คลองบางหลวงเชียงราก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คลองบางหลวงเชียงราก หรือ คลองเชียงราก เป็นคลองอ้อมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อำเภอสามโคกและอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

ประวัติ[แก้]

ใน กำสรวลสมุทร (พ.ศ. 2025–2034 หรืออาจแต่งเมื่อ พ.ศ. 2031) มีกล่าวถึงคลองเชียงรากว่า

ไก่ใดขนนนิ่งน้อง นางเฉลอย
เชอญท่านทยานเปนผนน ฝากแก้ว
เยียมาบลุะเสบอย เชองราค
ไฟราคดาลแพร้วแพร้ว พร่างตาฯ

บริเวณเชียงรากหรือคลองบางหลวงเชียงรากนี้ต่อกับ ทุ่งพระเสด็จ ซึ่งมีเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกแห่งหนึ่งปรากฏอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำเจ้าพระยาเดิมใกล้กับวัดเสด็จในปัจจุบัน สภาพของเมืองโบราณแห่งนี้ไม่ปรากฏอยู่เพราะมีคลองประปาขุดตัดผ่านส่วนหนึ่ง[1]

แต่เดิมตั้งแต่คลองบ้านพร้าวเชื่อมต่อกับคลองบางหลวงเชียงราก เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม จนในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2150–2151) ได้มีการขุดคลองลัดเกร็ดใหญ่ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมแคบลง[2]

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับต่ำ ทำให้น้ำทะเลเข้าทะลักเข้ามาถึง น้ำมีรสกร่อยไม่เหมาะสำหรับการบริโภค เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรมศุขาภิบาลดำเนินการให้ตั้งทำที่ขังน้ำที่คลองเชียงรากอันเป็นที่พ้นเขตน้ำเค็มขึ้นถึงทุกฤดู มีการขุดคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดสำแลถึงคลองบางหลวงเชียงรากและคลองต่อจากคลองบางหลวงเชียงรากถึงคลองสามเสนในพระนคร ซึ่งปัจจุบันคือคลองประปา[3] ปัจจุบันบริเวณปากคลองตรงวัดสำแลมีสถานีสูบน้ำดิบสำแล เป็นจุดเริ่มต้นของการรับน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองประปาตะวันออก

สภาพคลองในปัจจุบันเกิดปัญหาน้ำในคลองเสื่อมสภาพลง มีผักตบชวา และวัชพืชต่าง ๆ ในคลองหนาแน่น ทำให้เรือไม่สามารถสัญจรได้ เป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำเคลื่อนที่ช้า เกิดตะกอนสะสมตัวทำให้คลองตื้นเขินเป็นระยะเวลานาน รวมถึงมีการรุกล้ำพื้นที่ของชาวบ้าน[4]

สถานที่ริมคลอง[แก้]

ริมคลองมีวัดตั้งอยู่ริมคลองหลายวัด ได้แก่ วัดสำแล วัดเสด็จ วัดบางพูน และวัดศาลเจ้า มีมัสยิดคือ มัสยิดยุมรอตุลอิสลาม (สวนพริกไทย)

อ้างอิง[แก้]

  1. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "ทุ่งพญาเมืองที่สามโคก". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-22. สืบค้นเมื่อ 2022-06-22.
  2. "คลองขุดในประเทศไทย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
  3. พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก. "ภาพเก่าเล่าตำนาน โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก : 'คลองประปา'…มายังไง ?". มติชน.
  4. "จังหวัดปทุมธานีจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาและบริหารจัดการคลองอ้อม คลองบางหลวงเชียงราก และคลองบ้านพร้าว เพื่อร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์.[ลิงก์เสีย]