ข้ออักเสบติดเชื้อ
ข้ออักเสบติดเชื้อ (Septic arthritis) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Infectious arthritis, joint infection |
ภาพจากการส่องกล้องเข้าข้อต่อ แสดงให้เห็นผิวข้อต่อที่มีการอักเสบติดเชื้อ[1] | |
สาขาวิชา | ศัลยกรรมกระดูก |
อาการ | ข้ออักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน มักเป็นที่ตำแหน่งเดียว[2] |
การตั้งต้น | รวดเร็ว[2] |
สาเหตุ | แบคทีเรีย, ไวรัส, เชื้อรา, ปรสิต[3] |
ปัจจัยเสี่ยง | การใส่ข้อเทียม, เคยเป็นข้ออักเสบ, เบาหวาน, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง[2] |
วิธีวินิจฉัย | การเจาะดูดน้ำจากข้อต่อ และส่งตรวจเพาะเชื้อ[2] |
โรคอื่นที่คล้ายกัน | ข้ออักเสบรูมาตอยด์, ข้ออักเสบปฏิกิริยา, ข้อเสื่อม, เกาต์[2][3] |
การรักษา | ยาปฏิชีวนะ, การผ่าตัด[2] |
ยา | แวนโคมัยซิน, เซฟไตรอะโซน, เซฟตาซิดีม[2] |
พยากรณ์โรค | อัตราตาย 15% เมื่อได้รับการรักษา, 66% หากไม่ได้รับการรักษา[2] |
ความชุก | 5 per 100,000 per year[3] |
ข้ออักเสบติดเชื้อ (อังกฤษ: septic arthritis, infectious arthritis) หรือ ข้ออักเสบแบบมีหนอง (อังกฤษ: suppurative arthritis) คือภาวะที่มีเชื้อก่อโรคเข้าไปอยู่ในข้อต่อแล้วทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่อ โดยทั่วไปแล้วจะทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน ที่ข้อต่อที่อักเสบ ซึ่งมักเป็นที่ข้อต่อเพียงตำแหน่งเดียว และมีผลให้ไม่สามารถขยับข้อต่อที่อักเสบได้มากเท่าปกติ โรคมักเป็นขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมได้ ได้แก่ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาจพบเป็นหลายข้อต่อพร้อมกันได้แต่พบไม่บ่อย โดยมักพบในเด็กเล็กหรือทารกแรกเกิด[3][2][4] ทั้งนี้ผู้ป่วยข้ออักเสบติดเชื้อที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยหัดเดินอาจมีอาการที่ไม่ชัดเจนและคล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่นๆ ได้ ทั้งโรคที่เป็นโรคติดเชื้อและไม่ใช่โรคติดเชื้อ[4]
ข้ออักเสบติดเชื้อในผู้ป่วยเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแบบไม่จำเพาะเจาะจง และมักเป็นการติดเชื้อผ่านทางกระแสเลือดเข้าไปยังข้อต่อ โดยมักพบในเด็กที่ไม่มีโรคประจำตัว ช่องทางอื่นของการติดเชื้อคือการเกิดการบาดเจ็บต่อข้อต่อโดยตรง หรือเกิดฝีหนองบริเวณข้างเคียงแล้วลุกลามมายังข้อต่อ สาเหตุอื่นที่พบได้น้อยกว่าคือการติดเชื้อแบคทีเรียแบบจำเพาะบางชนิด เช่น เชื้อวัณโรค ไวรัส เชื้อรา และปรสิต[3] เด็กที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อในลักษณะนี้ได้แก่ ทารกแรกเกิด โดยเฉพาะทารกเกิดก่อนกำหนด เด็กและวัยรุ่นที่มีโรคเลือด โรคกระดูกเจริญผิดเพี้ยนจากไต และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนในผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยงจะเป็นคนที่ใส่ข้อเทียม คนที่เคยเป็นข้ออักเสบจากสาเหตุอื่นๆ มาก่อน เบาหวาน และคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง[2] การวินิจฉัยทำได้โดยดูจากประวัติและการตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การเจาะน้ำในข้อต่อส่งตรวจ และการสร้างภาพทางการแพทย์ เช่น การอัลตราซาวด์ข้อต่อ[4]
ผู้ป่วยเด็กที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือทันเวลาอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ การรักษาในช่วงแรกมักเป็นการให้ยาปฏิชีวนะ เช่น แวนโคมัยซิน เซฟไตรอะโซน หรือเซฟตาซิดีม[2] หากเป็นที่ข้อต่อขนาดใหญ่ (เช่น ข้อสะโพก ข้อไหล่) มักต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อระบายหนองออกจากข้อ[4][5][2] หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวกับข้อต่อได้ เช่น ข้อต่อถูกทำลายจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ หรือมีข้อเคลื่อน เป็นต้น[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Hagino, Tetsuo; Wako, Masanori; Ochiai, Satoshi (1 October 2011). "Arthroscopic washout of the ankle for septic arthritis in a three-month-old boy". Sports Medicine, Arthroscopy, Rehabilitation, Therapy & Technology. 3 (1): 21. doi:10.1186/1758-2555-3-21. PMC 3192658. PMID 21961455.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 Horowitz, DL; Katzap, E; Horowitz, S; Barilla-LaBarca, ML (15 September 2011). "Approach to septic arthritis". American Family Physician. 84 (6): 653–60. PMID 21916390.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "Arthritis, Infectious". NORD (National Organization for Rare Disorders). 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 February 2017. สืบค้นเมื่อ 19 July 2017.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 El-Sobky, T; Mahmoud, S (July 2021). "Acute osteoarticular infections in children are frequently forgotten multidiscipline emergencies: beyond the technical skills". EFORT Open Reviews. 6 (7): 584–592. doi:10.1302/2058-5241.6.200155. ISSN 2396-7544. PMC 8335954. PMID 34377550.
- ↑ Swarup, I; LaValva, S; Shah, R; Sankar, WN (February 2020). "Septic Arthritis of the Hip in Children: A Critical Analysis Review". JBJS Reviews. 8 (2): e0103. doi:10.2106/JBJS.RVW.19.00103. PMID 32224630. S2CID 214731307.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |