ข้ามไปเนื้อหา

กิเยร์โม ลาร์ราซาบัล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กิเยร์โม ลาร์ราซาบัล
ภาพเสมือนบุคคลของลาร์ราซาบัลที่สร้างสรรค์ขึ้นในช่วง ค.ศ. 1970 ถึง ค.ศ. 1980
เกิด10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1907[1]
เม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก[1]
เสียชีวิต29/30 กรกฎาคม ค.ศ. 1983
(76 ปี)[1]
กูเองกา ประเทศเอกวาดอร์[2]
สัญชาติสเปน

กิเยร์โม ลาร์ราซาบัล อาร์ซูบิเด (สเปน: Guillermo Larrazábal Arzubide; 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1907 – ค.ศ. 1983) เป็นศิลปินกระจกสีชาวสเปนที่อาศัยอยู่ในประเทศเอกวาดอร์ เขาถือเป็นศิลปินกระจกสีที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในเอกวาดอร์[3]

ชีวประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงต้นและการศึกษา[แก้]

กิเยร์โม ลาร์ราซาบัล เกิดที่กรุงเม็กซิโกซิตีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1907 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันที่มารดาของเขากำลังเดินทางไปที่นั่น บิดาของเขามีชื่อว่า ฆวน โดมิงโก ลาร์ราซาบัล บาซาร์ราเต (Juan Domingo Larrazábal Basarrate) ส่วนมารดาคือ ดานิเอลา อาร์ซูบิเด บิยา (Daniela Arzubide Villa) ทั้งสองมาจากเมืองบิลบาโอ ประเทศสเปน บิดาของเขาเป็นนักธุรกิจเกี่ยวกับโกโก้และกาแฟ ลาร์ราซาบัลอาศัยและเติบโตอยู่ที่บ้านพักขนาดใหญ่ในบิลบาโอ ซึ่งเขาเป็นบุตรคนสุดท้องของพี่น้องทั้ง 9 คน เมื่อเขาอายุได้ 5 ปี เขาติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบและป่วยหนัก และหลังจากที่ได้รับการรักษาจนหายดี เขาจึงกลายเป็นใบ้ไประยะหนึ่งแลัว ในช่วงประถม เขาขังตัวเองไว้ในห้องเพื่อฝึกพูดหน้ากระจก และท้ายที่สุดเขาก็สามารถเอาชนะความเป็นใบ้ได้สำเร็จหลังจากฝึกพูดอยู่หลายชั่วโมง (แม้ว่าเขาจะพูดติดอ่างเล็กน้อยในบางครั้ง) บิดาของลาร์ราซาบัลเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1916 ลาร์ราซาบัลมีช่วงวัยเด็กที่ยากลำบากและเป็นคนเคร่งศาสนาอย่างมาก[1]

กิเยร์โม ลาร์ราซาบัล ย้ายโรงเรียนอยู่บ่อยครั้งในช่วงวัยเด็ก ศาสตราจารย์อาเดรียน มาร์ติเนซ (Adrián Martínez) ต้องการให้ลาร์ราซาบัลเรียนศิลปะเท่านั้น และแนะนำตัวเขาให้กับสถาบันศิลปะหลายแห่ง ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1932 ลาร์ราซาบัลเข้าร่วมกับห้องศิลปะของลุยส์ เลร์ชุนดิ (Luis Lerchundi) ศิลปินที่อาศัยอยู่ในบิลบาโอ ลาร์ราซาบัลทำงานอยู่กับจิตรกรเฟลิกซ์ กัญญาดา (Félix Cañada) ซึ่งเป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงจากผลงานนวศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Café Iruña (Bilbao) [es; eu] ลาร์ราซาบัลก้าวหน้าในงานศิลปะอย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้นไม่นาน เขาจึงเริ่มเรียนรู้เทคนิคของงานกระจกสี[1]

การงานในสเปน[แก้]

ในช่วงสงครามกลางเมืองสเปน กลุ่มนิยมสาธารณรัฐได้จับกุมเขาในข้อกล่าวหาเท็จและถูกนำตัวไปยังค่ายกักกัน มารดาของเขาจึงได้ร้องขอให้เพื่อนของเธอที่อยู่ภายในกลุ่มปล่อยตัวเขา ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เขาถูกจับกุมอีกครั้งโดยกลุ่มแห่งชาติ และก็ได้รับอิสรภาพจากการร้องขอของครอบครัวอีกเช่นเคย เขาพยายามหลบซ่อนหลังจากเหตุการณ์นี้ แต่สุดท้ายก็ถูกพบตัวและถูกเกณฑ์เข้าสู่กองทัพของนายพลฟรังโก เขาทำหน้าที่วาดตราไปรษณียากรและธงให้ฟรังโกจนถึง ค.ศ. 1939[1]

เมื่อสงครามสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1939 ลาร์ราซาบัลจึงกลายเป็นคนหมดตัว เขาเข้าทำงานต่อที่ห้องศิลปะ Vitrieras de Arte ในซานเซบัสเตียน ในระหว่างการทำงาน ลาร์ราซาบัลได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมาตรฐาน และเกิดความรู้สึกว่าตนถูกกดขี่จากการผูกขาดทางความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นใน ค.ศ. 1951 หลังจากที่เขาได้ทำงานมาเป็นเวลา 12 ปีที่ห้องศิลปะแห่งนี้ เขาจึงลาออกจากงานและย้ายไปทำงานที่โรงงานเครื่องดินเผาในกรุงมาดริด และแต่งงานในปีเดียวกัน[1]

การงานในเอกวาดอร์[แก้]

หน้าต่างกระจกสีที่สร้าง โดยกิเยร์โม ลาร์ราซาบัล ณ อาสนวิหารใหม่แห่งกูเองกา

ใน ค.ศ. 1955 คริสตจักรคาทอลิกในเอกวาดอร์กำลังมองหาศิลปินจากสเปนสำหรับการก่อสร้างอาสนวิหารใหม่แห่งกูเองกา ทางคริสตจักรเลือกมานูเอล โมรา อิญญิโก (Manuel Mora Iñigo) ศิลปินเครื่องดินเผาชาวสเปน โดยอิญญิโกได้ติดต่อกัลลาร์ราซาบัลสำหรับการสร้างหน้าต่างกระจกสีของอาสนวิหาร ลาร์ราซาบัลจึงย้ายมาอยู่ที่กูเองกาใน ค.ศ. 1955[1][4] ซึ่งภรรยาของเขาก็ได้ติดตามมาด้วย แม้ว่าหลังจากนั้นไม่นานทั้งคู่จะแยกทางกัน[1]

ลาร์ราซาบัลทำหน้าต่างกระจกสี 60 บานสําหรับอาสนวิหารกูเองกาจนเสร็จสิ้น ซึ่งนับเป็นผลงานที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเขา ผลงานของเขาในอาสนวิหารนั้นทําให้เขามีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ นำไปสู่การสร้างผลงานต่อมาที่อาสนวิหารกัวยากิลและอาสนวิหารอัมบาโต ตลอดจนเป็นผู้สร้างหน้าต่างกระจกสีของสถาบันทหารกีโต (Academia Militar de Quito) (ปิดตัวลงใน ค.ศ. 1991) สถาบันการศึกษาซานโฆเซลาซาเย (Unidad Educativa San José La Salle) รวมถึงบ้านของกิเยร์โม บัซเกซ (Guillermo Vázquez) นักธุรกิจในกูเองกาอีกด้วย[1][5]

ในช่วงที่เหลือของอาชีพการงาน ลาร์ราซาบัลได้สร้างสรรค์ผลงานกระจกสี 87 ชิ้น ที่ตั้งอยู่ตามจังหวัดส่วนใหญ่ของเอกวาดอร์ เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่อปลายวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1983 หรืออาจเป็นในตอนเช้าตรู่ของวันถัดไป โดยสาเหตุการเสียชีวิตนั้น คาดว่าเกิดจากการสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ในการทํากระจกสี ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคตามมาได้ เนื่องจากเขาไม่เคยสูบบุหรี่[1]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ในเอกวาดอร์ ลาร์ราซาบัลตกหลุมรักเอวดอกเซีย เอสเตรยา (Eudoxia Estrella) จิตรกรสาว พวกเขาเริ่มอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ ค.ศ. 1960 แม้ว่าลาร์ราซาบัลจะยังคงสถานะสมรสกับภรรยาของเขาที่สเปน เนื่องจากภรรยาของเขาปฏิเสธที่จะหย่าร้าง เอสเตรยายังคงเป็นคู่อาศัยของลาร์ราซาบัลจนกระทั่งเขาเสียชีวิต[1][4]

ผลงาน[แก้]

ลุยส์ อัลเบร์โต ลูนา โตบาร์ กล่าวว่าลาร์ราซาบัลเป็น "นักเทววิทยาที่ครุ่นคิดอยู่กับแสงและสีบนกระจกสีในการค้นหาพระพักตร์ของพระเจ้า" พรสวรรค์ทางศิลปะของลาร์ราซาบัลมิได้จํากัดอยู่เพียงงานกระจกสีเท่านั้น เขายังเป็นจิตรกร ประติมากร ช่างเครื่องเคลือบ และช่างภาพที่มีความสามารถอีกด้วย โดยในปีต่อ ๆ มา เขาได้อุทิศเวลาส่วนหนึ่งให้กับการถ่ายภาพ[1]

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

หอศิลป์ลาร์ราซาบัล (Galería Larrazábal) ในกูเองกาได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตั้งเดิมของห้องศิลปะของเขา[1] นิทรรศการแรกของผลงานลาร์ราซาบัลได้รับการจัดขึ้นที่กูเองกาเมื่อ ค.ศ. 2012[6] และต่อมาจึงได้เดินทางไปจัดยังเมืองต่าง ๆ ในเอกวาดอร์ โดยนิทรรศการครั้งที่สองจัดขึ้นในมหาวิทยาลัยสันตะปาปาคาทอลิกเอกวาดอร์ (Pontificia Universidad Católica del Ecuador) ณ กรุงกีโต เมื่อ ค.ศ. 2013[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 "Diccionario Biografico de Ecuador". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-08. สืบค้นเมื่อ 2024-06-03.
  2. Juan Castro y Velázquez. "Una década de modernidad en el arte ecuatoriano (1980-1990)". In Claudio Malo González, บ.ก. (1991). Ecuador contemporáneo. National Autonomous University of Mexico. p. 191. ISBN 978-968-36-1990-7.
  3. ""El vitral es el arte con la luz y el color" | Diario El Mercurio – Cuenca Ecuador Vía @mercurioec". www.elmercurio.com.ec. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-28.
  4. 4.0 4.1 "Guillermo Larrazábal, el artista que halló la luz". El Comercio (ภาษาสเปน). January 21, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-02. สืบค้นเมื่อ 2024-06-03.
  5. 5.0 5.1 Ortiz, Diego (March 24, 2013). "Un templo 'larrazabalesco' en Quito". El Comercio (ภาษาสเปน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 8, 2014.
  6. "Guillermo Larrazábal, en una muestra y en un libro". El Comercio (ภาษาสเปน). March 11, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-06. สืบค้นเมื่อ 2024-06-03.

หนังสืออ่านเพิ่ม[แก้]

  • José Carlos Arias Álvarez (2011). Guillermo Larrazábal Arzubide (1907-1983): la vidriera ecuatoriana, treinta años hacia la luz (ภาษาสเปน). Quito: Ministerio de Cultura del Ecuador. ISBN 978-9942-07-170-5.
  • Patxi Arzamendi; Fátima Errasti (1992). Guillermo Larrazábal: un artista vasco en Ecuador (1907-1983) (ภาษาสเปน). Eusko Jaurlaritzaren Argitalpen Zerbitzu Nagusia (Servicio Central de Publicaciones del Gobierno Vasco). ISBN 978-84-457-0121-8.
  • Jorge Dávila Vázquez (1988). G. Larrazábal, el arte en el vitral (ภาษาสเปน). Banco Central del Ecuador. OCLC 20296847.