คลองบางโฉลง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท่าน้ำหน้าวัดบางโฉลงนอก

คลองบางโฉลง เป็นคลองแยกจากคลองสำโรงที่วัดบางโฉลงนอก อำเภอบางพลี เชื่อมกับคลองสำโรง 3 จุด คือ ปากคลองที่อยู่ใกล้ตลาดบางโฉลง (เดิม) ปากคลองที่อยู่ข้างวัดบางโฉลงนอก และปากคลองที่เชื่อมต่อกับคลองบางน้ำจืด[1] ผ่านท้องที่ตำบลบางโฉลงและตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ[2]

ประวัติ[แก้]

สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเมืองแกลง เดินทางไปเมืองแกลง จังหวัดระยอง เมื่อ พ.ศ. 2350 มีความตอนหนึ่งถึงบางโฉลงว่า

ลึกล่วงทางถึงบางโฉลง เป็นทุ่งโล่งลานตาล้วนป่าแขม
เหงือกปลาหมอกอกกกับกุ่มแกม คงคาแจ่มเค็มจัดดังกัดเกลือ

จากคำบรรยายทำให้ทราบว่าบริเวณบางโฉลงเป็นทุ่งโล่งในคลองมีวัชพืชขึ้นริมน้ำทั้งเหงือกปลาหมอ แขม กก กุ่ม ลำน้ำเป็นน้ำกร่อยหรือค่อนข้างเค็ม

เมื่อ พ.ศ. 2372 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังกบฏเจ้าอนุวงศ์ ได้เชลยชาวลาวเป็นจำนวนมากมาตั้งถิ่นฐานในหลายจังหวัดของภาคกลาง หนึ่งในนั้นคือริมคลองบางโฉลงในหมู่ที่ 5 ซึ่งมีชื่อเรียกว่า บ้านลาว และตั้งแต่ พ.ศ. 2400 ชาวจีนไหหลำและแต้จิ๋วโดยมากมีอาชีพค้าขาย เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณปากคลองบางโฉลงหรือตลาดบางโฉลงเก่าและบริเวณศาลพ่อหลวงคงเพชร

หลังการตัดถนนสุขุมวิทเมื่อ พ.ศ. 2479 ถนนสุขุมวิทได้กั้นน้ำเค็มจากทะเลไม่ให้หนุนเข้าสู่แม่น้ำและลำคลอง ส่งผลให้ปลูกข้าวได้ผลดี ในพื้นที่บางโฉลงมีการตั้งโรงสีขึ้น 3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือโรงสีนายสินตั้งอยู่ตลาดปากคลองบางโฉลงเก่า ก่อนหน้าที่จะตัดถนนสุขุมวิท น้ำในคลองบางโฉลงค่อนข้างเค็ม มีสัตว์น้ำลักจืดลักเค็มหลายชนิด เช่น ปลากะพง ปลากระบอก กุ้งแชบ๊วย กุ้งตะกาด ภายหลังตัดถนนสุขุมวิท สัตว์น้ำเริ่มเปลี่ยนไปเป็นปลาน้ำจืด ส่วนปลาลักจืดลักเค็มหรือปลาน้ำกร่อยเริ่มหายไป รวมถึงปลาสลิดก็ลดจำนวนมาก

ในช่วง พ.ศ. 2500 มีการขุดลอกคลองบางโฉลงทำให้น้ำทะเลหนุนเข้ามามาก น้ำในบางช่วงกลายเป็นน้ำกร่อย เกิดปัญหาในการทำนาบ้างแต่ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตลอด ปัจจุบันคลองบางโฉลงเป็นเพียงเส้นทางระบายน้ำของเสียจากชาวบ้าน เป็นที่รวมขยะต่าง ๆ ลำคลองในช่วงที่ไม่มีบ้านเรือนจะเต็มไปด้วยผักตบชวาและหญ้าปล้อง[3]

สถานที่สำคัญ[แก้]

บริเวณคลองบางโฉลงเป็นที่ตั้งของวัดบางโฉลงนอก วัดบางโฉลงในซึ่งมีการบิณฑบาตทางเรือ ศาลหลวงพ่อคงเพชร ตลาดบางโฉลงเก่า (ปัจจุบันยกเลิกกิจการไปแล้ว)

อ้างอิง[แก้]

  1. "บางโฉลง". คมชัดลึก.
  2. "รายงานโครงการจัดทำแผนที่ แสดงความลาดชันของพื้นที่เพื่อการพัฒนาที่ดิน จังหวัดสมุทรปราการ" (PDF). กลุ่มจัดการและบริการแผนที่และข้อมูลทางแผนที่ สำนักเทคโนโลยีการสำรวจและทำแผนที่ กรมพัฒนาที่ดิน.[ลิงก์เสีย]
  3. เพชรณภัค นามแสงผา. "การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบางโฉลง อำเภอบางพลี" (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ.