คริส สมอลส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คริส สมอลส์
สมอลส์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565
เกิดคริสเตียน สมอลส์
ค.ศ. 1988/1989 (อายุ 34–35 ปี)
แฮกเคนแซก รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐ
อาชีพนักจัดตั้งสหภาพแรงงาน
มีชื่อเสียงจากการดำเนินกิจกรรมสิทธิแรงงาน
ผลงานเด่นสหภาพแรงงานแอมะซอน
บุตร3

คริสเตียน สมอลส์ (เกิด พ.ศ. 2531 หรือ 2532)[1] เป็นนักจัดตั้งสหภาพแรงงานชาวอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักในบทบาทผู้นำการจัดตั้งของคนงานแอมะซอน (Amazon worker organization) ที่โบโรฮ์เกาะสแตเทน นครนิวยอร์ก เขาดำรงตำแหน่งประธานและเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานแอมะซอน (Amazon Labor Union ตัวย่อ ALU) นับแต่ พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา

สมอลส์เติบโตในรัฐนิวเจอร์ซีย์ และได้ประกอบอาชีพในสายแร็ปเปอร์ โดยได้ออกเดินสายกับมีก มิลล์ (Meek Mill) อยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะล้มเลิกไปเพื่อเลี้ยงดูลูกของเขา โดยได้เข้าทำงานในอุตสาหกรรมบริการและคลังสินค้า และเข้าทำงานกับแอมะซอนใน พ.ศ. 2558

ในวันที่ 30 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 สมอลส์ได้จัดการประท้วงเดินออกจากงานที่คลังสินค้าบนเกาะสแตเทนที่เขาทำงานอยู่ กล่าวคือโกดังแอมะซอนหมายเลข JFK8 เนื่องจากมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการสัมผัสเชื้อโควิด-19 ซึ่งเขากล่าวว่าไม่เพียงพอ ในวันเดียวกันเองเขาถูกเลิกจ้าง โดยเหตุผลของบริษัทอ้างว่าเป็นเพราะการละเมิดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของบริษัทระหว่างระยะเวลากักตัวที่กำหนดไว้แบบคงได้รับค่าจ้างอยู่ สมอลส์ได้สัมผัสเชื้อมาตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่ได้รับแจ้งหรือถูกให้กักตัวจนกระทั่งวันที่ 28 มีนาคม หลังจากเมื่อระยะฟักตัวของโรคได้สิ้นสุดลงแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์บริษัทและเรียกร้องให้มีการสอบสวนการเลิกจ้าง สมอลส์และรัฐนิวยอร์กยังได้ฟ้องร้องบริษัทแอมะซอนอันเนื่องจากการเลิกจ้างที่ผิดกฎหมายครั้งนี้

หลังจากถูกเลิกจ้าง สมอลส์ได้ก่อตั้งกลุ่มนักกิจกรรมคนทำงานขึ้นมา นามว่า The Congress of Essential Workers (สภาของคนทำงานจำเป็น) ซึ่งภายหลังในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 ได้สนับสนุนการจัดตั้งสหภาพ ALU ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 คลังสินค้า JFK8 ได้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบการก่อตั้งสหภาพโดยมีตัวแทนเป็นสหภาพ ALU ต่อมาเขาไได้รับขนามนามเป็นหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดแห่งปี พ.ศ. 2565 โดยนิตยสารไทม์

ชีวิตวัยเด็กและการศึกษา[แก้]

สมอลส์เกิดและเติบโตที่แฮกเคนแซก รัฐนิวเจอร์ซีย์ (Hackensack, New Jersey) โดยมีมารดาเลี้ยงเดี่ยวซึ่งทำงานเป็นนักจัดการที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง[2][3] สมัยวัยรุ่น เขาเริ่มเข้าทำงานที่ต่าง ๆ และเล่นบาสเกตบอล อเมริกันฟุตบอล และกีฬาลู่และลานที่ โรงเรียนมัธยมแฮกเคนแซก (Hackensack High School)[3][2][4][5] เขาคาดหวังว่าจะได้เข้าเล่นในสมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติ จนเมื่อเขาถูกชนแล้วหนีขณะที่ทำงานเป็นผู้ดูแลรถ[4]

สมอลส์ได้เข้าศึกษาในวิทยาลัยชุมชน (community college) แห่งหนึ่ง[6][7] ที่รัฐฟลอริดา[8] แต่หลังจากเรียนได้หนึ่งภาคเรียนก็คิดถึงบ้าน จึงกลับนิวยอร์กเพื่อไปศึกษาวิศวกรรมเสียงที่สถาบันวิจัยเสียง (Institute of Audio Research) แต่เขาลาออกเพราะเขาคิดว่ามันเป็น "hot shit"[a] และเริ่มแต่งเพลงในฐานะแร็ปเปอร์[9] โดยได้ออกเดินสายกับมีก มิลล์ (Meek Mill) อยู่ครู่หนึ่ง ต่อมาเขาได้ล้มเลิกประกอบอาชีพนักดนตรีไปเพื่อเลี้ยงดูลูกของเขา โดยเข้าทำงานหลายที่ ซึ่งรวมถึงวอลมาร์ต โฮมดีโพ (Home Depot) และสนามกีฬาเมตไลฟ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 จนถึง 2558[2][5][10][3] เขาบอกว่าในปัจจุบันเพื่อนของเขาพูดถึงตัวเขาว่า "ฉันว่าเสียงของนายถูกกำหนดมาไว้สำหรับอย่างอื่น"[b][11][10] สมอลส์ยังได้ทำงานเป็นคนงานคลังสินค้าที่เฟดเอกซ์และทาร์เก็ต (Target Corporation) ด้วย[4][12]

แอมะซอน[แก้]

พ.ศ. 2558–2563[แก้]

สมอลส์ได้เข้าทำงานที่แอมะซอนใน พ.ศ. 2558 ในอาชีพคนหยิบสินค้า (processing) ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์[1][12][3] เขาถูกย้ายไปที่คลังสินค้าในรัฐคอนเนทิคัตเป็นเวลาสั้น ที่นั่นเขาถูกไล่ออกและได้รับเข้าทำงานอีกครั้งหลังยื่นอุทธรณ์ไป[3][12] เขาถูกย้ายไปที่คลังสินค้าบนเกาะสแตเทน (JFK8) ตอนที่เพิ่งเปิดใน พ.ศ. 2561 และทำงานที่นั่นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ สมอลส์กล่าวว่าเขาถูกย้ายไปเพราะมีสมรรถภาพในการทำงานที่ดี แต่เขายื่นสมัครตำแหน่งการจัดการไปกว่า 49 ครั้งตลอดการทำงาน แต่ไม่เคยถูกเลือกให้เลื่อนตำแหน่งเลย ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นภาพสะท้อนของการเลือกปฏิบัติบนฐานของเชื้อชาติอย่างเป็นระบบที่เขาสังเกตพบภายในบริษัท สมอลส์กล่าวว่าเขาเคยชอบทำงานที่บริษัทอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง[1][12] จนกระทั้งเขาเริ่มมองเห็นสิ่งที่เขาอ้างว่าเป็นปัญหา "ในระบบระดับลึก" ภายในบริษัท เขาอ้างว่าแอมะซอนมีปัญหากับมาตรการความปลอดภัย โดยอ้างอิงอัตราการบาดเจ็บ การเหยียดอายุ การเหยียดเพศ การเหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติต่อผู้ดูแล แอมะซอนกล่าวว่า "เราไม่ทนต่อการเลือกปฏิบัติหรือการคุกคามในทุกรูปแบบ"[c] และว่าพวกเขากำลังพยายามลดอัตราการบาดเจ็บให้น้อยลง และว่าพวกเขานั้น "ต้องการให้ [ลูกจ้าง] มีสุขภาพที่ดีและปลอดภัย"[d][1]

สมอลส์ได้ติดต่อทั้งนักการเมืองท้องถิ่น บุคคลาการด้านสุขภาพ และแผนกบริหารทรัพยากรมนุษย์ของแอมะซอน หลังจากที่เพื่อนร่วมงานที่ป่วยหนักคนหนึ่งได้รับอนุญาตให้มาทำงานได้ทั้งที่มีอาการและกำลังรอผลตรวจโควิด-19 อยู่ เขากล่าวว่าแผนกทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย[12] สมอลส์และเดอร์ริก พาลเมอร์ (Derrick Palmer) คนงานที่ JFK8 อีกคนหนึ่ง ได้จัดการประท้วงเดินออกจากงาน (strike action) ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563[13] เพื่อประท้วงมาตรการความปลอดภัยรับมือการระบาดทั่วของโควิด-19ของแอมะซอน และเรียกร้องให้บริษัทปิดคลังสินค้า JFK8 ไว้ชั่วคราว[14][3] เขาคัดค้านการไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมและการป้องกันส่วนตัวของบริษัท[1] และกล่าวหาว่าได้ล้มเหลวในการเปิดเผยการป่วยโรคโควิด-19 ของคนงานต่อพนักงาน สมอลส์สัมผัสกับกรณีที่ยืนยันแล้วในวันที่ 11 มีนาคม dischargeพ.ศ. 2563 แต่ไม่ได้รับแจ้งจนกระทั่งวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2563[13] ซึ่งกระตุ้นให้เขาไปยื่นคำร้องต่อกระทรวงสาธารณสุขรัฐนิวยอร์ก (New York State Department of Health)[15]

ในวันเดียวกันกับการประท้วง สมอลส์ถูกแอมะซอนไล่ออก เจย์ คาร์นีย์ (Jay Carney) รองประธาน (vice president) ฝ่ายนโยบายและสื่อมวลชนของบริษัท อดีตโฆษกทำเนียบขาว ได้กล่าวในทวิตเตอร์ว่าสมอลส์ได้ละเมิดนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมของบริษัท และเขาถูกให้กักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันโดยยังได้รับค่าจ้างอยู่หลังจากสัมผัสกับผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ตอนที่เขาจัดการประท้วงเดินออก แต่การกักตัวจบลงแล้วในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 หากทางบริษัทได้เริ่มให้ทำในระยะฟักตัวของเชื้อที่สมอลส์ได้สัมผัส[1][13][15]

เลทิชา เจมส์ (Letitia James) อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์ก (Attorney General of New York) ได้กล่าวหาแอมะซอนว่าไล่ออกสมอลส์อย่างผิดกฎหมาย และต่อมาสั่งให้มีการไต่สวนในเรื่องนี้ หลังจากการสอบสวนเบื้องต้นได้เปิดเผยว่ามี "ภาวะชะงักงัน" (chilling effect) ที่เกิดจากการไล่ออก[1][16] การสอบสวนของเจมส์ได้พบว่าบริษัทได้เลิกจ้างสมอลส์โดยผิดกฎหมาย และได้ยื่นฟ้องให้มีคำสั่งห้าม (injunction) ซึ่งจะบังคับให้แอมะซอนต้องจ้างสมอลส์กลับเข้าทำงานต่อ[17]

สมอลส์ใน พ.ศ. 2563

นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก (Mayor of New York City) บิล ดิ บลาซิโอ (Bill de Blasio) และสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐเบอร์นี แซนเดอร์ส ได้กล่าวถึงการเลิกจ้างครั้งนี้ว่า "น่าอับอาย"[15] ดิ บลาซิโอได้สั่งการให้กรรมการสิทธิมนุษยชนของเมืองเข้าสืบสวนการไล่สมอลส์ออก และเจมส์ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (National Labor Relations Board) เข้าสืบสวนการไล่ออกด้วย[15][18] สมาชิกวุฒิสภาเก้าคน ซึ่งรวมถึงเอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) ได้ส่งจดหมายไปที่บริษัทและเรียกร้องขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลิกจ้างสมอลส์ และการไล่ผู้เปิดโปงคนอื่นอีกสามคนออกด้วย[19] ผู้นำสหภาพแรงงานที่โด่งดังที่สุดในสหรัฐได้ส่งจดหมายไปยังเจฟฟ์ เบโซส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแอมะซอน โดยเรียกร้องให้ฟื้นสัญญาจ้างของสมอลส์[14] ทิม เบรย์ (Tim Bray) อดีตรองประธานฝ่ายแอมะซอนเว็บเซอร์วิสซิส (Amazon Web Services) ได้ลาออกเพราะการไล่ออกครั้งนี้ โดยอ้างอิงในบล็อกโพสต์ว่า "ผมแน่ใจว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญที่ทุก ๆ คนเป็นคนผิวสี เป็นผู้หญิง หรือทั้งสอง ใช่ไหม?"[e][20]

ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2563 บันทึกของการประชุมรายวันกับเบโซสหลุดออกมายังนิตยสารไวซ์ ซึ่งกล่าวถึงสมอลส์ว่า "ไม่ฉลาดหรือพูดไม่ชัดเจน"[21] บันทึกนี้มาจากเดวิด ซาโพลสกี ที่ปรึกษาทั่วไปของแอมะซอน ซึ่งได้เสนอต่อไปว่าการทำให้สมอลส์เป็น "หน้าตาของขบวนการจัดตั้ง/สหภาพทั้งหมด"[f] เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดี และ "เสนอว่า" ทำไมความประพฤติของสมอลส์นั้น "ผิดศีลธรรม ยอมรับไม่ได้ และอาจจะผิดกฎหมาย"[g][14][15] สมอลส์กล่าวถึงความเห็นเหล่านั้นว่า "เหยียดเชื้อชาติอย่างแน่นอน" ซาโพลสกีได้ปฏิเสธว่าในตอนที่เขากล่าวข้อความเหล่านั้นเขาไม่รู้ว่าสมอลส์เป็นคนดำ[1] และได้เผยแพร่แถลงการณ์ออกมาว่าเขา "ผิดหวังและรู้สึกแย่" ที่คนงานแอมะซอนจะ "ทำตัวเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของ [คนงานแอมะซอน] คนอื่น ๆ"[h] อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้กล่าวว่า "ความพยายามของแอมะซอนที่จะใส่ร้ายป้ายสีคริส สมอลส์ คนงานโกดังของตัวเอง ว่า 'ไม่ฉลาดหรือพูดไม่ชัดเจน' เป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ที่เหยียดเชื้อชาติและชนชั้น"[i][22] สมอลส์ได้กล่าวว่าบริษัทนั้นสนใจกับการลบประชาสัมพันธ์ที่ไม่ดีมากกว่าการปกป้องคนงานของตัวเองและครอบครัวของพวกเขา[15] แอมะซอนได้ใช้เงินไปมากกว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อตอบสนองต่อความพยายามในการจัดตั้งสหภาพของคนงาน[23]

พ.ศ. 2563–ปัจจุบัน[แก้]

สภาของคนทำงานจำเป็น[แก้]

หลังจากถูกแอมะซอนเลิกจ้างใน พ.ศ. 2563 สมอลส์ได้ก่อตั้งสภาของคนทำงานจำเป็น (The Congress of Essential Workers; TCOEW) กลุ่มของนักกิจกรรมแรงงาน[11] ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 สมอลส์และ TCOEW ได้ร่วมวางแผนการนัดหยุดงานวันเมย์เดย์ที่แอมะซอน ทาร์เก็ต วอลมาร์ต และบริษัทขนาดใหญ่อื่น ๆ ในหลายแห่งทั่วประเทศ[11] ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ทางกลุ่มได้จัดการประท้วงวันไพรม์เดย์ (Amazon Prime) โดยมีผู้คนประมาณ 100 คนเดินขบวนจากอุทยานอนุสรณ์วิลล์ รอเจอส์ (Will Rogers Memorial Park) ไปยังคฤหาสน์ (mansion) มูลค่า 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐของเบโซสที่เบเวอร์ลีฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อเรียกร้องขึ้นค่าจ้างเพิ่ม 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง[24]

สหภาพแรงงานแอมะซอน[แก้]

นักข่าวสองคน มีคนหนึ่งถือกล้อง กำลังสัมภาษณ์สมอลส์หน้าตึกสำนักงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา สถานที่นับคะแนนเสียง
สมอลส์กำลังให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังจากมีประกาศว่าคนงานได้ลงคะแนนเสียงให้จัดตั้งสหภาพ

ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 สมอลส์ได้ก่อตั้งสหภาพแรงงานแอมะซอน (ALU)[1] ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มนักกิจกรรมแรงงานของเขา TCOEW[25] เขากล่าวไว้ว่าการจัดตั้งสหภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อความมั่นคงในการงานอาชีพ ค่าจ้างประทังชีพ การลาแบบมีค่าจ้าง และการลาป่วย สมอลส์กล่าวว่าผู้จัดตั้งสองคนซึ่งเป็นลูกจ้างปัจจุบันของแอมะซอนอาศัยอยู่ในรถของตัวเอง โฆษกของแอมะซอนคนหนึ่งได้กล่าวว่าสหภาพนั้นจะมาขัดขวางการต่อรองของลูกจ้าง[12] สมอลส์ยังกล่าวต่อว่าทางบริษัทมีการสอดส่องล่วงล้ำคนงานเพื่อเฝ้าสังเกตเวลาของพวกเขาเพื่อประเมินประสิทธิภาพและกำหนดเวลาพักของพวกเขา ซึ่งเป็นแรงจูงใจหนึ่งให้จัดตั้งสหภาพ โดยกล่าวว่า "ใครอยากโดนสอดส่องทั้งวันบ้าง? นี่ไม่ใช่เรือนจำ นี่คืองาน"[j] แอมะซอนกล่าวว่าพวกเขา "ไม่กำหนดเป้าหมายประสิทธิภาพที่ไม่มีเหตุผล"[k] แต่บริษัทได้จ่ายค่าปรับให้กับกระทรวงแรงงานและอุตสาหกรรมรัฐวอชิงตัน (Washington State Department of Labor and Industries; L&I) สำหรับ "ระบบการเฝ้าสังเกตและวินัย"[l] ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความผิดปกติของระบบโครงกระดูกและกล้ามเนื้อ (musculoskeletal disorder) ในที่ทำงาน ทางบริษัทคัดค้านผลการวินิจฉัยของกระทรวง[26]

สมอลส์ตั้งกระโจมตามสถานีขนส่งสาธารณะใกล้กับโกดัง JFK8 เพื่อล่ารายชื่อสำหรับคะแนนเสียงให้อำนาจสหภาพ พร้อมป้ายซึ่งเขียนไว้ว่า "ลงชื่อใบให้อำนาจที่นี่"[m] เขากล่าวหาบริษัทว่าได้ทำการปราบสหภาพ (union busting) โดยการแปะป้ายต่อต้านสหภาพไว้ในสุขา การส่งข้อความต่อต้านสหภาพให้แก่คนงาน การสอดส่องคนงานที่ทำการจัดตั้ง และการจัดการประชุมภาคบังคับด้วย "ความเท็จ" ต่อต้านสหภาพ อาทิ การลงชื่อใบให้อำนาจคือ "การละทิ้งสิทธิในการพูดแทนตัวเอง"[n] สมอลส์ยังได้กล่าวหาอีกว่าแอมะซอนได้มีการเตือนคนงานของตนถึงค่าบำรุงสหภาพที่แพง และการก่อกวนและการข่มขู่ลูกจ้าง[1]

สมอลส์กล่าวว่าเขาได้ต่อกรกับแรงต่อต้านสหภาพด้วยการเปิดโปงต่อสาธารณะและการจัดหาถ้อยคำสนับสนุนสหภาพ อาทิ "คนงานซึ่งอยู่ในสหภาพโดยเฉลี่ยแล้วได้เงินมากกว่าคนงานไร้สหภาพอยู่ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี"[o] ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าค่าบำรุงสหภาพโดยเฉลี่ย[1]

ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565 สหภาพแรงงานแอมะซอนได้ประกาศว่าพวกเขาได้รับรายชื่อมากพอที่จะยื่นคำร้องให้มีการลงคะแนนเสียงต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ[27] สมอลส์ได้ประกาศข่าวนี้ลงบนทวิตเตอร์ของเขา[28] การลงคะแนนเสียงเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับการลงคะแนนเสียงสหภาพที่คลังสินค้าแอมะซอนอีกที่หนึ่งในเบสเซเมอร์ รัฐแอละแบมา (Bessemer, Alabama) ซึ่งนำโดยคนงานเจนนิเฟอร์ เบตส์ (Jennifer Bates)[29]

สมอลส์เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณวุฒิสภาสหรัฐ (United States Senate Committee on the Budget) ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

การลงคะแนนเสียงสหภาพที่หนุนโดยสหภาพแรงงานแอมะซอนอีกที่หนึ่งถูกประกาศออกมาในวันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่คลังสินค้าบนเกาะสแตเทนหมายเลข LDJ5[30] คนงานที่คลังสินค้าลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบกับการจดตั้งสหภาพในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2565[31]

ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 คนงานที่โกดัง JFK8 ได้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบการจัดตั้งสหภาพ 2,654 ต่อ 2,131 คะแนน[32] สมอลส์บอกกับฝูงชนว่า "เราได้ทำทุกอย่างที่ต้องทำเพื่อเชื่อมโยงกับคนงานเหล่านี้" และ "ผมหวังว่าตอนนี้ทุก ๆ คนจะหันมาสนใจเพราะหลายคนเคยลังเลกับพวกเรา"[p][33]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 สมอลส์ได้เข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐโจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว ไบเดนกล่าวกับเขาว่า "ผมชอบคุณ คุณเป็นตัวปัญหาในแบบของผม" และ "อย่าหยุดเลย"[q][34]

สมอลส์และพาลเมอร์ได้รับขนามนามเป็นสองในหนึ่งร้อยบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดแห่งปี พ.ศ. 2565 โดยนิตยาสารไทม์[35]

กระบวนพิจารณาตามกฎหมาย[แก้]

คดีระหว่างสมอลส์กับบริษัทแอมะซอน[แก้]

ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2020 สมอลส์ได้ฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class action) ต่อแอมะซอนโดยกล่าวหาว่าบริษัทได้ละเมิดกฎหมายสหรัฐและรัฐด้วยการทำให้คนงานคลังสินค้าตกอยู่ในความเสี่ยงระหว่างการระบาดทั่วและการเลิกจ้างเขา หนึ่งในทนายความของสมอลส์ ไมเคิล ซัสมันน์ (Michael Sussmann) ได้อ้างถึงการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติเป็นหนึ่งในมูลฟ้อง[36][37] ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2565 มีการอนุมัติคำขอให้ยกฟ้องที่แอมะซอนยื่น และในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565 สมอลส์ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์[38]

คดีระหว่างรัฐนิวยอร์กกับบริษัทแอมะซอน[แก้]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เลทิชา เจมส์ อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์ก ได้ฟ้องคดีแอมะซอนโดยกล่าวหาว่ามีการจัดเตรียมความระมัดระวังความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอและการตอบโต้ต่อลูกจ้างที่ร้องทุกข์ ซึ่งรวมถึงสมอลส์[39][40] เจมส์พยายามให้มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายและการอบรบของแอมะซอน รวมทั้งการชดเชยทางการเงินให้แก่สมอลส์ และโอกาสให้เขากลับเข้าทำงานที่แอมะซอน[39][41]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

สมอลส์พบกับประธานาธิบดีสหรัฐโจ ไบเดน เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565

สมอลส์มีชีวิตสมรสมานานกว่าเจ็ดปี[8] และมีบุตรสามคน เป็นแฝดคู่หนึ่ง[4][14] เขามักสวมเสื้อผ้าสตรีทแวร์ (streetwear) ในรูปแบบวัฒนธรรมฮิปฮอป และกล่าวว่าคำวิจารณ์รูปลักษณ์ของเขานั้น "ดลใจให้ผมแต่งตัวในแบบที่ผมทำต่อไป เพราะผมอยากให้พวกคุณเข้าใจว่าผมดูเป็นอย่างไรนั้นไม่เกี่ยว" และ "ถึงแม้ว่าผมจะลงสมัครเป็นประธานาธิบดี ผมก็จะเป็นแบบนี้แหละ ... ผมจะเดินเข้าทำเนียบขาวด้วยจอร์แดนหนึ่งคู่เพราะนี่คือคนในแบบที่ผมเป็น"[r][2]

สมอลส์มีความเคลื่อนไหวบนทวิตเตอร์ ที่ ๆ เขาลงเกี่ยวกับ ALU และประเด็นการจัดตั้งแรงงานอื่น ๆ[28][42]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. แปลความหมายตรงตัวว่า อุจจาระร้อน
  2. แปลจาก "I guess your voice was meant for something else."
  3. แปลจาก "We do not tolerate discrimination or harassment in any form,"
  4. แปลจาก "want [employees] to be healthy and safe"
  5. แปลจาก "I'm sure it's a coincidence that every one of them is a person of color, a woman, or both, right?"
  6. แปลจาก "the face of the entire union/organizing movement"
  7. แปลจาก "immoral, unacceptable, and arguably illegal"
  8. แปลจาก "endanger the health and safety of other [Amazon workers]"
  9. แปลจาก "Amazon’s attempt to smear Chris Smalls, one of their own warehouse workers, as 'not smart or articulate' is a racist & classist PR campaign."
  10. แปลจาก "Who wants to be surveilled all day? It's not prison. It's work."
  11. แปลจาก "don't set unreasonable performance goals"
  12. แปลจาก "monitoring and discipline systems"
  13. แปลจาก "Sign Your Authorization Cards Here"
  14. แปลจาก "you give up the right to speak for yourself"
  15. แปลจาก "unionized workers make $11,000 more per year than non-union workers on average,"
  16. แปลจาก "We did whatever it took to connect with these workers" และ "I hope that everybody's paying attention now because a lot of people doubted us."
  17. แปลจาก "I like you, you're my kind of trouble" และ "let's not stop"
  18. "really motivates me to continue dressing the way I do because I want y’all to understand it’s not about how I look" และ "If I was to run for president, I would look just like this ... I'd walk in the White House with a pair of Jordans on because this is who I am as a person"

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 Greenhouse, Steven (4 มิถุนายน 2021). "Amazon fired him – now he's trying to unionize 5,000 workers in New York". เดอะการ์เดียน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Cherelus, Gina (6 เมษายน 2022). "Taking On Amazon in Streetwear". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2022.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Alter, Charlotte (25 เมษายน 2022). "The Man Who Beat Amazon". ไทม์ (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2022.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "The 2021 New York City 40 Under 40". City & State NY (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
  5. 5.0 5.1 Tobin, Michael; Soper, Spencer (24 มีนาคม 2022). "Amazon Fired and Disparaged Him. Then He Started a Labor Union". Bloomberg News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
  6. Scheiber, Noam (28 เมษายน 2022). "The Revolt of the College-Educated Working Class". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2022.
  7. Milloy, Courtland (5 เมษายน 2022). "Perspective | The dangerous unselfishness of the Amazon labor union leaders". เดอะวอชิงตันโพสต์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2022.
  8. 8.0 8.1 Pierce, Alie (21 กุมภาพันธ์ 2021). "Meet Chris Smalls – the New Jerseyan who stood up against the richest man in the world". WeekenderNJ (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2022.
  9. Taylor, Vanessa (17 พฤษภาคม 2022). "Desus and Mero interviewed Chris Smalls about his war with "old man Jeff"". Mic (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤษภาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2022.
  10. 10.0 10.1 Dastin, Jeffrey (1 เมษายน 2022). "Amazon union leader Smalls went from rapper to voice of protest". รอยเตอร์ส (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
  11. 11.0 11.1 11.2 Feitelberg, Rosemary (11 พฤษภาคม 2020). "Amazon Whistleblower Chris Smalls to Launch Group for Essential Workers". WWD (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 Linebaugh, Kate (26 ตุลาคม 2021). "The Man Behind the Latest Push to Unionize Amazon". WSJ Podcasts (ภาษาอังกฤษ). เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
  13. 13.0 13.1 13.2 Evelyn, Kenya (31 มีนาคม 2021). "Amazon fires New York worker who led strike over coronavirus concerns". เดอะการ์เดียน (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 Bellafante, Ginia (3 เมษายน 2020). "'We Didn't Sign Up for This': Amazon Workers on the Front Lines". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 Carrie Wong, Julia (2 เมษายน 2020). "Amazon execs labeled fired worker 'not smart or articulate' in leaked PR notes". เดอะการ์เดียน (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
  16. Sollenberger, Roger (28 เมษายน 2020). "New York attorney general probes Amazon for possible labor and safety standard violations". Salon (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
  17. Hamilton, Isobel Asher (1 ธันวาคม 2021). "New York's AG is trying to force Amazon to re-hire a worker it fired after he led a protest over COVID-19 safety conditions". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
  18. Palmer, Annie (31 มีนาคม 2020). "Amazon fires warehouse worker who led Staten Island strike for more coronavirus protection". ซีเอ็นบีซี (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 มีนาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
  19. Conger, Kate (7 พฤษภาคม 2020). "Senators Want to Know if Amazon Retaliated Against Whistle-Blowers". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
  20. Lyons, Kim (4 พฤษภาคม 2020). "Amazon VP quits over whistleblower firings in scathing blog post". The Verge (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤษภาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
  21. Blest, Paul (2 เมษายน 2020). "Leaked Amazon Memo Details Plan to Smear Fired Warehouse Organizer: 'He's Not Smart or Articulate'". Vice News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2022.
  22. Spocchia, Gino (3 เมษายน 2020). "AOC blasts Amazon as 'racist' after leaked notes say senior execs planned to publicly shame black worker in meeting with Jeff Bezos". ดิอินดีเพ็นเดนต์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2022.
  23. Oladipo, Gloria (10 เมษายน 2022). "'A marathon, not a sprint': how Chris Smalls defied Amazon to form a union". เดอะการ์เดียน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2022.
  24. Blest, Paul (5 ตุลาคม 2020). "Amazon Workers Went to Jeff Bezos' $165 Million Mansion to Ask For a $2 Raise". ไวซ์ (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
  25. Rubio-Licht, Nat; Irwin, Veronica (8 กุมภาพันธ์ 2022). "Amazon's union fight: Here's what's happening now". Protocol (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
  26. Greene, Jay (2 ธันวาคม 2021). "Amazon's employee surveillance fuels unionization efforts: 'It's not prison, it's work'". เดอะวอชิงตันโพสต์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 ธันวาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
  27. Lerman, Rachel (26 มกราคม 2022). "Amazon workers on Staten Island collect enough signatures to hold union vote". เดอะวอชิงตันโพสต์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
  28. 28.0 28.1 Menegus, Bryan (26 มกราคม 2022). "Amazon workers in Staten Island reach union vote threshold". Yahoo News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022.
  29. Hamilton, Isobel Asher (17 กุมภาพันธ์ 2022). "Amazon workers in Staten Island will vote on whether to form a union next month". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
  30. Wakabayashi, Daisuke (3 มีนาคม 2022). "A Second Amazon Site on Staten Island Will Have a Union Election". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2022.
  31. Weise, Karen; Scheiber, Noam; Marcos, Coral Murphy (2 พฤษภาคม 2022). "Amazon Union Loses Vote at Second Staten Island Warehouse". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 พฤษภาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2022.
  32. Kantor, Jodi; Weise, Karen (2 เมษายน 2022). "How Two Best Friends Beat Amazon". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
  33. Sherman, Natalie (2 เมษายน 2022). "Amazon workers win battle to form first US union". ข่าวบีบีซี (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2022.
  34. Kaplan, Juliana (11 พฤษภาคม 2022). "President Biden says Amazon union organizer Christian Smalls is his 'kind of trouble' and 'let's not stop'". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มิถุนายน 2022. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2022.
  35. Sanders, Bernie (23 พฤษภาคม 2022). "Derrick Palmer and Chris Smalls". ไทม์ (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 มิถุนายน 2022. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2022.
  36. Fung, Brian (12 พฤศจิกายน 2020). "Fired Amazon worker sues over pandemic working conditions". ซีเอ็นเอ็น. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
  37. Dickey, Megan Rose (12 พฤศจิกายน 2020). "Amazon faces lawsuit alleging failure to provide PPE to workers during pandemic". Techcrunch. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
  38. "Smalls v. Amazon, Inc. (1:20-CV-05492)". UniCourt. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2021. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
  39. 39.0 39.1 Weise, Karen (16 กุมภาพันธ์ 2021). "New York Sues Amazon, Saying It Inadequately Protected Workers From Covid-19". เดอะนิวยอร์กไทมส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
  40. "Attorney General James Files Lawsuit Against Amazon for Failing to Protect Workers During COVID-19 Pandemic". New York State Attorney General. 17 กุมภาพันธ์ 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
  41. Del Rey, Jason (17 กุมภาพันธ์ 2021). "New York is suing Amazon over pandemic labor conditions". Recode. Vox. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
  42. Bain, Marc (29 เมษายน 2020). "As health concerns grow, Amazon and Target workers plan a strike". Quartz (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]