ข้อตกลงฏออิฟ
ข้อตกลงฏออิฟ (อังกฤษ: Taif Agreement; อาหรับ: اتفاقية الطائف / ittifāqiyat al-Ṭā’if) ชื่ออื่นว่า ข้อตกลงประนีประนอมห่งชาติ (National Reconciliation Accord) หรือ เอกสารข้อตกลงแห่งชาติ (Document of National Accord) เป็นข้อตกลงที่ได้บรรลุเพื่อวาง "รากฐานการยุติสงครามกลางเมืองและกลับสู่ภาวะปกติทางการเมืองในเลบานอน"[1] ข้อตกลงนี้เจรจากันในเมืองฏออิฟ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ด้วยความมุ่งหมายที่จะยุติสงครามกลางเมืองเลบานอนซึ่งดำเนินมาหลายทศวรรษ และที่จะยืนยันซ้ำถึงอำนาจของเลบานอนในเขตเลบานอนใต้ (ซึ่งขณะนั้นมีกองทัพเลบานอนใต้ปกครอง และมีกองทหารของอิสราเอลคอยหนุน) ข้อตกลงนี้ลงนามกันเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1989 และรัฐสภาเลบานอนให้สัตยาบันในวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 และแม้ข้อตกลงจะกำหนดกรอบเวลาให้ถอนกองทัพซีเรียออกไปภายในสองปี แต่กว่าจะมีการถอนกองทัพอย่างแท้จริงก็ใน ค.ศ. 2005[2]
การปฏิรูปการเมือง
[แก้]ข้อตกลงนี้ระบุถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายประการ ซึ่งมีผลใช้บังคับหลังจากที่ประธานาธิบดีฮราวี (Hrawi) ลงนามในเดือนกันยายน ค.ศ. 1990 และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เป็นต้นว่า
- อัตราส่วนของคริสตชนต่อชาวมุสลิมในรัฐสภาลดลงจาก 6:5 เป็น 1:1
- ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของประธานรัฐสภาเพิ่มจากหนึ่งปีเป็นสี่ปี
- มาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมจาก "อำนาจบริหารเป็นของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ผู้ใช้อำนาจนั้นโดยมีรัฐมนตรีของตนคอยช่วยเหลือ" เป็น "อำนาจบริหารเป็นของคณะรัฐมนตรี ผู้ใช้อำนาจนั้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้"
- มีการลดทอนอำนาจประธานาธิบดีลงระดับหนึ่ง เช่น
- กำหนดให้ต้องปรึกษารัฐสภาก่อนเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี
- ห้ามแต่งตั้งหรือถอดถอนรัฐมนตรีโดยพลการ (ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน)
- กำหนดให้เสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนส่งให้รัฐสภาต่อ จากเดิมที่ส่งให้รัฐสภาได้โดยตรง
- การเสนอชื่อหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีแทน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อนี้ไม่มีผลต่อการดำเนินชีวิตในทางการเมืองมากนัก เพราะปกติรัฐมนตรีจะเสนอชื่อข้าราชการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ก่อนจะส่งให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งอีกชั้นหนึ่งอยู่แล้ว
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Krayem, Hassan. "The Lebanese civil war and the Taif agreement". American University of Beirut. สืบค้นเมื่อ 10 June 2012.
- ↑ Laura Etheredge (15 January 2011). Syria, Lebanon, and Jordan. The Rosen Publishing Group. p. 151. ISBN 978-1-61530-329-8. สืบค้นเมื่อ 19 March 2013.