คณะสามผู้นำที่สอง
คณะสามผู้นำที่สอง (ละติน: Triumviratus Alter, 43–32 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นพันธมิตรทางการเมืองหลังการลอบสังหารจูเลียส ซีซาร์ ประกอบด้วยผู้สนับสนุนซีซาร์สามคนได้แก่ อ็อกตาเวียน, มาร์กุส อันโตนิอุส และมาร์กุส ไอมิลิอุส แลปิดุส พันธมิตรนี้รู้จักในชื่อทางการ คณะสามผู้นำเพื่อการจัดระเบียบสาธารณรัฐ (ละติน: tresviri rei publicae constituendae)[2] ปกครองสาธารณรัฐโรมันแบบเผด็จการทหาร โดยสมาชิกแต่ละคนแยกกันปกครองดินแดนของตน คณะสามผู้นำที่สองต่างจากคณะสามผู้นำที่หนึ่งเนื่องจากเป็นองค์กรที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการ มีอำนาจบังคับตามกฎหมายเต็มที่ และมีอำนาจปกครองเหนือแมยิสเตร็ดอื่น ๆ รวมถึงกงสุล[3]
43 ปีก่อนคริสตกาล อ็อกตาเวียนในวัย 20 ปีกรรโชกวุฒิสภาโรมันเพื่อตำแหน่งกงสุลผู้ทำหน้าที่แทน (consul suffectus)[4] เดือนตุลาคมปีนั้น อ็อกตาเวียนรวมกลุ่มกับอริเก่า อันโตนิอุสและแลปิดุสเพื่อจัดตั้ง "คณะสามผู้นำเพื่อการยืนยันสาธารณรัฐร่วมกับอำนาจกงสุล" (Triumviri Rei Publicae Constituendae Consulari Potestate)[5] ขณะที่คณะสามผู้นำที่หนึ่งเป็นความตกลงลับ คณะสามผู้นำที่สองยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ มีอ็อกตาเวียน อันโตนิอุสและแลปิดุสร่วมกันปกครองโรม[6] คณะสามผู้นำนี้มีวาระตามกฎหมาย 5 ปี
คณะสามผู้นำเริ่มกวาดล้างปรปักษ์ของซีซาร์ เช่น กิแกโร ผู้ที่ต่อมาถูกประกาศเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินและถูกประหารชีวิต[7], ควินตุส ตุลลิอุส กิแกโร น้องชายของกิแกโร, ลูกิอุส ยูลิอุส ไกซาร์ กงสุลใน 64 ปีก่อนคริสตกาล และลูกิอุส ไอมิลิอุส ปาอุลลุส กงสุลใน 50 ปีก่อนคริสตกาล[8] ก่อนไล่ตามมาร์กุส ยูนิอุส บรูตุสผู้ลูกและกาอิอุส กัสซิอุส ล็องกีนุส ผู้สังหารซีซาร์ที่หนีไปทางตะวันออก อ็อกตาเวียนและอันโตนิอุสเอาชนะบรูตุสและกัสซิอุสที่ยุทธการที่ฟีลิปปีเมื่อ 42 ปีก่อนคริสตกาลก่อนตกลงแบ่งดินแดน โดยอ็อกตาเวียนครองดินแดนด้านตะวันตก อันโตนิอุสครองดินแดนตะวันออก ส่วนแลปิดุสครองตอนเหนือของแอฟริกา[9]
41 ปีก่อนคริสตกาล อ็อกตาเวียนดำเนินนโยบายกระจายที่ดินแก่ทหารผ่านศึก ทำให้เกิดความตึงเครียดเพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของชาวนา ความตึงเครียดบานปลายเป็นสงครามเปรูซีนระหว่างอ็อกตาเวียนกับลูกิอุส อันโตนิอุส กงสุลขณะนั้น[10] แม้สงครามจะจบลงด้วยการจำนนของลูกิอุส แต่การเสียที่ดินเพาะปลูกก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมา ซ้ำร้ายการขนส่งธัญพืชของโรมถูกรบกวนโดยทัพเรือของเซ็กซ์ตุส ปอมปีย์ แม่ทัพผู้ครองซิซิลี อ็อกตาเวียนและอันโตนิอุสจึงลงนามในกติกาสัญญาไมเซนุมกับเซ็กซ์ตุสเพื่อยุติการปิดกั้นคาบสมุทรอิตาลีทางทะเลใน 39 ปีก่อนคริสตกาล แต่ทั้งสองฝ่ายยังปะทะกันเรื่อย ๆ จนกระทั่งเซ็กซ์ตุสถูกจับและถูกประหารชีวิตใน 35 ปีก่อนคริสตกาล[11]
เช่นเดียวกับคณะสามผู้นำที่หนึ่ง คณะสามผู้นำที่สองเป็นพันธมิตรที่ไม่เสถียรและมีการแย่งชิงอำนาจตลอดเวลา หลังเซ็กซ์ตุสพ่ายแพ้ แลปิดุสนำทหารประจำการที่ซิซิลีและโต้แย้งว่าควรรวมซิซิลีเข้ากับดินแดนของเขา อ็อกตาเวียนกล่าวหาแลปิดุสว่าเขาคิดก่อกบฏ แลปิดุสจำต้องยอมจำนนเพราะกองทัพเขาแปรพักตร์ไปเข้ากับอ็อกตาเวียน แลปิดุสถูกถอดถอนจากทุกตำแหน่งยกเว้นตำแหน่งปอนติเฟ็กมักซิมุส และถูกเนรเทศไปยังเมืองเซอร์เซอี[12]
หลังแลปิดุสสิ้นอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างอ็อกตาเวียนกับอันโตนิอุสก็เสื่อมถอย เนื่องด้วยอันโตนิอุสนั้นมีสัมพันธ์กับราชินีคลีโอพัตราแห่งอียิปต์ทั้งที่สมรสกับอ็อกตาเวียผู้เยาว์ พี่สาวของอ็อกตาเวียน ทั้งยังระบุในพินัยกรรมให้บุตรที่เกิดกับราชินีคลีโอพัตราเป็นผู้สืบทอดอำนาจ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระด้างกระเดื่องในสายตาชาวโรมัน อ็อกตาเวียนจึงโน้มน้าววุฒิสภาให้ประกาศสงครามต่อราชินีคลีโอพัตรา[13] เกิดเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของสาธารณรัฐโรมัน (32–30 ปีก่อนคริสตกาล) อันโตนิอุสพ่ายแพ้ในยุทธนาวีที่อักติอูงก่อนจะหลบหนีไปที่เมืองอะเล็กซานเดรีย ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเขาและราชินีคลีโอพัตรากระทำอัตวินิบาตกรรม[14]
หลังอันโตนิอุสเสียชีวิต อ็อกตาเวียนกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของโรม 27 ปีก่อนคริสตกาล วุฒิสภาโรมันมอบสมญานาม "เอากุสตุส" แก่อ็อกตาเวียน ทำให้เขากลายเป็นจักรพรรดิโรมันองค์แรก และเป็นก้าวหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านจากสาธารณรัฐโรมันสู่จักรวรรดิโรมัน[15]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Sear, David R. "Common Legend Abbreviations on Roman Coins". Porter Ranch, CA: David R. Sear. สืบค้นเมื่อ 18 April 2015.
- ↑ "Triumvirate – Ancient Roman Office". Encyclopædia Britannica.
- ↑ Abbott 1963, p. 141.
- ↑ "American Journal of Numismatics (Second Series)..." 1990.
After his defeat at Forum Gallorum in 43, Antony fled to join Lepidus at Lugdunum. In the meantime, the Senate refused Octavian his rightful recognition for the victory and commanded him to turn over the troops of the consuls to Brutus. Instead Octavian marched on Rome and forced the Senate to name him consul suffectus.33 Afterwards, he returned to Gaul to complete the campaign against Antony.
- ↑ Gill, N. S. (January 26, 2019). "First and Second Triumvirates of Rome". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ April 16, 2021.
- ↑ "Second Triumvirate". UNRV Roman History. UNRV.com. สืบค้นเมื่อ 11 September 2015.
- ↑ Cassius Dio, Roman HIstory, XLVII
- ↑ Weigel, p. 72.
- ↑ Hickman, Kennedy (March 4, 2019). "Battle of Philippi - Wars of the Second Triumvirate". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ April 16, 2021.
- ↑ Allison J. Weir, 2007, A Study of Fulvia, Masters Thesis, Queen's University, Kingston, ON, see [1], accessed 18 April 2015.[ต้องการเลขหน้า]; Appian, The Civil Wars 5.14; Adrian Goldsworthy, Augustus: First Emperor of Rome (New Haven, CT: Yale, 2014), 145.
- ↑ Appian, Bellum Civile, 5.14.144
- ↑ Jochen Bleicken, Augustus: The Biography Translated by Anthea Bell (London: Penguin Books, 2015), p. 198
- ↑ Sifuentes, Jesse (November 20, 2019). "The Propaganda of Octavian and Mark Antony's Civil War". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ April 16, 2021.
- ↑ "Mark Antony - Roman triumvir". Britannica. สืบค้นเมื่อ April 16, 2021.
- ↑ Mark, Joshua J. (May 4, 2018). "Augustus". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ April 16, 2021.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ คณะสามผู้นำที่สอง
- "Second Triumvirate". World History Encyclopedia.