ลำดับคุณค่าของศิลปะ
ลำดับคุณค่าของศิลปะ (อังกฤษ: hierarchy of genres) เป็นการจัดประเภทของงานศิลปะ (genre) ตามระดับความสำคัญทางคุณค่าที่วางไว้อย่างเป็นทางการ
ในทางวรรณกรรม มหากาพย์ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานที่มีระดับคุณค่าสูงที่สุดในบรรดานักวิพากษ์วรรณกรรม ตามเหตุผลของซามูเอล จอห์นสัน ที่บรรยายใน ชีวิตของจอห์น มิลตัน ว่า: "ตามความเห็นที่พ้องกันของนักวิพากษ์, งานที่สมควรแก่การสรรเสริญในคุณค่าคืองานของนักเขียนผู้เขียนมหากาพย์, เพราการเขียนมหากาพย์ผู้เขียนต้องรวบรวมพลานุภาพทุกด้านที่แต่ละด้านเพียงพอสำหรับสร้างงานเขียนแต่ละชนิด"
การจัดลำดับที่ทราบกันดีที่สุดในงานจิตรกรรมคือมาตรฐานที่สร้างขึ้นโดยสถาบันในยุโรประหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนถึงสมัยใหม่ ระดับต่างๆ ที่จัดขึ้นสำหรับประเภทของงานศิลปะต่างๆ ได้รับการสนับสนุนโดยราชสถาบันแห่งจิตรกรรมและประติมากรรมแห่งฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้นำในศิลปะสถาบัน
การโต้เถียงที่เกี่ยวกับความงามของจิตรกรรมที่ยังคงเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยายังคงเน้นความสำคัญของอุปมานิทัศน์; การใช้องค์ประกอบในงานจิตรกรรมเช่นเส้น และ สีในการสื่อความหมายที่เป็นหัวใจของภาพ ฉะนั้นอุดมคตินิยมจึงเป็นสิ่งที่ใช้กันในงานศิลปะ โดยที่รูปทรงตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่เห็นโดยทั่วไป ฉะนั้นจึงเป็นรองจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของงานศิลปะ ที่มีจุดประสงค์ในการแสวงหาสัจจะโดยการเลียนแบบ "ความงามของธรรมชาติ" แต่นักทฤษฎีที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไปมีความเชื่อมั่นว่าการเน้นการใช้อุปมานิทัศน์เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ถูกต้องของความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ และกวีนิพนธ์ที่มาจากบทเขียนของโฮราซ (Horace) "ut pictura poesis" ("ในภาพเขียนคือกวีนิพนธ์") [งานค้นคว้าต้นฉบับ?]
การจัดลำดับคุณค่าของศิลปะเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1667 โดยอังเดร เฟลิเบียง (André Félibien), นักประวัติศาสตร์ศิลป์, สถาปนิก และ นักทฤษฎีว่าด้วยศิลปะคลาสสิกฝรั่งเศส ลำดับคุณค่าของศิลปะถือว่าจิตรกรรมประวัติศาสตร์เป็นลำดับคุณค่าอันดับหนึ่ง หรือ มหาจิตรกรรม (grand genre) จิตรกรรมประวัติศาสตร์รวมจิตรกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา, ตำนานเทพ, ประวัติศาสตร์, วรรณคดี หรืออุปมานิทัศน์—ที่ตีความหมายของชีวิตหรือสื่อความหมายทางจริยธรรมและทางปัญญา เทพเจ้าจากตำนานเทพโบราณเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ บุคคลจากศาสนาเป็นตัวแทนของความคิดและปรัชญาต่างๆ และประวัติศาสตร์เป็นตัวแทนของความผันผวนของความคิดและปรัชญา จิตรกรรมประวัติศาสตร์เน้นการเขียนภาพวีรบุรุษที่เป็นชายเปลือยอยู่เป็นเวลานานโดยเฉพาะระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ความนิยมนี้ก็เริ่มมาลดถอยลงในคริสต์ศตวรรษที่ 19
รองจากจิตรกรรมประวัติศาสตร์ก็เป็นการเขียนภาพชีวิตประจำวัน (scènes de genre) หรือ จุลจิตรกรรม (petit genre) ที่ตรงกันข้ามกับ มหาจิตรกรรม รองจากนั้นก็เป็นภาพเหมือน, ภาพภูมิทัศน์ และลำดับสุดท้ายคือภาพนิ่ง ตามสูตรดังกล่าวภาพเหล่านี้ถือว่ามีคุณค่าต่ำเพราะเป็นการเขียนที่ปราศจากพลังทางจิตหรือความมีจินตนาการทางศิลปะ การเขียนภาพชีวิตประจำวัน—ซึ่งมิได้มีคุณค่าทางอุดมคติหรือลักษณะ, หรือเป็นหัวข้ออันสูงส่ง—ได้รับการชื่นชมเพราะคุณสมบัติของการเขียนที่มาจากความเชี่ยวชาญ ความเป็นเอกลักษณ์ และความมีอารมณ์ขัน แต่ที่แน่นอนคือไม่ถือว่าเป็น "ศิลปะสูง" นอกจากนั้นการจัดลำดับคุณค่ายังระบุขนาดของภาพของแต่ละระดับด้วย: ภาพขนาดใหญ่สำหรับการเขียนจิตรกรรมประวัติศาสตร์ และ ภาพขนาดเล็กสำหรับการเขียนภาพนิ่ง
อังเดร เฟลิเบียงกล่าวว่าจิตรกรควรจะเลียนแบบพระเจ้าผู้ที่มีผลงานที่สมบูรณ์แบบที่สุดคือการสร้างมนุษย์ และแสดงภาพกลุ่มคน และ เลือกหัวข้อการเขียนจากประวัติศาสตร์และตำนาน "จิตรกรต้อง," เฟลิเบียงเขียน "เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์, เขียนงานที่เป็นงานที่เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ และเช่นเดียวกับกวีที่เขียนสิ่งที่ทำให้เป็นที่ชื่นชม และต้องมีความเชี่ยวชาญยิ่งไปกว่านั้นในการมีความเชี่ยวชาญในการแฝงความหมายโดยการใช้ตำนานในการสื่อคุณค่าของบุคคลสำคัญ และคุณค่าอันสูงสุดอันเป็นที่สรรเสริญอันลึกลับของมนุษย์"
จิตรกรชาวอังกฤษโจชัว เรย์โนลด์สระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1770 ถึง 1780 ย้ำในคุณค่าของภาพนิ่งว่าเป็นระดับต่ำที่สุดในบรรดางานจิตรกรรมประเภทต่างๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นงานเขียนที่ทำให้จิตรกรไม่สามารถเข้าถึงหัวใจของรูปทรงหลักได้ จิตรกรรมที่ยังถือกันว่ามีคุณค่าสูงสุดคือจิตรกรรมประวัติศาสตร์ แม้ว่าเรย์โนลด์สจะเห็นด้วยกับการจัดระดับของเฟลิเบียง แต่เรย์โนลด์เชื่อว่างานที่ดีที่สุดของแต่ละประเภทก็ยังสามารถสร้างได้โดยผู้มีพรสวรรค์
แม้ว่าสถาบันศิลปะของยุโรปจะใช้การจัดลำดับคุณค่า แต่ศิลปินหลายคนก็สามารถคิดค้นประเภทงานศิลปะใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ทำให้ยกฐานะของหัวเรื่องขึ้นให้มามีความสำคัญพอกับจิตรกรรมประวัติศาสตร์ได้ เรย์โนลด์สเองก็สามารถทำได้โดยการเขียนภาพเหมือนแนวใหม่ที่เรียกว่า "Grand Manner" ที่เป็นการเขียนที่ส่งเสริมผู้เป็นแบบโดยการเขียนเป็นเชิงเทพในตำนาน ฌอง อองตวน วัตโตว์ เป็นผู้ริเริ่มประเภทงานเขียนใหม่ที่เรียกว่า "fêtes galantes" ซึ่งเป็นการเขียนฉากความสนุกสำราญของราชสำนักที่เกิดขึ้นในบรรยากาศธรรมชาติ ที่มีลักษณะที่มีทั้งอรรถรสและคุณค่าทางอุปมานิทัศน์ที่ถือว่าเป็นการแสดงความสูงส่ง โคลด ลอร์แรน (Claude Lorrain) ริเริ่มประเภทงานเขียนใหม่ที่เรียกว่า "ภูมิทัศน์อุดมคติ" (ideal landscape) ที่องค์ประกอบของภาพมีรากฐานมาจากธรรมชาติบ้างเล็กน้อยโดยมีซากปรักหักพังของสถาปัตยกรรมคลาสสิกอยู่ประปรายที่เป็นฉากของภาพทางศาสนาและประวัติศาสตร์ การเขียนลักษณะนี้เป็นการรวมการเขียนภาพภูมิทัศน์กับการเขียนภาพประวัติศาสตร์ซึ่งทำให้การเขียนภาพภูมิทัศน์ลักษณะนี้ได้รับการยกระดับคุณค่าขึ้น ซึ่งทำให้ได้ชื่อว่าเป็น "จิตรกรรมภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์" และได้รัการยอมรับโดยสถาบันฝรั่งเศสเมื่อมีการก่อตั้งปรีซ์เดอโรมขึ้นในปี ค.ศ. 1817 และสุดท้ายฌอง-แบ็พทีสต์-ซิมง ชาร์แดง (Jean-Baptiste-Siméon Chardin) สามารถยกระดับการเขียนภาพนิ่งที่ถือกันว่ามีทั้งเสนห์และความงามพอที่จะมีคุณค่าเคียงข้างกับศิลปะอุปมานิทัศน์ชั้นเอกได้ เมื่อทราบถึงความสำคัญของการจัดระดับคุณค่า ชาร์แดงก็เริ่มสอดแทรกบุคคลเข้าไปในภาพราวปี ค.ศ. 1730 ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรี
จิตรกรสตรีไม่สามารถเขียนภาพประวัติศาสตร์ได้มาจนกระทั่งถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพราะไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมในการฝึกการเป็นจิตรกรขั้นสุดท้ายซึ่งคือการฝึกหัดการเขียนจากตัวแบบจริง เพื่อเป็นการป้องกันจากความอับอาย สตรีฝึกการเขียนได้จากภาพนูน ภาพพิมพ์ งานหล่อ หรือจากงานของศิลปินชั้นครู ได้แต่ไม่ได้รับโอกาสให้ได้รับการฝึกการเขียนจากแบบเปลือย นอกจากนั้นก็ยังได้รับการหว่านล้อมให้เลือกเขียนงานที่งานที่ถือว่ามีระดับคุณค่าที่ต่ำเช่นการเขียนภาพเหมือน ภาพภูมิทัศน์ หรือภาพชีวิตประจำวัน ซึ่งถือว่าเป็นงานเขียนสำหรับสตรีเพราะเป็นงานเขียนที่มีความชวนเชิญทางตาไม่ใช่ทางความสติปัญญา
เมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จิตรกรและนักวิจารณ์ศิลปะก็เริ่มประท้วงกฎต่างๆ ของสถาบันศิลปะที่รวมทั้งความลำเอียงในความนิยมจิตรกรรมประวัติศาสตร์ ขบวนการทางศิลปะใหม่ๆ ที่รวมทั้งสัจนิยม และ อิมเพรสชันนิสม์ ที่แสวงหาการสื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชั่วขณะในปัจจุบัน และการเขียนภาพชีวิตประจำวันที่พบเห็นโดยทั่วไปที่แยกจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จิตรกรสัจนิยมมักจะเลือกเขียนภาพชีวิตประจำวันและภาพนิ่ง ส่วนจิตรกรอิมเพรสชันนิสม์จะเลือกเขียนภูมิทัศน์ ความนิยมในการเขียนจิตรกรรมประวัติศาสตร์ก็เริ่มลดถอยลง และเริ่มหันไปเป็นการเขียนลักษณะอื่นเช่นการเขียนศิลปะแบบญี่ปุ่น[1] และอื่นๆ ที่ตามมา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Colta F. Ives, "The Great Wave: The Influence of Japanese Woodcuts on French Prints", 1974, The Metropolitan Museum of Art, ISBN 0-87099-098-5