การบริจาคโลหิต
การบริจาคโลหิต คือการเก็บโลหิตจากผู้มีความประสงค์จะบริจาค เลือดนั้นนำไปใช้สำหรับการถ่ายเลือด และ/หรือการเยียวยาทางชีวเภสัชวิทยาโดยกระบวนการที่เรียกว่า การแยกส่วน (การแยกองค์ประกอบของเลือดครบ) การบริจาคอาจบริจาคเลือดครบ หรือเฉพาะองค์ประกอบหนึ่งของเลือดโดยตรง (apheresis) ก็ได้ ธนาคารเลือดมักเป็นผู้ดำเนินการเก็บเลือดและกระบวนการต่อจากนั้น
ผู้ประสงค์จะบริจาคโลหิตจะได้รับการประเมินปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้เลือดไม่ปลอดภัย ขั้นตอนการคัดกรองมีการทดสอบโรคที่สามารถส่งต่อได้ทางการถ่ายเลือด เช่น เอชไอวีและไวรัสตับอักเสบ ผู้บริจาคต้องตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์และรับการทดสอบทางกายสั้น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการบริจาคโลหิตไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริจาค ความถี่ของการบริจาคโลหิตนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของเลือดที่บริจาคและกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ผู้บริจาคสามารถบริจาคเลือดครบได้ทุก 8 สัปดาห์ (56 วัน) และบริจาคเฉพาะเกล็ดเลือดได้ทุก 3 วัน
ขั้นตอนการบริจาคโลหิต[แก้]
เตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต[แก้]
บทความนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน มีเนื้อหา รูปแบบ หรือลักษณะการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมสำหรับสารานุกรม โปรดอภิปรายปัญหาดังกล่าวในหน้าอภิปราย หากบทความนี้เข้ากันได้กับโครงการพี่น้อง โปรดทำการแจ้งย้ายแทน |
เพื่อที่ผู้บริจาค จะไม่ต้องเสียเวลาโดยไม่จำเป็น ในการรอบริจาค ผู้บริจาคควรสำรวจตนเองว่า มีคุณสมบัติเพียบพร้อมสำหรับการบริจาคหรือไม่ ซึ่งผู้บริจาค ควรมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้
- เป็นผู้มีอายุระหว่าง 17 - 60 ปี
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง น้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป
- ไม่มีประวัติการเป็นโรคมาลาเรีย ในระยะ 3 ปี
- ไม่มีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ หรือดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ผู้หญิง ไม่อยู่ในระยะประจำเดือน หรือ มีครรภ์
- ไม่ควรบริจาคหลังทำการผ่าตัด ในระยะ 6 เดือน
- ผู้เคยรับโลหิตงดบริจาค 1 ปี
- งดสูบบุหรี่ก่อนบริจาค 12 ชั่วโมง
- ไม่ทานยาแก้อักเสบก่อนบริจาค 1 สัปดาห์
- ไม่ได้รับเลือดจากผู้อื่นมาระยะ 6 เดือน
- ไม่ได้รับวัคซีนภายใน 14 วัน เซรุ่มภายใน 1 ปี
- ไม่ได้มีสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่สมรส
- มีการนอนหลับสนิท ไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง
- ไม่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อการบริจาคโลหิต เช่น กามโรค โรคติดเชื้อต่าง ๆ ไอเรื้อรัง ไอมีโลหิต โลหิตออกง่ายผิดปกติ หยุดยาก โรคเลือดชนิดต่าง ๆ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคลมชัก โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ มะเร็ง หรือโรคอื่นๆ
- ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ หรือสำส่อนทางเพศ ได้แก่ ท่านหรือคู่สมรสของท่าน เคยมีเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชาย ที่ขายบริการทางเพศ หรือ มีเพศสัมพันธ์แบบชายรักชาย
- ไม่ทำการเจาะหู สัก ลบรอยสัก ฝังเข็มในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
- ไม่มีประวัติติดยาเสพติด หรือเคยเป็นผู้ที่เสพยาเสพติดโดยใช้เข็มฉีดยา
- ไม่เป็นผู้ติดเชื้อเอดส์
- สตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์หรือ ให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนบริจาค
- รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และยาธาตุเหล็กเพิ่ม
การบริจาค[แก้]
เมื่อถึงหน่วยบริจาครับบริจาคโลหิต จะมีผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน นำใบกรอกเพื่อเขียนประวัติของผู้บริจาคและเซ็นชื่อยินยอม และยอมรับว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นความจริง
เมื่อกรอกเรียบร้อยจะถึงขั้นตอนการวัดความดัน และตรวจโลหิตขั้นต้น เพื่อคัดกรองโลหิตในขั้นต้น และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาคเอง
หลังจากนั้นผู้บริจาคจะถูกพามานอนบนเตียงบริจาคเพื่อเจาะเข็มเข้าเส้นเลือด เพื่อนำโลหิตใส่ยังถุงโลหิต เป็นจำนวน 350 - 450 มิลลิลิตร เจ้าหน้าที่นำเข็มเจาะออก ควรนอนพักเพื่อปรับสภาพสักครู่
เมื่อลุกออกจากเตียง ควรรับอาหารว่าง ที่ทางหน่วยบริการจัดเตรียมไว้ ซึ่งหลักๆ ได้แก่ น้ำหวาน (น้ำแดง) และ ขนมที่มีธาตุเหล็ก พร้อมทั้งรับธาตุเหล็กกลับไปรับประทาน
การปฏิบัติตัวหลังการบริจาค[แก้]
หลังจากการบริจาคโลหิตแล้ว ผู้บริจาคควรปฏิบัติตนหลังการบริจากตามคำแนะนำ เพื่อประโยชน์ของผู้บริจาคเอง ดังนี้
- ดื่มน้ำมากกว่าปกติหลังบริจาคเป็นเวลา 2 วัน
- งดออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อหลังการบริจาค หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า
- ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานใช้แรง หรือใช้กำลังมาก ควรหยุดพักหนึ่งวัน
- รับประทานยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
- หลีกเลี่ยงการใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง
ดูเพิ่ม[แก้]
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: การบริจาคโลหิต |