การจำลองสมองทั้งหมด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การจำลองสมองทั้งหมด (อังกฤษ: Whole brain emulation) เป็นแนวคิดของกระบวนการคัดลอกส่วนที่เป็นเนื้อหาของจิตใจจากสมองบางส่วนแล้วนำไปเก็บไว้บนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์นี้สามารถจำลองการประมวลผลของสมองได้ เช่น ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมในแบบเดียวกับที่สมองต้นแบบทำ (โดยภาพรวมแล้ว สามารถทำงานได้ตรงตามจุดประสงค์เดียวกับที่สมองจริงทำได้)

แนวคิดนี้จัดได้ว่าเป็นแนวคิดสุดขั้ว นักวิทยาศาสตร์บางคนมองว่าเป็นเทคโนโลยีการต่ออายุของคน เป้าหมายอีกอย่างของแนวคิดนี้คือการจัดเก็บจิตใจของคนไว้ในรูปแบบไฟล์ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการอยู่รอดของมนุษยชาติในยามเกิดภัยพิบัติทั่วโลกหรือต้องเดินทางข้ามดวงดาว นักอนาคตศาสตร์หลายคนเชื่อว่าแนวคิดนี้จะเป็นจุดที่สาขาวิชาประสาทวิทยาคำนวณและประสาทสารสนเทศมาพบกัน สามารถนำไปใช้ในงานวิจัยทางการแพทย์ได้ นอกจากนี้ นักวิจัยสายปัญญาประดิษฐ์หลายคนก็เชื่อว่าแนวคิดนี้นำไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปที่หมายถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความฉลาดเทียบเท่ากับมนุษย์ไม่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และอาจนำไปสู่ภาวะเอกฐานทางเทคโนโลยี อันหมายถึงพัฒนาการของอารยธรรมที่เทคโนโลยีสามารถทำงานได้ระดับเดียวหรือเหนือกว่ามนุษย์

ภาพรวม[แก้]

สมองของมนุษย์ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาท 86,000 ล้านเซลล์ แต่ละเซลล์เชื่อมต่อกับเซลล์อื่นด้วยแอกซอนและเดนไดรต์ สัญญาณที่จุดเชื่อมต่อที่เรียกว่าไซแนปส์นี้จะถูกส่งไปยังอีกเซลล์ด้วยการปล่อยและจับสารเคมีที่เรียกว่าสารสื่อประสาท นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาส่วนใหญ่เชื่อกันว่า จิตใจของมนุษย์อุบัติขึ้นด้วยการประมวลผลของเครือข่ายประสาทเหล่านี้

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า งานต่างๆที่เกิดจากจิตใจ เช่น การเรียนรู้ ความจำ และจิตรู้สำนึก ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการทางเคมีไฟฟ้าของสมองและมีกฎบางอย่างที่ควบคุมอยู่ แนวคิดเรื่องของการคัดลอกจิตใจไปยังคอมพิวเตอร์นั้นเป็นการมองจิตใจว่าเป็นเครื่องจักรอย่างหนึ่ง ตรงข้ามกับแนวคิดทางชีวิตนิยมที่ให้ความสำคัญเรื่องของชีวิตและจิตรู้สำนึก

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักประสาทวิทยาชื่อดังหลายคน ไม่ว่าจะเป็นดักลาส ฮอฟสตาดเตอร์[1] เจฟฟ์ ฮอว์กินส์ มาร์วิน มินสกี[2] ได้ทำนายว่า คอมพิวเตอร์ที่โปรแกรมมาพิเศษจะฉลาดจนสามารถคิดหรือแม้แต่มีจิตรู้สำนึกได้แบบเดียวกับคน และเครื่องจักรควรจะมีความฉลาดระดับนั้นจึงจะสามารถคัดลอกจิตใจของคนไปสู่เครื่องได้

อ้างอิง[แก้]

  1. "Tech Luminaries Address Singularity". ieee.org.
  2. Marvin Minsky, Conscious Machines, in 'Machinery of Consciousness', Proceedings, National Research Council of Canada, 75th Anniversary Symposium on Science in Society, June 1991.