คลองขุนศรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คลองขุนศรี เป็นคลองที่ขุดแยกจากคลองพระพิมลฝั่งทิศเหนือ ในพื้นที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ไปบรรจบกับคลองพระยาบรรลือที่อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประวัติ[แก้]

ขุนศรี (คนละคนกับขุนศรีราษฎร์นิยม (พร มัณยานนท์)) ซึ่งเป็นกำนันตำบลคลองขุนศรี อำเภอบางปลา (บางเลน) จังหวัดนครปฐม ได้เริ่มขุดลำราง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2445[1] จากคลองพระพิมลจนถึงวัดคลองขุนศรี เพื่อให้ประชาชนในเขตจังหวัดนครปฐมได้มีน้ำทำนาได้ ต่อมากำนันพร มัณยานนท์ กำนันตำบลไทรใหญ่ได้ขุดลำรางที่ขุนศรีได้ขุดไว้แต่เดิมให้ไปบรรจบกับคลองพระยาบรรลือที่อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายหลังกำนันพร มัณยานนท์ ได้รับแต่งตั้งเป็นขุนศรี จึงตั้งชื่อคลองนี้ว่า "คลองขุนศรี" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ขุนศรีทั้งสองท่าน[2]

การตั้งถิ่นฐาน[แก้]

หลังจากขุดคลองขุนศรี เริ่มมีประชาชนมาตั้งถิ่นฐาน มีชุมชนไทยปากคลองขุนศรีได้เข้าจองที่ดินรวมกับคนไทยเชื้อสายมอญ สร้างวัดแรกคือวัดคลองขุนศรี ต่อมาบริเวณปากคลองขุนศรีมีชาวจีนมาตั้งร้านค้า ผู้คนในชุมชนแห่งนี้จึงมีทั้งไทย มอญ และจีน ตระกูลสมศรีรื่น และตระกูลสอดห่วง เป็นบรรพบุรุษของผู้คนในชุมชน บริเวณปากคลองขุนศรียังเป็นที่ตั้งของตลาดปากคลองขุนศรี ด้านหลังตลาดปากคลองขุนศรีเป็นที่ตั้งศาลเจ้าแม่ทองคำ ส่วนที่ดินบริเวณปลายคลองขุนศรีมีผู้เข้าจับจองที่ดินที่เป็นเชื้อพระวงศ์และข้าราชการ คือหม่อมเจ้าเฟื่อง วรรัตน์ หม่อมหลวงโต สิงหรา หม่อมหลวงบุญ สิงหรา[3]

เมื่อมีการขุดคลองขุนศรีเชื่อมกับคลองพระพิมล ได้มีราษฎรเข้ามาแผ้วถางป่าและจับจองที่นาบริเวณปลายคลองขุนศรี รวมถึงสร้างวัดชื่อ วัดปลายคลองขุนศรี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2456[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "คลองขุนศรี". คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด.[ลิงก์เสีย]
  2. "องค์การบริหารส่วนตำบลขุนศรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-14. สืบค้นเมื่อ 2023-01-05.
  3. "ภูมินามอำเภอไทรน้อย" (PDF). สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  4. "วัดปลายคลองขุนศรี". องค์การเทศบาลส่วนตำบลไทรใหญ่.