ข้ามไปเนื้อหา

การธนาคารอิเล็กทรอนิกส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: electronic banking), การธนาคารออนไลน์ (อังกฤษ: online banking), การธนาคารอินเทอร์เน็ต (อังกฤษ: internet banking), การธนาคารเสมือนจริง (อังกฤษ: virtual banking), หรือ อี-แบงกิง (อังกฤษ: e-bankin) เป็นระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งให้ลูกค้าของสถาบันการเงินกระทำธุรกรรมทางการเงินหลายรูปแบบผ่านเว็บไซต์ของสถาบันนั้น ๆ ระบบการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์มักเชื่อมต่อกับหรือเป็นส่วนหนึ่งของระบบธนาคารแกน (core banking) ซึ่งสถาบันการเงินบริหารจัดการอยู่ และแตกต่างจากการธนาคารสาขา (branch banking) ซึ่งเป็นวิธีการแบบดั้งเดิมที่ให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการธนาคาร

บริการที่มี เช่น การฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน หรือ สอบถามยอดเงิน เป็นต้น[1] ในอนาคต บริการของการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ยังสามารถพัฒนาได้อีกเรื่อย ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความรวดเร็ว สะดวกสบาย และประหยัดทรัพยากร[2][3]

ประวัติ

[แก้]

สหรัฐอเมริกา ริเริ่มการให้บริการข้อมูลของธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต โดยแรกเริ่มเป็นการจัดทำระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (เว็บไซต์) ที่ให้ข้อมูลทั่วไปของธนาคาร เช่น อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ การส่งเสริมการขาย รายงาน และข่าวสารทางธุรกิจ และเศรษฐกิจการเงิน สถานที่ตั้งสาขาธนาคาร และที่ตั้งตู้เอทีเอ็ม ในปี พ.ศ. 2537 ธนาคารต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มมีการจัดแบ่งกลุ่มขึ้นเป็นหลาย ๆ กลุ่ม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ในการใช้อินเทอร์เน็ต ให้เป็นประโยชน์แก่ธนาคาร และประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แม้ในขณะนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่า การชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตจะเป็นไปได้ในเร็ววันก็ตาม ความสนใจในสื่อนี้ สืบเนื่องมาจาก ความคาดหวังที่ว่า การให้บริการของธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ จะสามารถลดต้นทุนในการบริการธนาคารได้มาก เมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ๆ ในปี พ.ศ. 2538 ธนาคารใหญ่ ๆ หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา เช่น ธนาคารเวลส์ฟาร์โก และธนาคารแห่งอเมริกา ได้เริ่มเปิดสาขาบนอินเทอร์เน็ต โดยเริ่มบริการให้ลูกค้าดูข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเทอร์เน็ต สมัครสินเชื่อ และชำระค่าสินค้า หรือค่าบริการได้ นอกจากนี้ ธนาคารใหญ่ๆ หลายแห่งยังระดมทุนกันเพื่อจัดตั้งธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งธนาคารอิเล็กทรอนิกส์แห่งแรกของโลก คือ ธนาคารซิเคียวริตีเฟิร์สเน็ตเวิร์ก ซึ่งเปิดดำเนินการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2538[4] โดยลูกค้าสามารถเรียกดูบัญชีของตน ชำระค่าสินค้าและค่าบริการ ดูเช็คที่ถูกอายัดผ่านอินเทอร์เน็ต ส่วนการเบิกเงินก็ทำผ่านตู้เอทีเอ็ม ธนาคารดังกล่าว สามารถดึงดูดลูกค้าโดยให้ดอกเบี้ยสูง และไม่คิดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม

ในปี พ.ศ. 2540–2542 การให้บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ได้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในสหรัฐอเมริกา และภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ทวีปยุโรป และภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ในทวีปยุโรปมีประเทศที่เริ่มให้บริการ ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศโปรตุเกส ประเทศสเปน ประเทศเยอรมนี ประเทศลักเซมเบิร์ก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ส่วนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การบุกเบิกในด้านการให้บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์เริ่มขึ้นที่ฮ่องกง และประเทศสิงคโปร์ ก่อนขยายมาที่ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี ประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ สำหรับในสหรัฐอเมริกา ธนาคารเวลส์ฟาร์โกก็ยังคงเป็นผู้นำ ในด้านการพัฒนาบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ และได้เริ่มการให้บริการนำเสนอใบเรียกเก็บเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้บริษัทเรียกเก็บเงินจากคู่ค้าผ่านอินเทอร์เน็ตได้ และการเปิดตัวธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก็มีเพิ่มขึ้น เช่น ธนาคารวิงสแปน และธนาคารเน็ตแบงก์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก มีบริษัทที่ทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า ธุรกิจดอตคอม ซึ่งเปิดให้บริการบนอินเทอร์เน็ต ธุรกิจดอตคอมมีนายทุนให้การสนับสนุนจำนวนมาก หลายๆ บริษัทได้เข้าตลาดหลักทรัพย์และราคาหุ้น ของบริษัทเหล่านั้น สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นับได้ว่า เป็นยุคฟองสบู่ของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ต่อมาใน พ.ศ. 2544 การเกิดภาวะฟองสบู่แตกของธุรกิจดอตคอม ก็เป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีสาขาเลย ไม่อาจแข่งขันกับธนาคารที่มีสาขา หรือมีช่องทางบริการที่หลากหลาย รวมทั้งให้บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวหลายแห่งต้องเลิกกิจการไป รวมทั้งธนาคารซิเคียวริตีเฟิร์สเน็ตเวิร์ก และธนาคารวิงสแปน ในสหรัฐอเมริกา ในทางตรงกันข้ามธนาคารใหญ่ ๆ ที่เปิดบริการบนอินเทอร์เน็ตเสมือนเป็นอีกสาขาหนึ่ง กลับมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ธนาคารเวลส์ฟาร์โก มีลูกค้าธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ 2.5 ล้านคน ธนาคารแห่งอเมริกา มี 4 ล้านคน แม้กระนั้น ธนาคารก็เริ่มยอมรับความจริงที่ว่า การให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตนี้ไม่ได้ประหยัดเงินมากอย่างที่เคยคาดไว้ แม้ธนาคารขนาดใหญ่ที่มีลูกค้ามากกว่า 1 ใน 4 ใช้บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์แต่ธนาคารก็ยังไม่มีผลกำไร ซึ่งเดิมเคยมีการคาดการณ์ว่า การให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการให้บริการผ่านสาขาถึงร้อยละ 70 แต่ธนาคารเวลส์ฟาร์โกพบว่า ค่าใช้จ่ายลดลงเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายของการทำแต่ละธุรกรรมที่ผ่านอินเทอร์เน็ตจะถูกลง แต่ก็ไม่ได้ลดลงเหลือเพียง 0.01 ดอลลาร์สหรัฐต่อธุรกรรม อย่างที่เคยมีการประเมินเอาไว้

นับจากปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป เริ่มเห็นชัดว่า ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ผู้บริหารธนาคารเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมอง เห็นว่า บริการนี้เป็นบริการที่จำเป็นต้องมี เพื่อดึงดูดลูกค้าให้คงอยู่กับธนาคาร แบบเดียวกับที่ธนาคารต้องมีตู้เอทีเอ็ม แต่ก็ไม่ได้เป็นบริการที่ทำกำไรหรือประหยัดค่าใช้จ่ายมากนัก

ประเทศไทย

[แก้]

ในประเทศไทย ธนาคารที่เปิดบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์แห่งแรก คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเริ่มมีเว็บไซต์ สำหรับเผยแพร่ข้อมูลทั่วไป ของธนาคาร ผ่านอินเทอร์เน็ตในปี พ.ศ. 2538 นับตั้งแต่นั้นมา การมีเว็บไซต์ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยก็เริ่มแพร่หลาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ลูกค้าทำธุรกรรมธนาคารได้เองมีการริเริ่มทำตั้งแต่ พ.ศ. 2540 แต่นำมาให้บริการได้จริงหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุมัติการให้บริการดังกล่าวได้ในปี พ.ศ. 2542 โดยธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารแห่งแรกที่ได้รับการอนุมัติให้เปิดการบริการนี้ในช่วงต้น พ.ศ. 2543 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารที่ 2 ที่เปิดให้บริการนี้ในกลางปี พ.ศ. 2543 ตามมาด้วย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในปีเดียวกันนั้น[5]

ประเทศไทยนั้นไม่เคยมีการจัดตั้งธนาคารอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้สาขา ทั้งนี้เพราะตามกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุญาต ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ประสบปัญหาธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ต้องปิดกิจการดังเช่นในสหรัฐอเมริกา

ความปลอดภัย

[แก้]

การทำธุรกรรมในธนาคารอิเล็กทรอนิกส์มีความเสี่ยงอย่างมากต่อไวรัสคอมพิวเตอร์จากนักเลงคอมพิวเตอร์เพื่อนำไปกระทำทุจริต หรือมิจฉาชีพรูปแบบต่าง ๆ โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550–2553 มีกรณีที่ธนาคารถูกไวรักลักลอบนำข้อมูลทางการเงินไปกระทำทุจริต แต่มีไม่ถึง 10 ราย นอกจากนี้ยังมีเคสที่ลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกให้เข้าไปทำธุรกรรมผ่านเว็บไซต์ปลอมที่ลอกเลียนให้หมือนเว็บไซต์จริงของธนาคาร[6][7] แต่ในปัจจุบันการให้บริการธุรกรรมต้องลงทะเบียนเข้ารับบริการ โดยคววรตั้งรหัสประจำตัวและรหัสผ่านให้ปลอดภัย[8] หรือมีการกรอกข้อมูลส่วนตัวและมีการยืนยันความเป็นเจ้าของบัญชีก่อนการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัว เป็นต้น นอกจากนี้ทางธนาคารบางธนาคารยังมีระบบรักษาความปลอดภัยต้องได้รับการตรวจสอบทั้งจากภายในธนาคาร องค์กรภายนอก และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ระบบดังกล่าวได้มาตรฐานความปลอดภัย ทั้งภายในชาติและระดับนานาชาติ[9][10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สุนันทา กองคลังและพัสดุ. E-Banking คือ[ลิงก์เสีย]. 29 สิงหาคม 2012. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  2. E-Banking คืออะไร? เก็บถาวร 2014-03-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
  3. เรื่องที่ 6 บริการธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์. บทสรุป[ลิงก์เสีย]. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับเด็กระดับโตและบุคคลทั่วไป. เล่มที่ ๓๔
  4. "Stanford Federal Credit Union Pioneers Online Financial Services" (Press release). 1995-06-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-21. สืบค้นเมื่อ 2013-04-17.
  5. เรื่องที่ 6 บริการธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์. บริการอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งในประเทศไทย[ลิงก์เสีย]. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับเด็กระดับโตและบุคคลทั่วไป. เล่มที่ ๓๔
  6. Internet Banking โอกาสที่ยังมีอุปสรรค. POSITIONING
  7. เตือนภัย “Internet Banking” ปล้นวันละแสน!! เก็บถาวร 2013-04-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ผู้จัดการ ออนไลน์
  8. บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต. ความปลอดภัยในการใช้บริการ Online Banking เก็บถาวร 2013-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ตอร์ด (ประเทศไทย)
  9. เรื่องที่ 6 บริการธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์. การรักษาความปลอดภัยในระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง[ลิงก์เสีย]. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับเด็กระดับโตและบุคคลทั่วไป. เล่มที่ ๓๔
  10. ข้อควรระวังในการใช้อิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้ง เก็บถาวร 2013-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • เรื่องที่ 6 บริการธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์. ความเป็นมา[ลิงก์เสีย]. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับเด็กระดับโตและบุคคลทั่วไป. เล่มที่ ๓๔