ทวีปเลื่อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก การเลื่อนไหลของทวีป)
ภาพวาดมหาสมุทรแอตแลนติกเปิดและปิดของอันโตนิโอ สไนเดอร์-เพลเลกรินี (ค.ศ. 1858)

การเลื่อนไหลของทวีปหรือทวีปเลื่อน (อังกฤษ: Continental drift) เป็นแนวคิดซึ่งเสนอโดยนักอุตุนิยมวิทยาและนักธรณีฟิสิกส์ชาวเยอรมัน อัลเฟรด เวเกเนอร์ เมื่อ พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ซึ่งกล่าวไว้ว่า ทวีปที่อยู่ทั้งสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกน่าจะเคยเชื่อมต่อกันเป็นมหาทวีปมาก่อน ซึ่งเรียกว่า แพนเจีย (Pangea) และล้อมรอบด้วยมหาสมุทรผืนเดียวกันเรียก พันทาลัสซา (Panthalassa) โดยอ้างหลักฐานจากข้อมูลสภาพภูมิศาสตร์บริเวณขอบทวีปต่าง ๆ ได้แก่ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้ ที่สามารถต่อกันเป็นผืนเดียวกันได้อย่างเหมาะสม และข้อมูลการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นสปีชีส์เดียวกันบนทวีปทั้งสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนก่อนเวเกเนอร์ที่สังเกตทวีปเลื่อนแล้ว เช่น ฟรานซิส เบคอน, อันโตนิโอ สไนเดอร์ เพลลิกรินีและเบนจามิน แฟรงคลิน ตอนแรกแนวคิดนี้นักภูมิศาสตร์และนักธรณีวิทยาหลายคนมองว่าไร้เหตุผล เพราะแนวคิดนี้ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดการเลื่อนไหลของทวีป และเกิดแรงมหาศาลที่ใช้ในการเลื่อนไหลได้อย่างไร แต่ขณะเดียวกันแนวคิดนี้ก็ได้รับการสนับสนุนโดยอเล็กซานเดอร์ ดูทอยท์ นักธรณีวิทยาชาวแอฟริกาใต้ รวมทั้งอาเธอร์ โฮล์มส

แม้ว่าแนวคิดการเลื่อนไหลของทวีปนั้น จะไม่เป็นที่ยอมรับกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1950 ในคริสต์ทศวรรษ 1960 มีผู้เสนอทฤษฎีสนับสนุนหลายทฤษฎี เช่น การขยายตัวของพื้นมหาสมุทร (sea-floor spreading) ซึ่งได้ตอบคำถามที่มีต่อแนวคิดการเลื่อนไหลของทวีป คือ สามารถอธิบายถึงสาเหตุและแรงที่ทำให้แผ่นทวีปมีการเลื่อนไหล จึงทำให้แนวคิดของเวเกเนอร์เริ่มได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งต่อมาแนวคิดและทฤษฎีเหล่านี้กลายเป็นหนึ่งในทฤษฎีใหม่ที่สำคัญที่สุดทางธรณีวิทยา นั่นคือ ทฤษฎีเพลทเทคโทนิค (plate tectonic)

หลักฐานการเลื่อนไหลของทวีป[แก้]

รูปแบบซากดึกดำบรรพ์ในทวีปต่าง ๆ (กอนด์วานาแลนด์)
โครงกระดูกเมโซซอรัส เมกเกรเกอร์ ค.ศ. 1908

หลักฐานการเลื่อนไหลของทวีปนั้นมีกว้างขวาง ซากพืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์ถูกพบรอบชายฝั่งต่างทวีปกัน ซึ่งเป็นการอธิบายว่าครั้งหนึ่งทวีปทั้งสองเคยเชื่อมต่อกัน ซากดึกดำบรรพ์ของเมโซซอรัส สัตว์เลื้อยคลานน้ำจืดลักษณะคล้ายจระเข้ขนาดเล็กที่พบทั้งในบราซิลและแอฟริกาใต้ เป็นตัวอย่างหนึ่ง ส่วนอีกตัวอย่างหนึ่งนั้นคือ การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลื้อยคลานบก ไลโทรซอรัส จากหินอายุเดียวกันในทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกาและแอนตาร์กติกา[1] นอกจากนี้ยังมีหลักฐานมีชีวิตอยู่ คือ สัตว์ชนิดเดียวกันที่ถูกพบทั้งสองทวีป เช่น ไส้เดือนดินบางตระกูลพบทั้งในอเมริกาใต้และแอฟริกา

ตะกอนธารน้ำแข็งสมัยเพอร์โม-คาร์บอนิเฟอรัสที่กระจัดกระจายอย่างกว้างขวางในอเมริกาใต้ แอฟริกา มาดากัสการ์ อาระเบีย อินเดีย แอนตาร์กติกาและออสเตรเลียเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนหลักฐานสำคัญของทฤษฎีทวีปเลื่อน ความต่อเนื่องของธารนำแข็ง อนุมานจากริ้วลายขนานธารน้ำแข็งที่หันไปทางเดียวกันและหินทิลไลต์ เสนอการมีอยู่ของมหาทวีปกอนด์วานา ซึ่งกลายมาเป็นองค์ประกอบกลางของมโนทัศน์ทวีปเลื่อน ริ้วลายขนานบ่งชี้ว่าธารน้ำแข็งไหลออกจากเส้นศูนย์สูตรไปยังขั้ว ในพิกัดสมัยใหม่ และสนับสนุนแนวคิดว่า ทวีปทางใต้เคยอยู่ในสถานที่แตกต่างกันมาก เช่นเดียวกับต่อเนื่องกันมาก่อน[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Rejoined continents [This Dynamic Earth, USGS]". USGS.
  2. Wegener, A. (1929/1966), The Origin of Continents and Oceans, Courier Dover Publications, ISBN 0486617084 {{citation}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]