31. Watkins, E.; Moulds, M.; Mackintosh, B. (2005). "Comparisons between rumination and worry in a non-clinical population". Behaviour Research and Therapy. 43 (12): 1577–1585. doi:10.1016/j.brat.2004.11.008.
  32. Nolen-Hoeksema, S (2004). Papageorgiou, C; Wells, A (บ.ก.). The Response Style Theory. Depressive Rumination: Nature, Theory and Treatment. West Sussex, England: Wiley.

อ่านเพิ่มเติม

[แก้]