การเสด็จหนีไปวาแรน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก การเสด็จสู่วาเรนน์)
เส้นทางเสด็จฯ จากพระราชวังตุยเลอรีไปยังวาแรน-อ็อง-อาร์กอนน์ (ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร)

การเสด็จหนีไปวาแรน (ฝรั่งเศส: Fuite à Varennes) ในคืนวันที่ 20 ย่างเช้าวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1791 เป็นเหตุการณ์สำคัญในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งพระเจ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส พร้อมด้วยพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตและพระราชวงศ์ใกล้ชิด พยายามเสด็จหนีออกจากปารีสเพื่อไปเตรียมต่อต้านการปฏิวัติ ณ เมืองม็งเมดี ใกล้กับชายแดนฝรั่งเศส ที่ซึ่งเหล่านายทหารผู้ภักดีและข้าราชการฝ่ายกษัตริย์นิยมไปรวมตัวกัน แต่เสด็จไปได้ไกลเพียงเมืองวาแรนก็ทรงถูกจับกุม เนื่องจากมีผู้จดจำพระราชวงศ์ได้ในระหว่างการแวะพักที่เมืองแซ็งเตอ-แมนนู

เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดพลิกผันของการปฏิวัติ เนื่องจากทำให้การต่อต้านระบอบราชาธิปไตยฝรั่งเศสในฐานะสถาบัน และการต่อต้านองค์กษัตริย์และพระราชินีในฐานะปัจเจกบุคคล มีความเด่นชัดมากขึ้น ความพยายามครั้งนี้ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกตั้งข้อหากบฏ จนท้ายที่สุดนำไปสู่การสำเร็จโทษในปี ค.ศ. 1793

ความเคราะห์ร้าย ความล่าช้า ความเข้าใจผิด และดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสมซึ่งเกิดต่อเนื่องกัน เป็นปัจจัยที่ทำให้ความพยายามหนีดังกล่าวล้มเหลว[1] โดยมากมีที่มาจากความไม่เด็ดขาดในการตัดสินพระทัยของพระเจ้าหลุยส์เอง พระองค์ทรงเลื่อนกำหนดการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปล่อยให้ปัญหาเล็กบานปลายจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังประมาณเสียงสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อระบอบกษัตริย์แบบดั้งเดิมผิดพลาดไป เนื่องจากเข้าพระทัยผิดมาโดยตลอดว่าทรงเป็นที่รักใคร่ของราษฎรในชนบทและสามัญชนทั่วไป[2]

การเสด็จหนีดังกล่าวสร้างบาดแผลลึกให้แก่ฝรั่งเศส และได้ปลุกเร้าอารมณ์ของผู้คนทั่วไปให้รู้สึกวิตกกังวล ฉุนเฉียวรุนแรง หรือตื่นตระหนก เนื่องจากทุกคนตระหนักได้ว่าการแทรกแซงจากต่างชาติจวนที่จะเกิดขึ้นจริงแล้ว นอกจากนี้ยังสร้างความตกตะลึงให้แก่กลุ่มคนที่ยังมองว่าพระองค์คือพระมหากษัตริย์ผู้มีเจตนาดีเป็นพื้นฐานและปกครองอาณาจักรโดยประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะทรงต่อต้านการปฏิรูปและการปฏิวัติได้ร้ายแรงมากถึงเพียงนี้ ส่งผลให้เหล่าผู้นำการปฏิวัติหันมายึดถือแนวคิดสาธารณรัฐนิยมเป็นอุดมการณ์หลักในทันที จากที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงแนวคิดซึ่งอภิปรายตามวงกาแฟเท่านั้น[3]

พระเจ้าหลุยส์ พระชายา และพระราชโอรส-ธิดา ขณะฉลองพระองค์ปลอมเป็นกระฎุมพี ถูกจับกุม ณ เมืองวาแรน

ภูมิหลัง[แก้]

ท่าทีที่ลังเลพระทัยของพระเจ้าหลุยส์ต่อข้อเรียกร้องของการปฏิวัติเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้พระราชวงศ์ต้องเสด็จออกจากพระราชวังแวร์ซายในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1789 ไปประทับ ณ พระราชวังตุยเลอรีในปารีสแทน เนื่องจากพระราชวังแวร์ซายถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ชุมนุมผู้โกรธแค้น ซึ่งนับแต่นั้นมา พระเจ้าหลุยส์มีพระอารมณ์เศร้าหมองเหมือนเป็นอัมพาตทางจิตใจ ทรงปล่อยให้ราชการแผ่นดินสำคัญส่วนมากตกอยู่ในการตัดสินพระทัยของราชินีผู้ไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมมาสำหรับพระราชกรณียกิจด้านการเมือง ต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1791 ในขณะที่มาร์กี เดอ ลา ฟาแย็ต กำลังเข้าระงับเหตุวุ่นวายที่แว็งเซน กลุ่มกษัตริย์นิยมหลายร้อยคนรวมตัวกันที่พระราชวังตุยเลอรีเพื่อแสดงพลังสนับสนุนพระราชวงศ์ แต่สุดท้ายกลับถูกไล่ตะเพิดออกจากพระราชวังโดยกองกำลังแห่งชาติ (ฝรั่งเศส: Garde Nationale)[4]

จุดประสงค์[แก้]

จุดประสงค์ของการเสด็จหนีครั้งนี้คือเพื่อปลดปล่อยพระมหากษัตริย์สู่อิสรภาพตามพระราชอัธยาศัยและความปลอดภัยที่มากกว่าการประทับอยู่ในปารีส[5] ที่ม็องเมดี นายพลฟร็องซัว โกลด เดอ บุยเย (ฝรั่งเศส: François Claude de Bouillé) หรือมาร์กี เดอ บุยเย ได้รวบรวมนายทหารหลวงเก่าที่ยังจงรักภักดีต่อระบอบราชาธิปไตยได้ประมาณ 10,000 นาย [6] ซึ่งก่อนหน้านี้ เดอ บุยเย ปรากฏความดีความชอบจากการปราบปรามเหตุกบฏร้ายแรงที่น็องซีมาแล้วในปี ค.ศ. 1790 กองกำลังของเขาประกอบไปด้วยทหารรับจ้างสวิส 2 กองพล และทหารรับจ้างเยอรมันอีก 1 กองพล โดยมองว่าภายใต้ความไม่สงบทางการเมืองเช่นที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ทหารรับจ้างต่างชาติน่าจะไว้วางใจได้มากกว่าทหารชาวฝรั่งเศสเอง[7] ในร่างจดหมายฉบับใช้นำเสนอต่อรัฐสภาแห่งสมาพันธรัฐสวิส ณ เมืองซูริก ขุนนางฝ่ายกษัตริย์นิยม บารง เดอ เบรอเตย (ฝรั่งเศส: Baron de Breteuil) แจ้งว่า "สมเด็จฯ ประสงค์ที่จะมีกองกำลังอันโอฬารไว้ใต้พระเดชพระคุณ ที่แม้นแต่กบฏอันอาจหาญที่สุดก็มิอาจมีทางเลือกอื่นเว้นแต่จักยอมศิโรราบ" โดยราชสำนักคาดเดาว่า "พสกนิกรผู้ศรัทธาจากทุกชนชั้นจำนวนมาก" จะเดินขบวนเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูเอกสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์เหนือราชบัลลังก์ และความสงบเรียบร้อยจะคืนกลับมาโดยปราศจากซึ่งสงครามกลางเมืองหรือการแทรกแซงจากต่างชาติ[8]

อย่างไรก็ตาม พระประสงค์ทางการเมืองในระยะยาวของพระเจ้าหลุยส์ พระชายา และที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระองค์ยังคงไม่ปรากฏแน่ชัด มีเพียงรายละเอียดปรากฏในเอกสารที่ชื่อว่า "ประกาศถึงชนชาวฝรั่งเศส" (Declaration to the French People) ซึ่งจัดเตรียมโดยพระเจ้าหลุยส์เพื่อที่จะทรงนำแถลงต่อสภาแห่งชาติ แต่ถูกทิ้งไว้ที่พระราชวังตุยเลอรีหลังเสด็จหนีออกจากปารีส โดยได้บ่งชี้พระประสงค์ส่วนพระองค์ที่จะกลับไปสู่ข้อยินยอมและการประนีประนอมที่ได้บัญญัติไว้ในประกาศแห่งฐานันดรที่สาม (Declaration of the Third Estate) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1789 ก่อนหน้าเหตุความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในปารีสและการทลายคุกบัสตีย์ ในขณะที่จดหมายส่วนพระองค์ของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต กลับเป็นไปในเชิงโต้ตอบมากกว่า โดยประสงค์ที่จะฟื้นฟูระบอบกษัตริย์เก่าขึ้นมาโดยปราศจากการประณีประนอม และจะประทานอภัยโทษแก่ทุกคนยกเว้นกลุ่มผู้นำการปฏิวัติและชาวปารีส "หากไม่ยอมกลับคืนสู่ระเบียบเก่าของตน"[9]

พยายามออกจากปารีส[แก้]

หลังทรงได้ยินคำแนะนำจากพระนางมารี อ็องตัวแน็ต พระเจ้าหลุยตัดสินพระทัยเสด็จหนีออกจากปารีสไปยังชายแดนด้านตะวันออกสู่ออสเตรียในคืนวันที่ 20 ย่างวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1791 อันนำมาซึ่งความหายนะต่อตัวพระองค์และพระราชวงศ์ฝรั่งเศสเอง การเสด็จหนีเริ่มต้นขึ้นด้วยการที่มาร์กีซ เดอ ตูร์แซล (ฝรั่งเศส: Marquise de Tourzel) ข้าหลวงราชโอรสราชธิดาฝรั่งเศสปลอมตัวเป็นบารอนเนสชาวรัสเซีย ส่วนพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต และมาดามเอลีซาแบ็ต พระขนิษฐาของพระเจ้าหลุยส์ปลอมตัวเป็นข้ารับใช้หญิงของบารอนเนส และพระเจ้าหลุยส์ทรงรับบทเป็นพ่อบ้าน ในขณะที่เจ้าฟ้าชาย-หญิงพระองค์น้อยทรงรับบทเป็นบุตร-ธิดาของบารอนเนส โดยทั้งหมดเริ่มเดินทางออกจากพระราชวังตุยเลอรีเวลาประมาณเที่ยงคืน[10] แผนการส่วนมากวางแผนโดยเคานต์อักเซล ฟอน แฟร์เซิน (เยอรมัน: Count Axel von Fersen) และบารง เดอ เบรอเตย ผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้ากุสตาฟที่ 3 แห่งสวีเดน แฟร์เซินเร่งเร้าว่าควรใช้รถม้าเบาสองหลังในการเดินทาง ซึ่งจะช่วยให้ถึงม็งเมดีที่อยู่ห่างไปประมาณ 250 กิโลเมตรได้ค่อนข้างเร็ว แลกกับการต้องแบ่งพระราชวงศ์ออกจากกันเป็นสองคณะ แต่กระนั้นก็ตาม พระเจ้าหลุยส์และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ตัดสินพระทัยที่จะใช้รถม้าหนักอันเด่นสะดุดตาหลังเดียวลากจูงด้วยม้าจำนวน 6 เชือกแทน[11]

การจับกุมพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระบรมวงศานุวงศ์ – แสตมป์โดย Jean-Louis Prieur,
(Musée de la Révolution française)

เปิดโปงและจับกุม[แก้]

ฌ็อง-บาติสต์ ดรูแอ ผู้ที่สามารถจดจำพระบรมวงศานุวงศ์ขณะทรงปลอมพระองค์ได้
ดรูแอจดจำพระเจ้าหลุยส์ได้จากพระรูปที่ปรากฏบนพันธบัตรอัสซิญาต์[note 1]

เนื่องจากเหตุขัดข้องที่เกิดขึ้นสะสมและต่อเนื่องกัน ทั้งความล่าช้า การคำนวณเวลาที่ผิดพลาด การเปิดเผยตนที่มากเกินไปจนไม่เป็นการลับ และสายลากจูงรถที่ต้องคอยซ่อมแซม[12] ทำให้ความพยายามเสด็จหนีของพระราชวงศ์ถูกขัดขวางไว้ได้หลังออกจากปารีส นอกจากนี้ตัวพระราชวงศ์เองก็มีส่วนทำให้ความพยายามนี้ล้มเหลว เช่น พระเจ้าหลุยส์ตรัสกับชาวนาเป็นการส่วนพระองค์ขณะกำลังทำการเปลี่ยนม้าที่ฟรอม็องตีแยร์ ส่วนพระนางมารี อ็องตัวแน็ตก็ได้มอบจานเงินแก่เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่คณะราชวงศ์ที่แช็งตรีซ์ด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่คนทั่วไปได้โดยง่าย ที่ชาล็ง มีรายงานว่าชาวเมืองถึงกลับออกมาต้อนรับและปรบมือสรรเสริญคณะราชวงศ์อย่างโจ่งแจ้ง จนในที่สุด ฌ็อง-บาติสต์ ดรูแอ บุรุษไปรษณีย์จากเมืองแซ็งเตอ-แมนนู จดจำพระเจ้าหลุยส์ได้จากพระรูปที่พิมพ์บนพันธบัตรอัสซิญาต์ที่เขามีไว้ครอบครอง[13] กองทหารม้าจำนวน 7 กองซึ่งประจำการตามแนวเส้นทางที่จะใช้เสด็จหนีถูกถอนกำลังออกไปหรือถูกควบคุมโดยฝูงชนผู้เคลือบแคลงสงสัยก่อนที่คณะราชวงศ์จะเสด็จถึง ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์และพระราชวงศ์ทรงถูกจับกุมที่เมืองวาแรน ซึ่งห่างจากจุดหมายปลายทางที่เมืองม็องเมดีอันเป็นที่ตั้งของป้อมปราการฝ่ายกษัตริย์นิยมเป็นระยะทางเพียง 50 กิโลเมตร[11]

ทั้งนี้ จึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่ากองกำลังของเดอ บุยเย จะใหญ่หรือไว้วางใจมากพอที่จะเปลี่ยนทิศทางของการปฏิวัติและดำรงไว้ซึ่งระบอบราชาธิปไตยได้หรือไม่[14][15]

คุมขังที่ตุยเลอรี[แก้]

การเสด็จนิวัตสู่ปารีสวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1791 โดยฌ็อง-หลุยส์ พรีเยอร์

เมื่อพระราชวงศ์เสด็จนิวัตปารีสภายใต้การคุ้มกัน ฝูงชนฝ่ายปฏิวัติมองดูขบวนรถม้าหลวงด้วยท่าทีนิ่งสงัดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งหมดตกอยู่ในความตะลึงงันสุดขีดเมื่อได้เห็นกษัตริย์ของพวกเขาในสถานการณ์เช่นนี้ พระราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงถูกคุมขัง ณ พระราชวังตุยเลอรี และจากเหตุการณ์นี้เป็นต้นไป แนวคิดล้มล้างระบอบกษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐดูจะมีความเป็นไปได้มากอย่างที่ไม่เคยมาก่อน ความน่าเชื่อถือในตัวพระเจ้าหลุยส์ในฐานะพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญถูกลดทอนลงอย่างร้ายแรงจากความพยายามหลบหนีในครั้งนี้

หลังจากนำพระราชวงศ์เสด็จนิวัตปารีสแล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติก็ตกลงว่าจะฟื้นฟูพระเจ้าหลุยส์คืนสู่พระราชอำนาจได้หากทรงยอมรับรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม กลุ่มการเมืองหลายกลุ่มเช่นฝ่ายกอเดอลิแยร์และฝ่ายฌากอแบ็งไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว จนนำไปสู่การประท้วงที่สวนช็อง เดอ มาร์ และบานปลายกลายเป็นเหตุสังหารหมู่ขึ้น[16]

นับแต่ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1791 เป็นต้นมา พระเจ้าหลุยส์ทรงฝากความหวังในการรื้อฟื้นพระราชอำนาจทางการเมืองไว้กับแนวทางอันน่าแคลงใจอย่างการแทรกแซงจากต่างชาติ ถึงขนาดที่ทรงสนับสนุนนโยบายสงครามกับออสเตรียของฝ่ายฌีรงแด็งในสภานิติบัญญัติ โดยทรงคาดหมายว่ากองทัพฝรั่งเศสที่พ่ายแพ้ย่อยยับจะช่วยปูทางไปสู่การฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระองค์ ทรงปฏิเสธคำแนะนำของนักรัฐธรรมนูญนิยมสายกลางอย่างอ็องตวน บาร์แนฟ ที่ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 เต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่พระเจ้าหลุยส์ทรงปฏิญาณว่าจะดำรงไว้ หากแต่ลับ ๆ แล้วพระองค์เองกลับทรงเข้าไปมีส่วนแอบแฝงในนโยบายการปฏิวัติต่อต้าน

ล้มเลิกราชาธิปไตย[แก้]

ความล้มเหลวจากการเสด็จหนีของพระเจ้าหลุยส์ได้ส่งสัญญาณเตือนแก่พระมหากษัตริย์ยุโรปพระองค์อื่น ๆ ผู้ซึ่งหวั่นเกรงว่าการปฏิวัติจะลุกลามเข้ามายังอาณาจักรของตนและก่อให้เกิดความไม่สงบนอกฝรั่งเศสขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับเพื่อนบ้านอยู่ในภาวะตึงเครียดมาก่อนแล้วจากการปฏิวัติ และยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิมถึงขนาดที่ชาติยุโรปบางแห่งเรียกร้องให้ทำสงครามกับรัฐบาลคณะปฏิวัติเสียด้วยซ้ำ[17]

การปะทุขึ้นของสงครามกับออสเตรียในเดือนเมษายน ค.ศ. 1792 และคำประกาศเบราน์ชไวก์โดยแม่ทัพชาวปรัสเซีย ชาลส์ วิลเลียม เฟอร์ดินานด์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์ ซึ่งข่มขู่ว่าปารีสจะพังพินาศลงหากพระราชวงศ์ตกอยู่ในภัยอันตรายอีกครั้ง ส่งผลให้ชาวปารีสหัวรุนแรงบุกโจมตีพระราชวังตุยเลอรีในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792[18] จึงนับเป็นเหตุการณ์ที่เสมือนกับการลั่นระฆังมรณะเตือนพระเจ้าหลุยส์ในอนาคต[19]

การโจมตีดังกล่าวนำไปสู่การระงับพระราชอำนาจโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติและการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่หนึ่งในวันที่ 21 กันยายน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน หลักฐานข้อตกลงลับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับนักการเมืองฝ่ายปฏิวัติผู้ล่วงลับ เคาต์แห่งมีราโบ ถึงแผนคบคิดการปฏิวัติต่อต้านร่วมกับชาวต่างชาติถูกพบในหีบเหล็กลับ อาร์มัวร์เดอแฟร์ (ฝรั่งเศส: armoire de fer) ภายในพระราชวังตุยเลอรี[20] บัดนี้จึงไม่อาจเสแสร้งได้อีกต่อไปแล้วว่าพระมหากษัตริย์ทรงยินยอมให้มีการปฏิรูปภายใต้การปฏิวัติได้โดยเสรี ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมบางส่วนเรียกร้องโค่นล้มพระองค์ บางส่วนเรียกร้องให้มีการไต่ส่วนในข้อหาสมคบคิดก่อการกบฏและชักนำศัตรูเข้ามาในชาติ ต่อมาในวันที่ 3 ธันวาคม ได้มีการตัดสินใจว่าควรนำพระเจ้าหลุยส์ซึ่งถูกจองจำ ณ ต็องเปลอ ร่วมกับพระราชวงศ์พระองค์อื่นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม เข้าสู่กระบวนการไต่สวนในข้อหากบฏจนได้ปรากฏพระองค์ต่อหน้าที่ประชุมใหญ่แห่งชาติสองครั้งในวันที่ 11 และ 23 ธันวาคม[21]

วันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ทรงถูกนำไปสำเร็จโทษด้วยเครื่องกิโยตีนหลังจากที่ทรงถูกตัดสินว่ามีความผิด เก้าเดือนต่อมา พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ก็ทรงถูกตัดสินในข้อหากบฏด้วยเช่นกัน และทรงถูกบั่นพระเศียรในวันที่ 16 ตุลาคม[22]

หมายเหตุ[แก้]

  1. พันธบัตรอัสซิญาต์ (ฝรั่งเศส: Assignat) คือเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพันธบัตรรัฐบาล เป็นที่นิยมในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

อ้างอิง[แก้]

  1. Thompson, J. M. (James Matthew) (1943), The French Revolution, Oxford, สืบค้นเมื่อ 5 April 2017
  2. Timothy Tackett, When the King Took Flight (2003) ch. 3
  3. Timothy Tackett, When the King Took Flight (2003) p. 222
  4. Thiers, Marie Joseph L Adolphe (1845). The History of the French Revolution. pp. 61–62.
  5. Cobb, Richard; Jones, Colin, บ.ก. (1988). Voices of the French Revolution. Harpercollins. p. 114. ISBN 0881623385.
  6. Price, Monro (2003). The Fall of the French Monarchy. p. 170. ISBN 0-330-48827-9.
  7. Tozzi, Christopher J. (2016). Nationalizing France's Army. pp. 62–63. ISBN 9780813938332.
  8. Price, Monro (2003). The Fall of the French Monarchy. pp. 176–77. ISBN 0-330-48827-9.
  9. Price, Monro (2003). The Fall of the French Monarchy. pp. 193–94. ISBN 0-330-48827-9.
  10. Richard Cavendish, page 8, "History Today", June 2016
  11. 11.0 11.1 Richard Cavendish, p. 8, "History Today", June 2016
  12. Price, Monro (2003). The Fall of the French Monarchy. pp. 173–175. ISBN 0-330-48827-9.
  13. Drouet, Jean-Baptiste (1791). Récit fait par M. Drouet, maître de poste à Ste Menehould, de la manière dont il a reconnu le Roi, et a été cause de son arrestation à Varennes: honneurs rendus à ce citoyen et à deux de ses camarades. Gallica. Les archives de la Révolution française. Bibliothèque nationale de France. สืบค้นเมื่อ 2014-03-28.
  14. Price, Monro (2003). The Fall of the French Monarchy. p. 187. ISBN 0-330-48827-9.
  15. Tozzi, Christopher J. (2016). Nationalizing France's Army. p. 63. ISBN 9780813938332.
  16. Woodward, W.E. Lafayette.
  17. Schama, Simon (1989). Citizens. A Chronicle of the French Revolution. pp. 590–591. ISBN 0-670-81012-6.
  18. McPhee, Peter (2002). The French Revolution 1789–1799. Oxford: Oxford University Press. pp. 96. ISBN 0-199-24414-6.
  19. Hampson, Norman (1988). A Social History of the French Revolution. Routledge: University of Toronto Press. pp. 148. ISBN 0-710-06525-6.
  20. Schama, Simon (1989). Citizens. A Chronicle of the French Revolution. p. 652. ISBN 0-670-81012-6.
  21. Schama, Simon (1989). Citizens. A Chronicle of the French Revolution. pp. 658–660. ISBN 0-670-81012-6.
  22. "The final days of Marie Antoinette".

อ่านเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]