กุ้งมดแดง
กุ้งมดแดง | |
---|---|
คู่กุ้งมดแดงที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Arthropoda |
ไฟลัมย่อย: | Crustacea |
ชั้น: | Malacostraca |
อันดับ: | Decapoda |
อันดับฐาน: | Caridea |
วงศ์: | Rhynchocinetidae |
สกุล: | Rhynchocinetes |
สปีชีส์: | R. durbanensis |
ชื่อทวินาม | |
Rhynchocinetes durbanensis Gordon, 1936 |
กุ้งมดแดง (อังกฤษ: Dancing shrimp, Hinge-beak shrimp, Camel shrimp; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhynchocinetes durbanensis) เป็นกุ้งขนาดเล็กชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์กุ้งมดแดง (Rhynchocinetidae)
เป็นกุ้งขนาดเล็กที่มีสีสันสวยงาม โดยมีสีแดงสลับสีขาวเป็นตารางทั้งลำตัว หลังมีสันนูนไม่โค้งมน ส่วนหัวและอกรวมมีปล้องหนึ่งคู่ สันกรีสูงและปลายคม ส่วนของกรีมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมมีสีแดงอยู่ด้านล่าง ด้านบนเป็นสีขาวมีหนวดสองคู่ หนวดคู่แรกมีขนาดเล็กอยู่บนสันกรี หนวดคู่ที่สองมีความยาวประมาณสองเท่าของลำตัว ส่วนระยางค์อก แม็กซิลลิเพด เปลี่ยนเป็นลักษณะแหลมยาวเรียว ขาเดินมีสีขาวสลับแดงห้าคู่ ขาเดินคู่แรกเปลี่ยนไปเป็นก้ามเพื่อใช้สำหรับหยิบจับอาหาร ลำตัวมีขาสำหับว่ายน้ำห้าคู่ มีทั้งหมดหกปล้อง หางมีหนึ่งปล้อง ปลายหางเรียว แพนหางมีสี่ใบ
มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 1.4 นิ้ว เป็นกุ้งที่พบได้ง่ายในแนวปะการังของเขตร้อนทั่วโลก พฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง หลบซ่อนอยู่ตามโพรงหินหรือปะการัง หากินในเวลากลางคืน โดยกินแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ สัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมถึงตัวอ่อนของปะการังบางชนิดเป็นอาหาร และซากพืชซากสัตว์ต่าง ๆ ด้วย
กุ้งมดแดงหากตกใจ สีจะซีดลง
ตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยจะมีลักษณะลำตัวที่ผอมเพรียวกว่าตัวเมีย หัวเชิดขึ้นเล็กน้อย โคนหางและระยางค์ที่หางเล็กกว่า ขณะที่ตัวเมียจะมีลำตัวที่อวบกว่าเพื่อใช้ในการเก็บไข่บริเวณท้อง
จัดเป็นกุ้งชนิดหนึ่งที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของคุณน้ำเป็นอย่างมาก เพื่อแหล่งน้ำที่อยู่อาศัยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง กุ้งจะย้ายที่อยู่หรือปรับตัวให้เข้ากับสภาพที่เปลี่ยนไป ซึ่งหากปรับตัวไม่สำเร็จก็จะตาย
กุ้งมดแดง ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วโดยหน่วยงานของกรมประมง และด้วยความที่เป็นกุ้งที่มีสีสันสวยงาม มีขนาดเล็ก เลี้ยงง่าย จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันในตู้ปลา โดยเฉพาะตู้ที่มีการเลี้ยงปะการัง [1][2]