คลองพระยาบรรลือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บรรยากาศริมคลองพระยาบรรลือ

คลองพระยาบรรลือ[1] หรือเดิมเขียนว่า คลองพระยาบรรฦๅ[2][3]เป็นคลองขุดในสมัยรัชกาลที่ 5[4] (เมื่อ พ.ศ. 2435 - 2442)[5] ที่ยาวที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา[6] เป็นคลองที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครชัยศรี คลองนี้ขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งขวา ในอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปออกแม่น้ำนครชัยศรี ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี[7] มีระยะทาง 42 กิโลเมตร[8]

ประวัติ[แก้]

พระยาบรรฦๅสิงหนาท (เจ๊ก)[5][9] ซึ่งเป็นชาวญวน และเป็นผู้บังคับบัญชาทหารอาสาญวนในเมืองไทย เห็นว่าชาวญวนยากจนมาก ไม่มีที่ทำมาหากิน ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลองพระยาบรรลือเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2435 โดยขุดตั้งแต่ตำบลคลองบางประกอกหลังเกาะใหญ่ แขวงกรุงเก่า ไปออกกลางทุ่งเป็นระยะทาง 400 เส้น (16 กิโลเมตร) กว้าง 4 วา ลึก 4 ศอก พระยาบรรฦๅสิงหนาท (เจ๊ก) ได้รับกรรมสิทธิในที่ดิน 2 ฝั่งคลอง ฝั่งละ 25 เส้น ตลอด 2 ฝั่งคลอง แต่หลังจากขุดคลองไประยะหนึ่งเกิดปัญหาเรื่องคนอ้างในสิทธิของที่ดิน ปัญหานี้ส่งผลด้านการเงินต่อพระยาบรรฦๅสิงหนาท เพราะท่านไม่สามารถเอาที่นาซึ่งเจ้าของมีตราแดงตราจองซึ่งถูกต้องมาจำหน่ายได้ ทำให้ขาดทุน

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน พระยาบรรฦๅสิงหนาทได้ทำสัญญาเป็นหุ้นส่วนกับ 3 คน คือ หลวงวาทิตบรเทศ ขุนราชปัญญา และนายร้อยตรีรื่น เมื่อ พ.ศ. 2441 มีการขอขุดคลองต่อจากเดิมอีก 400 เส้น เพื่อให้ทะลุแม่น้ำท่าจีน นอกจากนั้นยังขอขุดคลองแยกอีก 6 คลอง กว้าง 3 วา ลึก 3 ศอก ยาวคลองละ 200 เส้น แต่ขุดไปได้ 100 เส้น (1 กิโลเมตร) พระยาบรรฦๅสิงหนาทถึงแก่กรรมเสียก่อน[10] เมื่อ พ.ศ. 2442 พระยาบรรฦๅสิงหนาท (ปิด) ซึ่งเป็นบุตรชาย ได้ดำเนินการเรื่องนี้ต่อ แต่รัฐบาลไม่ยินยอมเพราะเห็นว่ารัฐบาลขุดได้เรียบร้อยกว่า ส่วนคลองแยกก็ไม่ได้รับการอนุญาตเช่นกัน เพราะบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามขอขุดไว้ก่อนแล้ว คลองสายนี้กรมคลองเป็นผู้ขุดในเวลาต่อมา[11]

อ้างอิง[แก้]

  1. กมล มั่นภักดี. ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. พระนครศรีอยุธยา : ม.ป.พ., 2526. 289 หน้า. ISBN 978-974-7850-57-4
  2. ธิดา สาระยา และเอกวิทย์ ณ ถลาง (บก.). ประวัติศาสตร์ชาวนาสยาม. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2544. 129 หน้า. หน้า 81. ISBN 978-974-2722-99-9
  3. กองวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ. (2521). วารสารวัฒนธรรมไทย, 17: 39.
  4. สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). (2540). วารสารศิลปวัฒนธรรม, 18(11-12): 91.
  5. 5.0 5.1 ปิยนาถ บุนนาค, ดวงพร นพคุณ และสุวัฒนา ธาดานิติ. โครงการวิจัย คลองในกรุงเทพฯ : ความเป็นมา การเปลี่ยนแปลง และผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ใน รอบ 2๐๐ ปี (พ.ศ. 2325-2525). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525. หน้า 81.
  6. สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. พระนครศรีอยุธยา : ม.ป.พ., 2525. 143 หน้า. หน้า 2.
  7. "คลองขุดในประเทศไทย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
  8. "ครั้งที่ ๑๖ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๓".
  9. คณะกรรมการทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์แห่งราชบัณฑิตยสถาน. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง, 2520. 452 หน้า. หน้า 16.
  10. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "พัฒนาการของการปรับเปลี่ยนสภาพภูมิศาสตร์ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.[ลิงก์เสีย]
  11. กิตติ ตันไทย. "คลองกับระบบเศรษฐกิจของไทย (พ.ศ. 2367-2453)" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.