วัดสำแล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสำแล
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสำแล, แภ่ธ่มษะ
ที่ตั้งตำบลบ้านกระแชง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสำแล เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในตำบลบ้านกระแชง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 12 ไร่ 80 ตารางวา โฉนดเลขที่ 6341 ที่ธรณีสงฆ์จำนวน 8 แปลง เนื้อที่ 103 ไร่ 45 ตารางวา

วัดสำแลสร้างโดยมอญที่อพยพมาเมื่อครั้งต้นรัตนโกสินทร์ได้ร่วมกันสร้างขึ้น สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมา พ.ศ. 2412 เกิดความทรุดโทรมจึงบูรณะใหม่อีกครั้ง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2414 เขตวิสุงตามสีมากว้าง 16 เมตร ยาว 25 เมตร

แต่เดิมวัดสำแลในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมา 3 ครั้งแล้ว ชาวมอญที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 2 ช่วยกันสร้างวัดขึ้นให้ชื่อว่า แภ่ธ่มษะ "แภ่" แปลว่า วัด "ธ่มษะ" แปลว่า สำแล เป็นชื่อวัดที่อยู่ในเมืองมอญ ปัจจุบันยังมีวัดนี้อยู่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านวัดสำแล เหลียวทอดพระเนตรวัดถึง 3 ครั้ง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัด "สามแล" หลังจากนั้น การเขียนชื่อวัดก็เปลี่ยนแปลงเป็น "วัดสำแล" จนถึงปัจจุบันนี้[1]

อุโบสถหลังเดิมหันหน้าเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโบสถ์มหาอุดด้านหลังไม่มีประตู ขนาดของโบสถ์มีความกระทัตรัด หน้าบันตอนบนสลักลายสีทองบนพื้นขาว แกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ลักษณะช้างรูปแบบสมจริงมีพระอินทร์ประทับนั่งบนบุษบกเหนือกระพองช้าง ตกแต่งด้วยลายดอกบุนนาค กรอบด้านล่างเป็นซุ้มพระบัญชรมีพระพุทธรูปอยู่ภายในกรอบหน้าต่างและประตูทางเข้าแกะลายเรียบง่าย แต่ฝีมือชั้นครูตัวโบสถ์จะผายเล็กน้อย รับกับเสาหน้ามุข แต่ละต้นซึ่งเป็นลักษณะโคนใหญ่ปลายเรียว มีใบสีมาตั้งอยู่บนฐานกลีบบัวไม่มีซุ้ม[2] มีหมู่เจดีย์มอญอยู่หน้าอุโบสถเก่า ประกอบด้วยเจดีย์ประธานรายล้อมด้วยเจดีย์บริวารหลายมหาเจดีย์ชเวดากอง ศาลาการเปรียญสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ภายในศาลาการเปรียญ มีตู้พระไตรปิฎกแบบมอญและพระพุทธรูปพร้อมทั้งรูปปั้นอดีตเจ้าอาวาสตั้งประดิษฐานอยู่ มีหอระฆังตั้งอยู่หน้าศาลาการเปรียญ[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สถานที่สำคัญ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกระแชง". องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกระแชง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-28. สืบค้นเมื่อ 2021-04-28.
  2. "วัดสำแล". องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี.
  3. "วัดสำแล". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.